เมื่อพูดถึงงานประกาศรางวัล The American Architecture Prize แล้ว อดทึ่งไปกับจำนวนผลงานสถาปัตยกรรมที่ถูกส่งเข้าประกวดในทุกๆ ปีไม่ได้เลย ในปีนี้ก็เช่นกันที่นักออกแบบทั้งหลายต่างนำผลงานออกมาสร้างสีสันและความฮือฮาให้กับงานประกวด เพราะมีผลงานมากมายที่มีไอเดียเด็ดๆ แถมยังสวยงามโดดเด่นสูสีกันไปหมด ในบทความนี้เราจึงรวบรวมสุดยอดสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจบางส่วนซึ่งได้รับรางวัลในปี 2017 จากหลากสาขา และอาจจะกลายเป็นเทรนด์ของงานสถาปัตย์ในอนาคตให้ชมกันค่ะ
1. HENGQIN INTERNATIONAL FINANCIAL CENTER (ประเทศจีน)
cr. architectureprize.com
Prize: Winner in Architectural Design
Location: เมืองจูไห่ ประเทศจีน
Lead Designer: Aedas
ด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจีนในปี 2011 ทำให้เกาะเฮงชิน (Hengqin) เขตเศรษฐกิจใหม่ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองจูไห่ มณฑลกวางตุ้ง กลายเป็นแหล่งเศรษฐกิจอีกแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวและนักลงทุนกำลังให้ความสนใจ ตึกสูงเทียมฟ้าที่ตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางทิวทัศน์ของเมือง ทะเล และภูเขาแห่งนี้ จึงถูกวางไว้ให้เป็นศูนย์กลางของย่านธุรกิจที่กำลังเติบโตขึ้นในอนาคต ซึ่งจะเชื่อมต่อฮ่องกง จูไห่ และมาเก๊าเข้าด้วยกัน
แนวคิดของการออกแบบตึกนี้ คือการผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมเข้ากับรูปร่างของสถาปัตยกรรม โดยการนำมังกร 9 ตัว ที่โผล่ขึ้นเหนือท้องทะเล จากภาพเขียนในยุคราชวงศ์ซ่งใต้มาใช้เป็นสัญลักษณ์ ตามความคติของชาวจีนที่เชื่อว่ามังกรสื่อถึงชีวิตใหม่ การก้าวข้ามขีดจำกัด ความเจริญ และความเป็นนิรันดร์ ตึกนี้จึงเป็นตัวอย่างของการออกแบบสไตล์ จีนร่วมสมัยที่สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญก้าวหน้าของประเทศจีนได้เป็นอย่างดี โดยคาดการณ์ว่าในปี 2020 ที่ตึกนี้สร้างสำเร็จ จะทำให้ย่านธุรกิจใหม่แห่งนี้เจริญขึ้นอีกหลายเท่าตัว
cr. architectureprize.com
2. CRAB HOUSES (ประเทศโปแลนด์)
cr. architectureprize.com
Prize: Winner in Architectural Design / Other Architecture
Location: เมืองวรอตสวัฟ ประเทศโปแลนด์
Lead Designer: Dagmara Oliwa
เหนือที่ราบลุ่มไซลีเซียบนภูเขา Wieżyca ประเทศโปแลนด์ อาคารรูปร่างสะดุดตาที่ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากปูที่กำลังเดินอยู่บนทะเลผืนหญ้า ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นศูนย์การวิจัยด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีแผนจะนำเหล่านักวิทยาศาสตร์และศิลปินที่อาศัยอยู่ในเมืองมาทำงานร่วมกัน เพื่อหาวิธีที่จะช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับเมือง อาคารทั้งสามจึงแบ่งออกเป็นห้องประชุมเชิงปฏิบัติการกับห้องปฏิบัติการวิจัย และที่พักอาศัยสำหรับให้ผู้คนในเมืองแวะเวียนกันมาร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อป โดยที่อาคารจะเปิดไฟส่องสว่างตลอดทั้งคืน ทำให้ดูเหมือนหิ้งห้อยที่บินไปมาอยู่เหนือเมือง อาคารไฮเทคที่ตั้งอยู่ท่ามกลางแมกไม้นี้ เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงความเป็นเมืองเข้ากับสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติได้อย่างสอดคล้องกัน
cr. architectureprize.com
3. RIBBON CHAPEL (ประเทศญี่ปุ่น)
cr. archdaily.com
Prize: Winner in Architectural Design / Small Architecture
Location: เมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น
Lead Designer: Hiroshi Nakamura & NAP
โบสถ์รูปทรงก้นหอยแห่งนี้ตั้งอยู่ในสวนของรีสอร์ท BellaVista SPA & MARINA ONOMICHI ในเมืองโอโนะมิจิ (Onomichi) จ.ฮิโรชิม่า บนกึ่งกลางของเนินเขาเขียวชอุ่ม ที่เมื่อมองออกไปจะเห็นทัศนียภาพอันสวยงามของทะเลได้อย่างสุดลูกหูลูกตา โดยส่วนใหญ่แล้วโบสถ์หลังนี้มักถูกใช้ประกอบพิธีแต่งงานของคู่บ่าวสาว เพราะรูปทรงของอาคารที่เหมือนกับเส้นริบบิ้นผูกเกี่ยวกันไปมานี้ เหมือนแทนความหมายถึงการประคับประคองและช่วยกันอุ้มชู่ชีวิตคู่
นอกจากเรื่องของรูปทรงแล้ว จุดสำคัญที่เป็นกิมมิคหลังของโบสถ์หลังนี้ คือ การออกแบบบันไดวนแยกกันเป็นสองผั่ง โดยที่บาทหลวงจะให้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวค่อยๆ เริ่มเดินขึ้นจากคนละฝั่ง เฝ้ารอการพบกันขณะเดินชมทิวทัศน์ไปตามทางบันไดวนที่สุดท้ายจะถูกเชื่อมต่อกันเป็นเส้นเดียว ทำให้ทางเดินของทั้งสองบรรจบกันที่ด้านบนสุด ซึ่งเป็นจุดชมวิวบนยอดของอาคาร โบสถ์แห่งนี้จึงรวมทั้งความคิดสร้างสรรค์และโรแมนติกชวนฝันได้อย่างอบอุ่น น่าประทับใจ แถมการตกแต่งภายในยังสวยงามเพราะใช้เป็นเก้าอี้ไม้ที่เข้ากับบรรยากาศของธรรมชาติโดยรอบได้อย่างดี และเมื่อมองจากใจกลางโบสถ์ขึ้นมาจะเห็นบันไดที่ขดเป็นรูปก้นหอยไล่ระดับขึ้นไปด้านบนอย่างลงตัว
cr. architectureprize.com
4. THE WEDGE (ประเทศนอร์เวย์)
cr. dezeen.com
Prize: Winner in Architectural Design / Commercial Architecture
Location: เมืองออสโล ประเทศนอร์เวย์
Lead Designer: A-lab
The Wedge เป็นอาคารสำนักงานสูง 11 ชั้น ที่ตั้งอยู่ในเมืองออสโล ประเทศนอร์เวย์ ความพิเศษของอาคารแห่งนี้คือ มีความกว้างเพียงแค่ 5-10 เมตร แต่ในทุกๆ ชั้นของบริเวณผนังฝั่งตะวันออก จะมีห้องที่ใช้เป็นห้องประชุมยื่นออกมาจากตัวอาคารเป็นการช่วยประหยัดพื้นที่ภายใน สำหรับให้พนักงานจากบริษัทเล็กๆ เข้ามาใช้พื้นที่ร่วมกันอย่างคล่องแคล่วลงตัว
นอกจากนี้บันไดที่ออกแบบให้เป็นทางซิกแซ็กตามแนวตึก ตัดขวางระหว่างห้องต่างๆ ที่ยื่นออกมาด้านนอกยังเสริมให้ตึกอิฐสีแดงนี้ดูโดดเด่นและมีชีวิตชีวา หน้าต่างของแต่ละห้องสูงจรดเพดานทำให้มองเห็นทัศนียภาพของเนินเขาและอ่าว Bjørvika ได้ชัดเจน แม้อาคารจะตั้งอยู่กลางเมืองออสโล ส่วนการตกแต่งภายในก็เป็นไปอย่างเรียบง่ายด้วยพื้นไม้และกำแพงสีขาว ทั้งนี้กระจกใสยังทำให้อาคารได้รับแสงจากธรรมชาติอย่างเต็มที่ตลอดวัน การทำงานจึงเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความผ่อนคลาย
cr. architectureprize.com, dezeen.com
5. BAHÁ’Í TEMPLE OF SOUTH AMERICA (ประเทศชิลี)
cr. designboom.com
Prize: Winner in Architectural Design / Cultural Architecture
Location: เมืองซันติอาโก ประเทศชิลี
Lead Designer: Siamak Hariri
บริเวณเชิงเขาที่เงียบสงบ ติดกับเมืองซันติอาโก ประเทศชิลี เป็นที่ตั้งของวิหารบาไฮ (Bahá’í) ศาสนสถานที่งดงามที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ อาคารแห่งนี้มีลักษณะเป็นทรงโดมที่มีโครงสร้างด้านในเป็นเหล็ก ครอบด้วยหินอ่อนสลับกับหน้าต่างกระจก ที่จะสะท้อนแสงไฟจากภายในออกมากลมกลืนกับทิวทัศน์ของเทือกเขาในเวลากลางคืน และมีแสงอาทิตย์ส่องเข้าภายในโดมในเวลากลางวัน นอกจากนี้ยังสามารบรรจุคนได้ถึง 600 คน และมีการตกแต่งภายในอย่างงดงาม
เพราะจุดประสงค์ในการสร้างวิหารแห่งนี้ ไม่ใช่แค่คาดหวังให้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอย่างวิหารอื่นๆ แต่ต้องการให้อาคารมีบรรยากาศที่พร้อมจะต้อนรับผู้คนต่างศาสนา ต่างศรัทธา ต่างวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นนอกจากจะเป็นวิหารแล้ว ที่แห่งนี้จึงเป็นเสมือนอนุสาวรีย์แห่งความเงียบสงบที่เปิดให้ทุกคนๆ เข้ามาเยี่ยมชมอยู่เสมอ
cr. architectureprize.com
6. TECHNOLOGICAL PARK (ประเทศโปรตุเกส)
cr. archdaily.com
Prize: Winner in Architectural Design / Misc. Architecture
Location: เมืองโอบิโดส ประเทศโปรตุเกส
Lead Designer: Jorge Mealha
สิ่งก่อสร้างทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีช่องโหว่ตรงกลางเหมือนกับกรอบรูปอันใหญ่แห่งนี้ คือ ลานสาธารณะสำหรับให้ชาวเมืองใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน แต่แทนที่จะสร้างเป็นลานจัตุรัสธรรมดาๆ อย่างเดิม กลับออกแบบให้เป็นลานกิจกรรมบนเนินหญ้า ที่ล้อมรอบด้วยทางเดินยาวซึ่งตีกรอบเป็นทรงเลขาคณิตที่มีเอกลักษณ์และดูน่าสนใจแทน นอกจากนี้ที่ชั้นล่างสุดใต้กรอบทางเดิน ยังมีพื้นที่ที่แบ่งเป็นห้องประชุม ห้องเอนกประสงค์ และร้านค้าเล็กๆ อีกด้วย
สถานที่นี้ตั้งอยู่บริเวณชานเมืองของเมืองโอบิโดส ประเทศโปรตุเกส ซึ่งไม่ไกลจากตัวเมืองหลวงอย่างลิสบอนเท่าไหร่และยังคงความสมดุลของธรรมชาติกับพื้นที่เกษตรกรรมไว้ได้เป็นอย่างดี ทางเดินกรอบสี่เหลี่ยมจึงสร้างขึ้นโดยใช้ Landscape เป็นตัวกำหนดรูปทรง โดยที่พยายามเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ที่แห่งนี้จึงกลมกลืนเข้ากับภูมิทัศน์โดยรอบได้เป็นอย่างดี
cr. architectureprize.com
7. THE GUGGENHEIM MUSEUM HELSINKI (ประเทศฟินแลนด์)
cr. architectureprize.com
Prize: Winner in Architectural Design / Cultural Architecture
Location: เมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์
Lead Designer: John Myefski
หลายคนคงจะเคยตื่นตาตื่นใจกับพิพิธภัณฑ์ของมูลนิธิโซโลมอน อาร์. กุกเกนไฮม์ (Solomon R. Guggenheim Foundation) อย่างพิพิธภัณฑ์สาขานิวยอร์กจากฝีมือของยอดสถาปิก แฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ และพิพิธภัณฑ์ในเมืองบิลบาโอ ประเทศสเปน ซึ่งเป็นผลงานของแฟรงก์ แกรี่ มาแล้ว โดยล่าสุดพิพิธภัณฑ์สาขาใหม่ของมูลนิธิ กำลังจะถูกสร้างขึ้นที่เมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งยังคงความยิ่งใหญ่ไว้อย่างไม่ทิ้งลายเดิม
อาคารยังแบ่งส่วนที่จัดแสดงออกเป็นหลายส่วน ให้สามารถเลือกชมได้ตามใจชอบ เมื่อเดินขึ้นไปบนเนินหญ้าด้านบน จะเห็นการจัดแสดงด้านในได้ทั้งหมดจากด้านนอก นอกจากนี้หากหันหลังกลับมายังได้พบกับทิวทัศน์ของผืนทะเลและเมืองเฮลซิงกิ เป็นการบอกเล่าประวัติศาสตร์ของเมืองไปพร้อมๆ กับความล้ำสมัยของพิพิธภัณฑ์ ผู้มาเยี่ยมชมจึงได้สัมผัสกับความสวยงามของสถาปัตยกรรมภายนอก การตกแต่งภายใน และทิวทัศน์จากธรรมชาติได้ในขณะเดียวกัน
การออกแบบพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภูมิประเทศทรงผืนผ้าของชนบทในประเทศฟินแลนด์ รูปทรงของเนินหญ้าด้านหน้าอาคารจึงเป็นเหมือนผ้าทอที่ไหลไปตามที่ราบและเขา เข้ากับแนวคิดที่ต้องการนำความงามจากธรรมชาติเข้ามาสู่ย่านใจกลางเมือง และยังสะท้อนถึงวัฒนธรรมอันเสรีของเมืองเฮลซิงกิด้วยพื้นที่อิสระที่เปิดกว้างต่อทุกจินตนาการ
cr. architectureprize.com , architectureprize.com
แต่ละผลงานมีความเป็นเอกลักษณ์และสร้างสรรค์ไม่แพ้กันเลยใช่ไหมคะ หากอยากเห็นผลงานที่ได้รับรางวัลทั้งหมด 79 แห่ง ลองเข้าไปชมที่เว็บไซต์ของงานประกวดได้เลยค่ะ
ดูเหมือนว่าเทรนด์การผสมผสานธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรมให้เข้ากับงานสถาปัตยกรรมกำลังเป็นที่นิยมเลยนะคะ นับว่าเป็นเรื่องราวดีๆ ที่เราสามารถก้าวไปข้างหน้าได้โดยไม่ละทิ้งคุณค่าของสิ่งเดิม น่าชื่นชมนักออกแบบทุกคนจริงๆ ค่ะ