Origami Master

จ้าวแห่งการ พับกระดาษ

โอริกามิ (Origami) หนึ่งในศิลปะชื่อดังของญี่ปุ่น คือ ศิลปะการ ” พับกระดาษ” เป็นรูปทรงต่างๆ ได้รับความสนใจและเป็นที่นิยมทั่วโลก ซึ่งคำว่า “โอมิ” หมายความว่า “พับ” และ “กามิ” มาจากคำว่า “กระดาษ” รวมกันเป็นการ ” พับกระดาษ ” โดยจุดเด่นของการพับกระดาษแบบโอริกามิ คือ การพับโดยไม่ใช้การตัด การติดกาว
จุน มิทะนิ (Jun Mitani) อาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยซึคุบะ (Tsukuba Univrsity) แห่งประเทศญี่ปุ่น ได้ให้คำนิยามเกี่ยวกับโอริกามิไว้ว่า “โอริกามิคือวัฒนธรรม โอริกามิคือศิลปะ โอริกามิคือศาสตร์แห่งวิศวกรรม และเรขาคณิตด้วย”
วัฒนธรรมการพับกระดาษของญี่ปุ่นมีมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยเอโดะ เริ่มมีความนิยมมากขึ้นในยุคเมจิ เนื่องจากกระดาษที่ผลิตจากทางฝั่งยุโรปเริ่มแพร่หลาย และได้รับความนิยมต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการพับกระดาษที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เช่น การพับนกกระเรียน หรือที่ชาวญี่ปุ่นเรียกกันว่า โอริสึรุ (Oritsuru) ซึ่งหลายๆ คนมีความเชื่อว่าถ้าพับนกกระเรียน ครบพันตัว จะสามารถขอพรให้อายุยืนยาวได้และขอพรได้ตามใจปรารถนา เนื่องจากนกกระเรียน ตามความเชื่อของชาวญี่ปุ่นหมายถึงอายุยืนยาวและเป็นสัตว์แห่งความมงคลนั่นเอง
Credit : town.kaminokawa .lg.jp
แต่บุคคลเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ศิลปะการพับกระดาษโด่งดังและรู้จักไปทั่วโลก คือ อากิระ โยชิซาวะ (Akira Yoshizawa) ผู้ชายธรรมดาที่กลายเป็นนักพับกระดาษชาวญี่ปุ่นชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก อากิระ โยชิซาวะ เกิดวันที่ 14 มีนาคม 1911 ในครอบครัวที่ค่อนข้างยากจน พ่อแม่ประกอบอาชีพเป็นชาวไร่ จึงไม่สามารถส่งเสียให้เขาได้เรียนในระดับที่สูงกว่าชั้นประถมศึกษาปี่ที่ 6
ในยุคที่ความเจริญยังเข้าไม่ถึง สมัยนั้นของเล่นก็ยังมีไม่มาก เด็กญี่ปุ่นทั่วไปมักจะทำการพับกระดาษเป็นกบและเครื่องร่อน แต่ด้วยพรสวรรค์และความชื่นชอบในการพับกระดาษที่มากกว่าใคร โยชิซาวะ จึงมักใช้เวลาว่างหรือแม้แต่ช่วงพักตอนเข้าไปทำงานที่โรงงานแห่งหนึ่ง นั่งพับกระดาษเป็นรูปแบบที่แปลกใหม่มากมาย โดยได้รับการสนับสนุนจากพ่อของเขาที่คอยวิ่งเต้นให้เขาได้นำผลงานไปโชว์ตามนิทรรศการต่างๆ แม้จะเป็นเพียงงานเล็กๆ ก็ตาม แต่นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเริ่มเป็นที่รู้จัก จนผลงานไปต้องตาบรรณาธิการหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า “Asahi Graph” ที่ยื่นข้อเสนอให้เขาพับกระดาษเป็นรูปนักษัตรทั้ง 12 และเมื่อหนังสือถูกตีพิมพ์ ชื่อของอากิระ โยชิซาวะ ในวัย 41 ปี ก็แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เขากลายเป็นนักพับกระดาษที่มีชื่อเสียง ที่มีทั้งผลงานและนิทรรศการต่างๆ ตามมามากมาย และในปี 1954 หนังสือเล่มแรกของโยชิซาวะ ถูกตีพิมพ์ ชื่อ “Atarashii Origami Geijutsu” ซึ่งเป็นเรื่องราวของการพับกระดาษแบบใหม่ ก็ทำให้ชื่อเสียงของเขาในฐานะนักพับกระดาษโด่งดังและรู้จักไปทั่วโลก และศาสตร์ของเขาก็มีนักพับกระดาษในยุโรปนำไปปรับใช้เป็นวิถีของตนกันมากมาย
จากชื่อเสียงที่โด่งดังทั่วโลกของ โยชิซาวะ ทำให้ในปี 1983 ญี่ปุ่นได้มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์อาทิตย์อุทัย “Order of the Rising Sun” เป็นรางวัลที่มอบให้แก่ผู้ที่ได้สร้างผลงานโดดเด่นในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยตลอดอาชีพการทำงาน โยชิซาวะ ได้ทำหน้าที่เป็นทูตวัฒนธรรมระดับนานาชาติของญี่ปุ่นด้วย สมเด็จพระจักรพรรดิฮิริฮิโตะ จึงพระราชทานเครื่องอิสริยาภรณ์อาทิตย์อุทัย ชั้นที่ 5 ให้แก่ อากิระ โยชิซาวะ ซึ่งเป็นหนึ่งในเกียรติยศสูงสุดที่มอบให้ในญี่ปุ่น
ด้วยความเป็นนักพับกระดาษระดับโลกทำให้โยชิซาวะมีผลงานการพับกระดาษกว่า 50,000 แบบ โดยในจำนวนนี้มีการออกแบบหลายร้อยแบบที่ถูกนำเสนอเป็นไดอะแกรมในหนังสือ 18 เล่มของเขา

ตัวอย่างผลงาน Origami ที่โดดเด่นของ Akira Yoshizawa

12 นักษัตร (12 Signs of Zodiac)

Credit : Disco Slab on Pinterest
ผลงานการพับกระดาษชุดเกิดขึ้นจากการที่ “อิซาวะ” บรรณาธิการหนังสือ Asahi Graph เกิดสนใจผลงานของโยชิซาวะ จนมุ่งมั่นตั้งใจในการตามหาเขา พร้อมยื่นข้อเสนอให้โยชิซาวะพับกระดาษเป็นรูป 12 นักษัตรแลกกับการตีพิมพ์ผลงานลงบนหนังสือ Asahi Graph และโยชิซาวะก็ไม่พลาดที่จะคว้าโอกาสนี้ เนื่องจากตอนนั้นชีวิตเขากำลังลำบาก แต่ก็ยังมีความฝันที่จะเป็นนักพับกระดาษต่อไป โดยโยชิซาวะตั้งใจพับกระดาษ จากกระดาษหลากหลายชนิดที่อิซาวะเตรียมไว้ให้ จนเกิดเป็นกระดาษรูป 12 นักษัตร ที่น่าทึ่ง จนสามารถสร้างชื่อเสียงและทำให้เขาเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
ผลงาน 12 นักษัตร (ตามแบบฉบับญี่ปุ่น)ได้แก่ หนู, วัว, เสือ, กระต่าย, มังกร, งู, ม้า, แกะ, ลิง,ไก่, สุนัข และ หมูป่า ใช้วิธีการพับกระดาษแบบเปียก (wet folding) ซึ่งเป็นเทคนิคการพับแบบเฉพาะของโยชิซาวะ ที่จะทำให้ผลงานคมชัด สามารถพับกระดาษทำให้เหมือนมีชีวิต มีความรู้สึกจริงๆ โดยการใช้วิธีทำให้กระดาษเปียกเล็กน้อยก่อนการพับ ใช้การพรมน้ำหรือผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ดในระหว่างขั้นตอนการพับ ซึ่งเทคนิคนี้จะทำให้กระดาษพับมีความพริ้วไหว จัดทรงง่าย และอยู่ตัวทำให้พับได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

นกยูง (Origami Peacock)

Credit : hypescience .com
ผลงานชิ้นต่อเป็นผลงานที่ทำให้โยชิซาวะ เป็นที่รู้จักและโด่งดังไปทั่วโลก นั่นคือ การพับกระดาษเป็นรูปนกยูง ( Origami Peacock) ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผู้พบเห็น เพราะเสมือนนกยูงมีชีวิตจริงๆ และด้วยความปราณีตจากวิธีการที่น่าทึ่งโดยใช้กระดาษพับสี่เหลี่ยมจตุรัส 2 แผ่น ขนาด15×15 เซนติเมตร และขนาด 24×24 เซนติเมตร โดยประมาณ สำหรับส่วนตัวและส่วนหาง นำมาพับและประกอบกัน กลายเป็นนกยูงที่แสนสง่างาม (ในส่วนหางหากใครอยากลองทำดู คุณสามารถเลือกขนาดของหางได้ตามใจชอบได้เลย) และผลงานชิ้นนี้ได้ถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือ Origami Dokuhon ในปี 1957

ใบหน้าเสมือนจริง (Self-Portrait)

Credit : compass-point .jp
ผลงานการพับ “ ใบหน้าเสมือนจริง ” เป็นอีกหนึ่งผลงานที่พิสูจน์ฝีมือของโยชิซาวะว่าเป็นปรมาจารย์ด้านการพับกระดาษก็คือ การพับกระดาษเป็นรูปหน้าคน ซึ่งเป็นผลงานที่ใช้รายละเอียดและความปราณีตค่อนข้างเยอะ แต่โยชิซาวะก็ทำออกมาได้อย่างหน้าทึ่ง โดยเขาได้ทำใบหน้าออกมาในรูปแบบและลักษณะต่างๆ เสมือนมีชีวิตจริง เช่น ใบหน้ายิ้มเศร้า, เจ้าเล่ห์, ผู้หญิงผมสั้น, ผู้หญิงใส่แว่น เป็นต้น

กระรอก (Origami squirrel)

Credit : vallebird.files.wordpress .com “The Legacy of Akira Yoshizawa”
โยชิซาวะสร้างผลงานกระรอกจากการพับกระดาษสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 15 นิ้ว โดยใช้เทคนิคแบบกระดาษ 2 สี เพื่อความสมจริงและให้ผลงานออกมาเหมือนมีชีวิต โดยกระดาษด้านหนึ่งเป็นสีน้ำตาล (ส่วนตัว) และอีกด้านหนึ่งใช้เป็นสีขาว (ส่วนท้อง) ซึ่งความโดดเด่นของผลงานชิ้นนี้ทำให้ได้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ กรุงปารีส ในปี 1998
ผลงานมากมายที่ อากิระ โยชิซาวะ สร้างสรรค์นับหมื่นๆ ชิ้น ต่างเป็นที่รู้จักและประทับอยู่ในใจของใครหลายๆ คน จนถึงปัจจุบันก็ยังมีคนนำวิธีกาพับกระดาษของเขามาใช้ และที่สำคัญที่ญี่ปุ่นมีวันโอริกามิ ซึ่งมีมายอย่างยาวนาน ไม่ใช่เพียงเพื่อระลึกถึงบุคคลสำคัญ แต่ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมพับกระดาษสร้างสรรค์เป็นผลงานอื่นๆ ได้อย่างอิสระนั่นเอง
สามารถติดตามผลงานต่าง ๆ ของทาง Bareo ได้ที่ช่องทางเว็บไซต์ของ Bareo หรือทาง Facebook : Design by Bareo ที่จะคอยอัพเดทข่าวสาร งานดีไซน์ และผลงานการออกแบบตกแต่งภายในมากมาย ให้ท่านผู้อ่านได้รับความรู้ และความสนุกตลอดทั้งปี
หรือหากสนใจจะออกแบบตกแต่งภายในกับทาง Bareo ทางเราก็มีบริการออกแบบภายในครบวงจร โดยสามารถอ่านรายละเอียดการให้บริการของเราได้ที่นี่ คลิ๊ก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
peacetre .com
japaoemfoco .com
archive .boston .co

CONTENT RELATED

NEW CONTENT

PORTFOLIO