ถ้าพูดถึงพระราชวังที่ขึ้นชื่อในเรื่องของสถาปัตยกรรมที่สวยงามและเต็มไปด้วยความทรงจำดีๆ มากมาย “วังสระปทุม” นับเป็นสถานที่ต้นๆ ที่หลายคนมักจะนึกถึง เพราะถือเป็นพระราชวังที่คนไทยคุ้นตา เนื่องจากตั้งอยู่ใจกลางเมือง ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างพารากอนและเซ็นทรัลเวิลด์เลยทีเดียว แต่สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าความทันสมัยของตึกสูงใหญ่ มิอาจบั่นทอนความงามของศิลปวัฒนธรรมแบบไทยๆ ที่มีแต่ยุคสมัยก่อนลงได้เลย

ในทุกๆ ปี วังสระปทุมจะเปิดพื้นที่ “พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า” ให้เข้าชมกันเป็นประจำ โดยในปีนี้เริ่มเปิดให้ประชาชนตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม  2559 ไปจนถึง 31 มีนาคม 2560 ทุกวันจันทร์-เสาร์ เวลา 10.00 น.-15.00 น.

ครั้งนี้ Karunteeก็ไม่พลาดที่จะใช้โอกาสนี้เข้าชม “วังสระปทุม” อีกหนึ่งสถานที่ในความทรงจำของคนไทย พร้อมกันก็ไม่ลืมที่จะหยิบเรื่องราวดีๆ มาแบ่งปันแฟนๆ ชาวบาริโอทุกคนด้วยค่ะ ส่วนภาพสวยๆ ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ฯ ที่อนุญาตให้เราดึงภาพสวยจากเว็บไซต์และเฟสบุ๊ค www.facebook.com/queensavangmuseum มาให้ได้ชมกันค่ะ อันนี้ต้องบอกก่อนนะคะว่าภายในพิพิธภัณฑ์งดถ่ายภาพหรืออัดวิดีโอใดๆ ทั้งสิ้นค่ะ

สำหรับใครที่สนใจอยากเข้าชมที่พิพิธภัณฑ์ฯ ขอแนะนำให้โทรไปจองรอบเข้าชมนะคะ เพราะประชาชนทั่วไปค่อนข้างเยอะ จะได้ไปต้องรอคิว ซึ่งเจ้าหน้าที่จะจัดรอบเวลาให้เราชัดเจนค่ะ โดยสามารถโทรจองหรือนัดหมายล่วงหน้าได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2252 1965-7 ค่ะ

      หลังจากรู้เวลาที่ได้เข้าชมเรียบร้อยแล้ว Karuntee จึงเตรียมความพร้อมเต็มที่ โดยการแต่งกายที่สุภาพ คือ ใส่กางเกงขายาว ร้องเท้าหุ้มส้น เพราะเป็นสถานที่สำคัญจึงห้ามใส่ขาสั้นหรือรองเท้าแตะ รวมไปถึงท่านสุภาพบุรุษก็ใช้ข้อปฏิบัติเดียวกันนะคะ พอเช็คความเรียบร้อยดีแล้ว จึงเดินไปยังทางเข้าของ พิพิธภัณฑ์ฯ ซึ่งอยู่ทางโรงแรมสยามเคมปินสกี้ค่ะ จุดสังเกตง่ายๆ ก็คืออยู่ใกล้ศาลปู่โสมนั่นเอง อ๋อ…ลืมบอกไปว่าค่าบริการการเข้าชมสำหรับผู้ใหญ่ คือ 150 บาท ส่วนน้องๆ นักเรียน นักศึกษาจ่ายเพียงคนละ 50 บาทค่ะ

      เมื่อถึงหน้าทางเข้า หากโทรจองรอบเรียบร้อยแล้ว เพียงแค่แจ้งชื่อและนามสกุลเท่านั้น ทางเจ้าหน้าที่จะเป็นคนพาเราเข้าไปยังอาคารภายในเพื่อชำระค่าธรรมเนียมในการเข้าชม หลังจากนั้นก็จะพาไปถ่ายรูปเพื่อติดบัตรประจำตัวผู้เข้าชม และเก็บข้าวของกระเป๋าทุกอย่างที่ติดตัวมา นำไปไว้ในล็อกเกอร์ เป็นอันว่าเสร็จสิ้น พร้อมเข้าชมพิพิธภัณฑ์ฯ กันแล้วค่า….!!

      ย้ำอีกครั้ง!! แม้คุณจะพกกล้องถ่ายรูปหรือกล้องมือถือมา ทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพภายในพิพิธภัณฑ์ฯ ได้นะจ้ะ…

      ส่วนแรกที่เจ้าหน้าที่พาไป คือ หอนิทรรศการ ห้องนี้จะเป็นจุดรวบรวมประวัติความเป็นมาของ วังสระปทุม  ไว้ทั้งหมด

 

 

หอนิทรรศการ

      วังสระประทุม แต่เดิมเป็นพื้นที่ว่างเปล่าที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้พระราชทานให้สร้างเป็นวังที่ประทับของ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก)

      หลังจากรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี(พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) จึงทรงเริ่มสร้างวัง โดยทรงเป็นคนควบคุมผังการก่อสร้างด้วยพระองค์เอง เพราะสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี ทรงมีความรู้เรื่องทิศทางลมและฤดูกาลเป็นอย่างดี เมื่อกระบวนการสร้างเสร็จสิ้นจึงตั้งชื่อที่ประทับแห่งนี้ว่า วังสระปทุม (เนื่องจากอยู่ใกล้กับวัดปทุมวนารามนั่นเอง) และได้เสด็จมาประทับที่วังสระปทุมเป็นการถาวรจากนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เสด็จขึ้นครองราชย์ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ได้เสด็จนิวัติกลับประเทศไทย พร้อมสร้างตำหนักที่ประทับขึ้นอีกหลังหนึ่งที่วังสระประทุม

      พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.2538 จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังสระปทุมให้เป็นที่ประทับของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จนถึงปัจจุบัน

 

 

      วังสระประทุม ไม่เพียงเป็นที่ประทับของพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า แต่ยังเป็นสถานที่ของเหตุการณ์สำคัญต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น…

      พ.ศ.2463 วังสระปทุมถูกใช้เป็นสถานที่จัดงานอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์และ นางสาวสังวาลย์ตะละภัฏ (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) โดยทรงมีพระโอรสและพระธิดาทั้งหมด 3 พระองค์ด้วยกันได้แก่ หม่อมเจ้าหญิงกัลยาณิวัฒนา มหิดล (สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์) หม่อมเจ้าอานันทมหิดล มหิดล (พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล หรือ ในหลวงรัชกาลที่ 8 ) และ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือ ในหลวงรัชกาลที่ 9)

      พ.ศ.2472 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์เสด็จทิวงคตด้วยโรคพระอาการบวมน้ำที่พระปับผาสะ (ปอด) ณ วังสระปทุม แต่วังสระปทุมก็ยังคงเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี หม่อมสังวาลย์ และพระโอรส – พระธิดาทั้ง 3 พระองค์ ก่อนที่หม่อมสังวาลย์จะนำเสด็จพระโอรส – พระธิดาไปทรงศึกษาต่อยังต่างประเทศในปี พ.ศ.2475

      ที่สำคัญวังสระปทุมแห่งนี้ยังเป็นศูนย์รวมความรักและความทรงจำของในหลวงรัชกาลที่ 9 และหม่อมเจ้าสิริกิติ์หรือสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องจากได้ใช้ วังสระปทุม เป็นสถานที่จัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้นในปี พ.ศ.2493 อีกด้วยค่ะ

      รู้ประวัติและความเป็นมาของ วังสระปทุม กันบ้างแล้ว เรามาชมความสวยงามของสถาปัตยกรรมกันต่อเลยค่า…..

      สำหรับงานสถาปัตยกรรมในวังสระปทุมทั้งหมดถูกออกแบบและก่อสร้างโดยนายเปาโลปิอาชินี สถาปนิกชาวอิตาลีนที่ได้เน้นโครงสร้างหลักของตัวอาคารในลักษณะสไตล์ยุโรป พร้อมเลือกทาสีตัวอาคารในโทนสีสว่าง ช่วยลดการอมความร้อนของตัวอาคาร

      หลังจากออกจากหอนิทรรศการ เจ้าหน้าที่ก็พาเรามุ่งตรงไปชมพระตำหนักใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยพระตำหนักทั้งหมด 3 แห่ง และเรือนข้าราชบริพารอีก 1 แห่ง ดังต่อไปนี้

พระตำหนัก3 องค์ บนแผ่นดินทรงค่า 

วังสระปทุมถูกแบ่งพื้นที่ออกเป็นพระตำหนักหลัก 3 องค์ โดยได้ทำการปลูกสร้างลักษณะความสำคัญเรียงลำดับตามความจำเป็นในการใช้สอย ซึ่งประกอบด้วย พระตำหนักเขียว หรือที่เรียกอีกอย่างว่า พระตำหนักน้ำ ใช้เป็นที่ประทับชั่วคราวก่อนสร้างพระตำหนักใหญ่ ที่มาของตำหนักเขียวมาจากสีวันพระราชสมภพสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า คือ วันพุธ นั่นเอง

 

 

รูปแบบสถาปัตยกรรม

      ลักษณะอาคารเป็นบ้านชั้นเดียวหรือบ้านชั้นครึ่งโดยออกแบบให้พื้นที่ว่างใต้โครงหลังคาเป็นห้อง ซึ่งเข้าใจว่าทำไว้เป็นบ้านหลังเล็กๆ ใช้สำหรับประทับพักผ่อนเป็นการส่วนพระองค์ ทางด้านรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นสไตล์บ้านชนบทยุโรป ลักษณะสำคัญของพระตำหนักเขียวนั้นคือ มีชานพระตำหนักยื่นลงไปริมน้ำด้านคลองแสนแสบ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพื้นที่วังสระปทุม

 

 

พระตำหนักใหญ่ มุขทิศตะวันตก

      พระตำหนักใหญ่  ปัจจุบันได้รับการบูรณะซ่อมปรับปรุง ให้เป็นพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าเยื่ยมชม ปีละ 3 เดือน  ในช่วง ธันวาคม ถึง มีนาคม ของทุกปี

 

ลวดลายปูนปั้นประดับพระตำหนักใหญ่

รูปแบบสถาปัตยกรรม

      ด้านรูปลักษณ์การตกแต่งทางสถาปัตยกรรมของพระตำหนักองค์นี้ถูกออกแบบให้เน้นประโยชน์ใช้สอยตามการใช้งานถึงแม้รูปแบบบ้านจะเป็นสไตล์ฝรั่ง แต่การใช้งานทั้งตำแหน่งที่ตั้ง การรับลม การป้องกันแดดนั้นได้รับการคิดและออกแบบมาให้เข้ากับประเทศไทยได้อย่างลงตัว

 

ลวดลายบนช่องแสงเหนือประตู งานไม้แกะลายผลทับทิม ทางความเชื่อสื่อถึงความเป็นสิริมงคล หากเทียบเคียงฟังก์ชั่นการใช้งานเหมือน “บานเกล็ด” ในปัจจุบัน

ห้องบรรทม

ห้องบรรทมหรือห้องเทา

      ห้องเทาหรือห้องบรรทมสมเด็จพระบรมราชชนก ถูกนำมาจัดแสดงเฟอร์นิเจอร์ของเดิม โดยได้มีการทาสีใหม่ รนอกจากนี้ยังมีเครื่องพระสำอางเป็นเครื่องแก้วเจียระไน อีกทั้งยังมีห้องสรง ที่ใช้กระเบื้องจากยุโรป เป็นสีขาว สีแดง และสีเขียว

 

      พระตำหนักใหญ่ถูกออกแบบและวางแผนการตกแต่งโดยโดยสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เล่ากันว่าทรงใช้หางพลูและก้านไม้ขีดไฟจัดวางตามพระราชประสงค์ในการใช้สอย และเพื่อให้ถูกต้องตามทิศทางลมพัดผ่าน

เฉลียงพระตำหนักใหญ่ชั้นบน

เฉลียงพระตำหนักใหญ่

      เฉลียงพระตำหนักใหญ่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของพระบรมวงศานุวงศ์

 

      หลังจากสร้างตำหนักนี้เสร็จได้ทรงใช้เป็นพระตำหนักที่ประทับตั้งแต่ปี พ.ศ.2459  อีกทั้งยังเคยเป็นที่ประทับของครอบครัวมหิดลเมื่อครั้งสมเด็จพระบรมราชชนกกับสมเด็จพระบรมราชชนนี  เสด็จกลับจากทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ และยังเป็นสถานที่ประกอบพิธีอภิเษกสมรสของทั้งสองพระองค์และต่อมาก็ได้กลายเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร

 

ห้องทรงพระสำราญ

ห้องทรงพระสำราญ

      เป็นพื้นที่ที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าใช้ทรงพระอักษร และใช้ทรงพักผ่อน โดยภายในถูกประดับด้วยพระฉายาลักษณ์ รวมไปถึงได้รวบรวมหนังสือวารสารจากต่างประเทศด้วย

      ในปัจจุบันสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระตำหนักใหญ่เป็นพิพิธภัณฑ์สนองพระราชดำริแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาพระราชกรณียกิจแห่งสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ผู้ทรงมีคุณูปการต่อประเทศชาติและปวงชนชาวไทย ได้รับพระราชทานชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า”

 

ห้องพิธี

ห้องพิธี

      แต่เดิมพื้นที่แห่งนี้ถูกเป็นที่รับรองพระราชอาคันตุกะ  และใช้ประกอบพิธีการสำคัญต่างๆ เช่น พิธีสงฆ์ รวมถึงใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรการแสดงของพระญาติ และนักเรียนโรงเรียนราชินีที่มักรำถวายในวันคล้ายพระราชสมภพ ปัจจุบันได้จัดแสดงโต๊ะเสวย บนโต๊ะจัดวางชุดจานประดับอักษรพระนามย่อ สว สมเด็จเจ้าฟ้าสมมตวงศ์วโรทัย พร้อมด้วยชุดเครื่องโต๊ะอื่นๆ พร้อมเมนูอาหารตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 

ส่วนพระตำหนักองค์ที่สามเรียกกันว่า พระตำหนักใหม่  เป็นพระตำหนักอีกองค์หนึ่งในบริเวณวังสระปทุม ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของพระตำหนักใหญ่ มีสระน้ำและสวนต้นไม้คั่น สร้างขึ้นหลังจากสร้างพระตำหนักใหญ่ประมาณ 10 ปี ทั้งนี้สมเด็จพระบรมราชชนกโปรดให้หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมจากประเทศฝรั่งเศสเป็นผู้ออกแบบ เพื่อทรงใช้เป็นที่ประทับของ “ครอบครัวมหิดล” ของพระองค์ฯ ที่ขยายใหญ่ขึ้นตามจำนวนสมาชิกของครอบครัวที่เพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบันได้ พระราชทานวังสระปทุม ให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ซึ่งพระองค์ได้ทรงใช้พระตำหนักใหม่องค์นี้เป็นที่ประทับตั้งแต่ พ.ศ. 2543

 

 

ห้องรับแขก

3 เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ภายในพระตำหนักใหญ่-อาคารพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ วังสระปทุม

  1. เป็นสถานที่อภิเษกสมรสของสมเด็จพระบรมราชชนกกับสมเด็จพระบรมราชชนนี วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2463

  2. เป็นสถานที่จัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493

  3. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์กิติยากรขึ้นเป็น“สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์”พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ในโอกาสพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสด้วย

      วังสระปทุมถือเป็นที่ประทับของพระราชวงศ์ในพระบรมจักรีวงศ์ถึง3 พระองค์ จนองค์การยูเนสโกประกาศเฉลิมพระเกียรติให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่น ได้แก่ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

      เดินชมจนครบพระตำหนักใหญ่ ขอบอกเลยว่าสวยงามเกินคำบรรยายเลยค่ะ ให้อธิบายออกมาเป็นตัวอักษร 10 หน้ากระดาษก็เกือบจะไม่พอ ถึงแม้จะเหนื่อยเพียงใด แต่ก็สุขใจสุดๆ เพราะทุกพื้นที่ภายในวังสระปทุม ล้วนเต็มไปด้วยร่องรอยของประวัติศาสตร์อันน่าจดจำ คุ้มค่าเกินราคา 150 ที่เสียไปจริงๆ ค่ะ เรียกได้ว่าความประทับใจในการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ในครั้งนี้ไม่สามารถตีออกมาเป็นราคาได้ เพราะมันคือความทรงจำที่ดีที่สุดอีกหนึ่งอย่างเลยก็ว่าได้ และเพื่อความสุขของแฟนๆ ชาวบาริโอ ต่อให้ Karuntee เหนื่อยเท่าไหร่ยังไงก็ไหว!! ว่าแล้วก็พักเหนื่อยเติมพลังด้วยน้ำผลไม้ปั่น Signature Dish ของร้าน “ปทุมสรัส” เพิ่มความสดชื่นกันสักหน่อย หรือถ้าใครหิวก็สั่งอาหารอันเลิศรสลิ้มลองกันได้นะคะ ว่ากันว่าที่ร้านนี้มีเมนูชาววังแบบต้นตำรับให้คุณได้เลือกรับประทานกันมากมายเลยค่ะ

      พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ วังสระปทุม แห่งนี้จึงเป็นสถานที่สำคัญและควรค่าแก่การจดจำยิ่งนักสำหรับใครที่ยังไม่มีโอกาสได้เข้าไปชมก็ไม่เป็นไรนะคะ เพราะยังมีเวลาอีกเยอะ ส่วนใครที่อยู่ต่างจังหวัด ไม่สะดวกที่จะเดินทางเข้ามาที่กรุงเทพฯ ขอแนะนำหนังสือ “อยู่วังสระปทุม” เรื่องราวน่ารักๆ ของแมวทรงเลี้ยง ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คุณจะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศของวังสระปทุม แถมยังอมยิ้มไปพร้อมกับความน่ารักของเจ้าแมวเหมียว จนหลงรักวังสระปทุมไปโดยไม่รู้ตัวแน่นอนค่ะ

 

 

 

ข้อมูลและรูปภาพจาก

www.queensavang.org
www.facebook.com/queensavangmuseum