Teaware
อุปกรณ์ชงชา
ชา คือเครื่องดื่มจากธรรมชาติที่มีมาแต่โบราณจวบจนถึงปัจจุบัน วัฒนธรรมการดื่มชาถูกหล่อหลอมมาอย่างช้านานจนกลายเป็นวิถีชีวิตและขนมธรรมเนียมของคนหลากหลายเชื้อชาติ ทำให้แม้แต่กระทั่งขั้นตอนของการชงชาก็ถูกจัดให้เป็นศิลปะทางวัฒนธรรมแขนงหนึ่งด้วยเช่นกัน
สำหรับวัฒนธรรมการดื่มชาในแถบเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ผู้คนนิยมดื่มชากันอย่างแพร่หลาย สิ่งสำคัญที่จะขาดไปไม่ได้นอกจากใบชาแล้ว นั่นก็คือ อุปกรณ์ชงชา ซึ่งประทเศษจีนก็มีอุปกรณ์ชงชาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นของตนที่น่าสนใจไม่แพ้กันเลยทีเดียว
|| อุปกรณ์ชงชา แห่งแดนมังกร ||
Cr. chazhidao
การดื่มชานั้นมีประวัติศาสตร์ยาวนานมาหลายพันปีโดยเฉพาะในดินแดนมังกรอย่างประเทศจีน สำหรับพิธีการชงชาในแบบจีนนั้นจะมีสองแบบ คือ ก้ายหว่าน และ กงฝู
ก้ายหว่าน (盅; Gaiwan / Zhong) มีลักษณะเป็นถ้วยชาสามชิ้นอันประกอบด้วย ถ้วยชา ฝาปิด และ จานรอง สำหรับการชงชาแบบรวดเร็ว จะนำใส่ใบชาลงไปเติมน้ำร้อน รอสักพักก็สามารถยกดื่มได้เลย แต่เนื่องจากตัวถ้วยก้ายหวานเป็นถ้วยเกลี้ยงไม่มีหูจับ ดังนั้นจึงต้องมีจานรองเพื่อประคองดื่ม และเนื่องจากประเทศจีนในฤดูหนาวมีอาหาศหนาวเย็นจึงต้องมีฝาปิดเพื่อกักเก็บความร้อนเอาไว้ในถ้วยชานั่นเอง
กงฝู หรือ กงฝูฉา (工夫茶; Gong Fu Cha) เป็นวัฒนธรรมการชงชาในอีกรูปแบบที่ใช้อุปกรณ์ในการชงชาจำนวนหลายชิ้น และมีหลายขั้นตอนที่ซับซ้อนมากกว่า ซึ่งแต่ละขั้นตอนมีความละเอียดอ่อนและความพิถีพิถันเป็นอย่างมาก เมื่อรวมขั้นตอนทั้งหมดเข้าด้วยกันจึงออกมาเป็นวิธีชงชาแบบต้นตำหรับของชาวจีน ที่นิยมใช้กันในหมู่ชนชั้นสูง การชงชากงฝูและการสนทนากันอย่างไม่รีบร้อน มีสมาธิ ได้มีเวลาคิดไตร่ตรองในเรื่องที่จะคุย จนเป็นที่มาของการ ‘จิบชากันตั้งแต่เช้าจนคล้อยบ่าย’ อย่างที่ในหนังสือนวนิยายจีนชอบเอ่ยถึง
เมื่อรู้ที่มาของกงฝูแล้ว คราวนี้เรามาดูอุปกรณ์ชงชาแบบกงฝูกันบ้างค่ะ
ใบชา
สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดของการดื่มชาก็คือ ใบชา ซึ่งใบชาของจีนจะจำแนกออกเป็นตามสีของชาเมื่อชงเสร็จแล้ว ประกอบด้วย ชาเขียว, ชาเหลือง, ชาขาว, ชาอู่หลง, ชาดำ และชาผู่เอ๋อร์
*** ชาเขียวของจีนไม่เหมือนชาเขียวของญี่ปุ่นที่ตัวชาจะเป็นสีเขียว แต่จะเป็นสีเหลืองเข้มออกสีเขียวเล็กน้อย ในขณะที่ชาเหลืองจะเป็นสีเหลืองทอง และชาขาวจะมีสีเหลืองจางๆ
Cr. realitywings
ที่พักใบชา
ลักษณะเป็นแผ่นไม้ไผ่เป็นปล้องผ่าครึ่ง เมื่อวางบนโต๊ะจะโค้งสูงขึ้นมาเป็นครึ่งวงกลม เดิมทีสมัยโบราณเคยใช้เป็นที่พักแขน เท้าแขน และใช้สำหรับวางแขนเพื่อเขียนหนังสือ จะได้ไม่ต้องออกแรงยกแขนและไหล่ แต่ปัจจุบันได้กลายมาเป็นอุปกรณ์สำหรับตักชา หรือที่พักใบชา ใช้คู่กับช้อนไม้ไผ่ปลายแหลม วัสดุส่วนมากนิยมทำจากไม้ไผ่และโลหะ เช่น ทองเหลือง ทองแดง เงิน หรือ แก้ว
Cr. helloteacup
ปั้นชา
เป็นกาน้ำชาขนาดเล็ก ขนาดประมาณเท่ากัลกำปั้น ด้วยขนาดของปั้นชาทำให้สามารถชงชาออกมาได้ครั้งละไม่มาก ทำให้ผู้ชงสามารถควบคุมรสชาติและกลิ่นของใบชาได้เป็นอย่างดี ปั้นชาของจีนนั้นมีหลายรูปร่างและรูปทรง ทำให้เป็นอีกหนึ่งในของสะสมที่มีคุณค่าของนักดื่มชา
สำหรับปั้นชาที่นิยมสะสมกันมากที่สุดคือ “ปั้นอี๋ซิง” ซึ่งผลิตขึ้นที่เมืองอี๋ซิง มณฑลเจียงซู อยู่ทางภาคตะวันออกของจีน จัดเป็นปั้นชาที่คนมักหามาเก็บสะสม เพราะด้วยคุณสมบัติของเนื้อดินที่หลังจากเผาแล้วจะเกิดการหดตัวน้อยมากทำให้เก็บกักความร้อนได้ดี และบวกกับความชำนาญของช่างปั้น ทำให้การปั้นลิ้นของฝากับปากปั้นมีขนาดที่ใกล้เคียงกันทำให้อากาศเข้าถึงปั้นชาได้น้อย จึงทำให้น้ำชายังคงเก็บกลิ่นและรสชาติไว้ได้ดี
Cr. senchateabar
จอกชา
สาเหตุที่คนสมัยก่อนชอบคาราวะผู้อื่นด้วยชา หรือสุราหนึ่งจอก นั่นเป็นเพราะจอกชาส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบาโดยสามารถถือไว้ได้ด้วยนิ้วโป้งและนิ้วชี้ ทั้งยังใส่น้ำไว้ได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่เพราะมีขนาดเล็กจึงทำให้สามารถดื่มได้รวดเดียวหมดจอก
จอกชาหนึ่งชุดจะมีประมาณ 5-6 ใบ สอดคล้องไปกับขนาดของปั้นชา โดยชาหนึ่งปั้นสามารถเทชาลงจอกได้ 5-6 จอก และว่ากันว่าสาเหตุที่จอกชามักมีสีขาวก็เพราะนักดื่มชามักจะไม่เหลือชาทิ้งไว้ให้เย็นชืดคาจอก ดังนั้นการที่ภายในจอกชามีสีขาวจึงช่วยให้ผู้ดื่มมองเห็นชาที่หลงเหลืออยู่ภายในได้อย่างง่ายดาย
Cr. urbanfamily
เหยือกพักชา
การแช่ใบชาทิ้งไว้ในน้ำในนานๆ จะก่อให้เกิดสารแทนนิน หรือสารที่มีรสฝาดขมออกมาจากใบชาจำนวนมาก ซึ่งหากดื่มสารตัวนี้มากจนเกินไปจะทำให้เกิดอาการท้องผูก ดังนั้นเวลาชงชาเสร็จจึงควรรินน้ำชาพักไว้ที่เหยือกพักชาในกรณีที่ยังไม่รินชาเพื่อดื่มทันที
Cr. sgstore
ถาดชา
สำหรับการชงชาแบบกงฝู หนึ่งในอุปกรณ์ที่ขาดไปไม่ได้ก็คือ ถาดชา เอาไว้สำหรับวางจอกและปั้นชา นิยมทำเป็นลวดลายจีนสวยงามเพื่อซ้อนช่องระบายน้ำเอาไว้สำหรับเทน้ำล้างใบชา หรือชาที่เหลือค้างปั้นทิ้ง น้ำที่ถูกเทจะลงไปอยู่ที่ช่องว่างด้านล่างและสามารถเปิดออกมาแบบลิ้นชักเพื่อเทน้ำทิ้งและทำความสะอาดหลังใช้เสร็จได้
วัสดุที่ใช้ทำถาดชามีหลากหลายชนิด มีทั้งถาดไม้ ถาดดินเผา และถาดที่ทำมาจากโลหะอย่างอลูมิเนียม โดยจะมีขนาดตั้งแต่เล็กๆ วางจอกชา 5-6 ใบ ไปจนถึงถาดยาวราวกับเคาน์เตอร์สำหรับใช้ในร้านขายชาเมื่อชงชาให้ลูกค้าลองดื่ม
Cr. e.anvas
|| เคล็ดลับการเลือกกาน้ำชา ||
หลายคนเลือกกาน้ำชาเพียงเพราะจากความสวยงาม ดีไซน์ หรืออาจจะใช้งานแล้วจับถนัดมือ แต่ความจริงแล้วเราควรคำนึงถึงว่ากาน้ำชานั้นๆ ใช้สำหรับชงชาอะไร หรืออาจใช้เพียงแค่ใส่น้ำร้อนเพื่อเทลงใส่ถ้วยชาแค่นั้นรึไม่ นอกจากวัตถุประสงค์ในการใช้แล้ว จะเห็นว่ากาน้ำชาล้วนทำมาจากวัสดุที่แตกต่างกัน มีทั้ง หิน ดินเผา แก้ว เหล็กหล่อ เงิน และ สแตนเลส ซึ่งวัสดุแต่ละประเภทล้วนมีผลต่อรสชาติของชา
กาน้ำชาเครื่องกระเบื้อง
กาน้ำชาเครื่องกระเบื้อง ทำมาจากเครื่องปั้นดินเผาที่ผ่านการเผาที่อุณหภูมิสูง กาน้ำชาเครื่องกระเบื้องจึงสามารถใช้ได้ดีกับชารสอ่อนแบบต่างๆ เช่น ชาเขียว ชาอู่หลง
แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อควรระวัง เนื่องจากตัวกาน้ำชานั้นมีเนื้อกระเบื้องเป็นสีขาว บางครั้งการแช่ชาเอาไว้นานๆ อาจทำให้สีชาซึมลงเนื้อกระเบื้องได้
Cr. metmuseum
กาน้ำชาเหล็กหล่อ
กาน้ำชาประเภทนี้เหมาะสำหรับวางต้มน้ำบนกองไฟ เพราะเหล็กจะนำความร้อนได้ดี สามารถเก็บกักรักษาความร้อนไว้ได้นาน เหมาะสำหรับการชงชาในปริมาณมาก
สำหรับกาน้ำชาประเภทนี้ไม่ควรล้างทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างจาน แต่ควรปล่อยให้แห้งสนิทไปเองเพื่อป้องกันสนิมขึ้นภายใน นอกจากนี้ในสมัยโบราณการเช็ดทำความสะอาดกาเหล็กหล่อยังเป็นหนึ่งในกิจกรรมขัดเกลาจิตใจในวัดจีนอีกด้วย
Cr. metmuseum
กาน้ำชาแก้ว
ป็นกาน้ำชายุคโมเดิร์น ที่เก็บกักความร้อนได้น้อย สกปรกง่าย และบอบบาง ทว่าเหมาะสำหรับการชงชาที่มีความสวยงามโดยเฉพาะชาดอกไม้ ที่เวลาเทน้ำร้อนลงไปแล้วชาดอกไม้จะบานออก เพราะจะทำให้เราได้เห็นใบชาที่กำลังคลี่ออกอย่างงดงาม และยังสามารถเช็คได้ว่าน้ำชาของคุณเข้มข้นพอตามที่ต้องการเมื่อใด กาน้ำชาแก้วจะใช้งานพร้อมกับเตาอุ่นที่ใส่เทียนเข้าไปด้านล่างเพื่อรักษาให้ชาอุ่นอยู่ตลอดเวลา
Cr. teaposy