เวลาไหว้… ใช้ธูปกี่ดอก

Credit : jly un on Unsplash
หลายครั้งเวลาเราต้องไปไหว้ต่างๆ หนึ่งในคำถามที่มักต้องหยุดคิดเสมอคือ… วันนี้เราต้องหยิบธูปออกมาจุดกี่ดอก?
ซึ่งคำถามนี้เป็นคำถามยอดฮิตจากน้องๆ เด็กๆ ตลอด (ตอนนี้ผู้เขียนเป็นคนตอบ เพราะตอนเด็กๆ ผู้เขียนเองก็ได้ถามบรรดา แปะๆ เจ็กๆ โกวๆ แทบจะทุกรอบจนเริ่มจำได้ขึ้นใจ) และคำตอบก็คือ ไหว้ตี่จู่เอี๊ยะใช้ธูปไหว้ 7 ดอก ปักที่กระถางธูป 5 ดอก และที่ประตูอีก 2 ดอก ส่วนไหว้บรรพบุรุษใช้ธูป 3 ดอก
Credit : Design by Bareo
มาที่การไหว้ตี่จู่เอี๊ยะกันก่อน ธูป 7 ดอกนี้ นอกจากจะไหว้ในวันสำคัญๆ อย่างตรุษจีน หรือ สารทจีนแล้ว สำหรับบริษัทห้างร้านก็จะไหว้โดยใช้ธูป 7 ดอกเป็นประจำทุกวันที่เปิดทำการ โดยธูป 5 ดอกที่ปักหน้าตี่จู่เอี๊ยะนั้น มีความเชื่อว่าเป็นตัวแทนของธาตุทั้ง 5 (น้ำ ไฟ ดิน ทอง ไม้) ซึ่งหากมีฮวงจุ้ยครบทั้ง 5 ธาตุอย่างสมดุลลงตัว ก็จะนำพามาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง หรืออีกความเชื่อหนึ่งคือเป็นตัวแทนของทิศทั้ง 5 (เหนือ ใต้ ออก ตก กลาง) ให้เทพเจ้าปกป้องรักษาบ้านของเราจากภัยร้ายรอบด้าน
ส่วนธูปอีก 2 ดอก หลังจากไหว้และปักลงกระถางธูปไป 5 ดอกแล้ว ต้องนำ 2 ดอกนี้ไปไว้ที่หน้าประตูทางเข้าหลักเพื่อไหว้ หมึ่งซิ้ง (門神) หรือ เหมินเซิน ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งประตู เพราะมีความเชื่อว่าประตูบ้านของเรามีเทพเจ้าคอยปกปักษ์รักษาอยู่เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้าบ้าน รับเข้ามาแต่สิ่งดีๆ (ผู้เขียนมักนำธูปทั้งสองดอกไปไหว้อธิษฐานที่ประตูอีกรอบ ว่าขอให้ช่วยดูแลปกป้องบ้านของเรา สิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้ามากล้ำกลาย สิ่งดีๆ คนดี และเงินทองให้ผ่านเข้าประตูไหลมาเทมา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละบุคคล)
สาเหตุที่ต้องปัก 2 ดอก เพราะเทพเจ้าประตูมี 2 องค์ ปกป้องประตูองค์ละฝั่ง เนื่องจากสมัยก่อนประตูบ้านเรือนจีนจะเป็นประตูบานเปิดคู่ ดังนั้นจึงมีเทพพิทักษ์บานละองค์เพื่อให้บ้านปลอดภัยและเรียกหน้าที่ของเทพทั้งสององค์ว่า เทพทวารบาล โดยเทพทั้งสององค์มักมีองค์หนึ่งหน้าขาวและอีกองค์หน้าดำ สามารถสังเกตุได้ชัดเจนจากสถาปัตยกรรมจีนโบราณที่ยังหลงเหลืออยู่ แต่ในปัจจุบันนี้ ตามบ้านไม่ได้ติดภาพของเทพเจ้าทั้งสององค์กันแล้ว จะเหลือเพียงที่ปักธูปรูปน้ำเต้าสีแดงหรือสีทอง และการระลึกถึงเทพเจ้าประตูเมื่อไหว้เท่านั้น
เวลาไหว้เจ้าในเทศกาลตรุษจีนและสารทจีน เราจะต้องรอให้ธูปในกระถางธูปหมดก่อน จึงจะลาของไหว้และเผากระดาษ เพราะเชื่อว่าเป็นช่วงเวลาให้เทพเจ้าตี่จู่เอี๊ยะรับประทานของไหว้ ทำให้อาหารที่นำมาไหว้กลายเป็นอาหารทิพย์ เมื่อนำไปทำอาหารกินก็จะโชคดี เจริญก้าวหน้า (แต่หากในบ้านมีหลายคน ไหว้ไม่พร้อมกัน และมีธุระเร่งรีบ ให้ยึดธูปของประธาน หรือ คนที่จุดธูปคนแรก เมื่อหมดแล้วก็สามารถเผากระดาษและลาของไหว้ได้)
ส่วนทางด้านประตู ตั้งแต่เริ่มไหว้ นำธูปไปปักที่ประตู จนกระทั่งเผากระดาษ เราจะต้องเปิดประตูออกให้สุด เพื่อรับสิ่งดีๆ เข้ามาในบ้านท่ามกลางบรรยากาศมงคลของวันเทศกาลสำคัญ ให้บ้านสดชื่น เมื่อเผากระดาษจนครบหมดแล้วสักพักจึงค่อยปิดประตู นอกจากนี้บางบ้านยังแขวนประทัดเอาไว้จุดเพื่อทำเสียงดังๆ ให้ภูติผีตกใจ ช่วยให้เทพเจ้าประตูปกป้องบ้านของเราได้ราบรื่นมากขึ้นอีกด้วย
Credit : lamai_p835465 on Vecteezy
ต่อมา เรามาพูดถึงการไหว้บรรพบุรุษกันบ้าง
แน่นอนว่าตามลำดับขั้นแล้ว เทพจะอยู่ลำดับสูงกว่าบรรพบุรุษของเรา ดังนั้นจำนวนธูปที่ใช้ไหว้บรรพบุรุษจะต้องน้อยกว่าเวลาไหว้เจ้า หรือต้องน้อยกว่า 5 ดอก แต่ว่าเลข 4 (四 sì) ของจีนนั้น พ้องเสียงกับคำว่า ตาย (死 sǐ) หรือแม้แต่ภาษาไทยกับภาษาแต้จิ๋ว สี่ (4) ก็พ้องเสียงกับซี้ (ตาย) เช่นกัน ดังนั้นเลขสี่จึงกลายเป็นเลขอัปมงคลของชาวจีน และไม่นิยมใช้ในงานมงคลหรือนำมาไหว้บรรพบุรุษ
ดังนั้นการไหว้บรรพบุรุษจึงนิยมใช้ธูป 3 ดอก สำหรับบ้านของผู้เขียนนั้นนอกจากจะไหว้ธูป 3 ดอกแล้ว หลังจากปักธูปและไหว้รอบแรก ยังต้องคอยดูเวลาทุกๆ 10-15 นาทีเพื่อไปไหว้รอบ 2 และรอบ 3 ก่อนที่ธูปที่ปักไปตั้งแต่ทีแรกจะหมด เพราะเชื่อว่าระยะเวลาของธูปนั้นจะเป็นระยะเวลาที่ได้ให้บรรพบุรุษได้กินของที่เราเอามาตั้งไหว้
แล้วทำไมต้องไหว้สามรอบ ไหว้รอบเดียวไม่ได้หรือ?
ผู้เขียนเคยมีคำถามนี้สงสัยมานาน จนกระทั่งได้ถามผู้ใหญ่จึงได้ทราบ ว่าการไหว้รอบแรกนั้นเป็นการไหว้ “ทักทาย” เหมือนเวลาเราเจอญาติผู้ใหญ่ก็ต้องไปสวัสดีก่อน เช่นเดียวกัน เมื่อเราจุดธูปไหว้แล้วการไหว้รอบแรกก็คือการสวัสดีบรรพบุรุษผู้ล่วงลับและเชิญรับประทานอาหารที่เรานำมาตั้งเอาไว้ (ซึ่งสำหรับบ้านผู้เขียน ไหว้บรรพบุรุษคนไหนก็จะนำของที่ท่านเคยชอบกิน หรืออาหารที่เราคิดว่าอร่อยและอยากให้ท่านลองชิมมาตั้งไว้) และตลอดเวลาที่ธูปของเรายังไม่หมดก้านก็คือเวลาที่เราจะใช้สื่อสารกับบรรพบุรุษของเราได้
หลังจากที่เวลาผ่านไปสักพัก บรรพบุรุษเริ่มกินของไหว้แล้ว เราก็จะไปไหว้รอบสองเพื่อพูดคุยและขอพรกับบรรพบุรุษ สามารถเล่าสารทุกข์สุขดิบ และขอให้บรรพบุรุษช่วยอวยพรคุ้มครองเราและครอบครัวของเราได้ หรือขอในเรื่องอื่นๆ แล้วแต่ความเชื่อ บางครั้งผู้เขียนก็เล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง บางครั้งก็ขอให้บรรพบุรุษที่อยู่บนสวรรค์มีความสุขเช่นกัน
และเมื่อธูปใกล้หมดดอก พวกเราก็จะไปไหว้รอบสุดท้ายเพื่อบอกลาบรรพบุรุษ ลาของไหว้ และไปเผากระดาษเงินกระดาษทอง และกระดาษเสื้อผ้าของใช้ต่างๆ เพื่อส่งไปให้บรรพบุรุษ หากเป็นสมัยผู้เขียนเด็กๆ ก็จะมีกระดาษที่ต้องเผาเยอะมากหลายตะกร้า ทว่าสมัยนี้จำนวนกระดาษก็ลดลงตามที่มีการรณรงค์เพื่อลดโลกร้อน จึงเหลือกระดาษที่ต้องเผาตามธรรมเนียมแทน
ปีแรกที่ลดจำนวนกระดาษ อาม่าของผู้เขียนได้เผาโทรศัพท์และไอแพดพร้อมกับเงินทองไปให้ บอกว่าถ้าเผาเงินทองให้ทีละเยอะๆ ไม่ได้แล้ว ก็ต้องหาทางใหม่ ให้อากงเอาโทรศัพท์ไอแพดไปเล่นหุ้นเองบนสวรรค์…
หลังจากที่เผากระดาษเสร็จ เราก็จะนำน้ำชาที่อยู่บนโต๊ะมาเทวนรอบๆ กระถางเผากระดาษ เพื่อบอกว่ากระถางที่เผานี้เป็นของบรรพบุรุษของเรา (เพราะเชื่อว่าเป็นถ้วยน้ำชาที่บรรพบุรุษดื่ม ดังนั้นจึงสามารถใช้ระบุได้ว่าเราต้องการส่งกระดาษเงินกระดาษทองให้ใคร)
เพิ่มเติมเล็กน้อย : สาเหตุที่ไม่ใช้ ธูป 1-2 ดอกเพราะธูป 1-2 ดอกใช้สำหรับปักบนชามข้าว เพื่อเรียกให้ผีไร้ญาติมากิน บางความเชื่อบอกว่าปักดอกเดียว บางความเชื่อบอกว่าปักสองดอก (เป็นตะเกียบ) ส่วนบ้านของผู้เขียนใช้ปักกระถางธูปตามปกติ (คนละกระถางกับกระถางไหว้เจ้าและไหว้บรรพบุรุษ) ไม่ปักลงบนข้าว จะได้กินข้าวต่อได้นั่นเอง
สามารถติดตามผลงานต่าง ๆ ของทาง Bareo ได้ที่ช่องทางเว็บไซต์ของ Bareo หรือทาง Facebook : Design by Bareo ที่จะคอยอัพเดทข่าวสาร งานดีไซน์ และผลงานการออกแบบตกแต่งภายในมากมาย ให้ท่านผู้อ่านได้รับความรู้ และความสนุกตลอดทั้งปี
หรือหากสนใจจะออกแบบตกแต่งภายในกับทาง Bareo ทางเราก็มีบริการออกแบบภายในครบวงจร โดยสามารถอ่านรายละเอียดการให้บริการของเราได้ที่นี่ คลิ๊ก

CONTENT RELATED

PRODUCT RELATED

PORTFOLIO