Vehicle History
กำเนิด ยานพาหนะ
By Ponpun Thongjun | November 2020 | Living Young |
ว่าด้วยเรื่องของการเดินทาง ณ ปี 2020 หากมองย้อนกลับไปเมื่อหลายร้อยปีก่อน โลกของเราเกิดการเปลี่ยนแปลงจากยุคอนาลอก (Analog) ผันเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital) แน่นอนว่าการคมนาคมรูปแบบต่าง ๆ ทั่วโลกล้วนถูกทดแทนด้วยคอมพิวเตอร์อัจฉริยะและเครื่องจักรที่ทันสมัย จนทำให้ผู้คนอีกซีกโลกสามารถเดินทางมาพบกันเพียงแค่อึดใจ แต่ผู้คนในยุคนี้จะรู้หรือไม่ ว่ากว่าจะพัฒนาเทคโนโลยีการคมนาคมจนมีความล้ำสมัยแบบทุกวันนี้ เราล้วนต้องขอบคุณเหล่าอัจฉริยะนักประดิษฐ์ ที่ช่วยคิดค้นพาหนะรูปแบบต่าง ๆ จนย่อโลกของการเดินทางให้เล็กลงอย่างเหลือเชื่อ
History of Steamboat The Clermont
ยานพาหนะ ที่คนส่วนใหญ่มักใช้เดินทางในอดีตก็คือ “เรือ” ผู้คนจะใช้เส้นทางของลำคลอง แม่น้ำ และมหาสมุทร ในการคมนาคมเป็นหลัก ซึ่งแต่ละอารยธรรมก็จะมีการสร้างเรือขึ้นมาให้เหมาะสมกับการใช้งานของตนเอง แต่เรือยุคเริ่มแรกล้วนทำจากไม้ กระทั่งมาถึงจุดเปลี่ยนของเรือที่มีเครื่องจักรเข้ามาเป็นส่วนประกอบ หรือที่เรียกว่า “เรือกลไฟ” โดยผู้ที่สร้างเรือกลไฟลำแรกของโลกได้สำเร็จก็คือ โรเบิร์ต ฟุลตัน (Robert Fulton, 1765 – 1815) วิศวกรและนักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน จากเมืองแลงคาสเตอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย สืบเนื่องมาจากการคิดค้นเครื่องจักรไอน้ำของ เจมส์ วัตต์ (James Watt, 1735 – 1819) ทำให้ยุคนั้นมีนักประดิษฐ์หลายคน รวมถึง โรเบิร์ต ฟุลตัน ได้นำระบบกลไกของเครื่องจักรไอน้ำใส่เข้าไปในเรือ โดยเขาทำการดัดแปลงลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้ง จนในที่สุดก็สามารถประดิษฐ์เรือกลไฟลำแรกของโลกสำเร็จ โรเบิร์ต ฟุลตัน ตั้งชื่อเรือลำนี้ว่า “เคลอมองท์” (Clermont) ซึ่งเรือได้ถูกปล่อยลงน้ำในปี ค.ศ.1807 จัดเป็นเรือกลไฟเชิงพาณิชย์ลำแรกของโลก และถูกนำมาพัฒนาจนกลายเป็นเรือรบกลไฟในเวลาต่อมา หลังจากนั้นเครื่องยนต์ไอน้ำก็เริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายในการต่อเรือ
โรเบิร์ต ฟุลตัน (Robert Fulton)
Cr. famousinventors
เรือกลไฟ เคลอมองท์ (Steamboat Clermont)
Cr. historycentral
The Birth of Bicycle
ยานพาหนะ ที่ใช้เดินทางบนภาคพื้นดินอย่างจักรยาน มีหลักฐานปรากฏครั้งแรกเมื่อ 5,500 ปีก่อน ณ ดินแดนเมโสโปเตเมีย ที่มีการใช้อุปกรณ์จำพวกล้อในการเดินทาง จนกระทั่ง 500 ปีก่อนคริสต์ศักราช ชาวจีนได้ประดิษฐ์ยานพาหนะไม้ มีล้อ และใช้แรงงานาสัตว์หรือมนุษย์ในการลาก จนในปี ค.ศ.1790 ชายฝรั่งเศสนามว่า “คองเต้ มีด เดอ ซิฟราก” (Comte Mede de Sivrac) ได้ประดิษฐ์พาหนะคล้ายจักรยาน ประกอบด้วยล้อ 2 ล้อ โครงสร้างทำจากไม้ รูปร่างคล้ายหลังม้า และใช้งานด้วยการไสเท้าเพื่อให้เคลื่อนไปข้างหน้า เขาเรียกผลงานชิ้นนี้ว่า “วอลาก” (Celerifere) หรือ “Velocifere” มาจากภาษาลาติน “Cefer” แปลว่า เร็ว และ “Fere” แปลว่า บรรทุก วอลากถือเป็นต้นแบบของจักรยานในปัจจุบันเลยทีเดียว
วอลาก (Celerifere)
Cr. didyouknow
ในระหว่างปี ค.ศ.1816 – 1818 บารอน คาร์ล ฟอน เดรส (Baron Karl Friedrich von Drais de Sauerbrun) นักประดิษฐ์ ชาวเยอรมัน ได้ปรับปรุง “วอลาก” (Celerifere) โดยเพิ่มอุปกรณ์บังคับทิศทาง ที่นั่งติดสปริง ซึ่งถือได้ว่าเป็นรถจักรยานคันแรกของโลก ซึ่งในฝรั่งเศสได้นำไปใช้และให้ชื่อว่า “เดรเซียน” (Draiseinne)
เดรเซียน (Draiseinne)
Cr. researchgate
แต่ในอังกฤษจะเรียก เดรเซียน ว่า Hobby Horse หรือ Danny Horse อย่างไรก็ตามต่อมาฝรั่งเศสและอังกฤษได้ผลิตจักรยานถีบออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปมากมาย จนกระทั่งในปี ค.ศ.1839 ได้มีการใส่กลไกเข้าไปในจักรยาน โดยช่างทำเกือกม้าชาวสก็อตแลนด์ ชื่อว่า เคิร์ตแพตริค แม็กมิลแลน (Kirkpatrick MacMillan, 1812 – 1878) ซึ่งผู้ขับขี่สามารถปั่นและบังคับรถได้โดยไม่ต้องใช้การไสเท้าได้เป็นครั้งแรก
จักรยานของ เคิร์ตแพตริค แม็กมิลแลน (Kirkpatrick MacMillan)
Cr. thewashingmachinepost
ต่อมา ปิแอร์ มีโช (Pierre Michaux, 1813 – 1883) ช่างตีเหล็กชาวฝรั่งเศส ได้ผลิตจักรยานสองล้อ เรียกว่า” เวโลซิพีต” (Velocipede) ซึ่งกลางล้อหน้ามีตีนถีบ โครงจักรยานทำจากไม้ ล้อทำจากโลหะ โดยผลิตออกจำหน่าย ปี ค.ศ. 1867 แต่เป็นที่นิยมในเวลาไม่นานนัก เนื่องจากน้ำหนักที่ค่อนข้างมากมาก (หนักประมาณ 5 เท่าของจักรยานในสมัยนี้ ) เวลาขับขี่ก็สะเทือนเข้าไปถึงกระดูกของผู้ขับขี่ จนถูกเรียกว่า Boneshaker
ปิแอร์ มีโช (Pierre Michaux) และ จักรยานเวโลซิพีต (Velocipede)
Cr. alchetron
เรื่องราวของจักรยานทั้งหมดที่กล่าวมา จัดได้ว่าเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นการพัฒนารูปแบบของจักรยานในรุ่นต่อๆมา ซึ่งในยุคสมัยนั้น จักรยานยังคงเป็นที่สนใจของผู้คนเพราะเป็นของแปลกใหม่ และแพร่ขยายไปยังประเทศอื่นๆทั่วโลก จนได้รับการออกแบบพัฒนาอย่างมากมายหลากหลายรูปแบบ จนกระทั่งมีรูปร่างแบบในปัจจุบัน
Legends of Car World
สำหรับรถยนต์คันแรกของโลกนั้น เกิดขึ้นขึ้นจากวิศวกรชาวเยอรมันนามว่า “คาร์ล เบ็นซ์” (Karl Friedrich Benz,1844 – 1929) เป็นผู้ริเริ่มความคิดที่จะผลิตรถยนต์ใช้น้ำมันคันแรกของโลก โดยในปี ค.ศ. 1885 คาร์ล เบ็นซ์ ต้องการประดิษฐ์รถยนต์ขึ้นมาใช้แทนรถม้า เขาเลือกที่จะใช้เครื่องยนต์และผลิตโครงสร้างของตัวรถจากเหล็กและไม้ มีล้อพร้อมยาง ควบคุมการเคลื่อนที่และปรับเปลี่ยนทิศทางด้วยการใช้พวงมาลัย ขนาดเครื่องยนต์รถมีน้ำหนัก 220 ปอนด์ แรงขับเคลื่อนสูงสุดที่ 0.75 แรงม้า ความเร็วสูงสุดที่ 16 กม./ชม. และวิ่งได้ไกลถึง 62 ไมล์ หรือ 100 กม. ด้วยห้องเผาไหม้เชื้อเพลิงภายในของเครื่องยนต์เป็นแบบสูบเดียว 4 จังหวะที่ติดตั้งในแนวนอนช่วยสร้างศักยภาพในการระบายความร้อนแบบ Thermosyphon และระบบการหล่อลื่นแบบ Drip lubrication ทำให้มีความทันสมัยมากสำหรับยุคนั้น หลังจากนั้น คาร์ล เบ็นซ์ ได้ผลิตรถยนต์ออกจำหน่าย จนในปี ค.ศ.1886 เขาได้จดสิทธิบัตรรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงในเวลาต่อมา และนี่ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัทรถยนต์แบรนด์ดังระดับโลกอย่าง เมอร์เซเดส-เบนซ์ (Mercedes-benz) อีกด้วย
คาร์ล เบ็นซ์ (Karl Friedrich Benz)
รถยนต์คันแรกของโลก (World’s first car)
Cr. caradvise
History of Railways
“รถไฟ” ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ เริ่มแรกสร้างขึ้นเพื่อใช้บรรทุกถ่านหิน เป็นรถติดล้อแล่นไปตามรางและใช้ม้าลาก จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1814 “จอร์จ สตีเฟนสัน” (George Stephenson, 1781 – 1848) วิศวกรเครื่องกลชาวอังกฤษ ได้ประดิษฐ์รถจักรไอน้ำขึ้นมาเป็นครั้งแรก ชื่อว่า “ร็อกเก็ต” (Rocket) โดยที่สามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยตนเอง สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่บริษัทรถไฟระหว่างเมืองลิเวอร์พูล (Liverpool) กับ แมนเชสเตอร์ (Manchester) ได้จัดให้มีการประกวดการใช้กำลังลากจูงขบวนรถ ปรากฏว่ารถจักร ร็อกเก็ต ของ จอร์จ สตีเฟนสัน ชนะการประกวด โดยทำการประยุกต์รูปแบบท่อไอน้ำที่ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นความสนใจในรถไฟก็ได้แพร่ขยายไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรป
นับจากนั้น จอร์จ สตีเฟนสัน ถูกขนานนามว่าเป็น “บิดาแห่งทางรถไฟ” เพราะความสำเร็จในการพัฒนาโครงสร้างของรางรถไฟที่มีขนาดมาตฐาน 4 ฟุต (1,435 มม.)และยังคงใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยชื่อเรียกสากลว่า “รางมาตราฐาน” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า “รางสตีเฟนสัน” ที่ใช้แบบเดียวกันทั่วโลก ผลงานของ จอร์จ สตีเฟนสัน ถือเป็นสิ่งที่พัฒนาโลกให้ก้าวไปได้ไกลกว่าเดิม และเป็นการปฎิวัติวงการอุตสหกรรมในศตวรรษที่ 19
ต่อมาเขาได้ก่อตั้งบริษัท โรเบิร์ต สตีเฟนสัน แอนด์ คอมพานี (Robert Stephenson and Company) ซึ่งเป็นของ จอร์จ สตีแฟนสัน กับลูกชายของเขา โรเบิร์ต ซึ่งได้ทำการพัฒนาหัวรถจักรไอน้ำ “โลโคโมชั่น หมายเลข 1” (Locomotion No. 1) ซึ่งเป็นรถจักรไอน้ำตัวแรกที่ได้ขนส่งผู้โดยสารบนทางรถไฟสาธารณะ ภายหลังได้มีผู้นำไปพัฒนาต่อยอดจนสามารถประดิษฐ์รถจักรไอน้ำและรถจักรชนิดอื่นๆอีกมากมาย รถไฟจึงได้เปลี่ยนสภาพจากรถขนถ่านหินกลายมาเป็นรถขนส่งผู้โดยสารสารธารณะจวบจนปัจจุบัน
จอร์จ สตีเฟนสัน (George Stephenson)
Cr. bbc
รถจักรไอน้ำ โลโคโมชั่น หมายเลข 1 (Locomotion No.1)
Cr. thenorthernecho
Man’s First Flight
หลายพันปีก่อนมนุษย์ฝันอยากมีปีกโบยบินได้แบบนก แต่ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ อะไรก็ย่อมเกิดขึ้นได้ และนั่นอาจเป็นที่มาของสิ่งประดิษฐ์ที่เหลือเชื่ออย่าง “เครื่องบิน” จนทุกวันนี้เรามีเทคโนโลยีการบินที่ล้ำหน้า อย่างเครื่องบินขับที่เคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และพลังไฟฟ้า เครื่องบินลำแรกของโลกที่ผู้คนส่วนใหญ่ให้การยอมรับ ถูกสร้างโดยสองพี่น้องตระกูลไรท์ (Wright brothers) ได้แก่ ออวิลล์ ไรท์ (Orville Wright, 1871-1948) และ วิลเบอร์ ไรท์ (Wilbur Wright, 1876 -1912) สมัยสองพี่น้องยังเป็นเด็ก บิดาได้มอบของขวัญเป็นเครื่องบินเด็กเล่นที่ทำด้วยไม้ไผ่ ลำตัวมีกระดาษหุ้ม และสามารถพุ่งไปในอากาศโดยการยิงด้วยหนังสติ้ก เด็กทั้งสองชอบเครื่องบินของเล่นนี้มาก จึงพยายามอ่านหนังสือทุกเล่มที่เกี่ยวกับเทคนิคการเดินทางของคนในอากาศที่มีการเขียนไว้ เพื่อสร้างเครื่องบินเอง โดยทั้งสองคนจบการศึกษาแค่ชั้นมัธยมเท่านั้น
ทว่าก่อนหน้านี้ได้มีนักประดิษฐ์หลายคนได้ออกแบบเครื่องร่อนแบบต่างๆ แต่ก็ยังไม่มีใครประสบความสำเร็จในการบิน แต่นั่นก็ถือได้ว่า เหล่านักประดิษฐ์ก่อนหน้า ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับสองพี่น้องตระกูลไรท์ เป็นอย่างมาก ใน ปี ค.ศ.1903 พี่น้องตระกูลไรท์ ก็สามารถประดิษฐ์เครื่องบิน “ฟลายเออร์” ที่ปีกทำด้วยผ้าลินิน และนำขึ้นบินบนท้องฟ้าได้สำเร็จ โดยสามารถบินไปในอากาศได้นาน 12 วินาที รวมระยะทาง 120 ฟุต นับเป็นการบินด้วยเครื่องบินที่ถูกควบคุมโดยคนได้อย่างสมบูรณ์เป็นครั้งแรกของโลก ในวันเดียวกันนั้นพี่น้องไรท์ ยังได้นำเครื่องบินขึ้นทดลองการบินเพิ่มอีก 3 ครั้ง ซึ่งครั้งสุดท้ายสามารถบินได้นานถึง 59 วินาที รวมระยะทาง 852 ฟุต ภายหลังจากการทดลองเครื่องบินประสบความสำเร็จ ทั้งคู่ได้นำเครื่องบินฟลายเออร์ไปจดสิทธิบัตร และเดินหน้าพัฒนาเครื่องบินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จนสุดท้ายเครื่องบิน ฟลายเออร์สามารถบินข้ามทวีปอเมริกาเหนือได้สำเร็จ
สองพี่น้องตระกูลไรท์ (Wright Brothers)
Cr. rare
2 พี่น้องตระกูลไรท์กับการขึ้นบินครั้งแรก (The Wright brothers and first flight)
Cr. clickamericana