pexels-photo-102127

      เบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงานอัจฉริยะ เหล่าจิตรกร นักออกแบบ หรือศิลปิน แม้จะเป็นที่ยอมรับ แต่ต่างก็เคยเผชิญกับปัญหาความเจ็บป่วยทางจิตและทางกายหลายอย่างในอดีตกว่าจะก้าวถึงความสำเร็จ ซึ่งบางครั้งความทุกข์ที่วกวนอยู่ในห้วงคำนึงเหล่านั้น ก็ถูกถ่ายทอดและระบายออกมาผ่านทางผลงานของพวกเขา แสดงให้เห็นว่าความเจ็บปวดไม่ใช่สิ่งที่จะหยุดยั้งจินตนาการ แต่เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันความคิดให้บรรเจิดกว่าเดิมเสียมากกว่า

 

1. ฟรันซิสโก โกยา (Francisco Goya)

 

ที่มารูปภาพ  : en.wikipedia.org

 

      จิตรกรแนวจินตนิยม (Romanticism) ชาวสเปน ผู้มีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1746-1828 เป็นคนแรกที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นจิตรกรประจำราชสำนักสเปนและได้รับการยกย่องว่าทั้งเป็น “Old Master” คนสุดท้าย และเป็นศิลปินแนวสมัยใหม่คนแรก เนื่องจากภาพที่เขาเขียนนั้นจำลองบุคลิกภาพของมนุษย์ออกมาอย่างเปิดเผย และแสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ

     โกยาเคยมีอาการป่วยอย่างร้ายแรง ตอนอายุ 46 ปี และเป็นอัมพาตอยู่หลายเดือน ทำให้หูของเขาหนวกตลอดชีวิต แต่ความพิการทางหูกลับทำให้ความสามารถในการมองเห็นของเขาดีขึ้นทดแทนกัน ความคิดสร้างสรรค์ที่โกยามีจึงไม่ได้ลดน้อยลง นอกจากนี้โกยายังต้องเผชิญกับอาการป่วยจากอาการสมองอักเสบ ในช่วงที่ประเทศสเปนกำลังเกิดสงครามกลางเมือง งานของโกยาในช่วงนั้นจึงสะท้อนด้านมืดของสังคมสเปน เช่น ภาพที่ชาวมาดริดรวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับกองทหารไร้หน้าของจักรพรรดินโปเลียน ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นอนุสรณ์ไว้ให้ชาวมาดริดรำลึกถึงเหตุการณ์ร่วมกันต่อสู้อันสำคัญในประวัติศาสตร์

 

ที่มารูปภาพ : wikimedia.org

 

      นอกจากนี้โกยายังสะท้อนความเจ็บป่วยของตัวเองออกมาในผลงาน ภาพ “Saturn Devouring His Son” อันเป็นที่เลื่องลือ ซึ่งถูกวาดลงบนผนังสีดำในบ้านตนเอง เป็นภาพที่ทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในจิตใจของโกยาได้ดีที่สุด เพราะฉีกแนวออกจากผลงานเก่าของเขาอย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ ภาพ “สัตว์ประหลาดที่เกิดจากการหลับของเหตุผล (El sueño de la razón produce monstruos)” ยังแสดงออกถึงความคิดที่อยากจะให้โลกดีขึ้นกว่าเดิมหากถูกปกครองด้วยเหตุผล จากผลงานเหล่านี้ โกยาจึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นหลังไม่ว่าจะเป็น ลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ (Expressionism) หรือ ลัทธิเหนือจริง (Surrealism)

 

ภาพ “Saturn Devouring His Son” และ “สัตว์ประหลาดที่เกิดจากการหลับของเหตุผล”

ที่มารูปภาพ : theartstory.org

 

2. เอ็ดเวิร์ด มุงค์ (Edvard Munch)

 

ที่มารูปภาพ : wikimedia.org , theartstory.org

 

      เอ็ดเวิร์ด มุงค์ (Edvard Munch) จิตรกรชาวนอร์เวย์เจ้าของผลงานชื่อก้องโลกมากมาย เขามีสุขภาพไม่แข็งแรงและล้มป่วยบ่อยตั้งแต่วัยเด็ก นอกจากนี้ยังถูกโรควัณโรคพรากมารดาไปตั้งแต่อายุ 5 ขวบ และเสียพี่สาวในอีก 9 ปีต่อมา รอบตัวมุงค์จึงมีแต่การสูญเสียและความเจ็บปวด กลายเป็นแรงกดดันซึ่งในทางกลับกันก็เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้มุงค์เขียนภาพที่แสดงออกถึงความทุกข์ ความกดดัน และความเศร้า จากเรื่องราวฝังใจในวัยเด็กและปัญหาสุขภาพจิตที่เขาต้องเผชิญหนักจนต้องรักษาตัวอยู่หลายเดือน

      ถึงกระนั้น มุงค์ก็ยังมุ่งหน้าสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของเขาอย่างต่อเนื่องหลังจากที่รักษาอาการป่วยจนหายสนิท ทุกภาพวาดที่เขาเขียนล้วนแต่ดึงพลังจากความเศร้าในจิตวิญญาณมาเปลี่ยนเป็นความหลงใหลของผู้พบเห็น ทำให้ภาพเขียนของมุงค์โด่งดังและมีได้รับเสียงชื่นชมมากมาย ในฐานะของจิตรกรที่สามารถความรู้สึกส่วนลึกออกมาผ่านผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุด ดังที่เห็นได้ชัดจากภาพ “The Scream” ท้องฟ้ามีสีแดงเลือด ที่มีคนยืนหวีดร้องอยู่อย่างโหยหวน เพราะความตึงเครียดนั้น สามารถบีบคั้นความรู้สึกของผู้ชมภาพได้อย่างน่าประทับใจ ทำให้มุงค์กลายเป็นต้นแบบของจิตรกรลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ (Expressionism) ในยุคต่อๆ มา นอกจากนี้ผลงานอื่นๆ อย่าง “L’enfant malade” ที่แสดงอาการทุกข์ทนของมุงค์ขณะเข้ารับการรักษาสุขภาพจิต และ “Vampire” ภาพที่ทำให้เห็นถึงความสิ้นหวังโดดเดี่ยว ความหวาดกลัวนั้น ก็ยังเป็นภาพวาดในตำนานที่มีผู้คนกล่าวขวัญถึงจนปัจจุบัน

 

ภาพ “L’enfant malade” และ “Vampire”

ที่มารูปภาพ : edvardmunch.org

 

3. ยาโยอิ คุซามะ (Yayoi Kusama)

 

ที่มารูปภาพ : whitney.org

 

 

      ยาโยอิ คุซามะ (Yayoi Kusama) หรือที่หลายๆ คนอาจเรียกเธอในชื่อ “คุณป้าลายจุด” ผู้ทำให้ลายจุดกลายเป็นแฟชั่นระดับโลก ยาโยอิมีอาการเจ็บป่วยทางจิตตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เนื่องจากเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจในครอบครัว ทำให้เธอมองเห็นลวดลายของดอกไม้ที่มีลักษณะคล้ายกับรูปทรงกลมกระจายอยู่รอบๆ ตัวเหมือนลายจุด อาการป่วยดังกล่าวกลายเป็นแรงผลักดันให้เธอสร้างสรรค์ผลงานจากภาพที่เห็นอยู่ในหัว จากที่เคยวาดภาพแนวประเพณีญี่ปุ่น ก็เปลี่ยนเป็นภาพรูปทรงกลมหรือจุด ที่ยาโยอิให้ความหมายว่า วงกลมมีรูปทรงเช่นเดียวกันกับดวงอาทิตย์อันเป็นสัญลักษณ์แห่งพลังและการดำรงอยู่

      ผลงานต่างๆ ของยาโยอิ เรียกได้ว่านอกจากจะเป็นการเปลี่ยนความรู้สึกแย่ๆ ออกมาเป็นงานสร้างสรรค์แล้ว ยังเป็นการบำบัดตนเองโดยศิลปะไปในตัว เช่น ผลงานชุด “Driving Image Show” ที่เคยจัดแสดงในนิวยอร์ก เป็นห้องที่อัดแน่นไปด้วยวัตถุหลายจุดรูปร่างประหลาด แสดงออกถึงความอึดอัด สับสน วุ่นวายในตัวของยาโยอิ ซึ่งเธอแก้ไขมันด้วยการทำมันซ้ำๆ ให้ตนเองอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมแต่เป็นในโลกที่สร้างขึ้นมาคู่ขนาน เพื่อปรับเปลี่ยนแนวคิดให้สิ่งน่ากลัวกลายเป็นเรื่องตลก ผลงานภาพชุด “Infinity Nets” อันโด่งดังและมีราคามากที่สุดของเธอ ก็เกิดขึ้นจากอาการคิดซ้ำไปซ้ำหรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า อาการ Obsessions ซึ่งยาโยอิได้เปลี่ยนให้มันกลายเป็นลวดลายจุดที่ไม่มีวันรู้จบบนผืนผ้าใบ

 

“Driving Image Show” และ “Infinity Nets”

ที่มารูปภาพ : theprimgirl.com

 

4. หลุยส์ ไวน์ (Louis Wain)

 

ที่มารูปภาพ : hubpages.com , scientificamerican.com

 

      หลุยส์ ไวน์ (Louis Wain) ศิลปินชาวอังกฤษผู้เป็นที่รู้จักจากการวาดรูปเจ้าแมวเหมียวหัวโตตากลมให้เป็นศิลปะแบบมานุษยรูปนิยม (Anthropomorphism) หรือบุคคลวัต คือการใส่บุคลิกท่าทางของคนให้กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ผลงานโดดเด่นของไวน์จึงเป็นรูปวาดของแมวในอริยาบทต่างๆ เช่น ยืนสองขา อ่านหนังสือ หรือนั่งกินข้าวล้อมโต๊ะเป็นครอบครัวเหมือนกับมนุษย์ด้วยสีสันสดใส เอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครนี้ทำให้ไวน์มีชื่อเสียงมากในแวดวงนิตยสารและหนังสือสำหรับเด็ก โดยผลงานที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นมากกว่าสามสิบปีนั้นเกือบจะเป็นภาพของแมวทั้งหมด ไม่ต้องสงสัยเลยว่าแรงบันดาลใจของเขานั้นคงได้มาจากแมวที่ตนเลี้ยงไว้นั่นเอง

      เมื่ออาการป่วยของไวน์เริ่มปรากฏ ภาพเขียนของเขาก็เริ่มมีลักษณะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัด อาการทางจิตที่ไวน์มีคือ โรคจิตเภท (Schizophrenia) ที่ทำให้เขาป่วยหนักจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ขณะนั้นไวน์ก็ยังวาดภาพที่เขารักอยู่ตลอด แต่รูปแมวของเขากลับมีลายเส้นที่ซับซ้อนขึ้น วกวนมากขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นรูปภาพแบบ Kaleidoscopic ที่ชวนให้เวียนหัว และไม่สามารถแปลความหมายได้ไปในที่สุด ผลงานของไวน์จึงถูกยกให้เป็นรูปแทนถึงบางสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงอย่างการเสื่อมลงของสภาพจิตที่อาจเข้าจู่โจมใจเราได้ตลอดเวลา

 

5. ฟรีดา คาห์โล (Frida Kahlo)

 

ที่มารูปภาพ : artgallery.nsw.gov.au , tes.com

 

      จิตรกรลูกครึ่งเยอรมัน-เม็กซิโกผู้นี้ คือ ฟรีด้า คาห์โล หญิงสาวที่ป่วยเป็นโปลิโอตั้งแต่ 6 ขวบ ส่งผลให้ขาซ้ายลีบเล็กกว่าขาขวา เมื่ออายุ 18 ปีรถโดยสารที่เธอนั่งมาเกิดประสบอุบัติเหตุ ทำให้ฟรีดาบาดเจ็บสาหัสจนกระดูกสันหลังและกระดูกไหปลาร้าหัก ราวเหล็กทิ่มเข้าไปในมดลูก ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลนานถึง 9 เดือน ช่วงที่นอนอยู่บนเตียงพยาบาลนี้เองที่เธอได้ฝึกฝนและทุ่มเทไปกับศิลปะ จนกลายเป็นที่รู้จักจากผลงานภาพวาด ที่ถ่ายทอดรูปเหมือนของตัวเองออกมาเป็นงานจิตรกรรมสีจัดจ้าน และจากภาพถ่ายของเธอในอิริยาบถต่างๆ

     ผลงานของฟรีดาในช่วงแรกเป็นแนวสมจริงจากนั้นก็พัฒนามาเป็นแนวสัญลักษณ์ (Symbolic) และแนวเหนือจริง (Surrealism) ซึ่งส่วนใหญ่จะแสดงให้เห็นถึงชีวิตอันขมขื่นของเธอ ทั้งจากความสัมพันธ์กับสามี อุบัติเหตุที่เธอประสบ และความผันผวนของสังคมตลอดชีวิต ด้วยเอกลักษณ์อันโดดเด่นของฟรีดา เธอจึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักออกแบบทุกยุคทุกสมัย จากการแต่งกลายแนวแม็กซิกันที่แหวกสายตาของคนในยุคนั้น แม้ว่าเธอจะต้องสวมคอร์เซ็ตหนังไว้ใต้ชุดตลอดเวลาเพื่อพยุงร่างกายและกระดูกที่ร้าวหลายส่วนจากอุบัติเหตุรถชน เสื้อผ้าของฟรีดาจึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์แห่งความเข้มแข็งของสตรีที่แสดงออกมาผ่านทางแฟชั่น เรื่องราวของเธอจึงกลายเป็นที่จดจนทุกวันนี้

 

6. เฟเดริโก บาบินา (Federico Babina)

 

ที่มารูปภาพ : blog.novedge.com

 

      เฟเดริโก บาบินา (Federico Babina) ศิลปินชาวอิตาเลียนจากเมืองบาร์เซโลนา ผู้สร้างโปรเจ็ค Archiatric ผลงานน่าสนใจที่นำปัญหาทางจิตใจทั้ง 16 อย่างออกมาถ่ายทอดให้เป็นงานสถาปัตยกรรมจากการวาดความเจ็บปวดต่างๆ ที่เหล่าจิตรกร ศิลปิน และผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะอาจเคยเผชิญ โดยออกแบบให้เป็นรูปบ้านที่แม้รูปแต่ละรูปจะมีลักษณะเป็นนามธรรม แต่หากใครเคยทุกข์ทรมานด้วยปัญหาสุขภาพจิตเหล่านี้ คงจะเห็นว่าบ้านแต่ละหลังสามารถแสดงความรู้สึกที่อยู่ในใจลึกๆ ได้เป็นอย่างดี

 

ที่มารูปภาพ : designboom.com

 

      – ชิ้นส่วนต่างๆ ที่กำลังโหว่หายไปจากบ้าน เปรียบได้กับอาการสมองเสื่อม จากการทำงานของสมองที่เสื่อมลงหลายๆด้าน ทำให้มีปัญหาในการใช้ความคิด การเรียนรู้สิ่งใหม่ การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ พฤติกรรม และบุคลิกภาพ จนส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน

 

ที่มารูปภาพ : designboom.com

 

      – บ้านที่กำลังแตกเป็นเสี่ยงๆ หลังนี้ แสดงถึงอาการแปลกแยกจากสังคมของผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตเภท คือ กลุ่มอาการของโรคที่มีความผิดปกติของความคิด ทำให้ผู้ป่วยมีความคิดและการรับรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง จึงมีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

 

ที่มารูปภาพ : designboom.com

 

      – ตัวหนังสือที่อัดแน่นเต็มบ้านไปหมด เป็นการถ่ายทอดให้เห็นถึงโรคความบกพร่องในการอ่านหนังสือ จากความผิดปกติของการทำงานของเซลล์สมองซีกซ้ายในส่วนของระบบประสาทด้านการตีความและความจำระยะสั้นมาตั้งแต่เกิด ทำให้ไม่สามารถอ่านหนังสือได้อย่างคล่องแคล่ว หรืออาจอ่านได้แต่ไม่สามารถจับใจความได้

 

ที่มารูปภาพ : designboom.com

 

      – บ้านรูปทรงแปลกประหลาดที่มีหนามยื่นออกมารอบๆ หลังนี้ แทนสภาวะขี้กลัว หรืออาการโฟเบีย (Phobias) ของผู้ป่วยที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ เช่น ร้องไห้ฟูมฟายหรืออาเจียน อย่างไม่สมเหตุสมผลเมื่อได้เผชิญกับสิ่งหรือสถานการณ์ซึ่งกระตุ้นให้รู้สึกหวาดกลัว จึงพยายามหลีกเลี่ยงไม่ยอมเผชิญหน้า ทำให้เกิดความตึงเครียด และมีปัญหาในการใช้ชีวิตในสังคมเพราะความหวาดกลัวที่คอยทิ่มแทงจิตใจอยู่ตลอด

 

โปรเจ็ค Archiatric ฉบับเต็ม :

 

 

      จุดมุ่งหมายของโปรเจค Archiatric ต้องการที่จะใช้เสียงของสถาปัตยกรรมและศิลปะเพื่อสื่อสารสภาวะอารมณ์ ความผิดปกติต่างๆ ให้คนภายนอกเข้าใจถึงปัญหาทางจิตใจที่เกิดขึ้นภายในตัวของศิลปิน และอาจเกิดขึ้นได้ในตัวเราทุกคนเช่นกัน

      แต่นอกจากจะทำให้บุคคลภายนอกเข้าใจแล้ว ภาพวาดเหล่านี้จะช่วยให้เรารู้จักพิจารณา และเป็นห่วงจิตใจของตัวเองมากขึ้น เพราะแม้อาการป่วยจะก่อปัญหาในการดำเนินชีวิตอยู่บ้าง แต่อุปสรรคเองก็เป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญแล้วก้าวผ่านมันไปให้ได้จึงจะประสบความสำเร็จ