บ้านเรือนไทย
Cr. symbiosis-travel
บ้านเรือนไทย ถือเป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมไทยที่สวยงามและปราณีต เป็นเอกลักษณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน เกิดจากการคิดค้น สร้างสรรค์ และฝีมือของเหล่าบรรพบุรุษที่ร่วมสร้างกันมาตั้งแต่สมัยอดีต แม้ว่าในปัจจุบัน “บ้านเรือนไทย” จะหลงเหลืออยู่น้อย ซึ่งอาจเป็นเพราะปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น วัสดุที่หายาก และราคาสูง เป็นต้น เด็กๆ ในยุคนี้บางคนอาจไม่เคยเห็นหรือรู้จัก “เรือนไทย” ด้วยซ้ำไป ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก เพราะอาจจะทำให้สถาปัตยกรรมของไทยแท้ๆ หายไป แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่ม บางหน่วยงาน ที่ต้องการสืบสานศิลปวัฒนธรรมที่คนรุ่นเก่าได้สร้างเอาไว้ ให้ลูกหลานรุ่นต่อๆ ไปได้ดูกัน โดยมีการนำเอารูปแบบของเรือนไทยไปผสมผสานกับอารคารสมัยใหม่บ้าง หรืออนุรักษ์บ้านเรือนเก่าๆ สร้างเป็นชุมชนไทยโบราณให้ได้ชมกันบ้าง เช่น ศูนย์ศิลปชีพบางไทร ชุมชนเรือนไทยพัฒนา เมืองโบราณ ฯลฯ
ลักษณะเด่นของ “บ้านเรือนไทย” คือ ที่อยู่อาศัยที่เน้นประโยชน์การใช้สอยและเหมาะกับสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย โดยเป็น เรือนยกพื้นสูง เพื่อป้องกันภัยพิบัติจากน้ำท่วม ในช่วงฤดูน้ำหลาก หากเกิดลมพายุก็สามารถให้ลมพัดผ่านไปได้ ไม่ขว้างทิศทางลม ในขณะเดียวกันเมื่อสภาพอากาศเป็นปกติทั่วไป ใต้ถุนจะกลายเป็นพื้นที่ทำงาน ประกอบอาชีพ อาทิ ทอผ้า ตำข้าว รวมไปถึงเก็บข้าวของเครื่องใช้ในการทำมาหากิน หรือทำเป็นคอกสัตว์
เนื่องจากหลังคาเรือนไทยทั่วไปจะมีลักษณะเป็นจั่ว ทำให้มีการปูกระเบื้องหลังคาเพียงสองด้าน โดยด้านข้างกระเบื้องจะมีช่องว่างทำให้ลมลอดเข้าไปได้เรือนไทยจึงมีปั้นลม ซึ่งจะมีหน้าที่กันลมไม่ให้เข้าไป (ถ้าลมเข้าไป อาจพัดตัวกระเบื้องหลังคาหลุดออกมาได้) และมีเหงา เป็นส่วนตกแต่ง ทำให้หลังคาสวยขึ้น แต่เนื่องจากเหงาเป็นส่วนงอนขึ้นของชายปั้นลมจึงไม่สามารถใช้เป็นไม้ชิ้นเดียวกันได้ ต้องต่อไม้เพื่อทำเป็นเหงาขึ้นมา แต่เหงาก็อาจผุพัง หรือหลุดออก จึงต้องมีการซ่อมแซมอยู่เป็นระยะๆ
ลักษณะของบ้านเรือนไทย มักจะเป็นเรือนหมู่ อันเกิดมาจากการก่อสร้างเรือนตามการใช้งานและกำลังทรัพย์ เช่น ครอบครัวที่เพิ่มสร้างเนื้อสร้างตัว อาจสร้างเรือนนอนเพียงหนึ่งหลัง และเรือนครัวอีกหนึ่งหลังซึ่งจะเชื่อมต่อกันด้วยชานเรือน
เรือนครัว ส่วนใหญ่มักสร้างแยกกับตัวเรือนที่พักอาศัย บริเวณหน้าจั่วทั้ง 2 ด้านของห้องครัว มีการออกแบบโดยทำช่องระบายอากาศเพื่อให้สามารถถ่ายเทกลิ่นอาหารและควันไฟออกจากครัวด้สะดวก โดยการใช้ไม้ตีเว้นช่อง รวมไปถึงใช้ชายคากันสาดยื่นออกจากตัวเรือน เพื่อให้สามารถป้องกันแสงแดดและฝนสาดนั่นเอง
เรือนนอน เป็นเรือนที่ใช้นอน ในครอบครัวที่ขยายขึ้น มันจะมีการสร้างเรือนเพิ่มรอบๆ ชานเรือน ทำให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวสามารถออกมาใช้งานชานเรือนได้สะดวก
Cr. i.pinimg.com
ซึ่ง ชานเรือน มีลักษณะเป็นชานกว้างๆ พื้นที่โล่งเชื่อมกับเรือนหลังอื่นๆ บางบ้านที่มีฐานะอาจมีศาลาอยู่กลางชานบ้านด้วย หากใครนึกไม่ออกให้คิดภาพตามบ้านคุณพี่หมื่นเดช ในละครเรื่องบุพเพสันนิวาสไว้นะคะ ฉากที่ครอบครัวหมื่นเดชมาพบปะพูดคุยกันบ่อยๆ นั่นเอง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประโยชน์ใช้สอยของชานบ้าน รวมไปถึงใช้สำหรับพักผ่อน จัดงานแต่ง เป็นพื้นที่รับรองแขก ฯลฯ
เกริ่นมาขนาดนี้แล้ว หลายคนคงเข้าใจลักษณะของบ้านเรือนไทยกันมากขึ้นนะคะ จำง่ายๆ ก็คือ ใต้ถุนสูง หลังคาสูง ชายคายื่นยาว และมีชานกว้าง นั่นเอง แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นภาพรวมค่ะ เพราะ “บ้านเรือนไทย” ยังสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้ เรือนครอบครัวเดี่ยว และเรือนหมู่
เรือนครอบครัวเดี่ยว
ข้อควรจำง่ายๆ ของเรือนครอบครัวเดี่ยว คือ เป็นบ้านที่อาศัยอยู่เฉพาะสามีภรรยา ถ้ามีลูกเอี่ยวเข้ามาจะเรียกว่าเรือนหมู่ค่ะ สำหรับเรือนครอบครัวเดี่ยว จะประกอบไปด้วยตัวเรือนสำหรับนอน 1 หลัง เรือนครัว 1 หลัง โดยมีระเบียงและชานรวมเรือนนอน 3 ช่วงเสา ซึ่งพื้นที่ระหว่างนั้นถูกแยกเป็น ห้องโถง ห้องนอน และห้องครัว
Cr. 87designs.net
เรือนหมู่
เรือนหมู่ คือ เรือนหลายหลังที่อยู่ในที่เดียวกัน ในอดีตลูกชายแต่งงานจะย้ายไปอยู่เรือนฝ่ายหญิง บ้านฝั่งลูกสาวจึงมีเขยเข้ามาอยู่ด้วย ทำให้ต้องมีการต่อเติมเรือนเพื่อความเป็นอิสระมากขึ้น กล่าวคือเรือนหมู่ก็คือการอยู่อาศัยร่วมกัน พ่อแม่ ลูก โดยอาศัยการสร้างเรือนเพิ่มเติม แต่อยู่ในอาณาเขตบริเวณใกล้เคียงกัน หรือมีชานเรือนเป็นตัวเชื่อมเรือนแต่ละหลังเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งเรือนหมู่สามารถจำแนกลักษณะโดยสรุปคร่าวๆ ได้ดังต่อไปนี้
1.เรือนพักอาศัยของลูกๆ มักสร้างขึ้นใหม่ โดยปลูกเรียงแถวตามยาวต่อจากเรือนหลักของพ่อแม่
2.แผนผังตัวเรือนเป็นกลุ่ม คือ มีชานเชื่อมบริเวณกลางบ้าน โดยสร้างแบบด้านบนเปิดโล่ง ไม่มีหลังคา
3.หากมีการปลูกเรือนใหม่ จะอยู่บริเวณใกล้ๆ กัน โดยไม่มีชานเชื่อม
อย่างที่เรารู้ๆ กันดีว่า “เรือนไทย” ส่วนใหญ่สร้างขึ้นด้วยไม้ หากจะแบ่งประเภทของเรือนไทยตามวัสดุที่สร้าง ก็สามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทเช่นกันค่ะ
เรือนเครื่องผูก
Cr. student.chaiprakarn.ac.th
เรือนเครื่องผูก ใช้เรียกแทนเรือนที่ใช้เสาเป็นไม้ และใช้ไม้ไผ่เป็นโครงสร้างต่างๆ ของบ้าน และวัสดุเครื่องเรือนส่วนใหญ่ที่ใช้ล้วนมาจากธรรมชาติ เช่น หญ้าคา ใบจาก แฝก นำมาประกอบแล้วผูกมัดกันไว้ ด้วยวิธี ตอก ผูก ยึด ตรึง เป็นอันเสร็จสิ้น สำหรับเรือนเครืองผูกนี้ มักพบเห็นได้ในพื้นที่ชนบท หรือในปัจจุบันเราจะพบได้ตามที่นาต่างๆ ที่ชาวบ้านสร้างไว้พักผ่อน หลบแดดกันฝน ในช่วงฤดูการเก็บเกี่ยว เรียกว่า “เถียงนา” เป็นต้น
เรือนเครื่องสับ
เรือนประเภทนี้เป็นเรือนที่ต้องใช้คาใช้จ่ายในการสร้างสูง ในอดีตจึงพบเห็นได้เฉพาะบ้านคนมีฐานะเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นการสร้างด้วยงานฝีมือล้วนๆ และวิธีการที่ซับซ้อนหลายขั้นตอน ไม้ที่ใช้ต้องผ่านการเลื่อย ถาก สับ ไส ให้สวยงามเสียก่อน จะใช้การรวมฝาเข้าปากไม้ แต่อาจจะมีการใช้เดือยไม้สำหรับเพื่อความแข็งแรงของการเชื่อมต่อด้วย ซึ่งประโยชน์ของเรือนเครื่องสับคือ เราไม่ต้องใช้ตะปูเลย เรือนประเภทนี้มักจะใช้ไม้สัก เพราะทนทาน และใช้งานได้นาน และเสาเรือนจะใช้เป็นไม้เต็ง ไม้รัง และไม้แดง อย่างไรก็ตาม ในอดีตการสร้างบ้านด้วยไม้สักจะสำหรับเฉพาะบ้านคนที่มีเงินเท่านั้น ส่วนชาวบ้านจะใช้ไม้ที่มีอยู่ในท้องถิ่นทั่วไปแทนค่ะ
หลังจากที่เราความรู้จักมาคร่าวๆ แล้ว ต่อไป Karuntee จะพาทุกคนไปชม “บ้านเรือนไทย” สวยๆ และน่าสนใจกันค่ะ ซึ่งต้องบอกเลยว่ายังงดงามและคงความเป็นเอกลักษณ์ไทยไว้ไม่เสื่อมคลายเลยค่ะ
บ้านเรือนไทย แม้จะมีความงดงามแบบไทยๆ แต่ในแต่ละท้องถิ่นกลับมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน เช่น เรือนไทยภาคกลาง เหนือ ใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ ล้วนมีเสน่ห์และความงามที่ไม่เหมือนกัน ที่สำคัญเอกลักษณ์ของบ้านเรือนไทยในแต่ละภาคนั้น ล้วนแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวบ้านเหล่านั้นได้ด้วย ซึ่งบทความหน้า Karuntee จะพาไปทำความรู้จักบ้านเรือนไทยในแต่ละภาคให้มากขึ้นค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
www.openbase.in.th
wikipedia