ช่างสิบหมู่
Cr: www.nfe.go.th
หากพูดถึงความหมายของคำว่า “ช่างสิบหมู่” ตามพจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน หมายถึง “ช่างหลวง” โดยสมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงมีลายพระหัตถ์ประทาน พระยาอนุมานราชธนลงวันที่ 31 ส.ค. พ.ศ. 2479 ในหนังสือบันทึกเรื่องราวความรู้ต่าง ๆ ไว้ว่า “ช่างสิบหมู่เป็นชื่อกรมที่รวบรวมช่างได้มี 10 หมู่ด้วยกัน”
การรวมตัวของช่างสิบหมู่เริ่มต้นขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการปกครองแบบกระทรวงเวียง วัง คลัง นา ทุกกระทรวงต้องการช่างที่มีฝีมือด้านศิลปกรรม ในการทำของใช้ในส่วนของราชการ ของใช้ส่วนพระองค์ส่วนราชสกุล บริการแก่ศาสนา และบริการแก่ประชาชน แต่ในตอนนั้นช่างที่มีฝีมือต่างๆ ยังคงกระจัดกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ จึงต้องรวบรวมช่างให้เข้ามาอยู่ในกรมเดียวกัน จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการรวบรวมช่างฝีมือด้านศิลปกรรมไทยที่มีอยู่มากกว่า 10 หมู่ แต่เรียกว่า “ช่างสิบหมู่” เพื่อจำแนกช่างที่เป็นส่วนสำคัญ ต่อมาภายหลังจึงได้เพิ่มเติมหรือแยกแขนงออกไปตามลักษณะของงานนั่นเอง
Cr : https://board.postjung.com
ในอดีตช่างสิบหมู่มีหน้าที่โดยตรงในการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานประณีตศิลป์ วิจิตรศิลป์ มัณฑนศิลป์แก่ราชการในส่วนพระองค์ อาทิ เครื่องราชูปโภค พระราชพาหนะ พระราชมณเฑียรสถาน และคอยรวบรวมบรรดาบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และมีฝีมือช่างศิลปะประเภทต่าง ๆ เข้ามารับสนองราชการประจำ เพื่อเป็นช่างหลวงและทำงานสนองพระราชประสงค์หรือพระบรมราชโองการของพระราชา จึงได้รับการขนานนามมาแต่เดิมว่า “กรมช่างสิบหมู่” ซึ่งจำแนกแต่ละหมู่ได้ดังนี้
1. หมู่ช่างเขียน
2. หมู่ช่างแกะหรือช่างแกะสลัก
3. หมู่ช่างหุ่น
4. หมู่ช่างปั้น
5. หมู่ช่างปูน
6.หมู่ช่างรัก
7.หมู่ช่างบุ
8 .หมู่ช่างกลึง
9. หมู่ช่างสลัก
10. หมู่ช่างหล่อ
Cr : www.nfe.go.th
ในปัจจุบันช่างสิบหมู่มีหน้าที่ศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ โดยรวบรวมหลักฐานงานทุกชิ้นที่มีลักษณะเป็นงานช่างสิบหมูู่ และทำการวิจัย ทดลอง ซ่อมแซม พร้อมกับสร้างใหม่ในเชิงอนุรักษ์ศิลปกรรม ให้บริการ ให้ความรู้ วิธีการด้านงานออกแบบศิลปกรรมไทยโบราณ คอยพัฒนาฝีมือและผลงานให้เป็นงานประยุกต์ผลงานในอดีตให้เข้ากันกับผลงานในปัจจุบัน โดยมีจุดประสงค์หลักในด้านการทำงาน 3 ข้อ คือ
• อนุรักษ์ หมายความว่า อนุรักษ์ วิธีการ องค์ความรู้ เทคนิควิธี ที่ทำใช้ในทำงานของช่างต่างๆ ในสมัยก่อนไว้อย่างครบถ้วน
• สืบสาน หมายความว่า นำผลงานชิ้นเก่าที่มีการเสื่อมของกาลเวลา มาซ่อมแซมให้ดูเหมือนของใหม่อีกครั้ง แต่ยังคงรักษาวิธีการทำและรูปแบบคงเดิมเอาไว้เป็นอย่างดี
• สร้างสรรค์ หมายความว่า สร้างสรรค์ผลงานใหม่ด้วยความรู้องค์รวมทางด้านศิลปกรรม และนำไปต่อยอดให้เกิดชิ้นงานที่งดงามและเข้าใจได้ง่ายขึ้น
Cr : https://siamrath.co.th/
ลักษณะงานของช่างสิบหมู่ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
• กลุ่มงานจิตรกรรม
งานกลุ่มจิตรกรรมจะเน้นการสืบสานและสร้างสรรค์ผลงานสู่สังคม งานจิตรกรรมจะมีทั้งในด้านจิตรกรรมไทยตามแบบประเพณีนิยม และงานจิตรกรรมร่วมสมัย โดยเน้นไปในแนวทางของศิลปะตามหลักวิชาการ (Academic Art) มากกว่า ผลงานที่กลุ่มจิตรกรรมทำไว้มากมาย อาทิ ภาพเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์พระมหากษัตริย์รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ภาพบุคคลสำคัญต่างๆ โดยอาศัยแนวเรื่องจากประวัติศาสตร์ ศาสนา วิถีชีวิต และวัฒนธรรม
Cr : https://praew.com
• กลุ่มงานประติมากรรม
กลุ่มงานประติมากรรม เน้นการสืบสานและสร้างสรรค์ผลงานสู่สังคม งานประติมากรรมของไทยจะมีอยู่ 2 แบบด้วยกัน นั่นคือ งานหล่อและงานปั้นเกี่ยวกับงานพิธีการศาสนาและพระพุทธปฏิมา ปัจจุบันจะเน้นไปในแนวทางศิลปะตามหลักวิชาการ (Academic Art) มากกว่า และดินที่ใช้ปั้นในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นดินสามโคก เพราะทางสำนักงานช่างสิบหมู่ ได้ทำการทดลองและวิจัยสำเร็จแล้วว่าเป็นดินที่ปั้นได้ดีที่สุดในตอนนี้
Cr : www.komchadluek.net
• กลุ่มงานปราณีตศิลป์
กลุ่มงานปราณีตศิลป์จะเน้นการอนุรักษ์และสืบสานของการใช้เทคนิคของโบราณในการสร้างสรรค์ผลงาน งานปราณีตศิลป์มีความหมายดั่งชื่อ คือ ความปราณีตในการประดิดประดอยขึ้นด้วยความละเอียดอ่อน ตั้งใจ และ พิถีพิถัน เพื่อให้คุณค่าทางความงามแก่ผลงาน จะให้ความสำคัญด้านความสวยงาม มีคุณค่า ควรนำไปเก็บสะสมรักษาหรือตั้งโชว์มากว่าที่จะนำมาใช้ประโยชน์ ผลงานส่วนใหญ่จึงจัดเป็นงานศิลปะภัณฑ์ที่มีความงดงาม
Cr : https://board.postjung.com
• กลุ่มงานศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา
กลุ่มงานศิลปประยุกต์ จะมีหน้าที่วิจัยงานศิลปะประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา เพื่อการพัฒนาเทคนิค และแนะนำเผยแพร่ให้แก่บุคคลที่สนใจ ซึ่งได้ทำการออกแบบส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มงานออกแบบเพื่อใช้ในงานสังคมเสียส่วนใหญ่ เช่น การออกแบบตาลปัตร พัดรอง แสตมป์ สูจิบัตร พวงมาลา หุ่นจำลอง เป็นต้น
Cr : http://www.komchadluek.net
ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด ช่างสิบหมู่ ไม่เพียงมีฝีมือในการทำงาน แต่ยังต้องมีความรัก ความอดทน ความพิถีพีถัน ในงานศิลปะอย่างสุดซึ้ง เพราะว่างานของช่างสิบหมู่ไม่ได้ทำเพียงของที่มีคุณค่าทางด้านวัฒนธรรมแต่ยังเก็บรักษาเทคนิค วิธีการไว้ให้สมบูรณ์และครบถ้วนที่สุด เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นหลังได้เก็บรักษาสืบสานต่อไป เพื่อให้งานศิลปกรรมไทยโบราณยังคงสง่างามเสมอไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ก็ตาม
Writer : kanisigha
อ้างอิง
www.suriyothai.ac.th/th/node/516
http://dvthai2.com/Bd09.htm
http://www.nfe.go.th