Breakfast at tiffany’s
“Audrey Hepburn” หนึ่งในนักแสดงหญิงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของโลก Audrey เคยได้รับรางวัลออสการ์ จากการแสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง Roman Holiday (1953) ซึ่งถือว่าเป็นรางวัลการรันตีผลงานการแสดงที่ทั่วโลกต่างยอมรับ แต่วันนี้เราจะมาพูดถึงภาพยนตร์เรื่อง Breakfast at tiffany’s ที่ถูกสร้างจากนวนิยายขนาดสั้นของ ทรูแมน คาโพที (Truman Capote) นักเขียนชาวอเมริกันซึ่งมีชื่อเสียงในแวดวงวรรณกรรม ที่ต่างเป็นที่จดจำจนถึงทุกวันนี้ ว่ากว่าจะมาเป็น Breakfast at tiffany’s ได้มีที่มาที่ไปอย่างไร และตัวละครอย่าง ฮอลลี โกไลต์ลี เกิดขึ้นและมีความน่าสนใจอย่างไร……
กว่าจะเป็นภาพยนตร์ มื้อเช้าที่ทิฟฟานีส์
ในตอนแรก ทรูแมน คาโพที ตั้งใจขายต้นฉบับ มื้อเช้าที่ทิฟฟานีส์ ให้กับนิตยสารฮาร์เปอร์สบาร์ซาร์ (Harper’s Bazaar) ซึ่งวางแผนจะตีพิมพ์ลงในฉบับเดือนกรกฎาคม ปี 1958 แต่แล้ว The Hearst Corporation บริษัทแม่ของนิตยสาร ฮาร์เปอร์สบาร์ซาร์ ออกคำสั่งให้ทรูแมนปรับเปลี่ยนภาษา ที่ครบรสในเรื่องและปรับเนื้อหาให้ดู ‘เหมาะสม’ ซึ่งทรูแมนก็ได้แต่ปฏิเสธหัวชนฝา เขาไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรในผลงานชิ้นนี้ และหันไปหานิตยสารเอสไควร์ (Esquire) เพื่อขายต้นฉบับนี้แทน
มื้อเช้าที่ทิฟฟานีส์ จึงตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารเอสไควร์ ฉบับเดือนพฤศจิกายน ปี 1958 หน้าปกเป็นรูปพวงองุ่น ผลงานของทรูแมน ความยาวขนาด 30,000 คำชิ้นนี้เป็นเรื่องแต่งที่ยาวที่สุดที่นิตยสารเอสไควร์เคยตีพิมพ์มา และก็ดูเหมือนโชคจะเข้าข้างเอสไควร์ ความนิยมใน มื้อเช้าฯ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นักวิจารณ์มักจะหยิบยกนวนิยายขนาดสั้นเรื่องนี้ขึ้นมาพูดถึง ทำให้เอสไควร์ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ต่อมา สำนักพิมพ์แรมดอม เฮาส์ (Random House) ก็เอาเรื่องสั้นขนาดยาวเรื่องนี้ไปรวมเล่มกับเรื่องสั้นเรื่องอื่นของทรูแมนอีกสามเรื่อง และยังตีพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง
Cr. classic.esquire.com
ในปี 2013 มื้อเช้าที่ทิฟฟานีส์ กลับมาอยู่ในความสนใจของสื่อและนักอ่านอีกครั้ง เมื่อต้นฉบับนวนิยายเล่มนี้ไปตกอยู่ในงานประมูลที่รัฐนิวแฮมเชียร์ เศรษฐีชาวรัสเซีย Igor Sosin ต้นฉบับดังกล่าวเป็นงานที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีด มีร่องรอยลายมือที่ ทรูแมน คาโพที เขียนขีดฆ่า แก้ข้อความ และเพิ่มเติมบันทึกสั้นๆ ด้วยดินสอและปากกาเป็นระยะ สิ่งที่ทรูแมนแก้บ่อยที่สุดก็คือชื่อของนางเอกในเรื่องจาก ‘Connie Gustafson’ เป็น ‘Holly Golightly’ ซึ่งเป็นชื่อที่จดจำได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อตัวบทถูกนำไปเป็นบทภาพยนตร์ ออกฉายในปี 1961 กำกับโดยผู้กำกับชาวอเมริกัน เบลก เอ็ดเวิร์ดส์ (Blake Edwards) ชื่อของ Holly Golightly ก็เป็นที่จดจำ
Breakfast at tiffany’s
ประเภทของภาพยนตร์ถูกจัดไว้ในหมวดคอมเมดี้เบาสมอง แต่เอาเข้าจริงๆ ในความตลกของเรื่องนั้น เป็นตลกที่เศร้าลึกพอสมควร ดูแลก็ชวนให้นึกย้อนมองกลับมาว่าลึกๆแล้วเราอยากเป็นอะไรในความอิสระของตัวเรา เนื้อเรื่องย่อมองไปทางไหนก็เห็น “ฮอลลี่ โกไลท์ลี่” เป็นตัวละครหลัก เป็นสาวรักสนุก คอปาร์ตี้ตัวยง อาศัยอยู่ในนิวยอร์คและเป็นเพื่อนบ้านกับนักเขียนหนุ่มไส้แห้งที่มีเศรษฐีนีเลี้ยงดู จึงทำให้เกิดเรื่องวุ่นวายเกิดขึ้นมาตามมามากมาย
ภาพจำแรกคงหนีไม่พ้นของการ เปิดตัว “ฮอลลี่ โกไลท์ลี่” โดยฮอลลี่ก้าวออกจากรถแท็กซี่บนถนน Fifth Avenue ในชุดสีดำพร้อมประดับด้วยสร้อยมุกหลายเส้น จากนั้นเดินตรงไปยัง Window Display ของร้าน Tiffany & Co. ก่อนจะค่อยๆใช้มือที่ใส่ถุงมือยาวสีดำหยิบครัวซองต์ออกมาทานในขณะที่ชมเพชรในตู้โชว์อย่างปลื้มปริ่มไปด้วย หลายๆคนที่ไม่เคยดูอาจจะสงสัยว่าทำไมถึงต้องมาทาน Breakfast หน้าร้าน tiffany’s ล่ะ ต้องบอกก่อนว่าร้าน tiffany’s ไม่ได้เป็นร้านอาหารแต่ใดๆ แต่มันเป็น “ร้านเพชร”
นางเอกผู้ซึ่งยังไม่ลืมความรักที่มีต่ออดีตสามี ไม่ลืมความจริงใจแสนดีที่เขามีให้เธอกับพี่ชายทุกอย่าง แต่ฮออลี่นั้นคิดว่าตัวเองเหมาะที่จะอยู่อย่างอิสระและชอบใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อ ระเริงกับของหรูหราไม่ว่าเหล้า หรือชมบรรยากาศร้านทิฟฟานี่ ไม่ใช่ชีวิตในบ้านไร่ลำบากยากแค้นนั่นอีกแล้ว ซึ่งการที่ได้มาเยี่ยมชมร้านเพชรในทุก ๆ เช้า คือความสุขอันสูงสุดที่ทำให้หัวใจเธอสงบลงได้
ตัวของภาพยนตร์ไม่ได้จบด้วยความอบอุ่นโรแมนติก หนังเรื่องนี้ให้ข้อคิดที่ว่า ความยากจนกับชีวิตอันขมขื่นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครกล้าพูดเต็มปากว่าอยากเจอ แต่แสวงหาความร่ำรวยชนิดสุดโต่งก็ไม่ใช่คำตอบที่ดีเช่นกัน ถึงแม้ตัวละครฮอลลี่ในภาพยนตร์จะไม่ได้มีชีวิตที่สมบูรณ์แบบ แต่ก็มีบางสิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากตัวละคร ฮอลลี่ นั้นก็คือ การยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อคนที่เธอรักและทำด้วยหัวใจ
หนังเรื่องนี้นอกจากจะทำให้ Audrey Hepburn แจ้งเกิดแบบพลุแตกและเป็นดาวค้างฟ้าแล้ว สิ่งสำคัญของหนังเรื่องนี้อีกอย่างคือ เรื่องของแฟชั่น!! ที่ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไป ก็ไม่ได้ทำให้แฟชั่นในเรื่องนี้ out ตกยุคไปได้เลย แต่กลับทำให้ขึ้นหิ้งเป็นตำนานคลาสสิค ที่มาของคำว่า “little black dress” และแฟชั่นที่สวยคลาสสิคทุกชุดในเรื่องจนเป็นแรงบันดาลใจให้กับ designer หลาย ๆ คน
Givenchy ดีไซนเนอร์คู่ใจที่ออกแบบให้เข้ากับความเป็นเธอและตัวละครมากที่สุด ใส่ความเป็นผู้หญิงปารีเชียงแบบสุดโต่ง พร้อมสร้อยคอไข่มุกจาก Roger Scemama ดีไซนเนอร์เครื่องประดับของ Givenchy เช่นกัน แต่ชุดนี้ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นการออกแบบของ Givenchy ทั้งหมด เพราะแบบร่างแบบแรก นายทุนหนังเกิดไม่ชอบใจเหตุเพราะโชว์ขาอ่อนมากเกินไป ทำให้สุดยอดนักออกแบบเจ้าเก่าอย่าง Edith Head ออกแบบท่อนล่างให้ใหม่ ถึงออกมาอย่างที่เห็นในหนัง และชุดนี้ก็กลายเป็นตำนานของสาวหลายๆคน เพราะถ้าพูดถึง “little black dress” ก็ต้องเป็นชุดนี้เท่านั้น
little black dress
เรื่องราวของ Breakfast at tiffany’s ยังไม่จบแค่ในหนัง สำหรับใครที่วาดฝันอยากรับประทาน Breakfast หน้า ร้าน tiffany’s ก็เกิดขึ้นจริงเมื่อ Tiffany & Co. ทำให้การทานอาหารเช้าที่ร้านเป็นเรื่องที่จับต้องได้ขึ้นมาด้วยการเปิดร้าน Blue Box Café ขึ้นที่ชั้น 4 ร้าน Tiffany & Co. สาขา 727 Fifth Avenue ในนิวยอร์ก โดยคาเฟ่เปิดขึ้นเพื่อเชื้อเชิญให้แฟน ๆ ได้มีโอกาสยิ่งกว่าแม่สาวฮอลลีสามารถมานั่งกินอาหารเช้าจริง ๆ กันได้ โดยมีขนมตามฤดูกาล รวมถึงอาหารเบา ๆ สไตล์นิวยอร์กให้ได้ชิม ขณะชมวิวสวน Central Park ที่อุดมไปด้วยสีเขียวผ่านกรอบหน้าต่างแสนโรแมนติก
ซึ่งทุกพื้นที่ของ Blue Box Cafe แห่งนี้ นอกจากจะเน้นการตกแต่งในแบบคอนเทมโพลารี ดีไซน์ร่วมสมัย ตัดสลับกับวิวเซ็นทรัล พาร์ค นอกหน้าต่าง ภายในยังคงคอนเซปต์การใช้เฉดสีฟ้าอ่อนของแบรนด์ Tiffany & Co. ตั้งแต่ผนังหินอ่อน โซฟา เบาะรองนั่ง ผนังเก้าอี้ ไปจนถึงข้าวของเครื่องใช้ทั้ง จานกระเบื้อง และขวดเกลือ พริกไทย ที่ยังคงให้น้ำหนักค่าสี Tiffany Blue (Pantone 1837) อันเป็นเอกลักษณ์จากท้องมหาสมุทรสีฟ้า ไว้กับความเงาวับของชุดเครื่องเงินบนโต๊ะอาหาร ที่จัดวางอยู่รวมกันได้อย่างลงตัว
น่าเศร้าที่ ออเดรย์ เฮปเบิร์น นางเอกคนงามได้จากโลกนี้ไปเมื่อราว 20 ปีที่แล้ว แต่ถึงอย่างไรก็แล้วบียอนเชื่อว่า ออเดรย์ เฮปเบิร์น จะถูกจดจำในเรื่องการแสดง และเป็นไอคอนตลอดกาลของสาว ๆ ที่คลั่งไคล้แฟชั่นแบบคลาสสิกไปอีกนานแสนนานเลยครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก
storylog.co
thestandard.co
happeningandfriends.com
bookspinebreaker.wordpress.com
themomentum.co
lofficielthailand.com
ellethailand.com