Sadako ตำนานนกกระเรียน 1000 ตัว

นกกระเรียนญี่ปุ่น หรือ ในประเทศไทยเรียกว่านกกระเรียนมงกุฎแดง เป็นนกกระเรียนขนาดใหญ่ที่ในตอนนี้หายากเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เนื่องจากมนุษย์มีการขยายพื้นที่ในการทำเกษตร และทำที่อยู่อาศัยมากขึ้น ดังนั้นทำให้ที่ดินเดิมที่เคยเป็นที่หากินของนกกระเรียนนั้นถูกแทนที่ด้วยการเกษตรของมนุษย์ ดังนั้นนกกระเรียนจึงเป็นศัตรูของผู้ที่ทำสวน จึงทำให้ตอนนี้เกือบจะสูญพันธุ์นั่นเอง
ลักษณะของนกกระเรียน จะมีความสูง 150-180 เซนติเมตรเลยทีเดียว เมื่อโตเต็มวัยจะมีน้ำหนักถึง 15 กิโลกรัม ตัวจะเป็นสีขาวราวกับหิมะ ส่วนด้านบนของหัวจะมีเป็นสีแดงเหมือนกับใส่มงกุฎไว้อยู่
Credit : Klub Boks on Pexel
นกกระเรียนเป็นสัตว์ที่แสดงถึงความหมายที่ดีหลายอย่าง ดังนั้นจึงมีตำนานที่เล่าขานกันมา นั่นก็คือตำนานนกกระเรียนในประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง นกกระเรียนเป็นสัตว์ที่แสดงถึงความภัคดี, โชคลาภ และความหวัง เนื่องจากว่าหากนกกระเรียนตัวใดที่มีคู่ครองแล้ว จะรัก และอยู่กับคู่ครองตัวนั้นไปจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต หากตัวใดตัวหนึ่งตาย อีกตัวที่อยู่จะไม่มีการหาคู่ใหม่แต่อย่างใด และจะอยู่อย่างโดดเดี่ยว นอกจากนี้มีความเชื่อกันว่านกกระเรียนมีอายุยืนยาว ซึ่งหมายถึง 1,000 ปีเลยทีเดียว และชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่าหากเราพับนกกระเรียน 1,000 ตัวสำเร็จ สิ่งที่ขอจะเป็นไปตามดั่งที่หวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องอาการเจ็บป่วย ถ้าหากพับครบ 1,000 ตัว จะหายจากโรคภัยไข้เจ็บ และแน่นอนว่าต้องมีผู้คนเชื่อเรื่องนี้กันอยู่แล้ว และหนึ่งในนั้นคือเด็กน้อย ที่มีนามว่า “ซาดาโกะ ซาซากิ” นั่นเอง
Credit : Miguel Á. Padriñán on Pexel
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1945 สหรัฐอเมริกาได้ทำการปล่อยระเบิดปรมาณู ที่มีชื่อว่า “Little Boy” ซึ่งมีขนาด 15 กิโลตัน เหนือเมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น เพื่อทดลองความรุนแรง ซึ่งทำให้มีชาวบ้านเสียชีวิตมากกว่า 140,000 คน และอีกหลายคนต้องพบกับความเจ็บป่วยเนื่องมาจากกัมมันตภาพรังสี โดยที่หนึ่งในนั้นคือ ซาดาโกะ ซาซากิ วัย 2 ขวบ เพราะในเวลานั้นบ้านของเธออยู่ห่างจากจุดระเบิดไปเพียง 1.6 กิโลเมตรเท่านั้น เธอไม่ได้รับบาดแผลจากการระเบิดแต่อย่างใด แต่หากมีอย่างอื่นแฝงเข้ามาในร่างกายของเธอ
Credit : Pixabay
ซาดาโกะในวัย 11 ปีนั้นโตมาเป็นเด็กที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงดี นอกจากนี้เธอยังเป็นนักกีฬาวิ่งแข่งของโรงเรียนอีกด้วย แต่อยู่มาวันหนึ่งเธอก็พบว่าตัวเองมีอาการคอบวม เหนื่อยง่าย และเวียนศีรษะอยู่บ่อยครั้ง
จนกระทั่งวันหนึ่งในขณะที่เธอวิ่งอยู่นั้น ก็มีอาการเวียนศีรษะจนล้มลงไป ทางโรงเรียนจึงทำการแจ้งไปยังพ่อแม่ของเธอ และพาไปส่งโรงพยาบาล ซึ่งเธอได้รับการตรวจจากศูนย์วิจัยขององค์กรคณะกรรมาธิการผู้ประสบภัยจากระเบิดปรมาณู (Atomic Bomb Casualty Commission : ABCC) และผลการวิจัยพบว่าเธอเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ ลูคีเมียแบบเฉียบพลัน ซึ่งในช่วงเวลานั้นโรคนี้ถูกเรียกว่า “โรคระเบิดปรมาณู” (A-bomb disease) เนื่องมาจากเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูในคราวนั้น ซึ่งเกือบทุกคนที่ป่วยโรคนี้เสียชีวิตลงเพราะผลจากกัมมันตรังสีนั่นเอง และวิทยาการทางการแพทย์ในสมัยนั้นยังไม่ดีเท่าสมัยนี้ ทำให้การรักษาเป็นไปได้ยาก และทางบ้านของซาดาโกะเองก็ไม่ได้มีเงินมากนัก ไม่แปลกใจที่ซาดาโกะจะหวาดกลัวมาก เพราะตัวเธอเองต้องการที่จะกลับไปเรียนหนังสือ แต่เธอทำได้เพียงรักษาตัวที่โรงพยาบาลเท่านั้น
Credit : elperiodico .com
หลังจากที่ซาดาโกะต้องอยู่โรงพยาบาลตลอดเวลานั้นเพื่อนของเธอก็ได้มาเยี่ยมพร้อมกระดาษโอริกามิ และเล่าถึงเรื่องราวของตำนานญี่ปุ่นนกกระเรียนให้ฟังว่าถ้าหากพับนกกะเรียน 1,000 ตัว ทุกอย่างที่ขอจะเป็นไปตามดั่งที่หวัง
ซาดาโกะในเวลานั้นหวังเพียงแค่ให้มีชีวิตอยู่ได้โดยไร้โรคภัยไข้เจ็บ จากตามคำบอกเล่าของครอบครัว (พี่ชายของซาดาโกะ) ในหนังสือชื่อว่า The Complete Story of Sadako Sasaki นั้นได้กล่าวเอาไว้ว่า เธอไม่เพียงแต่พับนกกระเรียน 1,000 ตัวเท่านั้น เธอพับมากสุดถึงประมาณ 1,400 ตัวเลยทีเดียว แต่กระนั้น ในวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1955 ปาฏิหาริย์ก็ไม่อาจช่วยชีวิตเธอเอาไว้ได้ ก่อนที่เธอจะสิ้นลมหายใจภายในวันนั้น เธอได้ขอทานอาหารเป็นข้าวต้มชา และคำพูดสุดท้ายก่อนที่เธอจะสิ้นลมหายใจคือ “อร่อยจัง”
Credit : thepeople .co
หลังจากการเสียชีวิตของซาดาโกะ ปีค.ศ. 1999 กลุ่มเพื่อนของเธอได้มีการรวบรวมเงินในการสร้างอนุสรณ์แด่ซาดาโกะ และเด็กทุกคนที่เสียชีวิตจากผลกระทบระเบิดนิวเคลียร์ โดยมีการสนับสนุนจากนักเรียน ที่มาก กว่า 3,100 โรงเรียนทั่วประเทศญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ อีก 9 ประเทศ จากนั้นจึงได้เป็นรูปปั้นซาดาโกะถือนกกระเรียน และมีขนาดสูงรวมถึง 9 เมตรเลยทีเดียว
ที่สวนสาธารณะสันติภาพฮิโรชิม่า โดยที่ฐานของรูปปั้นมีการสลักว่า :
“This is our cry. This is our prayer. Peace on Earth.”
ซึ่งแปลว่า : “นี่คือเสียงร้องไห้ของเรา นี่คือคำอธิษฐานของเรา ขอให้สันติภาพนำมาสู่โลก”
Credit : Claudia Braga Teixeira on Pinterest
ครอบครัวซาซากิได้ทำการบริจาคนกกระเรียนที่ซาดาโกะได้พับไว้ไปยังสถานที่แสดงถึงสันติสุขทั่วโลก Pearl Harbor ประเทศฮาวาย, National September 11 Memorial & Museum สหรัฐอเมริกา, Harry S. Truman Presidential Library and Museum สหรัฐอเมริกา, Museum of Tolerance สหรัฐอเมริกา และ Japanese American National Museum สหรัฐอเมริกา
เรื่องราวของซาดาโกะถูกนำมาทำเป็นหนังสือมากมาย ยกตัวอย่างในปี 1997 เรื่อง Sadako and the Thousand Paper Cranes โดย Eleanor Coerr ถูกตีพิมพ์เป็นครั้งแรก และนวนิยายเรื่อง The Day of the Bomb โดย Karl Bruckner Sadako และโดยเฉพาะหนังสือเรื่อง The Complete Story of Sadako Sasaki ที่มีพี่ชายของเธอเองร่วมเขียนกับ Sue DiCicco ที่เป็นผู้ก่อตั้ง The Peace Crane Project ในปี ค.ศ. 2018 นอกจากนี้ยังมีการสร้าง ภาพยนตร์ขึ้นมาอีกด้วย มีชื่อเรื่องว่า “Sadako and the Thousand Paper Cranes” โดยผู้กำกับ George Levenson และอ้างอิงจากหนังสือของ Eleanor Coerr
Credit : bol.com
นอกจากนี้เรื่องราวของซาดาโกะยังถูกนำมาทำเป็นละครในพิธีเปิดการแข่งขัน Goodwill Games 1990 ที่สวนสันติภาพ Seattle โดย Ellie Rabb เรื่องราวคือเด็กนักเรียนในท้องถิ่นจำนวน 400 คนได้มอบกระดาษที่พับเป็นนกกระเรียนประมาณ 20,000 ตัวให้กับผู้คนในวันเปิดงาน เพื่อเป็นเกียรติแก่ซาดาโกะ และความฝันที่ไม่สำเร็จของเธอ
Credit : orizuru2015 .com
ในเดือนพฤศจิกายน ปีค.ศ. 2015 มิยูกิ โซฮาระได้สร้างภาพยนตร์สั้นเรื่อง “Orizuru 2015” เพื่อเป็นการศึกษาสำหรับเด็กๆ ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องราวมิตรภาพที่สร้างขึ้นจากเด็กๆ ในโรงเรียน ในเรื่องนี้มีหลานชายของซาดาโกะปรากฏตัวในภาพยนตร์ และร้องเพลงเกี่ยวกับชีวิตของซาดาโกะ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับเลือกจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติฮิโรชิม่าในปีเดียวกัน และในปีค.ศ. 2016 มิยูกิ ได้ประสานงานการบริจาคนกกระเรียน 2 ตัวของซาดาโกะให้กับ Museum of Tolerance และ the Japanese American National Museum
Credit : songsear .ch
นอกจากจะมีหนังสือ และภาพยนตร์แล้ว ยังมีนักร้องนักดนตรีที่ทำเพลงออกมาเพื่อรำลึกถึงซาดาโกะอีกด้วย อย่างวงดนตรี Heaven Shall Burn ได้ทำอัลบั้ม Wanderer ที่เสนอเพลง “Passage of the Crane” และวงดนตรี Niobeth ได้ทำอัลบั้ม Silvery Moonbeams ที่นำเสนอเพลง “Sadako’s Wings of Hope” ล่าสุดในปีค.ศ. 2020 วงดนตรี LogoS ได้นำเสนอเพลง Sadako e le mille gru di carta เนื่องในวันครบรอบ 45 ปีของการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาอีกด้วย
สามารถติดตามผลงานต่าง ๆ ของทาง Bareo ได้ที่ช่องทางเว็บไซต์ของ Bareo หรือทาง Facebook : Design by Bareo ที่จะคอยอัพเดทข่าวสาร งานดีไซน์ และผลงานการออกแบบตกแต่งภายในมากมาย ให้ท่านผู้อ่านได้รับความรู้ และความสนุกตลอดทั้งปี
หรือหากสนใจจะออกแบบตกแต่งภายในกับทาง Bareo ทางเราก็มีบริการออกแบบภายในครบวงจร โดยสามารถอ่านรายละเอียดการให้บริการของเราได้ที่นี่ คลิ๊ก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
japanobjects .com
wikipedia
origami.ousaan .com

CONTENT RELATED

NEW CONTENT

PORTFOLIO