ว่ากันด้วยเรื่อง “ศิลปะ” นั่น ช่างมีหลากความหมาย หลายที่มาเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นศิลปะที่เกิดขึ้นมาใหม่ หรือถูกสร้างสรรค์และผสมผสานกันขึ้นมาจากหลายๆ วัฒนธรรม แต่ในขบวนการที่แตกต่างกันนั้นยังมีสิ่งที่เหมือนกันคือ “ความงาม” และเสน่ห์ที่สื่ออกมาผ่านศิลปะของแต่ละวัฒนธรรม
หนึ่งในเมืองที่ขึ้นชื่อในเรื่องของศิลปะต้องยกให้ “ภูฏาน” ที่ถึงแม้จะเป็นประเทศเล็กๆ แต่ร่ำรวยไปด้วยศิลปะที่หลากหลายและเต็มไปด้วยเอกลักษณ์ชวนน่าค้นหาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ถึงแม้ว่า “ภูฏาน” จะได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปวัฒนธรรมมาจากจีนและทิเบตเป็นส่วนใหญ่ แต่ประเทศเล็กๆ แห่งนี้สามารถหลอมรวม “ศิลปะและวัฒนธรรม” เฉพาะของพวกเขา จนกลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญที่ไม่เหมือนใคร
โดยลักษณะเด่นของงานศิลปะแบบ “ภูฏาน” มีดังนี้
-
ชิ้นงานศิลปะใดๆ นั้นจะไม่ปรากฎชื่อศิลปินว่าผู้สร้างสรรค์ผลงาน
-
ศิลปะเป็นงานศาสนาศิลป์ ผลงานศิลปะของภูฏานมักสอดคล้องและเชื่อมโยงกับเรื่องราวของศาสนา
-
ความงามในศิลปะเชิงสุนทรีไม่ใช่เป้าหมายหลัก เพราะชาวภูฏานถือว่าภาพวาดกับรูปปั้นเป็นงานทางศาสนาไม่ใช่งานศิลปะ
จากหนังสือ “ศิลปะภูฎาน” โดยปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล ได้ให้คำนิยามไว้ว่า ““ศิลปะภูฎาน” นับเป็นศิลปะตะวันออกกลุ่มศิลปะหิมาลัย (Himarayan art) การเข้าใจภูฎานอย่างถ่องเเท้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทราบถึงรากเเห่งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศิลปะ เเละศาสนา เพราะเรื่องราวของศิลปะภูฎานมีความผูกพันอย่างเเนบเเน่นต่อความศรัทธาในพระพุทธศาสนานิกายวัชรยาน”
ฉะนั้นเราจึงเห็นได้ว่าสถานที่ต่างๆ ในภูฏาน จะเต็มไปด้วยศิลปะที่สอดแทรกศาสนาเข้าไว้ด้วยเสมอ
ผลงานด้านศิลปะ
ภาษาวรรณคดีและงานศิลปะประเภทต่างๆ ของภูฏาน เช่น งานหัตถกรรม สถาปัตยกรรม และภาพจิตรกรรมต่างๆ ที่เป็นภาพเขียนสีหรือผ้าปัก ล้วนเป็นภาพพุทธประวัติและภาพพุทธศิลป์ ซึ่งมักเป็นภาพที่มีขนาดใหญ่ ทำมาจากผ้าซึ่งเรียกว่า ทังกา (เหมือนทังก้าของทิเบต) นับเป็นงานศิลปะที่ถูกถ่ายทอดออกมาเพื่อต้องการสะท้อนคำสอนในพระพุทธศาสนา ภาพที่เกี่ยวกับนรกสวรรค์ และภาพปริศนาธรรม พระลามะภาพต่างๆ ที่กล่าวมานั้นมักไม่มีการลงชื่อแสดงความเป็นเจ้าของเลย โดยเชื่อว่าผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะเขียนภาพเผยแพร่ธรรมะเป็นการปฏิบัติธรรมเท่านั้น ไม่ได้หวังเครดิตหรือชื่อเสียงใดๆ แม้ว่าภาพเขียนเก่าแก่บางแห่งจะสวยงามเป็นที่เลื่องลือมากก็ตาม
งานจิตรกรรม
สำหรับงานจิตรกรรมในประเทศภูฏาน สามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภทหลักๆ คือ การเขียนลายประดับรูปประติมากรรม การเขียนภาพจิตกรรมฝาผนัง และการเขียนภาพพระบฎ หรือ ทังกา
1.การเขียนลายประดับรูปประติมากรรมที่ทำมาจากดินเหนียว จะทำการเขียนลายลงสีทั่วทั้งองค์ ตรงกันข้ามกับรูปประติมากรรมที่ทำจากโลหะ ที่จะลงลายเฉพาะในส่วนพระพักตร์ โดยวาดพระขนงหรือพระมัสสุเส้นบางๆ ไว้ และตวัดปลายให้เฉียงขึ้นเล็กน้อยเท่านั้นเอง
2.การเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังของประเทศภูฏานนั้น จะเริ่มต้นด้วยการนำดินมาฉาบผนังไว้ชั้นหนึ่ง ปล่อยให้แห้งแล้วขัดผิวให้เรียบ จากนั้นจึงเขียนลายและลงสีลงไป ทางด้านเทคนิคที่นิยมกันอย่างมากในภูฏาน คือ ช่างจะเขียนภาพลงบนผืนผ้าให้เสร็จเรียบร้อยก่อนนำไปติดผนัง ผ้าที่ใช้ต้องเป็นผ้าชั้นดีเนื้อเรียบ โดยช่างจะฉาบติดทับผนัง แล้วนำผ้ามาบรรจงติดให้เป็นเนื้อเดียวกันที่มองไม่ออก จากนั้นช่างจะใช้แป้งเปียกชนิดหนึ่ง (ใช้แป้งผสมกับพริกไทยป่น) ฉาบทับเพื่อป้องกันไม่ให้แมลงมากินผ้า
3.การเขียนภาพพระบฎ หรือที่หลายๆ คนรู้จักว่า “ทังกา” ภาพพระบฎมักจะพบเห็นได้ตามวัดหรือซอง โดยภาพเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาออกแสดงให้ชมกันตลอดเวลา แต่จะม้วนเก็บรักษาเอาไว้ในหีบและจะนำออกมาแขวนให้ผู้คนได้สักการะบูชากันเฉพาะในช่วงเทศกาลเท่านั้น
ประติมากรรม
งานประติมากรรมของภูฏานนิยมแกะสลักอักษรไว้บนกำแพงหินหรือบนหน้าผา บนแผ่นหินมักปรากฎภาพเทพเจ้าและบุคคลในศาสนาจำหลักเอาไว้อย่างปราณีตและวิจิตรบรรจง โดยภาพจำหลักที่งามที่สุดจะพบเห็นได้ที่ป้อมซิมโตคา ซึ่งแต่ละภาพมีจารึกคำบรรยายบอกเล่าว่าเป็นเทพองค์ใด ถือเป็นขุมคลังความรู้อันประเมินค่ามิได้ในการศึกษาลักษณะทางประติมาณิวทยาของเหล่าเทพเจ้าของชาวภูฏาน
สถาปัตยกรรม
ประเทศภูฏานมีงานสถาปัตยกรรมหลากหลายประเภท ได้แก่ ซอร์เตน (สถูปเจดีย์) ฮาคัง (วัด) กมปา (อาราม) ซอง (ป้อม) ไปจนถึงบ้านเรือนแบบภูฏาน ซึ่งประกอบกันเป็นภูมิทัศน์อันโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของภูฏาน
สถาปัตยกรรมภูฏานจะมีองค์ประกอบเป็นไม้เป็นส่วนใหญ่ การเข้ากรอบประตูหน้าต่างเป็นงานที่ซับซ้อนยุ่งยาก ต้องประกอบส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันก่อนแล้วจึงค่อยนำไปติดเข้ากับผนังในภายหลัง
หน้าต่างแบบภูฏานมีเอกลักษณ์อยู่ที่กรอบ และขื่อบนซึ่งมีความหมายเชิงสัญลักษณ์อยู่ในทุกส่วนและมีการวาดดอกไม้หรือลายเรขาคณิตประดับด้วยสีสันอันสดใสอีกด้วย
ศิลปะเครื่องแต่งกาย
ชุดประจำชาติภูฏานของฝ่ายชายเรียกว่า โก (Kho หรือ Go) ส่วนชุดของฝ่ายหญิงเรียกว่า คีร่า (Kira) สำหรับชุดประจำชาติของชาวภูฏาน (ผู้ชาย) ที่สวมใส่ไปในงานพระราชพิธีหรือในงานพิธีที่เป็นทางการยังประกอบด้วย ผ้าพาดไหล่ (Scarf) ที่ภาษาภูฏานเรียกว่า แกบเน (Kabney) ซึ่งมีอยู่หลายสี แต่ละสีบอกชั้นยศและฐานันดรศักดิ์ของผู้ใช้ผ้าพาดไหล่นั้น ด้วย เช่น สีเหลืองอมส้ม (Saffron) เป็นสีที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์กับสมาชิกในพระราชวงศ์และพระสังฆราช (เจเคนโป) สีส้มสำหรับรัฐมนตรี สีน้ำเงินสำหรับองคมนตรี สีแดงสำหรับผู้มีบรรดาศักดิ์ที่พระราชาธิบดีทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง สีขาวลายเส้นสีน้ำเงิน สำหรับสมาชิกรัฐสภา สีขาวลายเส้นสีแดงสำหรับหัวหน้าหมู่บ้านและข้าราชการทั่วไป ทหารนั้นใช้ผ้าผืนเล็กสีขาวขลิบริมสีแดง และสีขาวสำหรับประชาชนธรรมดา
ทางด้านศิลปะการทอผ้านั้น ผู้หญิงภูฏานมักจะทอผ้าอยู่กับบ้าน โดยเฉพาะชาวบ้านแถบภาคกลาง และตะวันออก ซึ่งมีชื่อเสียงกว่าภาคใดๆ เป็นฝีมือการทอแบบเอกลักษณ์ของถิ่นตัวเอง หูกทอผ้าของภูฏานมีทั้งหมด 4 แบบ
1.หูกแนบราบมีที่เหยียบ
2.หูกแนวตั้งมีด้ายเส้นพื้นพาดเป็นแถวเรียงต่อกัน
3.หูกกรอบเล็ก(ใช้สำหรับทำเข็มขัดเท่านั้น)
4.หูกแนวนอนมีด้ายเส้นพื้นพาดเป็นม่านอยู่ส่วนหลัง
หูก ประเภทหลังนี้มีแต่ชาว รายา แถบตอนเหนือเท่านั้นที่ใช้กัน เส้นใยที่ใช้ท่อมีทั้งฝ้าย ขนสัตว์ ไหม (ทั้งไหมดิบและไหมสำเร็จรูป) ขนจามรี และใยต้นเน็ตเทิล (สมัยก่อนใช้ทำเสื้อผ้าด้วย แต่ทุกวันนี้ใช้ทอเป็นถุงย่ามอย่างเดียว มีเนื้อเหนียวทนทานมาก)
ศิลปะแบบภูฏาน งดงามเป็นเอกลักษณ์ไม่แพ้ใครเลย ถือเป็นประเทศเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์อันน่าหลงใหลชวนให้อยากสัมผัสด้วยตัวเองจริงๆ เลยค่ะ
รูปภาพประกอบจาก pinterest