Biophilia design

     ในยุคที่คนเมืองใหญ่โหยหาความเรียบง่ายของธรรมชาติ ในขณะที่ตึกสูงและเสาไฟฟ้ามีมากกว่าต้นไม้  พื้นที่สีเขียวหรือ Green Space จึงกลายเป็นเหมือนโอเอซิสเล็กๆ ในป่าคอนกรีตที่เต็มไปด้วยตึกสูงระฟ้า  ทำให้สภาพอากาศบนโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงและแปรปรวนจากการขาดหายของธรรมชาติ

     และเมื่อภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้มนุษย์อย่างเราๆ  รู้สึกตื่นตัว และกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงผลกระทบจากการใช้ชีวิตของมนุษย์มากขึ้น ดังที่จะเห็นได้ชัดจากการสร้างนวัตกรรมและเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่เราใช้เพื่อผลิตสิ่งต่างๆ ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  จึงเกิดการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ ตามอาคาร หรือบ้านพักที่อยู่อาศัย   การมีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเกิดขึ้น   หรือแม้กระทั่งการออกแบบอาคาร  ที่จะเห็นการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อทำให้อาคารประหยัดพลังงาน ใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากขึ้น   ถือเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

     แนวคิดของการออกแบบที่สอดคล้องกับธรรมชาตินั้นมีหลากหลาย  แต่บทความนี้จะขอนำเสนอแนวคิดของ Biophilic Design ที่หมายถึง การออกแบบที่ผสานเข้ากับชีวิตอื่น ๆ ซึ่งชีวิตในที่นี้ก็คือสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ ทั้งพืช สัตว์ และจุลชีพอีกมากมายครับ

     คำว่า Biophilic นั้น มาจากรากศัพท์ภาษากรีกคำว่า Bios ที่หมายถึง “ชีวิต” หรือเกี่ยวข้องกับชีวิต มาผสมกับคำว่า Philic ที่มาจากคำภาษากรีกเช่นกัน คือ Phila ที่หมายถึงความรักในลักษณะฉันมิตรหรือเท่าเทียม “Affectionate, Regard, Friendship” Usually “between equals.” หรืออีกนัยหนึ่งคือ “กัลยาณมิตร”  และหากแปลตรงๆ แบบง่ายๆ Biophilia ก็หมายถึงความรักในชีวิต หรือ “love of life” นั่นเองครับ

     แนวคิดของ Biophilic Design เริ่มต้นจาก Edward Osborne Wilson นักชีววิทยาชาวสหรัฐฯ ที่ได้นำเสนอคำว่า Biophilia ในหนังสือชื่อเดียวกันนี้เองที่ออกจำหน่ายตั้งแต่ปีค.ศ. 1984 โดยนิยามคำว่า Biophilia ไว้ว่า ความต้องการที่จะเชื่อมโยงกับชีวิตอื่น ๆ (The Urge to Affiliate with Other Forms of Life) ซึ่งเป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตนั่นเอง และการที่สิ่งมีชีวิตทั้งหมดเป็นผลผลิตของธรรมชาติ ก็จะมีความเชื่อมโยงเข้าหากันอย่างเป็นธรรมชาติไปด้วย

     และเมื่อเรานำเอาแนวคิด Biophilia เข้ามาผสานกับการออกแบบสถาปัตยกรรม คำนิยามของ Biophilic Design จึงไม่ใช่แค่การออกแบบให้เข้ากับธรรมชาติ หรือการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม แต่เป็นแนวทางของการออกแบบโดยสอดประสานวิถีชีวิตของคนที่ใช้อาคาร ไม่ว่าจะอยู่อาศัย ทำงานหรือเรียน เชื่อมโยงคนให้เป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติ โดยมองธรรมชาติเป็นศูนย์กลางของสถาปัตยกรรม

     เราจะสร้าง Biophilic Design อย่างไร?  วันนี้บียอนมี  14 PATTERNS OF BIOPHILIC DESIGN  มาให้เพื่อนๆ ชาวบาริโอได้ทำความรู้จักกันครับ

     14 PATTERNS OF BIOPHILIC DESIGN แบ่งเป็น 3 หัวข้อใหญ่ ได้แก่ Nature in the Space, Natural Analogues, Nature of the Space

Nature in the Space

     สร้างสัมผัสความรู้สึกโดยตรงกับธรรมชาติภายในพื้นที่อาคาร โดยสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติหรือสามารถจับต้องได้ จากธรรมชาติที่เราสร้างขึ้น   โดยมีองค์ประกอบต่างๆ อาทิ ต้นไม้ น้ำ การไหลเวียนของอากาศจากธรรมชาติหรือลมเสียงและกลิ่น  เป็นการเชื่อมต่อโดยตรงกับองค์ประกอบทางธรรมชาติครับ

1.เชื่อมต่อกับธรรมชาติโดยตรง – เชื่อมต่อกับธรรมชาติด้วยการตกแต่งที่กระตุ้นการมองเห็นต่อองค์ประกอบของธรรมชาติที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เช่นหน้าต่างที่มีสวนสีเขียวดูผ่อนคลายอยู่ภายนอก หรือ ท้องทะเลสีฟ้าที่สร้างความสบายใจได้ทุกครั้งที่หันมอง หรือจะเป็นการตกแต่งที่เล็กลงมา อาทิ สวนลาน ผนังสีเขียว และหลังคาสีเขียวครับ

2.เชื่อมต่อกับธรรมชาติทางอ้อม – เป็นการปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติในรูปแบบของความรู้สึก เช่น กลิ่นความสดชื่นของต้นไม้ดอกไม้ขององค์ประกอบที่นำมาตกแต่งภายใน เสียงของน้ำที่ถูกส่งผ่านสร้างความรู้สึกเย็นสบายเมื่อได้ยิน เป็นต้น

3.การออกแบบล้อธรรมชาติ – เป็นการจำลองการตกแต่งตัวอาคารที่ทำให้ทุกพื้นที่ได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติได้อย่างต่อเนื่อง เช่น การสร้างผนังภายในอาคารให้เป็นคลื่นน้ำทะเลที่อ่อนไหว เป็นต้น

4.อุณหภูมิของธรรมชาติ – เป็นการงดใช้เครื่องปรับอากาศใดๆ ในบางพื้นที่ เพื่อให้เราได้สัมผัสกับอากาศแบบธรรมชาติจริงๆ เช่น ลม ความร้อน ความเย็นและความชื้น

5.น้ำ – น้ำถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของธรรมชาติ การนำน้ำเข้ามาเชื่อมโยงภายในอาคาร ถือเป็นการสร้างความผ่อนคลายอีกอย่างหนึ่ง ที่นอกจากจะบำบัดด้วยการมองเห็นแล้ว น้ำยังสามารถเป็นเสียงบำบัดที่ดีอีกด้วยครับ

6.กระจายแสงเลียนแบบธรรมชาติ – ใช้แสงและเงาอย่างชาญฉลาด เพื่อเลียนแบบสภาวะแสง หรือกระบวนการที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ

7.การเชื่อมต่อกับระบบธรรมชาติ– ฤดูกาลและการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในวงจรชีวิตของธรรมชาติเป็นการตกแต่งภายนอกอาคาร ให้เป็นที่ทำงานกลางแจ้ง อาจจะเป็นสวนบนชั้นดาดฟ้า ทั้งนี้อาจต้องมีการเลือกใช้วัสดุภายนอกที่เข้ากับสภาพอากาศของแต่ละพื้นที่ และปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามฤดูกาล

Natural Analogues

     เป็นการนำองค์ประกอบที่มีการเชื่อมต่อทางอ้อมกับธรรมชาติ มาสร้างความรู้สึกให้กับสมอง ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้สึกเช่นเดียวกันกับความเป็นอยู่ของธรรมชาติในโลก โดยเลียนแบบรายละเอียดปลีกย่อยของธรรมชาติ ด้วยสิ่งทอ งานศิลปะ แสง รูปร่างหรือรูปแบบที่คุณสามารถสร้างการเชื่อมต่อของมนุษย์แบบชีวภาพใหม่ๆ

8.รูปแบบทางชีววิทยา – การแสดงสัญลักษณ์ภายในการออกแบบ อาทิ รูปร่าง ลวดลายพื้นผิวที่มีอยู่ในธรรมชาติเข้ามาผสมผสาน

9.วัสดุเชื่อมต่อกับธรรมชาติ – วัสดุที่ใช้จะเป็นสิ่งของที่มาจากธรรมชาติ โดยถูกปรุงแต่งหรือดัดแปลงน้อยที่สุด เพื่อสะท้อนถึงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ชัดเจน เพื่อสร้างความรู้สึกแห่งโลกธรรมชาติ

10.รูปทรงจากธรรมชาติ – ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เรามองเห็นได้รอบๆ ตัวเรา มีรูปร่างแตกต่างกันไป โดยการนำลักษณะทรงเลขาคณิตทางธรรมชาติ มาช่วยดึงดูดประสาทสัมผัสทางการมองเห็น ทำให้เกิดความเชื่องโยงกับธรรมชาติได้ดียิ่งขึ้นครับ

Nature of the Space

     พื้นที่ธรรมชาติภายนอกที่ถูกนำมาผสมผสานกับการตกแต่ง ที่ถูกฉีกกฎเดิมๆ และนำมาซึ่งการตกแต่งที่ท้าทายและดูสนุกสนาน  ทำให้เกิดแรงกระตุ้นของผู้คนที่อยู่ภายในอาคาร สร้างความน่าสนใจและสร้างความกระตือรือร้นในการทำงานได้เป็นอย่างดี

11.โอกาสทางการมองเห็น – สร้างพื้นที่ภายในอาคารให้เพิ่มโอกาสทางการมองเห็นโดยรอบ โดยไม่ถูกปิดกั้น อาจจะเป็นพื้นที่ส่วนรวมตรงกลาง หรือการออกแบบให้มีหน้าต่างหรือระเบียงขนาดใหญ่

12.มุมสงบ – เราไม่ได้ต้องการแต่พื้นที่เปิดโล่งเท่านั้น ในบางครั้งที่เราต้องการสมาธิ ความสงบก็จะทำให้เราเกิดความคิดที่ลื่นไหลได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นควรตกแต่งภายในอาคารให้มีมุมสงบที่เป็นส่วนตัวเกิดขึ้น เพื่อหลีกหนีจากเสียงที่วุ่นวาย หรือจะเป็นที่พักผ่อนจิตใจระหว่างทำงาน

13.สร้างความตื่นเต้นด้วยความลึกลับ – ธรรมชาติมักมีความลึกลับและซับซ้อนซ่อนอยู่ การออกแบบก็เช่นกัน เปรียบเสมือนเป็นการออกแบบในแต่ละสัดส่วนให้มีความสมบูรณ์แบบโดยไม่รบกวนซึ่งกันและกัน อย่างเช่น ถ้าพื้นที่ทำงานอยู่ภายในชั้นเดียวกัน การจัดพื้นที่ต้อนรับแขกด้านหน้า หรือล็อบบี้ อาจจะต้องออกแบบให้มีความรู้สึกเป็นห้องด้วยการใช้ฉากกั้น หรือการตกแต่งให้เป็นสัดส่วนที่จะไม่รบกวนกับส่วนทำงานด้านในครับ

14.ความสูง – ความสูงบางครั้งถือเป็นความเสี่ยง แต่มนุษย์เราก็มักชอบอะไรที่ท้าทาย การตกแต่งที่นำความสูงเข้ามาใช้ ก็เช่น การออกแบบให้ห้องประชุมเป็นชั้นลอย โดยใช้กระจกเป็นองค์ประกอบที่ทำให้เรารู้สึกถึงความตื่นเต้นและตื่นตัวในการทำงานอยู่เสมอ

ฟาร์มในเมือง ที่สำนักงาน Pasona Group, Japan

     Vertical Garden หรือสวนแนวตั้งอาจเป็นเทรนด์ที่ใช้สำหรับการสร้างพื้นที่สีเขียวตามบ้านหรือสำนักงานหลายๆ แห่ง แต่สำหรับที่นี่ Pasona Group ในโตเกียวก้าวไกลกว่านั้น เพราะไม่ใช่ใช้เพียงพืชพรรณตกแต่ง แต่ยังเป็นการสร้างพืชผลที่สามารถเก็บเกี่ยวเพื่อรับประทานได้ภายในตัวอาคารสี่เหลี่ยมที่มีพื้นที่ อุณหภูมิและสภาพแวดล้อมจำกัด

     Pasona Group มีพื้นที่ฟาร์มจริงๆ ในเมืองโองาตะ แต่ต้องการสร้างแปลงสาธิตเพื่อสร้างความเป็นไปได้ในแนวคิด Urban Farm (การเกษตรในเมือง) เพื่อพัฒนาเกษตรกรรมในยุคที่พืชพันธุ์ท้องถิ่นกำลังเป็นที่นิยม และยังเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับคนว่างงานหรือคนต้องการหาอาชีพเสริม

     ทั้งยังมีเทคโนโลยีในการควบคุมแสงจากหลอด Metal-halide หลอดไฟซึ่งมีกำลังส่องสว่างมากใกล้เคียงกับแสงธรรมชาติ และมีการเสื่อมช้ากว่าหลอดปกติ ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวข้าวที่ปลูกภายในอาคารได้ถึง 3 ครั้งต่อปี น้ำหนัก 50 กิโลกรัมต่อหนึ่งแปลง ซึ่งปกติเก็บได้เพียงแค่ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น

One Central Park, Sydney, Australia

     สวนแนวดิ่งกลางซิดนีย์ ดีไซน์สวยเด่นและเป็นมิตรต่อชุมชน สถาปนิกชื่อดังชาวฝรั่งเศส “ฌอง นูเวล” ออกแบบอาคารอเนกประสงค์ในนครซิดนีย์ สูง 116 เมตร และ 65 เมตร บนฐานรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ซึ่งถือเป็นอาคารชุดที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในเรื่องของการนำการพัฒนาที่ยั่งยืน การจัดการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเอานวัตกรรมมาผสมผสานเข้าด้วยกัน

     งานสถาปัตยกรรม โดดเด่นด้วยการใช้กระจก Heliostat  มาใช้ในงานออกแบบ  ลักษณะอาคารโครงการจะเป็นอาคารที่อยู่อาศัย 2 อาคาร ตั้งอยู่บนโพเดียมเดียวกัน โดยพื้นที่ว่างบนโพเดียมระหว่างอาคารทั้งสองจะเป็นพื้นที่ส่วนกลางมีสระว่ายน้ำ ซึ่งพื้นที่นี้และ Façade อาคารที่อยู่ด้านในจะเป็นจุดอับ แสงแดดเข้าไม่ถึง จึงมีการเอากระจก Heliostat เข้ามาช่วยแก้ปัญหา จะมีกระจกติดตั้งอยู่ที่ดาดฟ้าของอาคาร 12 ชั้น ทำหน้าที่รับแสงแดดและสะท้อนแสงไปให้กระจกที่อาคารสูง 34 ชั้น ให้สะท้อนแสงลงสู่พื้นที่ด้านล่าง กระจกจะมีมอเตอร์หมุนได้และควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อปรับแสงให้เหมาะสม

Credit: https://drivenxdesign.com/SYD14/project.asp?ID=13219

     ทั้ง 14  Patterns ที่กล่าวมานั้นก็ล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนการ ที่จะรักษาธรรมชาติควบคู่ไปกับการออกแบบ  มนุษย์เราเกิดจากธรรมชาติ ก็ถูกแล้วที่จะต้องอาศัยอยู่กับธรรมชาติ แต่ทั้งหมดนี้เราก็ได้เห็นแล้วว่า ต่อให้ยุคสมัยจะมีความ ก้าวหน้าไปมากแค่ไหน  ธรรมชาติก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็น และเรายังต้องการมันอยู่เสมอ จึงได้เกิดการออกแบบที่สร้างสรรค์มากมายขึ้นบนโลกใบนี้ครับ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

terrapinbrightgreen.com

designcurial.com

buildernews.in.th

interface.com

interiorarchitects.com

pinterest.com