top 7

      สิ่งก่อสร้างและสถาปัตยกรรมที่ถูกสร้างขึ้นบนโลกใบนี้ ล้วนแต่มีเรื่องราวและประวัติศาสตร์เป็นของตัวเอง โบราณสถานต่างๆ ทั่วโลก อันเคยเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในอดีต จึงกลายเป็นแหล่งความรู้สำคัญที่ทำให้คนในปัจจุบันได้รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมที่เคยเจริญรุ่งเรื่อง และเล่าเรื่องความมหัศจรรย์ของวิทยาการที่สามารถสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมอันทรงพลัง ซึ่งยังคงเหลือร่องรอยไว้จนถึงทุกวันนี้

      บทความนี้จึงได้รวบรวม 7 โบราณสถานสำคัญ อันเป็นแหล่งกำเนิดของอารยธรรมต่างๆ ในประวัติศาสตร์ ที่เราควรได้ไปเยือนสักครั้งในชีวิตมาให้ได้ชมกันค่ะ

 

      1.เปตรา (Petra) – ประเทศจอร์แดน

 

(ที่มารูปภาพ : http://www.thebookoftravel.com)

 

      นครหินแกะสลักสีกุหลาบแห่งนี้ มีชื่อเรียกว่า เปตรา ตั้งอยู่ในหุบเขาวาดี มูซา ระหว่างทะเลสาบเดดซี (Dead Sea) และทะเลอัคบา (Aqaba Sea)ในประเทศจอร์แดน เปตราคือเมืองโบราณที่เคยเป็นศูนย์กลางการค้าขนาดใหญ่ของชาวตะวันออกกลางและมีประวัติยาวนานถึง 400 ปีก่อนคริสตกาล

      สถาปัตยกรรมของเมืองเปตราสร้างขึ้นด้วยฝีมือของชาวนาบาเทียน (Nabateans) ชนเผ่าเร่ร่อนในทะเลทรายอาหรับ โดยใช้วิธีสกัดผาหินทรายให้กลายเป็นบ้าน ถ้ำ และอาคารต่างๆ ส่วนหินที่เจาะออกมาก็นำไปสร้างเป็นอาคารภายนอกต่อ สถาปัตยกรรมจึงผสมทั้งความแข็งแกร่งและละเอียดอ่อนเข้าด้วยกัน

      แผ่นดินไหวเมื่อค.ศ. 363 ได้ทำลายอาคารและระบบชลประทานบางส่วนของเมืองเปตราลง แต่ร่องรอยของซากปรักหักพังที่หลงเหลืออยู่ยังแสดงให้เห็นถึงการจัดการเรื่องการชลประทาน และการลำเลียงน้ำจากแหล่งน้ำภูเขาเข้าสู่ตัวเมืองได้อย่างน่าทึ่ง นอกจากนี้บริเวณรอบๆ ยังค้นพบภาพศิลปะที่แกะสลักจากภูเขาอีกมากมาย แม้การเข้าไปท่องเที่ยวเมืองเปตราในปัจจุบันนั้นจะลำบาก เพราะสามารถขี่ม้าเข้าไปในช่องเขาได้เท่านั้น แต่ความมหัศจรรย์ของสถาปัตยกรรมอันสลักสลวยกลางหุบเขาแห่งนี้ ก็สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมากมายให้เข้ามาชมความงามได้อย่างไม่ขาดสาย

      นครเปตราได้รับลงทะเบียนจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อค.ศ. 1985 โดยกล่าวอธิบายไว้ว่า “เป็นหนึ่งในสิ่งที่ล้ำค่ามากที่สุดของมรดกทางวัฒนธรรมแห่งมวลมนุษยชาติ”

 

(ที่มารูปภาพ : http://bigmama.travel/.com , http://spotlokal.com/)

 

      2.โวลูบิลิส (Volubilis) – ประเทศโมร็อกโก

 

(ที่มารูปภาพ : http://davidsbeenhere.com)

 

      เมืองโวลูบิลิส คือหลักฐานอันยิ่งใหญ่ของชาวโรมันที่เคยอาศัยอยู่ในประเทศโมร็อกโก ด้วยซากปรักหักพังของเมืองที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีนั้นแสดงให้เห็นถึงวิทยาการอันเจริญก้าวหน้าของชาวโรมันเมื่อ 25 ปีก่อนคริสตกาลร่องรอยความเจริญนี้ เห็นได้จากรูปแบบของสถาปัตยกรรมจากอารามต่างๆ อ่างเก็บน้ำ มหาวิหาร ศาลากลาง และประตูชัยอันสง่างามที่ยังคงภาพความยิ่งใหญ่ของเมืองโวลูบิลิสไว้ได้ในปัจจุบัน

      และหนึ่งในสิ่งก่อสร้างอันเป็นที่กล่าวขานของเมือง ที่นักท่องเที่ยวทุกคนต่างก็เดินทางมาเพื่อเก็บภาพความงดงามก็คือ House of Orpheus หรือ พื้นกระเบื้องโมเสคซึ่งยังอยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์ ที่ถูกตกแต่งให้เป็นภาพของออร์ฟีอุส (Orpheus) นักดีดพิณในตำนานกรีกโบราณและภาพของสัตว์ป่าน้อยใหญ่ รวมไปถึงภาพของเทพีไดอาน่าในห้องอาบน้ำ

      โวลูบิลิสเองก็เคยพบกับความรุนแรงของแผ่นดินไหวเมื่อ ค.ศ. 1755 แต่ความยิ่งใหญ่ของซากเมืองที่หลงเหลือ ก็เพียงพอจะบอกได้ถึงความเจริญในอดีตและความรู้ของชาวโรมัน ที่แผ่ขยายอาณาจักรและอิทธิพลมาจนถึงทวีปแอฟริกา เมืองโรมันโบราณแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมในค.ศ. 1997

 

(ที่มารูปภาพ : http://davidsbeenhere.com , http://www.panoramio.com)

 

      3.ชิเชน อิตซา (Chichen Itza) – ประเทศเม็กซิโก

 

(ที่มารูปภาพ : https://maya.nmai.si.edu)

 

      ชิเชน อิตซา หนึ่งในเมืองที่ใหญ่ที่สุดของชนเผ่ามายาในภูมิภาคเมโสอเมริกา (Mesoamerica) ซึ่งปัจจุบันคือพื้นที่บริเวณเม็กซิโกตอนกลางและตอนใต้ ตลอดจนประเทศแถบอเมริกากลาง เมืองนี้มีความสำคัญมากในสมัยคริสต์ศักราช 600-900 เพราะเป็นศูนย์รวมทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจของชาวมายัน

      ศูนย์กลางของชิเชน อิตซา คือวิหารทรงพิรามิดยอดตัดขนาดใหญ่ที่เรียกว่า เอล คาสติลโล่ (El Castillo) ที่สร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าคูคุลคาน เทพเจ้าสูงสุดที่ชาวมายันนับถือ ในแต่ละด้านของพิรามิดจะมีบันไดขึ้นไปถึงยอดด้านละ 91 ขั้น รวม 4 ด้าน มีบันได 364 ขั้น เมื่อนับชั้นบทสุดด้วยจะรวมเป็น 365 ขั้น เท่ากับจำนวนวันในหนึ่งปีพอดี ซึ่งในหนึ่งปีจะมีวันที่เกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติขึ้นสองครั้ง เรียกว่าวันวิษุวิต (Equinox) ซึ่งในวันนี้แสงอาทิตย์ที่ส่องลงมาจะทำมุมตกกระทบกับพีรามิดด้านหนึ่งพอดี ทำให้เกิดเป็นภาพเงาของงูยักษ์ ที่ชาวมายันเชื่อถือกันว่าเป็นเทพเจ้าที่กำลังลงมาเยือนโลกมนุษย์ เลื้อยลงมาจากยอดพีรามิดด้านบนเหมือนบันไดงู เป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจของนักท่องเที่ยวที่ไปรอชมทุกปี

      นอกจากนี้บริเวณรอบๆ เมืองชิเชน อิตซา ยังพบสิ่งก่อสร้างคล้ายสนามฟุตบอล หอดูดาว และวิหารอื่นๆ แสดงให้เห็นถึงความฉลาดของมนุษย์ในอดีตที่แม้จะไม่มีเทคโนโลยีหรือเครื่องมือที่ทันสมัยแต่ก็สามารถสร้างสถาปัตยกรรมยิ่งใหญ่นี้ขึ้นมาได้ ชิเชน อิตซา จึงได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่เมื่อค.ศ. 2007 จากการให้คะแนนโหวตทางอินเทอร์เน็ต

 

(ที่มารูปภาพ : Damian Davies)

 

      4.อุทยานแห่งชาติเมซา เวอร์เด (Mesa Verde National Park) – โคโรลาโด, ประเทศสหรัฐอเมริกา

 

(ที่มารูปภาพ : https://www.tenzingtravel.nl)

 

      เมืองโบราณรูปทรงแปลกตาใต้ชะง่อนผาแห่งนี้ ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติเมซา เวอร์เด (Mesa Verde National Park) ในรัฐโคโรลาโด (Colorado) ประเทศสหรัฐอเมริกา โบราณสถานที่สร้างจากฝีมือมนุษย์แห่งนี้เกิดขึ้นเพราะชะง่อนหินผาได้ยื่นออกมาบดบังพื้นที่บางส่วนด้านล่าง จึงเกิดเป็นช่องว่างที่มีลักษณะเหมือนถ้ำ ชาวอินเดียนแดงโบราณเผ่าปัวโบล (Pueblos) ได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งกำบังทางธรรมชาตินี้ โดยสร้างชุมชน เป็นหมู่บ้านที่หลบอยู่ใต้ชะง่อนผา ในช่วงประมาณค.ศ. 900-1300

      อุทยานแห่งนี้มีแหล่งโบราณคดีมากกว่า 4000 แห่ง ซากบ้านเรือนที่สร้างจากอิฐหินทรายขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง นับได้กว่า 600 หลัง หลังที่ขนาดใหญ่ที่สุด มีชื่อว่าคลิฟพาเลซ (Cliff Palace) เป็นรูปทรงเหมือนคอนโดมิเนียม สูงถึง 88 เมตร นอกจากนี้ยังมีห้องที่ขุดลงไปใต้ดินเรียกว่าคีวา (Kiva) เจาะเป็นช่องเล็กๆ เข้าออกได้ด้วยบันไดและไว้ระบายควันไฟจากเตาด้านล่าง เรียกได้ว่าเป็นการปรับตัวอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติได้อย่างชาญฉลาดของมนุษย์ในยุคก่อน

      ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติเมซา เวอร์เด ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมตั้งแต่ค.ศ. 1978

 

(ที่มารูปภาพ : https://www.wheredoitakethekids.com , http://www.launchphotography.com)

 

      5.เพอร์ซิโพลิส (Persepolis) – ประเทศอิหร่าน

 

(ที่มารูปภาพ : http://guideiran.com)

 

      เพอร์ซิโพลิส เมืองหลวงของอาณาจักรเปอร์เซียโบราณในยุคราชวงศ์อาร์เคเมนิด (Achaemenid Empire) ที่สร้างโดยพระเจ้าไซรัสมหาราช (Cyrus The Great) เมื่อประมาณ 500 ปี ก่อนคริสตกาล ปัจจุบันตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอิหร่าน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของอารยธรรมเมโสโปเตเมีย

      นครแห่งนี้ถูกก่อสร้างให้มีลักษณะเป็นป้อมปราการ โดยมีศูนย์กลางที่ประกอบด้วยวังต่างๆ รวมถึงท้องพระโรงขนาดใหญ่ และห้องที่เก็บทรัพย์สมบัติกับสิ่งของมีค่าต่างๆ เมืองนี้จึงเป็นเมืองที่มีความสำคัญที่สุดของอาณาจักรเปอร์เซียโบราณ ในปัจจุบันยังสามารถมองเห็นภาพอันอลังการของเมืองหลวงที่เคยเจริญรุ่งเรืองของจักรวรรดิเปอร์เซียได้อย่างชัดเจนจากซากของตัวเมืองที่หลงเหลืออยู่ นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ในบริเวณโบราณสถานเปิดขึ้นเพื่อจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้โบราณของชาวเมืองเพอร์ซิโพลิสอีกด้วย

      ใน ค.ศ. 331 ก่อนคริสตกาล มหานครแห่งนี้ได้ถูกกองทัพของอเล็กซานเดอร์มหาราชบุกเข้าทำลายและเผาผลาญจนพินาศ เหลือเพียงความยิ่งใหญ่ของซากปรักหักพังไว้ให้ชมจนกระทั่งทุกวันนี้ ซึ่งยูเนสโกได้ประกาศให้แพร์ซโพลิสเป็นหนึ่งในมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อค.ศ. 1979

 

(ที่มารูปภาพ : https://mehdis.deviantart.com , https://www.studyblue.com)

 

      6.นครวัด (Angkor Wat) – ประเทศกัมพูชา

 

(ที่มารูปภาพ : http://zloris.blogspot.com)

 

      สถาปัตยกรรมโบราณในประเทศกัมพูชาแห่งนี้ คืออีกสถานที่ที่เก็บรวมความล้ำค่าจากอารยธรรมในอดีตไว้นครวัด เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานที่เรียกรวมกันว่า “เมืองพระนคร” ตั้งอยู่ที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ซึ่งเคยศูนย์กลางของอาณาจักรเขมร หรือ ขอม ที่เคยมีอิทธิพลเหนือประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุดช่วง ค.ศ. 802-1431 แต่เดิมนครวัดเคยเป็นเทวสถานของศาสนาพรามณ์-ฮินดู แต่เมื่อมีการผลัดเปลี่ยนกษัตริย์ ศาสนาประจำชาติจึงถูกเปลี่ยนตาม นครวัดจึงกลายเป็นศาสนสถานของชาวพุทธนิกายหินยานไป

      วัสดุหลักในการก่อสร้างนครวัดคือหินทราย โดยใช้แรงงานช้างนับหมื่นเชือกและแรงงานคนนับแสน เคลื่อนย้ายหินมาจากเขาพนมกุเลนชึ่งอยู่ห่างออกไปมาสร้างปราสาทนครวัด ที่มีอาณาเขตโดยรวมราว 820,000 ตารางเมตร และกำแพงชั้นนอกรอบปราสาทที่ยาวกว่า 800 เมตรนั้นยังเต็มไปด้วยรูปแกะสลักหินที่เล่าเรื่องราวจากมหากาพย์รามายณะ เรียกได้ว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่และอลังการ เกินกว่าจะเชื่อได้ว่าเกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์ในอดีตอย่างแท้จริง

      นครวัดเป็นศูนย์กลางทางศาสนาเพียงแห่งเดียวที่ยังเหลือมาจนถึงปัจจุบันในประเทศกัมพูชา และถือเป็นศาสนสถานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ตัวเทวสถานของนครวัดซึ่งกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของประเทศกัมพูชาในผืนธงชาตินั้นได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีจนถึงปัจจุบันนครวัดได้รับลงทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2535

 

 

(ที่มารูปภาพ : https://thebustleblog.wordpress.com , http://www.touropia.com)

 

      7.ฮัมปี (Hampi) – ประเทศอินเดีย

 

(ที่มารูปภาพ : http://www.india.com)

 

      เมืองฮัมปี เป็นเมืองที่อยู่อาณาเขตของอาณาจักรวิชัยนคร ซึ่งถือว่าเป็นเมืองหลวงสุดท้ายของอาณาจักรฮินดู (ค.ศ.1336 – 1565) ปัจจุบันตั้งอยู่ในรัฐกรณาฏกะ (Karnataka) ประเทศอินเดีย เมืองฮัมปีเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศเนื่องจากควบคุมการค้าเครื่องเทศและฝ้ายในภูมิภาคได้ วิชัยนครจึงรุ่งเรืองถึงขีดสุดในอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ช่วงศตวรรษ 16 ก่อนจะล่มสลายจากการบุกรุกของชาวมุสลิมที่หวังเข้ามายึดครอง

      วัดและพระราชวังวังในเขตเมืองฮัมปี สร้างด้วยศิลปะแบบฮินดู ที่สืบทอดมาจากชาวดราวิเดียน ชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในอินเดียตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งมีจุดเด่นในการวางผังเมือง การตัดถนนเป็นตารางและสร้างด้วยอิฐ และการทำท่อระบายน้ำอย่างเป็นระบบ แสดงให้เห็นว่าชนเผ่าดราวิเดียนมีความรู้ด้านเรขาคณิต และมีการจัดการระบบที่อยู่อาศัยและสุขาภิบาล ที่จัดว่ามีความก้าวหน้ามากกว่ายุโรปในยุคเดียวกัน ซึ่งซากปรักหักพังที่ค้นพบในเมืองฮัมปีนั้นยังคงความงามของวัดและพระราชวังที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรวิชัยนครในอดีตได้เป็นอย่างดี องค์การยูเนสโกจึงได้ยกให้เมืองฮัมปีเป็นมรดกโลกในค.ศ. 1986

 

(ที่มารูปภาพ : http://www.mysteryofindia.com)