Inspired Architects สถาปนิกผู้เป็นต้นแบบ

      เมื่อพูดถึงไอดอลในดวงใจแล้ว เชื่อว่าใครๆ ก็ต้องมีบุคคลผู้เป็นแบบอย่างที่ยกให้เป็นแรงบันดาลใจ นับถือในผลงานอันเยี่ยมยอด นับถือความสามารถ หรือใช้คติของเขาเพื่อใช้เป็นแรงผลักดันในชีวิต ในแวดวงสถาปัตย์เองก็มีสถาปนิกผู้มากความสามารถและมีผลงานออกแบบที่เป็นตัวอย่างให้กับงานสถาปัตยกรรมยุคต่อๆ มามากมาย ในบทความนี้ เราจึงพาสถาปนิกที่ทรงอิทธิพลในยุคปัจจุบันมาแนะนำทุกคนให้ได้รู้จักกัน ดูสิว่าผลงานที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้พบเห็นจนกลายที่กล่าวขานนั้นจะยิ่งใหญ่และน่าจดจำมากขนาดไหน

      1.  แฟรงค์ ลอยด์ ไรต์ (Frank Lloyd Wright)

 

ที่มารูปภาพ : wikipedia.org

 

      แฟรงค์ ลอยด์ ไรต์ สถาปนิกรางวัลพริตซ์เกอร์สัญชาติแคนาดา-อเมริกา คนสำคัญคนหนึ่งของโลกในศตวรรษที่ 20 ผลงานการออกแบบในช่วงแรกของไรต์มีลักษณะเฉพาะที่เรียกว่า “Prairie Houses” มาจากวิธีการจัดวางพื้นที่และการวางผังการออกแบบที่ได้แรงบันดาลใจมาจากบ้านของคนอเมริกันทางตอนเหนือ โดยอาคารหลังนี้ Wright ได้พัฒนาบ้านพักอาศัยรูปแบบใหม่โดยสร้างแนวคิดที่ว่า “Organic Architecture” เป็นบ้านที่ออกแบบให้มีจังหวะของพื้นที่ทั้งภายนอกและภายในได้เป็นอย่างดี ตัวบ้านมีความกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม กลายเป็นแนวทางที่สำคัญอันหนึ่งของสถาปัตยกรรมอเมริกันสมัยใหม่ ซึ่ง คฤหาสน์โรบี (Robie House) ที่ไรต์เป็นผู้ออกแบบและสร้างนั้น คือตัวอย่างที่ดีที่สุดสำหรับสถาปัตยกรรมแนวนี้ จนได้รับฐานะให้เป็นสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งชาติ

 

 ที่มารูปภาพ : architecture.org

 

      ผลงานที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดคือการออกแบบบ้านที่ตั้งอยู่เหนือน้ำตก แห่งหนึ่ง ชื่อว่าบ้าน Falling Water สร้างเสร็จในปี 2482 ตั้งอยู่ที่รัฐเพนซิลวาเนีย นอกจากนี้เขายังเป็นผู้ออกแบบอาคาร Solomon R. Guggenheim Museum ซึ่งเป็นรูปทรงหมุนวนต่อเนื่องเหมือนที่เปิดจุกก๊อก

      บ้านและสำนักงานของไรต์ ตั้งอยู่ที่เมืองโอกพาร์ก บริเวณชานเมืองชิคาโก ในรัฐอิลลินอยส์ ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมที่สำคัญ เนื่องจากเป็นที่รวบรวมบ้านพักที่เขาออกแบบไว้กว่า 50 หลังรวมทั้งตัวสำนักงานและบ้านพักของเขาด้วย

 

Falling Water และ Guggenheim Museum

ที่มารูปภาพ : laurelhighlands.org , nycgo.com

      2.  ทาดาโอะ อันโดะ (Tadao Ando)

 

ที่มารูปภาพ : wikipedia.org

 

      สถาปนิกชื่อดังที่มีผลงานโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ผู้นี้คือ ทาดาโอะ อันโดะ สถาปนิกชาวญี่ปุ่นที่ไม่เคยเรียนวิชาสถาปัตยกรรมมาก่อนในชีวิต แต่ใช้วิธีสังเกตรายละเอียด วิธีการสร้างและวัสดุของสิ่งก่อสร้างต่างๆ เพื่อศึกษางานสถาปัตยกรรมด้วยตัวเอง โดยเริ่มจากวัดและศาลเจ้าในประเทศบ้านเกิด ก่อนจะเริ่มเดินทางไปศึกษางานสถาปัตยกรรมสำคัญๆ ในต่างประเทศหลายแห่ง ทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา และแอฟริกา รวมถึงการอ่านหนังสือจากสถาปนิกชื่อดังทั่วโลก เช่น แฟรงค์ ลอยด์ ไรต์ เลอ คาร์บูซิเออร์ และหลุยส์ ไอคาห์น

      ผลงานของอันโดะส่วนใหญ่จะใช้คอนกรีตหล่อ สร้างอาคารทรงเรขาคณิตเป็นส่วนใหญ่ แนวความคิดในการออกแบบของเขาจะเน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติโดยใช้ระบบสัญลักษณ์ เช่น ให้แสงเป็นตัวแทนของธรรมชาติ สร้างแสงและเงาเป็นองค์ประกอบของอาคาร จึงสังเกตได้ว่างานส่วนใหญ่ของอันโดะจะไม่มีหน้าต่างที่เปิดให้เห็นทิวทัศน์นอกอาคาร แต่มักมีช่องเปิดที่แสงแดดสามารถส่องผ่านได้ โดยที่คติหลักประจำใจของอันโดะคืองานสถาปัตยกรรมที่ทำนั้นต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย ผลงานของอันโดะซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างดีมีมากมาย เช่น Church of The Light หรือโบสถ์อิบารากิ คาสึงาโอกะ (Ibaraki Kasugaoka Church), Rokko Housing I-II อาคารที่พักอาศัยในเมืองโอซาก้าที่ได้รับรางวัล The National Cultural Design Prize, ศูนย์การค้ากลางกรุงโตเกียว Omotesando Hills Shopping Complex และ  Church on the Water โบสถ์กลางป่าที่มีจุดเด่นด้วยการสร้างกางเขนกลางสระน้ำ ซึ่งเมื่อฤดูหนาวมาถึง น้ำในสระจะกลายเป็นผืนน้ำแข็ง สวยงามและให้บรรยากาศสงบด้วยสีขาวโพลน

 

Rokko Housing I-II และ Chapel on the water

ที่มารูปภาพ : pinterest.com

 

      3.  นอร์มัน ฟอสเตอร์ (Norman Foster)

 

ที่มารูปภาพ : designmena.com

 

      นาทีนี้หากไม่พูดถึงสถาปนิกชื่อดังคนนี้คงเป็นไปไม่ได้ นอร์มัน ฟอสเตอร์ เจ้าของรางวัลพริตซ์เกอร์ในปี 1999 และสถาปนิกผู้ก่อตั้งบริษัท Foster+Partners ด้วยแนวคิดการออกแบบสไตล์โมเดิร์นล้ำสมัยขณะที่คำนึงถึงระบบนิเวศและผู้ใช้งานเป็นหลัก ทั้งยังเป็นสถาปัตยกรรมแบบยั่งยืนโดยผสมผสานศิลปะกับเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน โดยการนำวิทยาการมาช่วยตอบโจทย์การออกแบบสถาปัตยกรรมได้ จึงสร้างความโดดเด่นให้กับรูปลักษณ์ของอาคารทันสมัย เข้ากับสิ่งแวดล้อมและสัมพันธ์กันระหว่างสถาปัตยกรรม สภาพภูมิอากาศ และวัฒนธรรม

      ฟอสเตอร์มีผลงานออกแบบระดับนานาชาติมากมาย และได้รับรางวัลมาแล้วมากกว่า 190 จากผลงานทั่วโลก ด้วยความสามารถที่โดดเด่นนี้ เขาจึงได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์มีบรรดาศักดิ์เป็นท่านเซอร์ (Sir) ในปี 1990 และต่อมาในปี 1999 ก็ได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษให้เป็น Lord Foster of Thames Bank มีศักดิ์เป็นขุนนางชั้นสูงของราชสำนักแห่งราชวงศ์อังกฤษ จนในปัจจุบันเขาได้ชื่อว่าเป็นสถาปนิกผู้ทรงอิทธิพลและมีชื่อเสียงที่สุดในเกาะอังกฤษ

      ผลงานโดดเด่นของฟอสเตอร์ เช่น City Hall อาคารสำนักงานราชการริมแม่น้ำเทมส์ ในกรุงลอนดอน, สะพานมีโย สะพานเคเบิ้ลที่สูงที่สุดในโลกในประเทศฝรั่งเศส และ ตึก Commerzbank ธนาคารในแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ล้วนแต่มีการนำเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาประยุกต์ใช้เพื่อลดการใช้พลังงานในอาคารทั้งสิ้น นอกจากนี้ฟอสเตอร์ยังได้รับหน้าที่ออกแบบอาคาร แอปเปิ้ลแคมปัส 2 (Apple Campus 2) ซึ่งจะกลายเป็นสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของบริษัทแอปเปิลในอนาคต ตามคำเรียกร้องก่อนที่สตีฟ จ็อบส์จะเสียชีวิตอีกด้วย

 

City Hall และ Apple Campus 2

ที่มารูปภาพ : mixologyevents.co.uk , telegraph.co.uk

 

      4.  แดเนียล ลีเบอร์สคีนด์ (Daniel Libeskind)

 

ที่มารูปภาพ : forgeoftalents.com

 

      แดเนียล ลีเบอร์สคีนด์ สถาปนิกชาวอเมริกันเชื้อสายโปแลนด์ผู้มีความคิดว่า “Architecture is a Language” คือ “สถาปัตยกรรมเป็นภาษาหนึ่งในการเชื่อมโยงผู้คนบนโลกนี้เข้าด้วยกัน” งานของลีเบอร์สคีนด์จึงเป็นการสร้างสถานที่ที่สามารถเล่าเรื่องราวได้ มากว่าการสร้างอาคารเพียงอย่างเดียว เช่น อาคาร Jewish Museum ผลงานที่ชนะการประกวดแบบพิพิธภัณฑ์ของชาวยิวของลีเบอร์สคีนด์นั้น ถูกสร้างให้เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อบอกเล่าเรื่องความสูญเสียและข้อมูลประวัติศาสตร์กว่า 2 พันปีของคนยิวที่อยู่ในเยอรมันนี และน่าประทับใจจนกลายเป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงที่สุดของกรุงเบอร์ลิน

      ลีเบอร์สคีนด์สร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ให้ที่มีรูปทรงซิกแซก ผิวภายนอกเป็นโลหะสังกะสี เมื่อมองที่เปลือกอาคารและช่องเปิดจะเหมือนกับรอยแผลที่ถูกเฆี่ยนตีเปรียบ เสมือนรอยแผลที่เจ็บปวดของชาวยิว มีทางเข้าแค่เพียงทางเดียวและต้องลงบันไดไปใต้ดิน ภายในอาคารเต็มไปด้วยทางเดินที่แคบสูง ว่างเปล่า จุดเด่นสำคัญคือ Holocaust Tower ห้องแคบทรงสามเหลี่ยมที่มีแสงสว่างส่องเข้ามาเพียงจุดเดียว เพื่อสื่อและจำลองเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ชาวยิวที่เสียชีวิตในสงคราม

 

ท่ีมารูปภาพ : wikimedia.org

 

      5.  ไอ. เอ็ม. เพ (I.M. Pei)

 

ที่มารูปภาพ : bdonline.co.uk

 

      ไอ. เอ็ม. เพ หรือ เป่ย ยวี่หมิง (Pei Ieoh Ming) สถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่ในด้านสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ด้วยแนวความคิดว่าสถาปนิกควรคำนึงถึงสภาพภูมิอากาศและส่วนสำคัญทางประวัติศาสตร์ งานสถาปัตยกรรมของเป่ยจึงเป็นความคลาสสิกผสมกับสมัยใหม่ โดยใช้วัสดุอันเรียบง่ายเช่น กระจก หิน ฯลฯ สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศและประวัติศาสตร์ เกิดเป็นความถ่อมตัวและให้เกียรติกับบริบทของถิ่น มากกว่าที่จะเป็นสถาปัตยกรรมใหม่ที่โดดเด่น ฉีกออกจากเดิม เช่น การออกแบบพีระมิดแก้วหน้าพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ เป่ยจึงชื่อเสียงมากด้านงานออกแบบพิพิธภัณฑ์ ผลงานต่างๆ ของเขาที่ผ่านมาแสดงออกถึงศักยภาพในด้านนี้อันเป็นที่ยอมรับ

 

Le Grand Louvre

ที่มารูปภาพ : puretravel.com

 

      นอกจากนี้ เป่ยยังมีผลงานการออกแบบมากมายในเอเชีย เช่น อาคารแบงค์ออฟไชน่า ตึกสูงระฟ้าในฮ่องกง และยังมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบพิพิธภัณฑ์ อย่างพิพิธภัณฑ์มิโฮในญี่ปุ่น, พิพิธภัณฑ์ศิลปะอิสลามในการ์ตาร์ หรือแม้แต่พิพิธภัณฑ์แห่งเมืองซูโจวที่บ้านเกิด ซึ่งต่างก็เป็นสิ่งก่อสร้างที่น่าดึงดูดใจตั้งแต่แรกเห็น จึงทำให้เป่ยได้รับรางวัลมากมายเป็นการยืนยันความสำเร็จ เช่น รางวัลเหรียญทองเอไอเอในปี 1979 รางวัลพริตซ์เกอร์ในปี 1983 และรางวัลพรีเมียมอิมพีเรียลสาขาสถาปัตยกรรมในปี 1989 เป็นต้น

 

Bank of China และ Suzhou Museum

ที่มารูปภาพ : pinterest.com

 

      6.  แฟรงก์ เกห์รี (Frank Gehry)

 

ที่มารูปภาพ : wehoville.com

      แฟรงก์ เกห์รี สถาปนิกผู้สร้างสรรค์งานออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ด้วยลักษณะความเป็นประติมากรรมมากกว่าความเป็นสถาปัตยกรรม จากรูปแบบของ Deconstruction หรือ คตินิยมเปลี่ยนแนว ที่ทำรูปทรงของอาคารมีความแปลกประหลาดผิดเพี้ยนของรูปทรงที่บิดเบี้ยวลื่นไหล ทำให้ผู้พบเห็นเกิดความรู้สึกว่าอาคารกำลังเคลื่อนไหวและมีพลัง เขาได้รับรางวัลพริตซ์เกอร์ในปี 1989 และรางวัลอื่นๆ อีกมาก รวมถึงได้ปริญญาเอกดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยระดับโลกอีกหลายที่เช่น มหาวิทยาลัยเยล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เป็นต้น

      ผลงานที่สร้างชื่อเสียงที่สื่อและแสดงเอกลักษณ์ของเกห์รีออกมาได้ชัดเจนที่สุดและเป็นการปฏิวัติรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแนวใหม่นั้นคือ พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ บิลบาโอ ในเมืองบิลเบา ประเทศสเปน (Guggenheim Museum Bilbao) ด้วยตัวอาคารที่ทำด้วยโครงเหล็ก แผ่นปิดผิวห่อหุ้มตัวอาคารนั้นทำจากไททาเนียม ซึ่งเมื่อสะท้อนแสงแล้วจะเห็นสีที่แตกต่างกันตามแต่ละช่วงเวลา นับเป็นโครงการทางสถาปัตยกรรมที่มีการออกแบบที่สลับซับซ้อน เป็นการจุดประกายความคิดแนวใหม่ ซึ่งมีผลต่อกระแสแนวความคิดการออกแบบ จนเรียกได้ว่าเกห์รีเป็นผู้ที่ทำให้วงการสถาปัตยกรรมสมัยใหม่เกิดความเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงจากเดิม นอกจากนี้ยังมีผลงานอื่นๆ ของเกห์รีซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอย่าง วอลต์ดิสนีย์คอนเสิร์ตฮอลล์ (Walt Disney Concert Hall) ที่ลอสแอนเจลิส และแดนซิงเฮาส์ที่กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก และพิพิธภัณฑ์ศิลปะไวส์แมน (Weisman Art Museum) ของมหาวิทยาลัยมินิโซต ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างที่อวดโฉมความเป็นอัจฉริยะของเกห์รีได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

 

Weisman Art Museum และ Walt Disney Concert Hall

ที่มารูปภาพ : travel.usnews.com