Mooncake ขนมไหว้พระจันทร์
ในทุกๆ ปีช่วงครึ่งปีหลังมักจะมีขนมอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนเฝ้ารอมาตลอดทั้งปีเพื่อที่จะได้กิน และขนมนั้นก็คือ “ขนมไหว้พระจันทร์” นั่นเองค่ะ
ขนมไหว้พระจันทร์… ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าใช้ในเทศกาลไหว้พระจันทร์ ซึ่งจะตรงกับวันที่ 15 เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติจีนในทุกๆ ปี ช่วงก่อนวันไหว้พระจันทร์ประมาณ 1 เดือนจะมีร้านมากมายที่เปิดขายหรือเปิดให้ Pre-order มากมาย แต่ละร้านก็มีรสชาติ และลูกเล่นที่น่าสนใจแตกต่างกันไป และจุดขายหนึ่งที่ทำให้ขนมไหว้พระจันทร์เหล่านี้น่าติดตามก็คือ ‘กล่องใส่ขนมไหว้พระจันทร์’ นั่นเองค่ะ ที่จะมีดีไซน์กิ๊บเก๋มากมายหลากหลายแบบให้ได้ชมแตกต่างกันไปในแต่ละปี นอกจากจะได้กินขนมไหว้พระจันทร์อร่อยๆ แล้วยังเหมือนได้แกะของเล่น (กล่อง) ไปด้วยเลยล่ะค่ะ
พอเราชอบกินมากๆ ดังนั้นจึงเริ่มหาประวัติของเจ้าขนมไหว้พระจันทร์จากทั้งทางอินเตอร์เน็ต ทางหนังสือและจากคำบอกเล่าของญาติผู้ใหญ่ทั้งหลาย ซึ่งในวันนี้เราได้รวบรวมมาให้ทุกท่านแล้วค่ะ
เทศกาลไหว้พระจันทร์
Credit : springnews
ก่อนอื่นมาเริ่มที่ตัวเทศกาลไหว้พระจันทร์กันก่อนดีกว่าค่ะ
เทศกาลไหว้พระจันทร์ (จีน : ตงชิวเจี๋ย / แต้จิ๋ว : ตงชิวโจ๊ยะ) เดิมทีเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองของชาวจีนในช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง (จีน : ชิวเจี๋ย / แต้จิ๋ว : ชิวโจ๊ยะ) เพื่อขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ดลบันดาลให้การเพาะปลูก และเก็บเกี่ยวประสบความสำเร็จราบรื่น เนื่องจากในสมัยก่อนนั้นหากเกิดอุทกภัยหรือเป็นปีแล้งก็อาจจะไม่มีผลผลิตให้เก็บเกี่ยวเลยแม้แต่น้อย ดังนั้นการที่มีผลผลิตมากมายจนสามารถนำมาเฉลิมฉลองได้จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีนั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของเทพธิดาฉางเอ๋อร์ นางฟ้าที่ลงมาอยู่บนโลกมนุษย์และที่เป็นที่รักของผู้คนและมีเหตุบางอย่างทำให้ต้องลอยไปอยู่บนสวรรค์ในวันที่ 15 เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติจีน แต่นางกลับเลือกที่จะไปอยู่บนดวงจันทร์ที่ใกล้กับโลกมากกว่าเพื่อที่จะสามารถเฝ้ามอง ‘โฮ่วอี้’ วีรบุรุษที่ยิงดวงอาทิตย์ทั้งสิบให้เหลือดวงเดียว บรรเทาความร้อนบนโลกมนุษย์ ผู้เป็นสามีของนางได้ตลอดเวลา และเมื่อโฮ่วอี้กลับมาไม่พบภรรยาก็โศกเศร้าเสียใจ ชาวบ้านที่รักนางจึงได้จัดพิธีไหว้พระจันทร์เพื่อแสดงความเคารพและระลึกถึง สุดท้ายจึงกลายมาเป็นประเพณีการไหว้พระจันทร์เป็นประจำทุกปีมาจนถึงทุกวันนี้
ประเพณีการกินและไหว้ขนมวันไหว้พระจันทร์
ได้ยินผู้ใหญ่เล่าว่าเมื่อก่อนเทศกาลไหว้พระจันทร์มีไหว้ขนมมากมาย ขนมโก๋นานาชนิด ขนมอี้ ขนมเปี๊ยะ ขนมงาอ่อน ขนมถั่วตัด ขนมงาตัด และขนมคอเป็ด ส่วนขนมไหว้พระจันทร์ก็มีมากมายหลากหลายไส้ให้เลือกในถาดใบใหญ่ เรียกได้ว่ามีขนมมากมายละลานตา เป็นอีกหนึ่งเทศกาลรวมญาติครั้งใหญ่ของชาวเชื้อสายจีน
แต่ก่อนจะไปพูดถึงขนมอื่นๆ ที่ใช้ในเทศกาลไหว้พระจันทร์ เรามาพูดถึง “ขนมไหว้พระจันทร์” พระเอกของเรากันก่อนดีกว่าค่ะ
Credit : Renato Marques on Unsplash
ขนมไหว้พระจันทร์ แบบที่เราเห็นและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีมีถิ่นกำเนิดมาจากแถบจีนกวางตุ้ง ทำจากแป้งนวดที่นำไปห่อไส้ต่างๆ ซึ่งโดยส่วนมากจะเป็นไส้ธัญพืช เช่น ไส้โหงวยิ้ง (ถั่วห้าอย่าง) ไส้งา ไส้เมล็ดบัว ไส้ถั่วแดง ไส้เกาลัด ภายหลังมีการทำไส้ผลไม้กวนเพิ่ม เช่น ไส้ทุเรียน ไส้พุทราจีน ไส้เผือก ทั้งยังมีการใส่ไข่แดงเค็มเข้าไปเพื่อตัดเลี่ยน โดยจะทำออกมาเป็นก้อนเล็กๆ ซึ่งเจ้าก้อนกลมๆ นี้ก็มีความหมายว่าเป็นตัวแทนของพระจันทร์ และใส่เข้าไปในเครื่องกดลาย ทำให้มีลวดลายกดพิมพ์อยู่ด้านบนตัวขนมไหว้พระจันทร์
ว่ากันว่าไส้ต่างๆ นั้นถูกกำหนดให้มีความหมายแตกต่างกันไป เช่น
– ไส้โหงวยิ้ง หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ และ โชคลาภ
เพราะว่าอย่างที่เล่าไปว่าในสมัยก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตในแต่ละปีนั้นมักขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นการที่ชาวบ้านสามารถทำขนมที่มีไส้ถั่วถึง 5 ชนิดได้จึงหมายความว่าปีนั้นเป็นปีที่มีผลผลิตอุดมสมบูรณ์ดี
– ไส้เมล็ดบัว หมายถึง ความสงบ และ ความบริสุทธิ์
แต่ไหนแต่ไรมา ดอกบัวก็เป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ จนถึงขั้นที่ว่ามีการเปรียบเปรยหญิงสาวที่เป็นคนจิตใจดี บริสุทธิ์ เพรียบพร้อมว่า “งดงามราวกับดอกบัวขาว” อีกทั้งดอกบัวมักจะขึ้นอยู่กลางสระที่เงียบสงบ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของความหมายของขนมไส้เมล็ดบัว
– ไส้ไข่แดงเค็ม หมายถึง พระจันทร์
เพราะไข่แดงเค็มกลมๆ ท่ากลางไส้ขนมไหว้พระจันทร์ ดูราวกับพระจันทร์เต็มดวงที่อยู่ท่ามกลางท้องฟ้ายามค่ำคืน
มีข้อหนึ่งที่ผู้เขียนเคยสงสัย ว่าทำไมหน้าของขนมไหว้พระจันทร์มักจะมีสีเข้มเกรียมกว่าส่วนอื่นๆ เสมอ เป็นเพราะมันอยู่ด้านบนสุดเวลาอบเลยโดนความร้อนมากที่สุดรึเปล่า? แต่พอมาศึกษาดูจริงๆ แล้วถึงพบว่าสาเหตุที่ด้านหน้ามักจะมีสีเข้มกว่า ก็เพราะหลังจากนำขนมไหว้พระจันทร์เข้าอบได้สักพัก จะต้องนำออกมาเพื่อทาไข่แดงผสมน้ำเชื่อมก่อนอบอีกรอบ ทำให้สีด้านหน้าเข้มกว่าส่วนอื่นๆ นั่นเอง
แต่ขนมไหว้พระจันทร์ที่เราพูดถึงกันนั้นเป็นแค่ขนมไหว้พระจันทร์แบบกวางตุ้ง ยังมีขนมไหว้พระจันทร์แบบอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ขนมไหว้พระจันทร์แบบปักกิ่ง ขนมไหว้พระจันทร์แบบซูโจว ขนมไหว้พระจันทร์แบบเฉาซาน ขนมไหว้พระจันทร์แบบยูนนาน ไปจนถึงขนมไหว้พระจันทร์แบบฮ่องกง ซึ่งในจุดนี้ผู้เขียนไม่เคยมีความรู้มาก่อน จึงจะแปลบทความจากภาษาต่างประเทศให้ทุกท่านได้ทำความรู้จักไปพร้อมๆ กันแทน
Credit : Pinterest – Designed by Cullen Chen
ขนมไหว้พระจันทร์แบบปักกิ่ง (Beijing Style Moon Cake)
จะเป็นขนมไหว้พระจันทร์ในแถบภาคเหนือของจีนอย่างปักกิ่งและเทียนจิน จพหน้าตาคล้ายซาลาเปาทอด มีสองแบบที่โด่งดังคือ ขนมไหว้พระจันทร์สีแดง และ ขนมไหว้พระจันทร์สีขาว ที่มีรสชาติหวานและผิวนอกกรอบ
ขนมไหว้พระจันทร์แบบซูโจว (Suzhou-Style Mooncakes)
มีประวัติความเป็นมากว่าพันปีและมีชื่อเสียงในแถบเซี่ยงไฮ้ จะเป็นขนมไหว้พระจันทร์ที่มีเกล็ดแป้งอยู่รอบๆ ตัวขนมเป็น Texture และเอกลักษณ์ จะมีด้วยกันสองไส้ คือ ไส้หวาน มีส่วนผสมของกลีบกุหลาบ ดอกหอมหมื่นลี้ ถั่วและเมล็ดธัญพืชต่างๆ ในขณะที่ไส้เค็มจะใส่ไส้เนื้อหมู แฮมและกุ้ง กินเป็นของคาวมากกว่าขนม
ขนมไหว้พระจันทร์แบบเฉาซาน (Chaoshan-Style Mooncakes)
เป็นขนมที่มาจากแถบกวงตง ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ตัวขนมจะห่อด้วยแป้งบางกรอบเป็นชั้นๆ ไม่ได้ทำให้เรียบเนียนแต่เรียงตัวกันเรียบร้อย ข้างในมักจะทำเป็นไส้ถั่วงอก (mung bean paste) ไส้ถั่วดำ และไส้มันฝรั่ง
ขนมไหว้พระจันทร์แบบยูนนาน (Yunnan-Style Mooncakes)
มีชื่อเสียงในแถบยูนนานและบริเวณใกล้เคียง จะมีด้วยกันสองไส้ คือ ไส้คาว จะเป็นไส้แฮมเค็มต้นตำหรับยูนนานผสมกับน้ำผึ้ง ให้รสชาติหวานๆ เค็มๆ กลมกล่อม ส่วนอีกไส้จะเป็นไส้ดอกไม้ จะใส่ดอกกุหลาบและดอกไม้ที่สามารถรับประทานได้อื่นๆ ลงไปทำให้เวลากินได้กลิ่นดอกไม้หอมอวลไปทั่วทั้งปาก
ขนมไหว้พระจันทร์แบบฮ่องกง (Hong-Kong-Style Mooncakes)
ขนมไหว้พระจันทร์ของฮ่องกงจะมีผิวนอกเป็นสีขาว เนื่องจากหลังจากที่ทำแป้งและกดออกมาจากพิมพ์แล้วจะไม่ได้นำเข้าเตาอบ แต่นำเข้าตู้เย็นแทน ทำให้ถูกเรียกว่าเป็นขนมไหว้พระจันทร์ผิวหิมะ หรือที่คนไทยรู้จักกันว่า “ขนมบัวหิมะ” นั่นเอง
มาถึงคิวของขนมอื่นๆ ที่มักจะใช้ในเทศกาลไหว้พระจันทร์ของชาวแต้จิ๋วกันบ้าง…
ในหนังสือ “เกี๊ย ซุง ฮวด ไช้ ลูกหลานกตัญญูโชคดี” ของคุณจิตรา ก่อนันทเกียรติ มีอธิบายไว้ถึงขนมต่างๆ ที่มีในเทศกาลไหว้พระจันทร์ ซึ่งผู้เขียนขอหยิบยกมาให้ทุกท่านได้อ่านกันสักช่วงหนึ่งดังนี้
Credit : bareo-isyss บทความ “Chinese Tea Pairing ของหวานและชาจีน”
“ขนมโก๋ขาว (แป๊ะกอ) เป็นขนมแผ่นกลมใหญ่แบนๆ ปั้มลายนูนสวยงาม มีทั้งแบบกลมเล็กๆ หรือแบบแท่งสี่เหลี่ยม มีทั้งแบบมีไส้และไม่มีไส้
ขนมโก๋เหลือง (เหล็กเต่ากอ) หรือโก๋ถั่ว จะมีไส้ และไส้ที่นิยมคือไส้ทุเรียน ไส้งาดำ
ขนมโก๋อ่อน (หล่ากอ) เป็นขนมโก๋ที่มีลักษณะนุ่มเหนียว มีสอดไส้ถั่วบดหวานมันอร่อย ไส้งาดำก็มี
ขนมโก๋เช้ง เป็นขนมโก๋แผ่นกลมใหญ่ ขนาดเท่าขนมโก๋ขาวแต่เป็นแผ่นกลมแบนสีเหลืองตุ่นๆ เพราะผสมน้ำส้มเช้ง บางเจ้ามีใส่เม็ดก๋วยจี๊ เวลาเคี้ยวโดนจะกรุบกรอบอร่อย”
ในบรรดาขนมโก๋ทั้งหลายที่พูดมา ผู้เขียนเคยกินแค่ขนมโก๋ขาวและขนมโก๋อ่อน ส่วนตัวชอบขนมโก๋อ่อนมากกกว่าเพราะว่าทั้งนุ่มทั้งหอมพอดี ต่างจากขนมโก๋ขาวที่มีเนื้อร่วนกว่าและเหมาะกับการกินคู่กับน้ำชาร้อนๆ รสเข้มๆ
นอกจากนี้ยังมีขนมชนิดอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึงอีก ได้แก่
Credit : chinatownyaowarach
ขนมอี้ เป็นขนมบัวลอยจีน เป็นขนมมงคลสีแดงหรือชมพู เวลามีงานไหว้ต่างๆ ผู้ใหญ่ที่บ้านมักจะต้มเม็ดสาคูเต็มหม้อ จากนั้นผสมด้วยเฮลบูบอยสีแดงทิ้งไว้จนสีเข้าเนื้อสาคู ตอนนั้นถึงเรียกว่าขนมอี้
ส่วนตัวผู้เขียนชอบกินขนมอี้ที่แช่ตู้เย็นทิ้งไว้แล้วเพราะจะเหมือนเยลลี่หวานๆ สวยๆ แต่ก็มีตอนที่ไม่ชอบเช่นกันอย่างหลังไหว้เสร็จตอนตีหนึ่งตีสอง จะต้องเอาขนมอี้ที่ไหว้ขึ้นโต๊ะมากินกันคนละถ้วย ซึ่งตอนนั้นอี้จะไม่เย็น และตอนตีหนึ่งตีสองที่ตื่นขึ้นมาไหว้นั้น ผู้เขียนไม่มีความอยากอาหารแล้ว แต่ก็ต้องกินลงไปทุกที เรียกได้ว่าเป็นทั้งขนมที่ชอบ และขนมที่ต้องกล้ำกลืนกินในเวลาเดียวกัน
Credit : finkubfan
ขนมเปี๊ยะ (ปิ่ง หรือ ไช้) เป็นขนมโบราณของจีน จะมีไส้ต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ไส้เผือก ไส้งาดำไส้ถั่ว ไส้ฟัก ไส้ถั่วแดง ไส้ถั่วเขียว และในปัจจุบันก็ยังมีไส้ไข่เค็ม รวมไปถึงไส้ลาวาต่างๆ ตัวไส้จะถูกห่อเอาไว้ด้วยชั้นแป้งบางๆ หลายชั้น ปั้นเป็นทรงกลมขนาดพอดีคำบ้าง เป็นวงกลมแบนๆ ขนาดเล็กบ้าง หรือบางร้านก็จะทำให้เป็นวางกลมแผ่นใหญ่และหนาเหมือนเค้กชิ้นย่อมๆ
ขนมเปี๊ยะจีนดั้งเดิมมักจะมีตราประทับเป็นตัวอักษรจีนสีแดงอยู่บนหน้าขนม ตอนเด็กๆ ผู้เขียนเคยสงสัยเหมือนกันว่าสีแดงๆ ที่เขาใช้ประทับตัวอักษรจะเหมือนหมึกแสตมป์ที่เป็นตลับๆ รึเปล่าทำให้มักแอบเขี่ยหน้าชั้นบนสุดออกเสมอ แต่ภายหลังก็พบว่าหน้าสุดนี่แหละชิ้นที่กรอบและหอมที่สุดก็เลยเลิกสงสัย ในเมื่อคนอื่นกินได้ เราก็กินได้เหมือนกันแหละ! (ภายหลังพอโตแล้วถึงเพิ่งรู้ว่าสีแดงนั้นมาจากสีผสมอาหารนั่นเอง)
Credit : Facebook – ภูริ ฟู้ด : ขนมกระปุก นพนารา
ขนมงาอ่อน (เหม่งทึ้ง) ขนมงาอ่อนเป็นขนมแป้งกวนนุ่มๆ หอมๆ ตัวเนื้อออกสีน้ำตาลอ่อน ตัดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมผืนผ้าพอดีกันสักคำสองคำ แต่ละชิ้นนำลงไปคลุกงาขาวทั่วทั้งชิ้นจากนั้นนำมาจัดเรียงใส่กล่องสวยงาม เวลากินเข้าไปจะได้กลิ่นหอมงา แต่กินมากไปจะเลี่ยนได้
Credit : Youtube Video by sunee zuterni
ขนมถั่วตัด ขนมงาตัด (ต่าวปัง หมั่วปัง) ขนมงาตัดจะหน้าตาคล้ายขนมงาอ่อน แต่ตัวเนื้อจะแข็งมาก ผู้เขียนไม่ค่อยชอบขนมงาตัดเท่าไหร่เพราะกินมากๆ จะเริ่มเจ็บฟันเพราะต้องใช้เรี่ยวแรงพละกำลังในการเคี้ยวมหาศาล ในขณะเดียวกันขนมถั่วตัดจะเป็นแบบเดียวกับขนมงาตัดเพียงแต่เปลี่ยนตัวเนื้อหลักจากงาเป็นถั่วลิสง ขนมถั่วตัดจะกินง่ายกว่า แต่สุดท้ายแล้วก็ยังเป็นขนมที่มักเหลือเป็นอย่างสุดท้ายในโหลขนมอยู่ดี
Credit : Facebook – ขนมคอเป็ด คุณมล
ขนมคอเป็ด (อ๊ะอ่ำ / หนึงทึ้ง) เป็นขนมของทางภาคใต้ ปัจจุบันหลายคนมักเข้าใจว่าขนมคอเป็ดกับขนมงาอ่อนคืออย่างเดียวกันแต่จริงๆ เป็นคนละอย่าง ตัวผู้เขียนเองทีแรกก็ไม่รู้แต่เมื่อได้ฟังจากญาติผู้ใหญ่จึงถึงเพิ่งเข้าใจว่า ขนมหนึงทึ้ง เป็นขนมอีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นขนมแข็งกรอบ เมื่อก่อนหากินได้ตามงานเทศกาลแต่เดี๋ยวนี้แทบไม่มีแล้ว
ขนมไหว้พระจันทร์ของปีนี้
ในปีนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสได้ลิ้มลองขนมไหว้พระจันทร์ของหลายๆ เจ้า ทั้งที่มีรสชาติดี และ มีดีไซน์กล่องที่น่าสนใจ จึงอยากจะนำมาแบ่งปันกับทุกท่านในวันนี้
Tiffany & co. : Rocket Gift Box Limited Edition
Credit : Photo by Than.T & Lemonet 24
สำหรับขนมไหว้พระจันทร์ที่ผู้เขียนรู้สึกตื่นตาตื่นใจมากที่สุดในปีนี้ก็คือขนมไหว้พระจันทร์ของ Tiffany & co. หรือร้านขายอัญมณีและเครื่องประดับที่เรารู้จักกันดี หลายคนอาจจะไม่คุ้นเคยนักแต่สาเหตุที่ Tiffany & co. มีขนมไหว้พระจันทร์ออกมาเพราะเขามีคาเฟ่เป็นของตัวเอง รู้จักกันในชื่อ Tiffany Cafe มีสาขาเปิดในประเทศต่างๆ มากมาย เช่น สหัรัฐอเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่นเป็นต้น
กล่องของ Tiffany & co. Mooncake ในปีนี้ทำออกมาในตีม “อวกาศ” ซึ่งตัวกล่องด้านนอกจะเป็นสีฟ้าทิฟฟานี่ แต่เมื่อเปิดภายในออกมาเราก็จะพบกับยานอวกาศหนึ่งลำพร้อมกับฉากหลังเป็นอวกาศ ฝีมืองานกราฟฟิกโดย Christoph Niemann พร้อมด้วยการ์ดป๊อปอัพอีกหนึ่งใบ
ตัวยานอวกาศสามารแกะออกมาได้ 4 ชั้นและมีขนมไหว้พระจันทร์หน้าตาหน้ากิน ปั้มลายตัว T ทั้งหมด 4 ชิ้น ตอนกินเข้าไปไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ว่าไส้อะไรแต่หลังจากที่ค้นหาข้อมูลก็พบว่ามีทั้งหมด 4 ไส้ซึ่งบางส่วนในนั้นคือไส้ทรัฟเฟิลและไส้รังนกนั่นเอง
Mandarin Oriental, Bangkok’s Mooncakes
Credit : Photo by WRW
ต่อมาคือขนมไหว้พระจันทร์ที่บ้านของผู้เขียนต้องซื้อมาทุกปี เพราะนอกจากจะมีรสชาติดีแล้ว ตัวกล่องยังมีทั้งแพคเกจแบบปกติ และแพคเกจเซตพิเศษที่จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละปีอีกด้วย อย่างปีก่อนหน้านี้มีทั้งกล่องที่เป็นทรงพัด และกล่องที่เป็นทรงกลมมีหูหิ้ว ส่วนปีนี้ Mandarin Oriental ก็ได้ทำกล่องขนมไหว้พระจันทร์ออกมาเป็นกล่องลิ้นชัก ชั้นหนึ่งใส่ขนมไหว้พระจันทร์ 8 ชิ้น ส่วนอีกชั้นใส่ชาไว้ดื่มคู่กัน เหมาะกับการนำไปเป็นของขวัญให้กับญาติผู้ใหญ่เป็นอย่างดี
ตัวขนมไหว้พระจันทร์ของ Mandarin Oriental มีขนาดเล็กพอดีกินสำหรับหนึ่งคน ถ้ากินกับคนในครอบครัวก็จะหั่นแบ่งสองรสชาติมาจิ้มกินกันคนลพคพสองคำ รสชาติกลมกล่องกำลังดี รสชาติที่กินมาหลายปีก็ยังชอบคือไส้คัสตาร์ด ซึ่งส่วนตัวแล้วคิดว่ากินคู่กับชาฝรั่งได้อย่างลงตัว
Kyo Roll En x Sorn : Legend of Mooncake
Credit : Photo by Than.T
ในปีนี้ตอนใกล้วันไหว้พระจันทร์ผู้เขียนก็ได้ค้นพบกับขนมไหว้พระจันทร์ของ Kyo Roll En ซึ่งค่อนข้างเป็นที่น่าแปลกใจเพราะไม่คิดมาก่อนว่าร้านขนมร้านนี้จะมีขนมไหว้พระจันทร์กับเขาด้วย โดยข้อมูลจากทางหน้าเว็บไซต์ออฟฟิเชียลของ Kyo Roll En ก็บอกไว้ว่าขนมไหว้พระจันทร์ในปีนี้ “การร่วมมือระหว่าง Kyo Roll En และ เชฟมิชลิน 2 ดาวจากร้านอาหาร Fine Dining “ศรณ์” 2 คน ได้แก่ เชฟเดช คิ้วคชา และ เชฟไอซ์ – ศุภักษร จงศิริ”
กล่องนี้มีทั้งหมด 8 ชิ้น 4 รสชาติ ได้แก่ Yuzu Lava, Satsumo Imo, Cashew Nuts – Coconut และ Southern Mont-Blanc โดยผู้เขียนเพลิดเพลินกับขนมไหว้พระจันทร์ทั้งสี่รสชาติมาก นอกจากแปลกใหม่แล้วยังมีรสชาติลงตัวพอดี แต่ให้ความรู้สึกเหมือนกินขนมทรงขนมไหว้พระจันทร์มากกว่า รสชาติที่ชอบที่สุดของผู้เขียนคือ Cashew Nuts – Coconut (กาหยู เม็ดมะม่วงหิมพานต์ สอดไส้มะพร้าวสด) ส่วน Satsumo Imo (มันหวานญี่ปุ่น) นั้น ก็หวานหอมสมกับเป็นมันหวานเลยจริงๆ
MX cake & bakery’s Mooncake
Credit : mxcakesandbakery