ชาชนิดไหนเหมาะสำหรับ

การนำมาไหว้เจ้า

ในการไหว้เจ้าทุกๆ ครั้ง หนึ่งสิ่งที่เราขาดไปไม้ได้คือการเตรียมถาดใส่ถ้วยน้ำชา 5 ถ้วย วางเพื่อไหว้สักการะศาลเจ้าที่ ตี่จู่เอี๊ยะ พร้อมกับผลไม้อย่างส้ม 5 ลูก วางซ้อนกันเป็นภูเขา โดยตั้งแต่เด็กผู้เขียนเองก็เคยตั้งคำถามว่าทำไมถึงต้องใส่น้ำชาถวาย ใส่น้ำผลไม้แทนได้หรือไม่ (แต่ตอนนั้นผู้เขียนกับน้องๆ ญาติๆ ก็ได้ให้คำตอบกับตนเองว่า ก็เพราะว่าเป็นถ้วยชาไง จึงต้องใส่น้ำชา) จนกระทั้งโตมาก็เปลี่ยนคำถามใหม่ว่าหากเราเป็นผู้ชงชา ต้องใช้ชาชนิดไหนถึงจะเหมาะสม?
ดังนั้นในวันนี้ที่ผู้เขียนมีโอกาสได้กลับมาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงขอย้อนกลับไปตั้งแต่ประการแรกเลยดีกว่า ว่าทำไมเราถึงต้องเตรียมน้ำชา…
แรกเริ่มเดิมที สาเหตุที่บรรพบุรุษของเรามักนำน้ำชามาไหว้เจ้าก็เพราะว่าคนสมัยก่อนนิยมดื่ม ชา ร้อนๆ เท่านั้นเอง เนื่องจากประเทศจีนมีอากาศค่อนข้างหนาวเย็น และในสมัยก่อนน้ำยังไม่สะอาดจึงต้องต้มน้ำฆ่าเชื้อโรคก่อนดื่ม แต่น้ำร้อนเปล่าๆ รสชาติก็ไม่ดีจึงนิยมใส่ใบชาลงไปเพื่อให้มีกลิ่นหอมต่างๆ ของใบชามากมายหลายชนิด สมกับที่ต้นกำเนิดชาเกิดขึ้นในประเทศจีนและมีประวัติศาลตร์ยาวนานกว่า 4,000 ปีแล้ว
ดังนั้นนอกจากจะชงให้ตนเองแล้ว ก็ชงถวายให้กับเทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยจนเป็นธรรมเนียมสืบต่อกันมา จนเป็นความเชื่อว่าหากบ้านใดให้เกียรติเทพเจ้า ชงชาร้อนถวายให้ท่าน บ้านนั้นก็จะได้รับการอวยพรจากเทพเจ้าด้วยเช่นกัน (ไม่นิยมเท ชา ที่เย็นชืดแล้วถวาย เพราะเชื่อว่าไม่ให้เกียรติเทพเจ้า) ด้วยเหตุนี้ในสมัยก่อนชาที่วางหน้าศาลเจ้าที่ ตี่จู่เอี๊ยะ จึงแตกต่างกันไปในแต่ละบ้าน ขึ้นอยู่กับว่าบ้านไหนดื่มชาชนิดไหนก็จะชงชาชนิดนั้นถวาย ไม่มีข้อกำหนดตายตัวว่าจะต้องเป็นชาชนิดไหนถึงจะดี
Credit : sciencelearn .org.nz
ชาจีน จะแบ่งออกเป็น 7 ประเภทตามชนิดของใบชา โดยใบชาแต่ละประเภทจะให้สีที่แตกต่างกัน
1. ชาขาว (White Tea / 白茶)
คือ ชาที่เมื่อชงออกมาแล้วให้สีอ่อนที่สุด (สีเหลืองอ่อน) เพราะไม่ได้ผ่านกระบวนการหมักใดๆ ทำให้ได้กลิ่นของใบชาที่หอมอ่อนๆ ที่มาจากยอดใบชา ถือเป็นชาที่มีราคาแพงและหาซื้อได้ยากเพราะมีจำนวนจำกัด กระนั้นคนก็ไม่นิยมนำมาชงดื่มเพราะสามารถชงได้แค่ 1-2 ครั้งเท่านั้น
2. ชาเขียว (Green Tea / 绿茶)
คือ ชาที่ชงออกมาแล้วให้สีเขียว หรือ สีเหลืองออกเขียว ผ่านกระบวนการคั่วแต่ไม่ได้นำไปตากแห้ง ทำให้ตัวใบชาจะมีสีเขียวเดิมของใบชาแต่ละชนิดอยู่ เป็นชาที่นิยมดื่มกันอย่างแพร่หลายเพราะดื่มง่าย ชงง่าย โดยชาเขียวที่นิยมดื่มและหลายคนคงคุ้นหูกันดีก็ได้แก่ ชาเขียวหลงจิ่ง ชาเขียวมะลิ เป็นต้น
ชาเขียวของจีน จะเป็นชาใบนำมาต้มดื่มกับน้ำร้อน ชาที่ออกมาจะเป็นสีเขียวใส ต่างจากชาเขียวญี่ปุ่นที่จะนำใบชาที่คั่วให้แห้งแล้วนำมาบทเป็นผงให้ละเอียด เวลาชงจะนำมาชงแบบเข้มข้นและมีรสขม
3. ชาอู่หลง (Oolong Tea / 乌龙茶)
คือ ชาที่ชงแล้วให้สีน้ำตาลอ่อน โดยเป็นชาที่ผ่านกระบวนการหมักก่อนที่จะนำไปคั่ว ทำให้ตัวชามีกลิ่นหอมกรุ่นและรสชาติเข้มข้นกลมกล่อม สามารถชงได้ 3-4 ครั้ง โดยแต่ละครั้งรสชาติจะฝาดมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับนักดื่มชาที่มีประสบกาณ์ดื่มชามาหลายปี บางครั้งก็จะทิ้งระยะเวลาชงชาไว้นานจนน้ำชามีรสขมปี๋และดื่มทีละจอก แทนเครื่องดื่มชูกำลังหรือกาแฟ โดยชาอู่หลงที่เป็นที่นิยมก็ได้แก่ ชาอู่หลงต้าหงผาว ชาอู่หลงทิกวนอิม (หรือ เถี่ยกวนอิน) เป็นต้น
4. ชาเหลือง (Yellow Tea / 黄茶)
เป็นใบชาที่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไหร่นัก เพราะใบชาเหล่านี้จะปลูกและผลิตในแถบมลฑลเสฉวน เจ้อเจียง กวางตุ้ง อานหุย หูหนาน และหูเป่ยเท่านั้น ทำให้มีบริมาณไม่มากจึงไม่ได้ส่งออกต่างประเทศ ตัวชาเหลืองจะต่างจากชาอู่หลงตรงที่ขั้นตอนกระบวนการหมัก ชาอู่หลงจะค่อยๆ หมักจนใบชามีสีเข้ม แต่ชาเหลืองจะแปรสภาพชาไว้ก่อนทำให้ใบยังคงเป็นสีเขียว เมื่อชงออกมาจะมีสีชาเหลืองทอง หรือนำตาลทองที่อ่อนกว่าชาอู่หลง โดยชาเหลืองที่น่าจะเคยได้ยินชื่อกันมาก่อนน่าจะเป็น ชาเหมิงติ่งหวงเหยา ชาเหลืองที่ขึ้นชื่อจากมลฑลเสฉวน
5. ชาแดง (Black Tea / 红茶)
คือ ชาที่ชงแล้วให้สีน้ำตาลเข้มออกแดงจนเกือบดำ โดยชนิดนี้เรียกอีกอย่างว่า ชาหมัก ให้ปริมาณคาเฟอีนสูงทำให้นิยมดื่มกันก่อนไปทำงานเพื่อให้รู้สึกสดชื่นมีแรง จะมีกลิ่นหอมและรสชาติเข้มข้นไปจนถึงขม ชาบางชนิดผ่านการคั่วทำให้เมื่อชงออกมาแล้วมีกลิ่นควันหรือกลิ่นกระทะ เหมาะสำหรับกินคู่กับขนมหวาน โดยชาดำที่ขึ้นชื่อก็ได้แก่ ชาดำแลปซางซูชวง ชาคีมุน หรือชาจินหยาเตียนหง (Yunnan Golden Tips) เป็นต้น
6. ชาผู่เอ๋อร์ (Pu’er Tea / 普洱茶)
คือ ชาหมักที่ผลิตจากแคว้นผู่เอ๋อร์ มลฑลยูนนาน โดยชาที่ชงออกมาจะให้สีดำ หรือ เข้มจนเกือบดำ หมักโดยการอัดเป็นก้อนกลมๆ ขนาดเท่านิ้วหัวแม่มือที่ 1 ก้อนจะใช้สำหรับชงชา 1 ครั้ง หรืออัดเป็นแผ่นและเมื่อต้องการจะดื่มชาผู่เอ๋อร์ก็ค่อยๆ แซะใบชาที่จะชงออกมาในปริมาณที่ต้องการ ชาผู่เอ๋อร์จะมีกลิ่นแรงและรสชาติเข้มข้นมาก สำหรับผู้เขียนเคยดื่มแล้วรู้สึกว่าตัวชามีกลิ่นดินกลิ่นธรรมชาติอยู่ค่อนข้างแรง เมื่อดื่มเข้าไปครั้งแรกจึงไม่ชอบเท่าไรนักเพราะดื่มยากและไม่ลื่นคอ ทว่ากับนักดื่มชาจีนบางคนก็กล่าวว่าผู่เอ๋อร์เป็นสุดยอดแห่งชา มีรสชาติที่ลุ่มลึกที่ดื่มแล้วชุ่มคอ ดังนั้นผู้เขียนจึงคิดว่าหากมีโอกาสก็อยากให้ลองดื่มชาผู่เอ๋อร์สัก 1-2 ครั้งเพื่อตัดสินใจตามความชอบของแต่ละตัวบุคคล
7. ชาดอกไม้ (Flower Tea or Scent Tea / 花茶)
หรือ ชาดอกไม้บาน เป็นชายุคใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นชาที่ให้กลิ่นหอมหวานจากดอกไม้ที่ริดเกสรทิ้งไปแล้วเหลือเพียงดอกและกลีบ ชาดอกไม้นี้ยามชงตัวดอกไม้จะบานออก นอกจากจะเจริญตาแล้วยังสามารถดื่มด่ำกับรสชาติได้อย่างเพลิดเพลิน สีของชาจะขึ้นอยู่กับสีของดอกไม้ บางครั้งจะเพิ่มสมุนไพรอื่นๆ ใส่ไว้ในดอกไม้ ยามเมื่อดอกไม้บานออกแล้วสมุนไพรเหล่านี้ก็จะผสมอยู่ในน้ำชาด้วย นิยมชงในกาที่เป็นแก้วใสเพื่อมองดอกไม้บาน
Credit : 五玄土 ORIENTO on Unsplash
เมื่อรู้จักชาทั้ง 7 ชนิดกันไปแล้ว ทีนี้ก็มาถึงชาที่คนไทยนิยมนำมาไหว้เจ้า… เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีภูมิอากาศร้อน รวมไปถึงวัฒนธรรมในปัจจุบันไม่ค่อยชงชาดื่มกันในทุกๆ วันแล้ว แต่ยังมีการไหว้ศาลเจ้าที่ ตี่จู่เอี๊ยะ เพื่อความเป็นสิริมงคลอยู่ ดังนั้นจึงมักมีการสั่งซื้อชามาเพื่อชงสำหรับไหว้เจ้าโดยเฉพาะ และด้วยเหตุผลบางประการ ‘ชาตราสามม้า’ มักเป็นชาที่ถูกเลือกมาใช้เพื่อชงชาไหว้เจ้า ไม่ว่าจะด้วยราคาที่ย่อมเยาว์ หรือเพราะหาซื้อได้ง่าย บ้านที่ไม่ค่อยชงชาดื่มเป็นประจำหรือตามบริษัทห้างร้านจึงมักมีชายี่ห้อนี้ติดไว้เสมอ โดยชาที่นิยมนำมาชงก็คือชาอู่หลงทิกวนอิม
หรือสำหรับใครที่นิยมดื่มชาฝรั่งเอง ก็สามารถชงชาฝรั่งเพื่อถวายสักการะบูชาศาลเจ้าที่ ตี่จู่เอี๊ยะ ของตนเองได้เช่นกัน เพราะในอดีตเองก็มีบันทึกว่าธรรมเนียมของบางบ้านมิได้ใช้ชา แต่ใช้เป็นสุราแทน ดังนั้นส่วนตัวผู้เขียนจึงคิดว่าหากเราตั้งใจชงถวาย จะเป็นชาจีนหรือชาฝรั่งก็สามารถทดแทนกันได้ ขอเพียงถวายให้สม่ำเสมอ หมั่นเปลี่ยนน้ำชาในถ้วยทุกวันไม่ปล่อยให้ชืดค้างถ้วยอย่างที่เคยบอกไปในต้นบทความว่าเพราะเชื่อว่าเป็นการไม่ให้เกียรติเทพเจ้า แต่ผู้เขียนคิดเห็นส่วนตัวว่าอาจเป็นเพราะน้ำค้างอาจเป็นสถานที่สะสมของยุงลายที่ก่อเกิดโรค หรือหากเราชงทิ้งไว้แล้วลืม อาจเผลอปัดนำชาตกถ้วยชาเสียหายหรือน้ำอาจไหลไปโดนไฟฟ้าของศาลเจ้าที่ทำให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้นคนเฒ่าคนแก่จึงบอกแก่พวกเราว่าไม่ควรทิ้งไว้ให้ชืด เมื่อคล้อยบ่ายแล้วก็สามารถเก็บล้างถ้วยชาได้เลย เพื่อป้องปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้นั่นเอง
สามารถติดตามผลงานต่าง ๆ ของทาง Bareo ได้ที่ช่องทางเว็บไซต์ของ Bareo หรือทาง Facebook : Design by Bareo ที่จะคอยอัพเดทข่าวสาร งานดีไซน์ และผลงานการออกแบบตกแต่งภายในมากมาย ให้ท่านผู้อ่านได้รับความรู้ และความสนุกตลอดทั้งปี
หรือหากสนใจจะออกแบบตกแต่งภายในกับทาง Bareo ทางเราก็มีบริการออกแบบภายในครบวงจร โดยสามารถอ่านรายละเอียดการให้บริการของเราได้ที่นี่ คลิ๊ก

CONTENT RELATED

PRODUCT RELATED

PORTFOLIO