thai-silk-cover

ผ้าไหมไทย

 

Cr.etsy.com

 

เครื่องนุ่งห่ม เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่ทำให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ นอกเหนือจากอาหาร ที่อยู่และยารักษาโรค ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่า เครื่องนุ่งห่ม มีอยู่มากมายหลายชนิดบนโลกใบนี้ แต่ละที่ก็มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไปเช่นกัน

 

หากพูดถึงเครื่องนุ่งห่มของประเทศไทย ก็คงจะหนีไม่พ้น “ผ้าไหมไทย” ถือเป็นเครื่องนุ่งห่มที่มีเอกลักษณ์และเป็นสัญลักษณ์ของชุดประจำชาติอีกด้วย ตามหลักฐานทางโบราณคดีผ้าไหมไทยได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีนผ่านพ่อค้าชาวจีนที่มาค้าขายกับประเทศไทย นอกจากนี้ได้มีการค้นพบผ้าไหมที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ชี้ให้เห็นว่าคนไทยในอดีต ได้มีการทอผ้าใช้เอง โดยพบหลักฐานเป็นเศษผ้าที่ทำจากป่านของใบกัญชา และยังค้นพบ แวดินเผา ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการปั่นเส้นใยให้เป็นเส้นด้าย

 

Cr. i.pinimg.com

 

การทอผ้าไหมของไทยในอดีตทำขึ้นเพื่อให้เองในครัวเรือน หรืองานบุญ ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้มีการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกหม่อนเลี้ยงใหมเป็นครั้งแรก โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น แต่ก็ต้องสิ้นสุดลงในเวลาต่อมา เนื่องด้วยเกษตรกรไทยไม่ตอบรับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตามรูปแบบที่รัฐบาลญี่ปุ่นพัฒนาขึ้น

 

Cr. weaverhouseco

 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนระบอบการปกครองเกิดขึ้น ทางราชการได้กลับมาส่งเสริมการเลี้ยงไหมอีกครั้ง โดยจัดตั้งโรงงานสาวไหมขึ้นแห่งแรกในประเทศไทย ต่อมาประสบปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ ผลผลิตที่ได้ออกมาไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร ทำให้อุสาหกรรมการผลิตใยไหมได้รับผลกระทบจนต้องยุติลง (นวลแข ปาลิวนิช, 2542)

 

Cr. https://deskgram.net/

 

พ.ศ. 2519 มูลนิธิศิลปาชีพในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้ก่อตั้งขึ้น โดยมีเป้าหมายในการอนุรักษ์ สืบสาน ส่งเสริมและฟื้นฟูศิลปะ งานฝีมือ และภูมิปัญญาไทยทุกแขนง ประกอบกับที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินาถ ทรงเป็นแบบอย่างการเผยแพร่ชื่อเสียงของผ้าไหมไทย โดยการทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมไทย ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศหรือเสด็จต่างประเทศก็ตาม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสืบต่อและสร้างกระแสนิยมให้กับผ้าไหมไทยในหมู่ชาวไทยและชาวต่างชาติอีกด้วย (สุภาพรรณ หาญเทพินทร์, 2531)

 

เอกลักษณ์ของ “ไหมไทย” คือ ไหมไทยมีความเลื่อมมันเฉพาะตัว เนื้อผ้าฟูไม่เรียบเป็นปุ่มปม อ่อนนุ่มและมีน้ำหนัก มีสีสันที่สดใสกว่าผ้าไหมจีน เนื้อผ้ามีความละเอียดลื่นมือ

 

การทอผ้าถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง และนับเป็นงานหัตถกรรมที่ต้องอาศัยความปราณีตเป็นอย่างมาก การทอผ้านั้นเกิดขึ้นตั้งสมัยโบราณ ซึ่งการทอผ้านั้นเป็นการผลิตผืนผ้าโดยเส้นด้ายพุ่งมาขัดและประสานกันกับเส้นด้ายยืน โดยเครื่องที่ใช้ทอผ้าเรียกกันว่า “หูก” หรือ “กี่”

 

หูก หรือ กี่ มีด้วยกันหลายชนิด แต่หลักๆ คือ เป็นการขัดประสานกันของเส้นด้ายพุ่งและเส้นด้ายยืนจนเกิดเป็นผืนผ้าที่มีความแน่น ทนทาน ลักษณะคล้ายคลึงกับการทำจักสาน แต่มีความละเอียดสูงกว่า เพราะเส้นด้ายมีขนาดเล็กและละเอียดมากกว่า

 

ลักษณะของ “กี่” ทอผ้า แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ กี่ตั้งและกี่กระตุก ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบหลักดังต่อไปนี้

 

Cr. i.pinimg.com

 

กี่ทอผ้าไหม มีลักษณะโครงสร้างแบบสี่เหลี่ยม โดยมี 4 เสาหลักโดยใช้ไม้เป็นตัวยึดให้ติดกัน ถือเป็นกี่ทอผ้าที่ใช้มาตั้งแต่อดีตจนถึงยุคปัจจุบัน ข้อดีคือสามารถทำลวดลายได้ดีและสวยงามมากกว่ากี่ทอผ้าอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนากี่ทอผ้าประเภทนี้ให้มีคุณภาพและใช้งานได้รวดเร็วมากขึ้น

 

กระสวย เป็นเครื่องมือสำหรับใส่หลอดไหมเส้นพุ่ง และนำเส้นไหมพุ่งไปขัดกับเส้นไหมยืน ในอดีตอุปกรณ์ชิ้นนี้นิยมทำจากไม้เนื้อแข็ง แต่ปัจจุบันมีการดัดแปลงและทำมาจากพลาสติกด้วย

 

หลอดด้าย (ไหม) ใช้สำหรับม้วนเส้นด้ายเข้าด้วยกัน ก่อนจะนำไปใส่ในกระสวย หลอดด้ายมักทำมาจากเถาวัลย์ชนิดหนึ่ง เรียกว่าเครือไส้ตัน ซึ่งจะมีรูตรงกลาง สำหรับใช้ไม้สอดยึดติดกับกระสวยนั่นเอง

 

ไม้เหยียบหูก มีลักษณะเป็นไม้กลม ยาว 1.50-2.00 เมตร เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับสอดเชือกผูกโยงตั้งแต่ด้านล่างเขาลงมาเป็นห่วงไว้ให้เขาเวลาขึ้นและลง หากต้องการจะเปลี่ยนสีของไหมก็ให้เหยียบไม้หูกหรือไม้กี่นี้

 

ไม้หาบหูก คือ ไม้ที่ใช้ร้อยกับเชือกที่ผูกกับเขาด้านบน ให้หูกติดตัดกี่ไม้หาบ ซึ่งจะมีเพียงอันเดียวเท่านั้น แม้ว่ากี่ทอผ้าจะมีฟืมกี่เขาก็ตาม

 

ฟืม ทำมาจากไม้เนื้อแข็ง มีลักษณะเป็นกรอบสี่เหลี่ยมเป็นช่องหรือซี่เล็กๆ สำหรับใช้ผ้าไหมสอดร้อยเข้าไป วิธีการใช้ฟืมที่ถูกต้องคือเมื่อทอผ้าเสร็จให้เหลือผ้าทิ้งไว้สำหรับการทอครั้งต่อไปด้วย เนื่องจากต้องนำมาผูกกับเส้นไหมที่ต้องทอครั้งต่อไป เพราะถ้าเส้นไหมหลุดออกหมด การนำเส้นไหมเข้าฟืมใหม่จะใช้เวลานานมากนั่นเอง

 

ผ้าไหมไทยขึ้นชื่อว่าเป็นไหมที่ดีที่สุด ด้วยเอกลักษณ์และคุณสมบัติที่มีความมันวาว สวยงามกว่าของชนชาติไหนๆ ทำให้ผ้าไทยกลายเป็นผ้าที่ชาวต่างชาติต้องการมากที่สุด ซึ่งกว่าที่ผ้าไหมไทยจะได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการมากขนาดนี้ ต้องผ่านกระบวนการต่างๆ มากมาย ยิ่งทำให้คุณค่าของผ้าไหมไทยมีมากยิ่งขึ้น ควรค่าที่คนรุ่นไหมจะรักษา “ผ้าไหมไทย” ให้อยู่ยาวนานสืบทอดไปยังรุ่นต่อๆ ไปค่ะ

 

 

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก

– www.qsds.go.th
– www.trueplookpanya.com
– mgronline.com
– http://libdoc.dpu.ac.th
– นวลแข ปาลิวนิช. (2542). ความรู้เรื่องผ้าและเส้นใย (ฉบับปรับปรุงใหม่). กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น
– สุภาพรรณ หาญเทพิทร์. (2531). รายงานการศึกษาวิเคราะห์เรื่อง ลู่ทางการพัฒนาการส่งออกผ้าไหมไทยและผลิตภัณฑ์. งานวิจัยสินค้าอุตสาหกรรม 2 ฝ่ายวิจัยสิค้าอุตสาหกรรม กองวิจัยสินค้าและการตลาด.