Shrine-and-gods

ศาลเจ้าและเทพเจ้า

 

Cr. 500px

 

ถ้าพูดถึง “ศาลเจ้า” เราจะนึกถึงประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแทบทุกจังหวัดจะประกอบด้วยศาลเจ้า สถานที่ที่เป็นสักการะบูชาของชาวอาทิตย์อุทัย

ศาลเจ้าหรือชาวญี่ปุ่นเรีกว่า “จินจะ” เชื่อกันว่าเป็นที่สิงสถิตย์ของเทพเจ้าในลัทธิชินโต ในอดีตถูกใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ โดยภายในศาลเจ้าจะมีเทพเจ้าของศาสนาชินโตสถิตอยู่ และมีนักบวชและมิโกะเป็นผู้ประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ภายในศาลเจ้า

เปรียบเทียบง่ายๆ ศาลเจ้าก็มีรูปแบบคล้ายๆ กับ “วัด” ของชาวพุทธนั่นเองค่ะ (ในประเทศญี่ปุ่นจะนับถือพุทธนิกายเซน) เพราะถือเป็นแหล่งศูนย์รวมจิตใจของคนเราเหมือนๆ กัน โดยข้อแตกต่างของ “ศาลเจ้า” กับ “วัด” สามารถแยกแยะได้ดังนี้

1. สังเกตจากบริเวณทางเข้า หากเป็นศาลเจ้าตรงทางเข้าจะมี “เสาโทริอิ” (ลักษณะคล้ายเสาชิงช้า มักทาสีด้วยแดงสด) ถือเป็นเครื่องหมายแสดงเขตศักดิ์สิทธิ์ของศาลเจ้า ส่วนวัดทางเข้าจะมีซุ้มประตูเรียกว่า “ซังมง” โดยสองฝั่งมีรูปปั้นเทพเจ้าหน้าตาถมึงทึงน่ากลัวตั้งอยู่ ซึ่งในบางวัดอาจจะไม่มีรูปปั้นนี้

2. หากมีกระถางธูปก่อนถึงตัววิหาร ลักษณะนั้นเรียกว่า “วัด”  แต่หากไม่เจอและเดินต่อไปอีกนิดพบกับจุดชำระล้าง (บ่อน้ำ+กระบวย) สำหรับไว้ให้ทำความสะอาดกายใจก่อนเข้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แบบนี้รียกว่าศาลเจ้า ในบางวัดก็มีบ่อน้ำเช่นกันค่ะ แต่จะตั้งอยู่ใกล้กับกระถางธูปนั่นเอง

เพียงแค่สังเกต 2 ง่ายๆ เราก็สามารถแยกออกว่าแบบไหนเรียก “ศาลเจ้า” หรือ “วัด” คราวนี้เวลาไปเที่ยวญี่ปุ่นจะได้ปฎิบัตตัวถูก หรือทำการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ถูกต้องแบบไม่เคอะเขินค่ะ

 

ลักษณะโครงสร้างของศาลเจ้าญี่ปุ่น

อย่างที่บอกว่า “ศาลเจ้า” ญี่ปุ่น นั้น บริเวณทางเข้าจะมี “เสาโทริอิ” ทั้งสีแดง สีธรรมชาติ หรือซุ้มประตูหิน ซึ่งเปรียบเสมือนอาณาเขตของเทพเจ้า เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ คนญี่ปุ่นเชื่อศาลเจ้าแต่ละที่จะมีเทพเจ้าประทับอยู่ ซึ่งจะมีเพียงที่ละองค์เดียวเท่านั้น โดยเทพเจ้าแต่ละองค์จะมีลักษณะเด่นแตกต่างกันไป เช่น เด่นเรื่องการขอพรการศึกษา ความรัก สุขภาพ เป็นต้น ดังนั้นศาลเจ้าแต่ละแห่งจึงขึ้นชื่อต่างกัน และมีนักท่องเที่ยวที่มีเป้าหมายแตกต่างกันไป

ศาลเจ้าจำนวนมากในญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะถูกตั้งชื่อตามชื่อของเทพเจ้าที่สถิตอยู่ เนื่องจากศาสนาชินโตนับถือเทพเจ้ามากมาย โดยศาลเจ้าขนาดใหญ่มักใช้ชื่อศาลแล้วตามด้วยคำว่า “จิงกู” หรือ “ไทฉะ ” เช่น ศาลเจ้าอิเสะจิงกู ศาลเจ้าอิซุโมะไทฉะ (ไม่ใช่ทุกศาลเจ้าจะใช้ได้) จิงกูใช้กับศาลเจ้าที่บูชาบรรพบุรุษของราชวงศ์พระจักรพรรดิขึ้นเป็นเทพบูชาประจำศาลเจ้า ส่วนไทฉะใช้กับศาลเจ้าที่เป็นสาขาหลักของศาลเจ้านั้นๆ

ลักษณะของสถาปัตยกรรมศาลเจ้า

 “โครงสร้างแบบชินเม” (Shinmei-zukuri)

Cr. .isejingu

 

ศาลเจ้า Ise Jingu ในจังหวัดมิเอะ ซึ่งเป็นศาลเจ้าที่มีชื่อเสียงที่สุดในญี่ปุ่น ถูกออกแบบอาคารตามลักษณะการสร้างแบบชินเม สถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมญี่ปุ่นที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมสวยงาม เรียบง่าย มีความเป็นญี่ปุ่นโบราณในช่วงยุคโคะฟุง (ปี250-538) โดยศาลเจ้าแบบชิเมถูกสร้างขึ้นด้วยไม้ที่ยังไม่แปรรูปแบบยกพื้นสูง ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่หลังคาทรงสามเหลี่ยมประดับด้วยวัสดุที่เรียกว่า “Chigi “ และ “Katsuogi”

“โครงสร้าง Taisha” 

Cr. flickr.

 

โครงสร้างไทชะ Taisha ถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่ที่สุดในศาสนาชินโต ด้วยการออกแบบที่สร้างสรรค์ และมีคุณลักษณะเด่นตามแบบของบ้านญี่ปุ่นโบราณ โดยมีเสาตรงกลางที่เรียกว่า “ชินโนมิฮาชิระ”

ศาลเจ้าที่สร้างด้วยแบบไทชะที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ศาลเจ้าอิซุโมะ ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดชิมะเนะ โดยมีลักษณะงานสถาปัตยกรรมเด่นอยู่ที่หลังคาที่มีรูปทรงเพรียวบางสวยงามบุด้วย “ฮิวาดาบุคิ” (ต้นสนฝานเป็นแผ่นบางๆ) ซ้อนกันด้วยความหนา 1 เมตร ถือเป็นโครงสร้างแบบ “Kirizumazuri” (หลังคาหน้าจั่ว) แบบเดียวกับโครงสร้างชินเม แต่โครงสร้างแบบชินเมเป็นแบบ “ฮิไรอิริ” (ทางเข้าด้านข้าง) ส่วนแบบไทชะเป็นแบบ “ทสึไมอิริ” (ทางเข้าด้านหน้า) ปัจจุบันความสูงอยู่ที่ 24 เมตร สูงเป็นเท่าตัวกว่าในสมัยเฮอันจนถึงยุคคะมะคุระ และที่สำคัญศาลเจ้าแห่งนี้ถูกรับรองให้เป็นมรดกแห่งชาติที่สร้างขึ้นสมัยเอโดะปีที่1 (ปี1744)

โดยศาลเจ้าทั่วไปมักประกอบด้วย….

โทริอิ

Cr. tumblr.

 

โทริอิ (Torii ) คือประตูของศาลเจ้า ลักษณะคล้ายเสาชิงช้า และมักทาสีด้วยแดงสดดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เชื่อกันว่าโทริอิเป็นการแบ่งพื้นที่ระหว่างโลกมนุษย์และโลกเทพเจ้า ซึ่งศาลเจ้าโดยทั่วไปจะมีเสาโทริอินั่นเพียง 1 ต้นหรือมากกว่าก็ได้ เช่น ศาลเจ้าฟูชิมิอินาริไทชะ เกียวโต ที่มีโทริอิมากกว่า 1 หมื่นต้น  ในส่วนของการเดินลอดเสาโทริอิ ไม่ควรเดินตรงกลาง เนื่องจากเชื่อว่าพื้นที่ส่วนนั้นเป็นที่สำหรับเทพเจ้าเดินผ่าน จึงควรเดินด้านข้างซ้าย-ขวาแทน

 

ซันโด

เป็นทางเดินสำหรับผู้ที่มาสักการะที่เชื่อมต่อไปยังศาลเจ้า หรือเป็นพื้นที่สำหรับเตรียมตัวเดินไปยังศาลเจ้า โดยเหล่าผู้คนที่รอเข้าไปสักการะศาลเจ้า ควรยืนรอด้วยความสำรวม

 

โชซุยะ

Cr. flickr

 

โชซุยะเป็นบ่อน้ำที่ตั้งอยู่ด้านหน้าพื้นที่มีไว้สำหรับให้ประชาชนผู้เข้าเยี่ยมชมใช้ชำระล้างร่างกายและจิตใจ ก่อนจะเข้าไปสักการะเทพเจ้าภายในศาลเจ้า โดยจะทำการล้างมือ ล้างปากก่อน ซึ่ง “โชซุยะ” นั้น มักจะมีทั้งในศาลเจ้าและวัด

 

โคมไฟ

Cr. lonelyplanet.com

 

เวลาเดินทางไปเที่ยวศาลเจ้าเรามักจะเห็นว่าระหว่างทางเดินมักมีโคมไฟหินตั้งเรียงรายอยู่ โคมไฟแต่ละอันนั้นถือเป็นตัวแทนของธาตุทั้ง 5  คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ ที่สื่อให้เห็นว่าเมื่อคนเราตายไปก็จะกลับกลายสู่ธาตุทั้ง 5 เช่นเดิม

 

คะกุระเด็ง

“คะกุระ” หรือภาษาที่เราเรียกก็คือ “ศาลา” นั่นเองค่ะ มีไว้เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีแต่งงาน หรือละครโนห์ รวมไปถึงการเต้นและร้องเพลงเพื่อถวายแก่เทพเจ้า เป็นต้น

 

เอมะ

Cr. lonelyplanet.com

 

เอมะเป็นไม้แผ่นเล็กๆ สำหรับเขียนคำอธิษฐานต่อพระเจ้า ซึ่งจะมีหลายรูปแบบ สามารถหาซื้อได้ที่วัดและศาลเจ้าค่ะ

 

ศาลเจ้าหลักและศาลเจ้ารอง

ภายในศาลเจ้ามักจะมีการสร้างศาลเจ้าขนาดเล็กไว้ ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานของเทพองค์อื่นๆ ให้ประทับอยู่ ณ พื้นที่แห่งนั้น

 

โคมะอินุ

Cr. tumblr

 

โคมะอินุ (Komainu) รูปปั้นที่มีลักษณะคล้ายกับสุนัขและสิงโต ถูกตั้งไว้ที่หน้าวิหารหลักของศาลเจ้าหรือวัด เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งไม่ดีเข้ามาในบริเวณวัดหรือศาลเจ้า อีกทั้งยังมีสัตว์ชนิดอื่นๆ ด้วย เช่น ศาลเจ้าอินาริซึ่งมีรูปปั้นสุนัขจิ้งจอก หรือ ศาลเจ้าเทนมังกูที่มีรูปปั้นวัว

 

ไฮเด็น

Cr. insidekyoto

 

ไฮเด็น (Haiden) เป็นสถานที่สำหรับไว้ไหว้พระขอพร ตั้งอยู่ด้านหน้าวิหารหลัก บางครั้งจะถูกใช้ในการทำพิธีหรือกิจกรรมทางศาสนา เป็นสถานที่ระหว่างวิหารหลักและโถงบูชา

 

ทะมะกะคิ

ทะมะกะคิ คือ รั้งที่แบ่งระหว่างพื้นที่ระหว่างวิหารหลักและศาลเจ้า

 

ศาลหลัก

ศาลหลักเป็นสถานที่สำหรับประดิษฐานของเทพเจ้า ในกรณีที่มีมากจะมีวัตถุบูชา เช่น กระจก เป็นต้น

 

จิกิและคะสึโอกิ

เป็นส่วนประกอบสำหรับตกแต่งหลังคาของศาลเจ้า โดยรูปแบบของหลังคาจะมีความโค้งงอ ทำให้สามารถแบ่งแยกความต่างระหว่างศาลเจ้าและวัดได้

 

เทพเจ้าตามความเชื่อของชาวญี่ปุ่น

ชาวญี่ปุ่นนั้นนับถือเทพเจ้ามากมายเลยล่ะค่ะ เห็นได้ว่าทุกเมืองมักจะมีพื้นที่ของศาลเจ้าตั้งอยู่ ซึ่งศาลเจ้าบางที่อาจมีเทพเจ้าประดิษฐานอยู่หลายองค์ด้วยกัน ซึ่งวันนี้เราจะขอยกตัวอย่างเทพเจ้าที่ชาวญี่ปุ่นนับถือมาให้ดูกันค่ะ

 

Agyo & Ungyo

Cr. Carolyn Hawkins

 

เริ่มกันที่เทพเจ้า Agyo & Ungyo ซึ่งเป็นคู่หูแห่งเทพที่คอยปกปักรักษาเฝ้าประตูทางเข้า Agyo เป็นเทพเจ้าแห่งความโกรธและความรุนแรง มักจะแยกเขี้ยว ถืออาวุธ และกำมือเป็นกำปั้น ส่วน Ungyo เป็นเทพเจ้าแห่งความแข็งแกร่งและพละกำลัง จะปิดปากและแบมือที่แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจในฝีมืออยู่ตลอดเวลา

 

Inari

Cr. nipponia-nippon

 

Inari ถือเป็นเทพเจ้าของหลายๆ สิ่งที่สำคัญของญี่ปุ่น ทั้งข้าว ชา เหล้าสาเก และความสำเร็จทั้งหลาย ตามตำนานเชื่อว่า Inari จะใช้จิ้งจอกเป็นผู้ส่งสาล์นมาสู่โลก ชาวญี่ปุ่นจึงใช้รูปปั้นจิ้งจอกเป็นตัวแทนของเทพเจ้า Inari และตั้งอยู่ตามศาลเจ้าต่างๆ อีกทั้งหมาจิ้งจอกยังได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์จากคนญี่ปุ่นอีกด้วย

 

Jizo

Cr. flickr

 

Jizo เป็นเทพเจ้าที่คอยปกป้องเด็กและการคลอดลูก เรื่องเล่าของญี่ปุ่นกล่าวกันว่าหากเด็กที่เสียชีวิตก่อนพ่อแม่จะไม่สามารถข้ามแม่น้ำ Sanzu ที่เป็นแม่น้ำสู่อีกภพหนึ่งได้ ทำให้กลายมาเป็นรูปปั้นหินตั้งอยู่รอบๆ แม่น้ำ คอยช่วยเหลือเด็กๆ ให้ข้ามแม่น้ำได้โดยซ่อนเด็กๆ เอาไว้ในผ้าคลุม

 

Raijin & Fujin

Cr. vlus.club

 

Raijin เป็นเทพเจ้าแห่งสายฟ้า ลักษณะท่าทางจะถือค้อนและแบกกลองไว้ที่หลัง ในขณะที่ Fujin เทพเจ้าแห่งลม จะถือถุงใส่ลมเอาไว้เสมอ Raijin และ Fujin มักจะปรากฏกายพร้อมกัน คนมักจะกลัวทั้งคู่เพราะเล่าขานกันว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ทะเลปั่นป่วนและทำให้เรือล่ม ด้วยภาพลักษณ์ที่น่ากลัวนี้ Raijin และ Fujin จึงได้รับหน้าที่ในการเป็นยามรักษาประตูทางเข้าวัดต่างๆ

 

Benzaiten

Cr. slowmylifetatoo10

 

Benzaiten หรือเทพเจ้า Benten เทพเจ้าแห่งกวี อักษรศาสตร์ นาฏกรรม และดนตรี เชื่อว่าผู้ใดนับถือ Benten จะพบแสงสว่างแห่งปัญญา ในอดีต Geisha ของญี่ปุ่นนิยมบูชาเพราะเชื่อว่าจะทำให้มีความสามารถรำฟ้อนได้อย่างงดงามได้ ส่วนพวกมิจฉาชีพย่องเบาเองก็นิยมบูชา Benzaiten เช่นกัน เพราะเชื่อว่าพระนางจะดลบันดาลให้ภารกิจลุล่วงไปด้วยดี

รู้จักกับ “ศาลเจ้า” แบบญี่ปุ่นไปคร่าวๆ แล้ว คราวนี้เรามาจะพาไปดูศาลเจ้าที่มีชื่อเสียงโด่งดังในญี่ปุ่นกันบ้าง ซึ่งเราได้ยกตัวอย่างมาให้คุณเป็นบางส่วน แต่เรียกได้ว่าเด็ดๆ ทั้งนั้น มาเริ่มกันจาก…..

 

ศาลเจ้าฟูชิมิอินาริ

Fushimi-Inari-Shrine-02

Cr. happy-travelling.com

Fushimi-Inari-Shrine-01

Cr. i.pinimg.com

ศาลเจ้าฟูชิมิอินาริ (Fushii Inari Taisha Shirine) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ศาลเจ้าพ่อจิ้งจอกขาว ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อบูชาสุนัขจิ้งจอก ซึ่งชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่าเป็นศาลเจ้าแห่งนี้เป็นทูตของเทพเจ้าการเก็บเกี่ยว เพราะพื้นที่ตั้งนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำ ทำให้ปลูกผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าว ได้ดี

แน่นอนว่าศาลเจ้าฟูชิมิอินาริเองก็มีสัญลักษณ์สำคัญที่บ่งบอกว่าสถานที่นี้เป็นศาลเจ้า นั่นก็คือเสาโทริอิ ซึ่งเอกลักษณ์สำคัญ ได้แก่ อุโมงค์ทางเดินที่เกิดจากการเรียงตัวกันของเสาโทริอิสีแดงจ้าเกือบหนึ่งหมื่นซุ้ม ทอดสู่ฟูชิมิอินาริไทชะ เรียกว่าเป็นจุดเช็คอินและถ่ายรูปเลยก็ว่าได้ค่ะ แต่กว่าจะเดินได้ครบเสาทุกต้นเล่นเอาเหงื่อแตกได้เลยนะคะ

 

ศาลเจ้าเมจิ

Cr. Vickyflipfloptravels

Cr. jife.com

ศาลเจ้าเมจิ (Meiji Jingu)  เป็นศาลเจ้าที่ถูกสร้างขึ้นมาสำหรับสักการะบูชาพระจักรพรรดินี ผู้ครองราชย์ในราชวงศ์เมจิ เมื่อปี 1867-1912    หลังจากที่พระจักรพรรดิ์เมจิสิ้นพระชนม์  ผู้คนในโตเกียวนั้นต่างเรียกร้องให้สร้างศาลเจ้าเพื่อใช้ในการสักการะพระจักรพรรดิ์เมจิ จนมีการก่อสร้างขึ้นในปี 1915 และแล้วเสร็จในปี 1920  เรียกว่าเป็นสถาปัตยกรรมยุคเมจิ (The Meiji Memorial Hall) นั่นเองค่ะ

Cr. Flickr

Cr. i.pinimg.com

ปัจจุบันศาลเจ้าเมจิ จินกุ ตั้งอยู่ในป่าใจกลางกรุงโตเกียว ซึ่งถูกโอบล้อมด้วยต้นไม้กว่า 100,000 ต้น เสาโทริอิไม้ขนาดใหญ่ตั้งตระหง่าน พื้นทางเดินเต็มไปด้วยหินกรวด โคมไฟใหญ่ถูกตั้งเรียงรายไว้อย่างสวยงาม ได้บรรยากาศของความเป็นธรรมชาติที่ร่มรื่นและสดชื่นแบบสุดๆ นอกจากการสัมผัสกลิ่นของต้นไม้ใบหญ้าที่อุดมสมบูรณ์สร้างความสุขแล้ว ภายในศาลเจ้ายังมีกิจกรรมมากมายให้ร่วมมากมาย เช่น การเขียนแผ่นไม้ขอพรเทพเจ้า ถ่ายรูปสวยๆ กับสถาปัตยกรรมยุคเมจิ มีพื้นที่ให้เช่าเครื่องรางของขลัง และหากมีโอกาสเหมาะเจาะคุณอาจจะได้เห็นพิธีแต่งงานดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นด้วย เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เปิดให้เช่าพื้นที่แต่งงานได้นั่นเองค่ะ ซึ่งก็ถือกิจกรรมที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดีค่ะ

 

ศาลเจ้าฮอกไกโด

Cr. Flickr

Cr. tumblr

ศาลเจ้าฮอกไกโด (Hokkaido Shrine) เมืองซัปโปโร (Sapporo) เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ของศาสนาพุทธนิกายชินโต ศาลเจ้าแห่งนี้มีเทพเจ้าแห่งธรรมชาติที่ประทับภายในศาลเจ้าถึง 4 องค์ ทำให้ผู้คนต่างแวะเวียนมาสักการะขอพรกันไม่ขาดสาย และที่สำคัญศาลเจ้าฮอกไกโดยังมีจุดชมวิวที่สวยงาม ด้วยพื้นที่ที่มีจุดเชื่อมต่อกับสวนมารุยามะ ช่วงพีคของการท่องเที่ยวคือฤดูใบไม้ผลิ เนื่องจากมีวิวทิวทัศน์ของดอกซากุระบานให้ชม และช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี จะมีการจัดเทศกาล Sapporo Festival หรือ Sapporo Matsuri ซึ่งจะมีขบวนแห่ไปตามถนนค่ะ

 

Cr. sapporo.travel

 

ศาลเจ้าคะโมะ

Kamo-Shrine-Kamo-jinja

Cr. mataro-doll

Devil's-Gate-Kimon

Cr. Just plain pretty

ศาลเจ้าคะโมะ (Kamo Shrine Kamo -jinja) ศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดในเกียวโตและยังเป็นหนึ่งในศาลเจ้าที่ได้จดทะเบียนเป็นมรดกโลก ศาลเจ้าแห่งนี้ถูกแบ่งออกเป็นสองพื้นที่ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนบนและตอนล่างของแม่น้ำคะโมะ ได้แก่ ศาลเจ้าคะมิงะโมะและศาลเจ้าชิโมะคะโมะ ทั้งสองศาลเจ้าเปรียบเสมือนประตูของเมืองหลวงเก่าอย่างเคียวโตะที่เรียกว่า ประตูปีศาจ (Devil’s Gate Kimon) คล้ายๆ กับประตูผีบ้านเราที่มีการนำศพออกไปทิ้งนั่นเองค่ะ ในขณะที่เคียวโตะเป็นประตูทางเข้าออกสำหรับปีศาจนั่นเองค่ะ ตามความเชื่อญี่ปุ่นถือว่าแม่น้ำคะโมะที่ไหลมาจากทางตะวันออกเฉียงเหนือเปรียบเสมือนการนำเหล่าปีศาจเข้าสู่เมือง

จุดเด่นของศาลเจ้าคะโมะคือโทริอิสีส้มขนาดใหญ่บริเวณทางเข้าและมีทางเดินทอดตรงผ่านสนามหญ้าสีเขียวไปยังโทริอิอันที่อยู่หน้าป่าศักดิ์สิทธ์ขนาดใหญ่ ทางเดินทอดตัวเข้าไปในป่าและนำไปสู่หอหลักของศาลเจ้า ตั้งอยู่บริเวณที่ทางน้ำใสสองสายไหลมาบรรจบกัน ภูเขาทรายสีขาวสองลูกข้างอาคารหลักเปรียบเป็นภูเขาเพื่อให้เทพลงมาสถิต ศาลเจ้าแห่งนี้จะเน้นพิธีการทางศาสนาที่วัดคะมิงะโมะจินจะมีความหมายเพื่อการปกป้องรักษาเมืองหลวงไปจนถึงอาณาจักร

 

ศาลเจ้าอุสะ

Cr. japan-guide.com

Cr. japan-guide.com

ศาลเจ้าอุสะ (Usa Shrine) ตั้งอยูในจังหวัดโออิตะ สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.745 เป็นวัดอารามชั้นเอกในบรรดาวัดฮาจิมังกุ (Hachimangu) ลักษณะสำคัญของศาลเจ้าแห่งนี้คือเสาโทริอิ 4 ต้น บริเวณทางเข้าและศาลเจ้าสีแดงที่มีโครงสร้างหรูหราผสานความดั้งเดิมของญี่ปุ่นหลายหลังตั้งเรียงรายกัน โดยเมื่อเดินเลยเสาแดงต้นใหญ่เข้ามา จะเจอกับบ่อน้ำไหลและกระบวยไม้ไผ่วางผาดอยู่ ให้ได้ชำระกายใจก่อนเข้าไปสักการะเทพเจ้าด้านในศาลเจ้า โดยด้านข้างศาลเจ้าจะมีต้นไม้ขนาดใหญ่แบบหลายคนโอบยืนตระหง่านให้ร่มเงาอยู่ ซึ่งมีอายุเป็นร้อยๆ ปี โดยเล่าขานกันมาว่าศาลเจ้าแห่งนี้ศักดิ์สิทธิ์มาก มีคนมาขอพรแล้วประสบความสำเร็จมากมาย ดังเช่น ไอดอลญี่ปุ่นคนหนึ่งที่ขอให้เธอมีชื่อเสียง และตอนนี้เธอก็เป็นไอดอลดังในญี่ปุ่น นอกจากศาลเจ้าและต้นไม้แล้ว บริเวณนี้ยังมีแผ่นเขียนคำอธิษฐานด้วยเรียกว่าเป็นศาลเจ้าแห่งการขอพรอย่างแท้จริง รวมไปถึงมีสะพานที่เปิดให้แก่ผู้ส่งสารจากพระจักรพรรดิเท่านั้น เชื่อกันว่าถ้าหากได้เห็นช่องว่างแล้วจะโชคดีค่ะ

 

Cr. japan-guide.com

 

ว่าแล้วก็อยากตีตั๋วไปเที่ยวญี่ปุ่นขึ้นมาทันทีเลยค่ะ ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เที่ยวเท่าไหร่ก็ไม่รู้สึกเบื่อ แถมยังมีเรื่องราวให้เราได้ค้นหาอีกมากมายแบบที่เราเองก็อาจจะคาดไม่ถึง ถ้ามีโอกาสจะชะแว๊บไปในทันที (แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่555+) ส่วนแฟนๆ บาริโอคนไหนไปก็อย่าลืมเก็บภาพสวยๆ มาฝากกันด้วยนะคะ หรือใครที่อยากได้บ้านแบบกลิ่นอายญี่ปุ่น บาริโอก็จัดสรรและดีไซน์การตกแต่งภายในให้คุณได้ รับประกันฝีมือคุณภาพแน่นอนค่ะ!!