“ แอนิเมชั่น ” (Animation) สามารถทำให้นักเล่าเรื่องหลายต่อหลายคนบอกเล่าถึงเรื่องราวในรูปแบบที่ไม่เหมือนใครได้ ในโลกมหัศจรรย์ของงานแอนิเมชั่นสามารถจุดประกายแรงบันดาลใจและความมหัศจรรย์ของทุกเรื่องราวต่างๆ ให้เกิดขึ้นมาได้ โดยที่ไม่สนใจว่าผู้เล่าเรื่องเหล่านั้นจะเป็นใคร อายุเท่าใด และเรื่องราวที่เขาต้องการสื่อสารจะเป็นเรื่องไหนก็ตาม ดังนั้นหากคุณต้องการจะเล่าเรื่องราวผ่านผลงานแอนิเมชั่นสักเรื่อง เราลองมาทำความรู้จักกับแอนิเมชั่นกันดีกว่าค่ะ
Credit : techpathways .com
แอนิเมชั่น คือ การสร้างภาพเคลื่อนไหวโดยการฉายภาพนิ่งจำนวนหลายๆ ภาพต่อกันด้วยความเร็วสูง โดยการนำภาพนิ่งมาเรียงต่อกัน แอนิเมชั่นมีหลากหลายวิธีทำ อย่างเช่น วิธีการถ่ายภาพจากภาพวาด หุ่นจำลอง หรือแม้แต่หุ่นต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้น แล้วจึงนำภาพถ่ายเหล่านั้นมาเรียงต่อเนื่องกัน เพื่อสร้างภาพลวงตาของการเคลื่อนไหวตามลำดับ เนื่องจากดวงตาของเราสามารถเก็บภาพได้เพียงประมาณ 1 ใน 10 ของวินาทีเท่านั้น ดังนั้นเมื่อภาพหลายภาพปรากฏขึ้นต่อเนื่องกันอย่างรวดเร็ว สมองของเราจะรวมภาพเหล่านั้นเข้าด้วยกันทั้งหมดจนทำให้เกิดการมองว่าเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้นั่นเอง
แอนิเมชั่น แบ่งออกเป็น 2 แบบ

แบบที่ 1 คือ แอนิเมชั่นแบบดั้งเดิม (Traditional animation)

Credit : FB : traditionalanimation
Credit : colum .edu
แอนิเมชั่น แบบดั้งเดิมจะไม่มีการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น ได้แก่ การวาดเส้น (Drawing), การระบายสีบนกระดาษ (Painting), แอนิเมชั่นแบบเซลลูลอยด์ หรือแผ่นใส (Celluloid sheets animation), การปั้นดินน้ำมัน (Clay animation) และ การตัดกระดาษ (Paper cut joint cut)

แบบที่ 2 คือ ดิจิทัลแอนิเมชั่น หรือ คอมพิวเตอร์แอนิเมชั่น (Digital animation, Computer animation)

Credit : internships .com
เป็นการนำเสนอภาพเคลื่อนไหวโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์มาเข้ามีส่วนร่วม ทั้งการวาดภาพ ระบายสี การปั้นหุ่นโมเดล การทำภาพเคลื่อนไหว ไปถึงการใช้เทคนิคคอมพิวเตอร์ตัดต่อภาพ ทั้งแบบ 2 มิติ และแบบ 3 มิติ
สำหรับบทความนี้ผู้เขียนขอนำเรื่องราวของการทำแอนิเมชั่นแบบดั้งเดิม อย่างการทำแอนิเมชั่นกระดาษ มาขยายความให้ฟังเป็นความรู้กันเพลินๆ ค่ะ ที่เลือกนำเรื่องราวของงานแอนิเมชั่นกระดาษมาบอกเล่า เพราะแอนิเมชั่นกระดาษจัดว่าเป็นหนึ่งในเทคนิคแอนิเมชั่นที่เก่าแก่ แต่ทว่าขั้นตอนการผลิตนั้นถือว่าง่ายที่สุดจากงานแอนิเมชั่นอื่นๆ ทั้งหมดก็ว่าได้

Zoetrope

Credit : mallams .co.uk
Zoetrope ถือเป็น แอนิเมชั่น แบบโบราณยุคแรกๆ เป็นอุปกรณ์ที่สร้างภาพลวงตา เคลื่อนไหวโดยแสดงรูปภาพหรือภาพวาดหลายภาพในถังหรือถังทรงกระบอก สิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรก ของ Zoetrope เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1834 โดยนักคณิตศาสตร์ชื่อ William George Horner เดิมทีเขาตั้งชื่อมันว่า Dadatelum หรือ “วงล้อแห่งชีวิต” ซึ่งเป็นชื่อเล่นเริ่มต้น อุปกรณ์ Zoetrope จะมีแถวของภาพต่อเนื่องที่หมุนวนเพื่อสร้างภาพลวงตาให้เกิดการเคลื่อนไหว
เมื่อคนมองผ่าน Zoetrope พวกเขาจะหมุนมันด้วยมือ และมองเข้าไปผ่านรอยแยก โดยภาพด้านในจะถูกหมุนอย่างรวดเร็วภายในอุปกรณ์ทรงกระบอก และเนื่องจากภาพถูกวางเรียงเป็นลำดับเอาไว้แล้ว จึงดูเหมือนมีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นจริงๆ
William George Horner
Credit : georgehalesmediav .weebly.com
หลังจากนั้นเทคโนโลยีแอนิเมชั่นนี้ถูกลืมไปนานหลายปี จนในปี ค.ศ.1867 มันถูกค้นพบอีกครั้งโดยชาวอเมริกันชื่อ William Lincoln เขาได้จดสิทธิบัตรในชื่อ Zoetrope เมื่อวันที่ 23 เมษายน ค.ศ.1867 หลังจากนั้นไม่นาน บริษัทผู้ผลิตเกมกระดาน Milton Bradley ก็ผลิตและเริ่มวางจำหน่าย Zoetrope ในปี ค.ศ.1868 และได้ยังได้ผลิต Zoetrope ออกมามากถึง 73 แบบ ซึ่งในยุคนั้นถือว่าเยอะมากเลยทีเดียว
Credit : worthpoint .com
รูปของภาพ Zoetrope มักเป็นรูปภาพแบบง่ายๆ มีบล็อกสีและสัดส่วนหนา หรือมีขนาดใหญ่ รายละเอียดปลีกย่อยในภาพจึงมักจะหายไป ทำให้ภาพดูเบลอเวลาหมุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สีที่ใช้มักมีแค่หนึ่งหรือสองสี ใช้เทคนิคภาพพิมพ์หิน บางชนิดก็มีการผลิตออกมาให้มีสีสันมากขึ้น บางครั้งก็มีการวาดรูปลงสีด้วยมือ ตัวละครในภาพส่วนมากมักจะมีใบหน้าสีเข้ม เหตุผลก็เพื่อต้องการให้เกิดความคอนทราสต์ของ สีอ่อน และ สีเข้ม เพื่อให้ภาพมีความชัดเจนนั่นเอง

Flipbooks

Credit : ilen .ie
Flipbook หรือ หนังสือพลิก เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ที่ถือว่าเป็นอุปกรณ์สร้างภาพเคลื่อนไหวที่ทำจากกระดาษ ซึ่งในแต่ละหน้ากระดาษจะมีภาพหนึ่งภาพ และภาพในแต่ละหน้ากระดาษก็จะมีความแตกต่างกันในหน้าต่อๆ ไป โดยภาพจะมีความแตกแต่งกันเพียงเล็กน้อยในลักษณะต่อเนื่องกันจำนวนหนึ่ง
และเมื่อเราต้องการให้ภาพเคลื่อนไหว เพียงจ้องไปที่ตำแหน่งเดิมของภาพในหนังสือ แล้วก็จะต้องใช้มือกดที่ขอบสมุด Flipbook ด้านหนึ่ง จากนั้นจึงปล่อยกระดาษเปิดผ่านไปที่ละหน้าอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว สายตาของเราก็จะมองเห็นภาพบนกระดาษเคลื่อนไหวไปมานั่นเอง
Credit : collectorsweekly .com
Flipbook อาศัยหลักการทางแสงพื้นฐานที่เรียกว่าการคงอยู่ของการมองเห็น เพื่อสร้างภาพเคลื่อนไหว ดังนั้นจึงถือได้ว่า Flipbooks เป็นเทคนิคแอนิเมชั่นลำดับแรกๆ ที่เกิดขึ้นมา และบ่อยครั้งหนังสือ Flipbook มักถูกผลิตออกมาเป็นหนังสือภาพประกอบเพื่อส่งเสริมจินตนาการสำหรับเด็กโดยเฉพาะ
Pierre-Hubert Desvignes
Credit : twitter : diamedia
Pierre-Hubert Desvignes ได้รับเครดิตให้เป็นผู้รังสรรค์สร้าง Flipbook รุ่นแรกๆ โดย Flipbook เล่มแรกเปิดตัวในปี ค.ศ. 1868 ในรูปแบบ Kineograph ซึ่งแปลว่า “ภาพเคลื่อนไหว” ผู้พัฒนา Kineograph ได้ค้นพบว่า ภาพวาดลายเส้นสามารถนำมาทำให้เกิดภาพเคลื่อนไหวได้ จากนั้นไอเดียนี้ก็ได้รับความสนใจอย่างรวดเร็ว และหลายบริษัท ณ เวลานั้น ก็เริ่มอออกแบบและผลิตหนังสือแบบพลิก สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ แม้ว่า สมัยปัจจุบันอาจจะมี Flipbook แจกฟรีตามท้องถนนทั่วไป แต่ทว่าคนจำนวนมากในยุคก่อนก็ยังมองว่า Flipbooks คือสุดยอดผลงานมหัศจรรย์ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเลยทีเดียว
สำหรับผู้ผลิต Flipbooks ที่น่าสนใจและมีไอเดียดีๆ ในปัจจุบัน ก็จะมีสตูดิโอแอนิเมชั่น Zumbakamera, ศิลปิน Scott Blake, นักวาดภาพประกอบชาวญี่ปุ่นอย่าง Harumin Asao และนอกจากนี้ Flipbooks ยังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่ผู้กำกับมิวสิควิดีโอ อย่างวง Winter Gloves ศิลปินกลุ่มอินดี้ร็อกชาวแคนาดา ในเพลง Let Me Drive ก็มีการถ่ายภาพอิริยาบถของศิลปินในวงดนตรีและสถานการณ์ต่างๆ ภาพเหล่านั้นถูกแปลงลงบนกระดาษและนำมาประกอบเป็นหนังสือ Flipbooks เพื่อนำมาแสดงในมิวสิควิดีโออีกด้วย

Barrier-grid animation

Credit : parametrichouse .com
ในโลกที่ไม่ใช่ดิจิทัล Barrier-grid animation เป็นแอนิเมชั่นที่สร้างขึ้นโดยประกอบด้วยแผ่นใส และภาพที่มีลายเส้นแถบสีดำเล็กๆ ที่เว้นระยะห่างเท่าๆ กัน เมื่อนำมาประสานเข้ากัน และเลื่อนแผ่นแถบสีดำสลับซ้ายไปขวา หรือขวาไปซ้าย ทำให้ภาพขาวดำกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง
โดยเทคนิค Barrier-grid เกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1890 ซึ่งเป็นวิธีสร้างแอนิเมชั่นที่ค่อนข้างถูก และมีวิธีทำที่ง่ายสำหรับการผลิตภาพเคลื่อนไหวในงานพิมพ์ เทคนิคนี้ดูเหมือนจะทำได้ง่ายโดยอาศัยหลักการทับซ้อนกัน ของแผ่นวัสดุบางๆ แค่เพียงสองแผ่นเท่านั้น
ซึ่งเทคนิคการสร้างภาพเคลื่อนไหว Barrier-grid ที่ดูมีมิติเสมือนจริง ด้วยวิธีดึงการแผ่นพลาสติกแถบใสสลับทึบไปมา ผ่านแผ่นกระดาษธรรมดา 2 มิตินี้ เรียกว่า “Scanimation”
Credit : adsoftheworld .com
แอนิเมชั่นเป็นการสร้างภาพลวงตารูปแบบหนึ่งของ Apparent motion ซึ่งปรากฏการณ์นี้อธิบายได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ของการมองเห็นและการใช้ระบบประสาทรับรู้ จากการที่สมองของเราจำลองการเคลื่อนไหวการรับรู้มองเห็นรูปภาพ ที่เกิดการย้ายตำแหน่งของวัสดุหนึ่ง ในแต่ละระยะที่กำหนด Timeframe อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว จนดูเสมือนว่าภาพนั้นเคลื่อนไหวได้นั่นเอง

Paper Stop-Motion

Credit : mir-s3-cdn-cf.behance.net
อีกหนึ่งในเทคนิคแอนิเมชั่นยุคแรก ภาพเคลื่อนไหวแบบ Paper Stop-Motion คือ รูปแบบหนึ่ง Stop-Motion ที่ตัวละครหรืออุปกรณ์ประกอบฉากถูกตัดออกจากวัสดุ เช่น กระดาษ กระดาษแข็ง ภาพถ่าย จนเป็นรูปร่างต่างๆ จากนั้นจะถูกนำมาวางราบบนพื้นหลังและทำการเคลื่อนไหว โดยการเคลื่อนไหวแต่ละครั้งจะถูกบันทึกโดยกล้องถ่ายรูป ซึ่งเมื่อนำภาพถ่ายทุกรูปมาวางเรียงร่วมกันแล้ว ก็จะให้ความรู้สึกของการเคลื่อนไหวขึ้นมา
ศิลปินผู้บุกเบิก Paper Stop-Motion ผสมผสานการตัดต่อภาพที่ยอดเยี่ยม คือ ผู้กำกับหญิงชาวเยอรมัน Lotte Reiniger ผู้สร้างแอนิเมชั่นเรื่องยาวเรื่องแรกและเก่าแก่ที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ คือเรื่อง The Adventures Prince of Achmed ในปี ค.ศ.1926 ซึ่งสร้างโดยการใช้รูปแบบของการตัดกระดาษ เรียกได้ว่าเป็นเทคนิคภาพซิลูเอตต์ หรือรูปภาพที่สีมืดทึบ Lotte Reiniger เรียกงานชุดนี้ว่า “แอนิเมชั่นภาพเงา” ซึ่งตั้งชื่อตามวัสดุสีดำบนพื้นขาว Lotte Reiniger เลือกใช้วัสดุสีดำสำหรับสร้างเอฟเฟ็กต์เงาที่มีดูเสน่ห์และแปลกตา ซึ่งถือได้ว่าในช่วงเวลานั้น เป็นการทดลองการทำแอนิเมชั่นแบบใหม่ของ Lotte Reiniger กันเลยทีเดียว
Lotte Reiniger
Credit : bfi .org.uk
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผู้สร้างภาพยนตร์หลายคนได้รับแรงบันดาลใจมาจากวิธีการทำแอนิเมชั่นที่ไม่เหมือนใครของ Lotte Reiniger เพื่อนำมาต่อยอดพัฒนาเป็นเทคนิคในการผลิตภาพยนตร์ต่อไป โดยการตัดกระดาษเพื่อทำแอนิเมชั่น ยังคงเป็นวิธีพื้นฐานที่น่าสนใจสำหรับแอนิเมเตอร์รุ่นใหม่ๆ ที่เพิ่งจะเริ่มต้นในอาชีพนี้ เนื่องจากกระบวนการผลิตที่เรียบง่ายแต่ทว่าภาพแอนิเมชั่นที่ถูกผลิตออกมากลับมีผลลัพท์ที่น่าสนใจแตกต่างกันออกไปมากมาย แม้ว่าในยุคปัจจุบันนี้จะสามารถทำแอนิเมชั่นโดยใช้เทคนิคจากคอมพิวเตอร์ให้ได้ภาพออกมาแบบเดียวกันกับแอนิเมชั่นยุคก่อนๆ แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือ เหล่านักผลิตภาพยนตร์รุ่นใหม่ กลับสนใจที่จะนำวิธีการตัดต่อและสร้างแอนิเมชั่นกระดาษแบบดั้งเดิมใส่เข้าไปผสมผสานในงานแอนิเมชั่นที่ใช้เทคโนโลยีจากคอมพิวเตอร์ให้เป็นส่วนหนึ่งของกันและกันอีกด้วย
Credit : artscenter .okstate.edu
จริงๆ แล้วการทำ Paper Stop-Motion อาจเป็นเรื่องง่ายมากสำหรับการถ่ายภาพ แม้ว่าคุณจะไม่มีประสบการณ์ไม่มีอุปกรณ์ระดับมืออาชีพ หรือไม่มีงบประมาณ สิ่งที่ต้องมี ก็คือ ความคิดสร้างสรรค์และความอดทน ซึ่งในความเป็นจริง Paper Stop-Motion เป็นเพียงภาพถ่ายจำนวนหนึ่งของวัตถุที่ถูกถ่ายภาพในช่วงเวลาที่คุณเปลี่ยนตำแหน่งหรือรูปร่างของวัตถุนั้นด้วยตัวคุณเอง
Credit : cdn.kastatic .org
ขั้นตอนกระบวนการผลิต Paper Stop-Motion ก็คือ อันดับแรก ควรที่จะมีสตอรี่บอร์ด เพื่อช่วยในการเรียงลำดับภาพและเรื่องราว เพราะสตอรี่บอร์ดคือการแยกย่อยภาพ Stop-Motion ของคุณออกเป็นฉากๆ โดยแบ่งตามเฟรมหรือตามกลุ่มของเฟรม เพื่อให้ง่ายต่อการถ่ายรูปภาพนั่นเอง
หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการถ่ายภาพด้วยกล้องถ่ายรูป ซึ่งส่วนมากจะต้องถ่ายภาพหลักสิบภาพขึ้นไปและถึงหลายร้อยภาพ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับโปรเจ็กต์ของคุณว่าต้องการจะเล่าเรื่องราวสั้นหรือยาวมากแค่ไหน ในบางครั้งการภ่ายภาพทั้งหมดอาจจะเยอะมากเกินกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ดังนั้นการมีสตอรี่บอร์ดจะช่วยควบคุมและทำให้คุณมั่นใจได้ว่า ทุกรูปภาพที่ได้ออกมาจะเป็นไปตามที่วางแผนไว้ และคุณจะได้ภาพถ่ายครบทุกเฟรมที่ต้องการจะใส่ลงไปในเรื่องราวนั้นๆ
Credit : stpetersdbb .catholic.edu.au
ขั้นตอนที่สอง คือ การตั้งกล้องถ่ายภาพ แม้ว่าชิ้นส่วนกระดาษใน Stop-Motion แต่ละชิ้นจะมีการขยับเคลื่อนไหว แต่กล้องถ่ายภาพของคุณจะต้องไม่มีการขยับเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อใดก็ตามที่กล้องมีการเคลื่อนไหวจะทำให้ภาพถ่ายในงานเคลื่อนไหวได้ไม่ต่อเนื่อง ไม่เป็นธรรมชาติ
Credit : vision-videoschool .eu
ขั้นตอนที่สาม คือ การเริ่มสร้างภาพ โดยคุณจะต้องวางกระดาษที่ถูกออกแบบมาแล้ว หรือ ถูกตัด หรือทำให้เป็นรูปร่างหรือรูปทรงต่างๆ วางลงบนพื้นตามตำแหน่งที่ต้องการ จากนั้นก็นำกล้องมาถ่ายภาพ แล้วจึงทำการขยับกระดาษชิ้นนั้นๆ ให้ขยับเขยื้อนทีละเล็ก ทีละน้อย แล้วถ่ายภาพต่อไปอีกภาพ จากนั้นก็ขยับกระดาษแล้วก็ถ่ายภาพอีกครั้ง ทำซ้ำแบบเดิมวนไปเรื่อยๆ จากนั้นเมื่อคุณนำภาพถ่ายทั้งหมดที่ถ่ายเสร็จแล้ว นำมาวางเรียงต่อกันทีละภาพ และเล่นลำดับภาพด้วยความเร็วที่สูงขึ้น คุณก็จะเห็นว่าภาพถ่ายทั้งหมดก็จะเกิดการเคลื่อนไหวและขยับได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ขั้นตอนสุดท้าย คือการรวบรวมรูปภาพทั้งหมดที่ถ่ายไว้ นำมาใส่ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อเรียงภาพต่อกันทีละภาพ ตั้งแต่ภาพแรกไปจนถึงภาพสุดท้าย และใส่เสียงหรือเพลงตามต้องการ จากนั้นคุณก็จะมีแอนิเมชั่นที่คุณสร้างขึ้นด้วยตัวเองได้แบบง่ายๆ
เรียกได้ว่าเทคนิค Paper Stop-Motion ถือเป็นเทคนิคการทำแอนิเมชั่นที่สมบูรณ์แบบในการอธิบายขั้นตอนเกือบทุกอย่าง ทั้งในเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แม้ว่าคุณจะไม่รู้เรื่องการสร้างภาพยนตร์มาก่อนเลยก็ตาม
แม้ว่า Paper Animation ที่ผู้เขียนกล่าวมาทั้งหมดจะใช้หลักการเดียวกับวีดีโอ แต่แอนิเมชั่นสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานครีเอทีฟสาขาต่างๆ ได้อีกมากมาย เช่น งานภาพยนตร์ งานโทรทัศน์ งานด้านวิทยาศาสตร์ งานสถาปัตย์ งานก่อสร้าง งานพัฒนาเกมส์ หรืองานพัฒนาเว็บไซต์ เป็นต้น ส่วนในแง่ของสุนทรียศาสตร์ (Aesthetics) ความสวยงามและการออกแบบ แอนิเมชั่นได้เพิ่มมิติใหม่ให้กับวงการศิลปะและการออกแบบ นำมาซึ่งจินตนาการที่ไร้ขีดจำกัด ไม่ปิดกั้นทางความคิด ช่วยทำให้สิ่งที่เป็นนามธรรมกลายเป็นรูปธรรม สร้างสรรค์ให้กลายเป็นภาพที่ใช้สื่อสารออกมาได้ตามการ เป็นงานสร้างสรรค์ที่ชวนให้รู้สึกชื่นชมถึงความอดทนและทุ่มเทของเหล่า Animator ทุกคนได้เป็นอย่างดี
สามารถติดตามผลงานต่าง ๆ ของทาง Bareo ได้ที่ช่องทางเว็บไซต์ของ Bareo หรือทาง Facebook : Design by Bareo ที่จะคอยอัพเดทข่าวสาร งานดีไซน์ และผลงานการออกแบบตกแต่งภายในมากมาย ให้ท่านผู้อ่านได้รับความรู้ และความสนุกตลอดทั้งปี
หรือหากสนใจจะออกแบบตกแต่งภายในกับทาง Bareo ทางเราก็มีบริการออกแบบภายในครบวงจร โดยสามารถอ่านรายละเอียดการให้บริการของเราได้ที่นี่ คลิ๊ก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
wikipedia
studiobinder .com
techpathways .com.au
animationexplainers .com
musicalexpert .org
darvideo .tv
stephenherbert .co.uk
bfi .org .uk
FB : traditionalanimation

CONTENT RELATED

NEW CONTENT

PORTFOLIO