เป็นที่ทราบกันดีว่าในปัจจุบัน เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เพราะมนุษย์ได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ในด้านต่างๆ ให้ดีขึ้น อย่างเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตในแวดวงอุตสาหกรรม เช่น วงการก่อสร้าง ที่ปัจจุบันใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ และใช้ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ในการออกแบบ คำนวณชิ้นงาน ส่งผลให้เกิดนวัตกรรมหรือสถาปัตยกรรมที่มีความโดดเด่น ล้ำสมัย และที่สำคัญเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์
วันนี้บียอนขอนำเสนอเรื่องราวนวัตกรรมและสถาปัตยกรรมแห่งอนาคตที่น่าสนใจและแปลกใหม่มาให้เพื่อนบาริโอได้ชมกันครับ
1.บ้านลอยน้ำวิถีของที่อยู่อาศัยแบบใหม่
ที่มารูปภาพ : idolza.com
ในประเทศไทย เราอาจจะเคยเห็นแต่บ้านริมน้ำที่ใช้เสาปูนหรือไม้เป็นหลักยึดบ้านไว้ให้อยู่แข็งแรงหรือบ้านแพที่มีลักษณะคล้ายเรือ แต่เราอาจจะไม่เคยแนวคิดเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมลอยน้ำว่ามันจะเกิดขึ้นได้จริง แต่เชื่อไหมครับว่าสถาปัตยกรรมลอยน้ำกำลังถูกพัฒนาเข้าใกล้ความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ
Water Studio คือ กลุ่มสถาปนิกสถาปนิกชาวดัตช์ที่นำแนวคิดนี้ออกเผยแพร่ผ่านสื่อสู่สาธารณชนเป็นกลุ่มแรกๆ ด้วยภารกิจหลักที่จะช่วยแก้ไขปัญหาแล้วบ้านของประชาชนริมฝั่งที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นทุกปี โดย Water Studio ได้ผุดโครงการต้นแบบขึ้นมากมาย มีตั้งแต่ภาพ “ต้นแบบ 3 มิติ” ไปจนถึงการสร้าง “บ้านตัวอย่าง” ที่ทำให้ทุกคนได้รู้ว่า การก่อสร้างบ้านลอยน้ำนั้นสามารถเป็นไปได้จริงๆ โดยลักษณะตัวบ้านที่ออกแบบจะมีพื้นของบ้านที่เป็นลานคอนกรีตขนาดใหญ่และ Styrofoam ซึ่งมีความแข็งแรงทนทานต่อสภาพอากาศ บ้านมีขนาด 7×10 เมตร มีทั้งหมด 3 ชั้น พร้อมฟังก์ชั่นทุกอย่างครบครันเหมือนบ้านทั่วไป แถมยังมีระเบียงบนดาดฟ้าไว้สูดอากาศเพิ่มความสดชื่นได้อีกด้วยครับ
2.Moss Voltaics
ที่มารูปภาพ : inhabitat.com
Moss Voltaic เป็นโปรเจคของ IaaC สถาบัน Advanced Architecture of Catalonia โดย Elena Mitrofanova เป็นการสร้างผนังอาคารสีเขียว ที่สามารถสร้างกระแสไฟฟ้าได้จากหญ้ามอส โดยอาศัยเทคโนโลยีสุริยะชีวภาพ หรือกระบวนการสังเคราะห์แสงที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้า (Biophotovoltaic หรือ BPV) ซึ่งนับว่าเป็นพลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ระบบของ Moss Voltaic สามารถสร้างกระแสไฟฟ้าได้ด้วยแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับตะไคร่น้ำ เมื่อมีการสังเคราะห์ด้วยตะไคร่น้ำ สารประกอบอินทรีย์บางชนิดที่ผลิตออกมาจะถูกปล่อยผ่านรากของมันลงไปในดินด้านล่าง ซึ่งเชื้อแบคทีเรียสามารถย่อยสลายสารเหล่านี้ได้ แล้วเปลี่ยนให้เป็นหนึ่งในอิเล็กตรอนอิสระครับ
ถึงแม้ว่ากระแสไฟฟ้าที่ได้อาจจะไม่มากนัก แต่ก็สามารถใช้กับหลอดไฟ LED ได้ ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมที่ดีและน่าต่อยอดนำไปใช้ในปีในอนาคตมากเลยครับ
ที่มารูปภาพ : inhabitat.com
3.Eco–BLAC Bricks อิฐดำรักษ์โลก
ที่มารูปภาพ : digitaltrends.com
สิ่งประดิษฐ์ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการค้นคว้าของ Mike Laracy ที่เขาและทีมงานได้นำขี้เถ้าที่เกิดจากการเผาผลาญในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีปริมาณสูง มาอัดเป็นก้อนอิฐโดยใช้กระบวนการกระตุ้นด้วยด่าง (Alkali-Activated) เพื่อประสานผงฝุ่นขี้เถ้าจำนวนมากเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้ได้อิฐดำรักษ์โลก และยังช่วยกำจัดปริมาณขี้เถ้าจำนวนมากจากโรงงานอุตสาหกรรมด้วย ทั้งนี้กระบวนการผลิตอิฐดำรักษ์โลก ยังใช้ต้นทุนต่ำ และใช้พลังงานในกระบวนการผลิตน้อย เมื่อเทียบกับการผลิตอิฐแดงในรูปแบบเดิม ส่งผลให้ Eco-BLAC เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมครบทุกองศา เหมาะกับการนำไปใช้ก่อสร้างอาคาร
ปัจจุบันโครงการนี้กำลังถูกพัฒนาบนพื้นที่จริงในเขต มูซาฟฟาร์นาการ์ รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย โดยความร่วมมือจากโรงงานผลิตกระดาษที่มีปริมาณขี้เถ้าหลงเหลือจากกระบวนการผลิตจำนวนมาก
นี่เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่ช่วยลดปริมาณการใช้ทรัพยากรทางอ้อมได้มาก ดังนั้นก่อนที่เราจะทิ้งอะไร ช่วยฉุกคิดสักนิดว่าเราสามารถนำของเหล่านั้นกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกหรือไม่ ถ้าเป็นเศษวัสดุที่เหลือจากโรงงาน เราอาจคิดค้นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่จากเศษวัสดุนี้ก็เป็นไปได้ ทำให้เราได้นวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้เพื่อยืดอายุทรัพยากรในโลกที่ใกล้จะหมดไปได้อย่างดีครับ
4.3D Printed Floor
ที่มารูปภาพ : designboom.com
บริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ‘Aectual’ ได้ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติเพื่อสร้างวัสดุปูพื้นถาวรที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ โดยที่พื้นซึ่งออกแบบมานั้น จะใช้วัสดุอย่างพลาสติกชีวภาพที่ใช้แล้วมาสร้างกรอบรูปทรงและลวดลายตามที่ต้องการ และใช้หินแกรนิตและหินอ่อนที่ใช้แล้วสำหรับเป็นวัสดุหลักของพื้นปู
การปูพื้นด้วยวิธีนี้ถูกใช้ปูพื้นของ Loft Flagship Store ในเมืองโตเกียวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกำลังจะถูกใช้ปูพื้นในสนามบิน Schiphol ที่กรุงอัมสเตอร์ดัมในเดือนพฤศจิกายนนี้ครับ
ที่มารูปภาพ : designboom.com
5.Ultra–thin Concrete Roof
ที่มารูปภาพ : archdaily.com
สถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิสในซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประสบความสำเร็จในการวิจัยและสร้างหลังคาคอนกรีตทรงโค้งชนิดบางพิเศษ ที่ใช้นวัตกรรมการออกแบบดิจิตอลและการสานผ้า ทีมผู้วิจัยได้ออกแบบและสร้างโครงเส้นเคเบิลเป็นรูปตามที่วางไว้ จากนั้นนำผ้ามาทับโครงสร้าง และวางทับอีกทีด้วยวัสดุเสริมแรง ก่อนจะเทด้วยคอนกรีต โดยคำนวณให้มั่นใจว่า แรงจากน้ำหนักของวัสดุจะกระจายไปยังเส้นเคเบิลแต่ละเส้นอย่างทั่วถึง และยังคงรูปทรงของหลังคาไว้ งานนี้ต้องอาศัยความชำนาญของทีมงานในการสร้างเป็นอย่างมาก
หลังคาทรงโค้งนี้มีโครงสร้างสำหรับพยุงหลายชั้น สามารถรักษาความเย็นและติดตั้งฉนวนกันความร้อนไว้ภายในชั้นคอนกรีต และยังมีการติดตั้งแผง Solar Cell พลังงานแสงอาทิตย์ไว้บริเวณส่วนนอกสุดของหลังคา โดยทางทีมผู้วิจัยหวังว่าจะสามารถสร้างพลังงานให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในที่อยู่อาศัยได้ครับ
ที่มารูปภาพ : archdaily.com
6.Green Blade
ที่มารูปภาพ : nobleid.com
บริษัท “FIBandCo” ที่ตั้งอยู่บนเกาะมาร์ตีนิก (Martinique) ดินแดนโพ้นทะเลในการปกครองของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวและที่ผลิตสินค้าออกหลักๆ เช่น น้ำตาล เหล้ารัม กล้วย สับปะรด และซีเมนต์ ได้พัฒนาและวิจัยการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยการนำลำต้นของต้นกล้วยมาแปรรูปให้เป็นแผ่นไม้วีเนียร์ (Veneer) ธรรมชาติ ซึ่งเรียกว่าเป็นวัสดุทางเลือกใหม่ที่สามารถนำมาใช้ทดแทนไม้ได้ และให้ชื่อว่า “Green Blade” เพื่อใช้เป็นวัสดุในการตกแต่งบ้าน ที่มีข้อดีอยู่ตรงที่ ต้นกล้วยสามารถเจริญเติบโตเต็มที่ภายในระยะเวลาเพียง 9 เดือน รวดเร็วกว่าต้นไม้ชนิดอื่นๆ จึงช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่า อีกทั้งยังผลิตในโรงงานที่ใช้ไฟฟ้าจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ และในกระบวนการผลิตยังไม่ต้องอาศัยน้ำหรือกาวแต่อย่างใด จึงนับว่าเป็นนวัตกรรมยั่งยืนที่ดูดีมีสไตล์ นอกจากนี้ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย น่าสนใจอย่างยิ่งครับ
ขั้นตอนการแปรรูปต้นกล้วยให้เป็นไม้วีเนียร์ :
เห็นไหมละครับว่าเริ่มมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าเราสามารถสร้างสรรค์มันออกมาได้ กำลังถูกพัฒนาขึ้นอยู่ทุกวัน ทำให้เห็นแล้วว่า มนุษย์เราสามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ได้จนสำเร็จจริงๆ เพียงแต่เราต้องไม่หยุดที่จะคิด และไม่หยุดที่จะเรียนรู้กับอะไรรอบตัวใหม่ๆ ไม่แน่ว่าวันหนึ่งเราอาจจะเป็นบุคคลต้นแบบที่คิดนวัตกรรมล้ำๆ แบบนี้ก็เป็นได้ครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก
buildernews.in.th
archkmitlalumni.com
archdaily.com
iaac.net
inhabitat.com