Wabi Sabi Décor : ความงามที่ไม่สมบูรณ์แบบ
“วะบิ สะบิ” Wabi-sabi (侘寂) คือหนึ่งในปรัชญาแห่งการดำรงชีวิตที่ฝังรากลึกอยู่ในจิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่น กล่าวอย่างรวบรัด วะบิ สะบิ คือสุนทรียภาพอันเรียบง่าย สมถะ ไม่ยึดติดในความสมบูรณ์แบบ
digsdigs.com
ชื่นชมอย่างเต็มใจในริ้วรอยและความผุกร่อนของสรรพสิ่งที่เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา ยอมรับและยินดีในความสันโดษด้วยจิตอันสงบ เยือกเย็น
Cr. mammachecasa.com
นานวัน เมื่อผู้คนต่างวัฒนธรรมในโลกตะวันตกได้พบเห็น ซึมซับ เกิดเป็นความประทับใจ กระทั่งกลายเป็น “เทรนด์” ที่ได้รับความนิยมทั่วโลกต่อเนื่องยาวนาน มีรายการโทรทัศน์ผลิตสารคดีที่ตามหาความหมายของ วะบิ สะบิในสังคมญี่ปุ่น นักเขียนตะวันตกมากมายออกเดินทางค้นหาวะบิ สะบิ และนำมาปรับใช้ มีหนังสือหลายต่อหลายเล่มที่นักเขียนชาวต่างชาติเขียนถึงแก่นของความเป็นวะบิ สะบิ แม้แต่แวดวงงานดีไซน์ สื่อหลายแขนงยังยกให้วะบิ สะบิ เป็นแรงบันดาลใจสำคัญ อาทิ www.italianbark.com เว็บไซต์ที่นำเสนอการออกแบบตกแต่งของอิตาลี ชี้ว่า Wabi Sabi เป็น INTERIOR TRENDS แห่งปี 2018 , งาน Milan Design Week 2018 มีเฟอร์นิเจอร์สไตล์ Wabi Sabi ได้รับความสนใจอย่างมาก นอกจากนี้ วะบิ สะบิ ยังถูกนำไปปรับใช้และแทรกตัวอยู่ในงานตกแต่งสไตล์ Loft, Industrial, Rustic, Minimal หรือแม้แต่การตกแต่งสไตล์ Contempolary, Luxury บทความนี้จะพาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักกับจิตวิญญาณของวะบิ สะบิ และเรื่องราวเล่าขานที่สืบต่อมายาวนาน เป็นแรงบันดาลใจส่งต่อมายังคนรุ่นหลังตราบทุกวันนี้
เรียบง่ายอันงดงาม ในแบบ “วะบิ สะบิ”
ไดเซ็ทสึ สุซุคิ (Daisetz T.Suzuki 鈴木 大拙 貞太郎 ) นักเขียนและพระเซนคนสำคัญ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ. 1870 – 1966 บันทึกหลักการเกี่ยวกับ วะบิ สะบิ ไว้ ในหนังสือ Zen and Japanese Culture ที่ผู้นิยมสุนทรียภาพแนวนี้ยึดถือเป็นแนวทางเรื่อยมา
ในทางนามธรรม วะบิ คือความเบิกบานในใจแม้ในท่ามกลางความยากไร้ ขาดแคลน ในแง่หนึ่งสะท้อนถึงความไม่ยึดติด สิ่งต่างๆ ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ เช่นเดียวกับชีวิต ที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบเสมอไป ในความยากจน ยากไร้ ความขาดแคลนและสันโดษนั้นเปี่ยมไปด้วยความงาม เพราะเป็นภาวะที่ช่วยให้ตระหนักถึงตัวตนของตนเองได้ดีที่สุด เมื่อแยกจากการยึดติดในวัตถุหรือทรัพย์สมบัติ
ไดเซ็ทสึ สุซุคิ ถือว่า “สะบิ” เป็นหนึ่งในสี่ขององค์หลักแห่งจิตวิญญาณเซนที่ประกอบด้วย ความประสานสัมพันธ์ ความเคารพ ความบริสุทธิ์ และความสงบ นอกจากนี้ สะบิ ยังมีความหมายที่ตรงกับคำว่า สันติ ในภาษา สันสกฤติ บางนัยเมื่อนำมาใช้ในทางพุทธศาสนา สะบิ ยังครอบคลุมความหมายถึงนิพพาน
หลักสำคัญแห่งวะบิ สะบิ
เมื่อนำมาใช้ในการสร้างสรรค์งานศิลปะอันเปี่ยมด้วยสุนทรียภาพนั้นสุซุคิเน้นให้เห็นความสำคัญว่างานศิลปะหรือสภาวะที่มนุษย์จงใจสร้างขึ้นตามแนวทางนี้ จะต้อง “ปลุก”จิตให้ “ตื่น” และ “เข้าถึง” ความงามแห่งเนื้อแท้ในความไม่สมบูรณ์แบบ ความไม่ยึดติดในวัตถุ นำพาจิตให้สงบและเข้าถึงความงามแห่งความเรียบง่ายที่ไม่สมบูรณ์แบบนั้น
ศาสตราจารย์ Timon Screech แห่งศูนย์เอเชียและแอฟริกันศึกษา ที่ The University of London เคยให้ความหมายสรุปแก่นแท้แห่งวะบิ สะบิ ไว้อย่างน่าสนใจว่าจิตวิญญาณแห่งวะบิ สะบิ นั้น แท้แล้วคือการชี้ให้เห็นถึงกฏ “ไตรลักษณ์” อันเป็นหลักคำสอนสำคัญของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่นคือ หลักแห่งความไม่เที่ยง อันประกอบด้วย อนิจจัง : ความไม่แน่นอน ทุกขัง : สภาพอันทนได้ยาก และ อนัตตา : การไม่ยึดติด ละวางตัวตน ศาสตราจารย์ Timon Screech เห็นว่า วะบิ สะบิ ที่เป็นปรัชญาการดำรงชีวิตในแบบพุทธนิกายเซ็นของญี่ปุ่น แฝงหลักสำคัญนี้ไว้ในการดำรงชีวิต หากผู้ใดเข้าถึงความจริงข้อนี้ได้
จิตของผู้นั้นก็จะเกิดปัญญาและตระหนักได้ถึงกฏไตรลักษณ์ที่ปรากฏผ่านสุนทรียภาพแบบวะบิ สะบิ ที่ชื่นชมในความเก่าแก่ตามกาลเวลาของสิ่งต่างๆ ความไม่ยึดติดในวัตถุ พบความสงบในจิตใจตนเอง ชื่นชมความงามได้แม้ในความยากเข็ญ ยากไร้ มีความสงบในจิตใจแม้ชีวิตและสรรพสิ่งรอบกายอาจไม่ได้สมบูรณ์แบบ
วะบิ สะบิ
จึงเป็นสุนทรียภาพที่เกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับการพิจารณาถึงความไม่เที่ยงแท้แห่งสรรพสิ่ง ซึ่งความเป็นอนิจจังนี้ ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า มุโจ ( 無常 mujō )
https://www.tofugu.com/japan/wabi-sabi/
เป็นอิทธิพลที่ได้รับจากพุทธศาสนาแบบ “เซน” ที่ดำรงอยู่อย่างลึกซึ้งในสังคมญี่ปุ่นรวมทั้งเป็นวัฒนธรรมที่เกี่ยวพันกับลักษณะการชื่นชมหรือเสพสุนทรียภาพแบบ โมโนะโนะอะวะเระ
mono no aware 物(もの)の 哀(あわ)れซึ่งหมายถึง ความเศร้าสร้อยของสรรพสิ่ง อันเป็นวัฒนธรรมของการชื่นชมสรรพสิ่งที่อยู่คู่กับกับชาวญี่ปุ่นมาเนิ่นนานนับแต่โบราณกาล พร้อมกับความเชื่อที่ว่าทุกสิ่งในธรรมชาติล้วนมีความรู้สึก ไม่ว่าสายน้ำ ก้อนหิน ต้นไม้ อันเป็นรากที่ฝังลึกในวัฒนธรรมของศาสนาชินโตที่เชื่อว่าธรรมชาติมีชีวิตจิตใจ กลายเป็นความดื่มด่ำชื่นชมในความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งที่ผันเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ขณะเดียวกันแฝงไว้ด้วยความอาวรณ์ที่มนุษย์ไม่อาจเหนี่ยวคว้าหรือยึดติดสิ่งใดๆ ไว้ได้เลย เช่นวัฒนธรรมการชมซากุระของชาวญี่ปุ่น นอกจากชื่นชมความงามและการเติบโตตามกาลเวลา ยังมีจุดมุ่งหมายในแง่หนึ่งเพื่อเข้าถึงสัจธรรมข้อนี้
( ภาพโดย : Miss Vagabond )
สุนทรียภาพแห่งวะบิ สะบิ จึงหลอมรวมขึ้นจากทั้งแก่นแห่งเซนและการชื่นชมในความไม่จีรังที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมแบบโมโนะโนะอะวะเระ แต่ วะบิ สะบิ แปรเปลี่ยนจากความเศร้าสร้อยอาวรณ์ เป็นจิตที่ตื่นขึ้นกระทั่งพบความสงบจากการพิจารณาความไม่จีรัง มองเห็นความงามในความไม่สมบูรณ์แบบ
https://www.cb2.com/blog/zen-decorating-ideas/
ตระหนักถึง “แก่นแท้”
Sen no Rikyū โดย Hasegawa Tōhaku : wikipedia
หากจะมีเหตุการณ์ใดที่อธิบายถึงสุนทรียภาพหรือ “แก่น” ของวะบิ สะบิ ได้เป็นรูปธรรมและเห็นภาพชัดเจน ครอบคลุมถึงหลักการและองค์ประกอบต่างๆ แล้วล่ะก็ เหตุการณ์นั้น คือการพบปะระหว่างปรมาจารย์แห่งพิธีชงชา เซน โนะ ริคิว
( Sen no Rikyū 千利休 มีชีวิตอยู่ในช่วง ปี ค.ศ.1522 – 1591) และไดเมียวโตโยโตมิ ฮิเดโยชิ ( Toyotomi Hideyoshi 豊臣 秀吉 เป็นขุนศึกคนสำคัญในยุครวบรวมญี่ปุ่นจากแคว้นต่างๆ ให้เป็นชาติ เขามีกำเนิดจากชนชั้นชาวนาก่อนก้าวขึ้นเป็นซามูไรกระทั่งเป็น ไดเมียวคนสำคัญ และได้รับการแต่งตั้งเป็น “คัมปะกุ” (関白) หรือผู้สำเร็จราชการขององค์จักรพรรดิ ฮิเดโยชิมีชีวิตอยู่ ในช่วงค.ศ. 1537-1598
มีเรื่องราวเล่าขานว่า ในยุคอะสึชิ โมโมยาม่า เมื่อราว 400 กว่าปีก่อน วันหนึ่ง ฮิเดโยชิ ผู้หลงใหลความหรูหราฟุ่มเฟือย มาเยือนกระท่อมชาของเซนโนะ ริคิว ด้วยความหวังว่าจะได้รับการต้อนรับอย่างดีเยี่ยม
ได้จิบชาท่ามกลางบรรยากาศที่ตระเตรียมไว้เลิศหรูสมเกียรติของผู้สำเร็จราชการแห่งองค์จักรพรรดิ ทว่า เขากลับได้รับการ “เตือนสติ” จากริคิว และตระหนักถึงความสงบเรียบง่ายอันแท้จริง ผ่านองค์ประกอบต่างๆ ที่สะท้อนถึง วะบิ สะบิ ซึ่งล้วนตรงข้ามและผิดแผกไปจากพิธีชงชาในแบบชนชั้นสูงที่ฮิเดโยชิคุ้นชินและคาดหวังว่าจะได้รับ ไม่ว่าสวนที่ไร้ดอกไม้ ทางเดินสู่เรือนชา เครื่องใช้ไม้สอย บรรยากาศภายในกระท่อมชา ทุกองค์ประกอบล้วนตรงข้ามกับพิธีชงชาอันหรูหราของชนชั้นสูงหรือราชวงศ์
Toyotomi Hideyoshi : wikipedia
ภายในห้องจิบชาขนาดเพียงสองเสื่อตะตะมิ ก่อสร้างด้วยไม้และฉาบผนังด้วยดินอย่างเรียบง่าย เครื่องใช้ไม้สอยเก่าคร่ำ กาน้ำร้อนที่ริคิวนำมาใช้เพื่อต้อนรับฮิเดโยชิ เป็นเพียงกาน้ำร้อนทำด้วยโลหะเก่าๆ ที่ผ่านการใช้งานมานาน ไม้ตักชาเป็นเพียงไม้ไผ่ธรรมดา กระทั่งถ้วยชาสีเข้มที่นำมาต้อนรับฮิเดโยชิจากฝีมือช่างปั้นเลื่องชื่อ นามระคุ โชจิโร นั้น ริคิวก็ได้ขอให้โชจิโรปั้นขึ้นตามหลักสุนทรียะแห่งวะบิ คือความงามที่สะท้อนถึงความไม่สมบูรณ์แบบไม่ปรุงแต่งมากนัก ขอบถ้วยไม่มีการปรับให้เรียบ เมื่อริมฝีปากจรดจะสัมผัสได้ถึงผิวอันดิบหยาบ
ถ้วยชาระคุ ฝีมือโจะจิโระ ปั้นตามแนวทาง วะบิ ของ ริคิว Cr.raku-yaki.or.jp
ถ้วยที่ปั้นขึ้นโดยระคุ
โชจิโร่จึงแสดงถึงแก่นแท้แห่งวะบิและได้รับการยอมรับว่าเป็นถ้วยชาที่เปี่ยมด้วยสุนทรียะและได้รับการเรียกขานว่าถ้วยแบบระคุ บ้างก็เห็นริ้วรอยอุ้งมือช่างปั้นปรากฏบนถ้วย
ถ้วยระคุที่โชจิโรสร้างขึ้นตามแนวทางแห่งวะบินี้ เป็นการสร้างสรรค์ร่วมกันของเขาและริคิว ที่มุ่งนำพาจิตผู้ดื่มชาให้สัมผัสได้ถึงความสงบและเรียบง่าย
เนื่องจากในสมัยอะสึชิ โมโมยาม่า ซึ่งเป็นช่วงที่ริคิว ฮิเดโยชิ และระคุ โชจิโร มีชีวิตอยู่นั้น พิธีดื่มชาที่เดิมทีได้รับอิทธิพลจากภิกษุนิกายเซน ได้รับความสนใจอยากแพร่หลาย กลายเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะ ปรัชญา เกิดชาโนยุ หรือ วิถีแห่งชา ที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่งในหมู่ชนชั้นสูง นักรบและพ่อค้าที่ร่ำรวย เครื่องใช้ต่างๆ ในพิธีชงชา ล้วนถูกซื้อหาจากต่างแดนและประดับประดาด้วยสิ่งอันหรูหรา โดยเฉพาะถ้วยชาที่สวยงามเป็นหนึ่งในสิ่งที่ชนชั้นสูงและผู้มีฐานะใน ยุคนั้นต่างแสวงหา
แจกันกระบอกไม้ไผ่ของริคิว : wikipedia
ความหรูหราฟุ่มเฟือยนี้ สะท้อนได้จากในช่วง ปี ค.ศ.1585-1586 ฮิเดโยชิมีคำสั่งให้ริคิวจัดสร้างห้องชาที่ปิดด้วยทองคำทั้งหลัง เพื่อรับเสด็จสมเด็จพระจักรพรรดิโอะกิมะจิ โดยฮิเดโยชิเองทำหน้าที่เป็นผู้ชงชา
ถ้วยระคุอันเรียบง่ายนี้ จึงโน้มนำฮิเดโยชิให้เข้าถึงความงามอันปราศจากการปรุงแต่ง ตระหนักถึงความงามอันจริงแท้ที่มิได้ขึ้นอยู่กับรูปลักษณ์ภายนอก
ปลุก “จิต” ให้ “ตื่น” และ “สงบ”
นับแต่ทางเดินผ่านสวนที่ไร้สีสันสดสวย กระทั่งก้าวเข้าสู่ห้องชา พบกับเครื่องใช้ไม้สอยอันเก่าคร่ำ เรียบง่าย กระบอกไม้ไผ่ที่แสนธรรมดา ถูกนำมาใช้เป็นแจกัน ปักด้วยดอกผักบุ้งเพียงหนึ่ง ประดับไว้ในเงาสลัวรางของโตโกโนม่า ถ้วยชาที่ขอบถ้วยไร้การปรับแต่งให้เรียบ องค์ประกอบทั้งหลายทั้งปวงที่ริคิวจงใจนี้ กล่าวกันว่าได้นำพาให้จิตของฮิเดโยชิ ตระหนักถึงความงามอันจริงแท้ที่ดำรงอยู่อย่างปราศจากสิ่งหรูหราใดๆและเข้าใจถึงเจตจำนงอันแท้จริงของริคิว ฮิเดโยชิเข้าถึงและดื่มด่ำกับสุนทรียภาพแห่งวะบิ สะบิ ในครั้งนั้น ถึงขั้นเขียนกลอนไฮกุขึ้น เพื่อบันทึกถึงห้วงเวลาอันเปี่ยมด้วยความหมายนี้
Wabi Sabi Decor
จากความหมายที่นักวิชาการตะวันตกกล่าวมา รวมถึงหลักการที่สุซุคิเขียนไว้ รวมทั้งตัวอย่างจากสุนทรียภาพที่ริคิวมอบให้ฮิเดโยชิ เหล่านี้เปรียบเสมือนแนวทางที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ทุกยุคสมัย สำหรับผู้ที่นิยมหรือสนใจสุนทรียภาพแห่งวะบิ สะบิ เพราะริคิวได้กระทำทุกอย่างให้ปรากฏเป็นรูปธรรมที่ทุกคนสามารถเข้าถึง จับต้องได้ สุนทรียะของความไม่สมบูรณ์แบบ เหล่านี้ ล้วนนำมาปรับใช้กับการออกแบบตกแต่งได้หลากหลายสำหรับผู้ที่ต้องการขับเน้นสุนทรียภาพแบบวะบิ สะบิ ดังตัวอย่างเล็กน้อยที่เรานำมาให้ชมในวันนี้ค่ะ
พื้นผิววัสดุต่างๆ ที่แสดงถึงความเก่าตามกาลเวลา
เช่น ผนังไม้ ปูนหรืออิฐที่ผุกร่อน แสดงให้เห็นเนื้อผิวตามธรรมชาติ
101 Copenhagen www.italianbark.com
https://www.artilleriet.se/en/start
http://architekturawnetrz.pl/
www.italianbark.com
https://shinteriors.blog
ดอกไม้ กิ่งไม้ หรือต้นไม้ ปักไว้ในแจกันหรือกระถางโดยปล่อยให้เหี่ยวแห้งไปตามธรรมชาติ : สื่อถึงความไม่จีรัง ขณะที่รูปทรงภาชนะของแจกันหรือกระถาง นอกจากสะท้อนความเรียบง่าย แสดงถึงรูปทรงที่ไม่สมบูรณ์แบบแล้ว ควรขับเน้นความงามตามรูปทรงธรรมชาติของต้นไม้ดอกไม้ที่นำมาประดับให้โดดเด่นยิ่งขึ้น
www. ilariafatone.com
www. ilariafatone.com
www.elledecor.com
https://www.decor8blog.com
https://www.cb2.com/blog/zen-decorating-ideas/
บรรยากาศ
ผลงานการออกแบบตกแต่งภายใต้แนวคิด วะบิ สะบิ โดยสถาปนิกชาวยูเครน Sergey Makhno
https://www.yatzer.com/wabi-sabi-apartment-sergey-makhno
แสงที่สลัวช่วยสร้างบรรยากาศแห่งความสงบในใจและการสร้าง “พื้นที่ว่าง” ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักสำคัญของการทำสมาธิ ทำจิตใจให้สงบ เนื่องจากวะบิ สะบิ เป็นวัฒนธรรมที่ผูกโยงกับเซน การมีพื้นที่ที่ช่วยโน้มนำจิตให้สงบ จึงเป็นส่วนสำคัญไม่น้อย
นอกจากนี้ วะบิ สะบิ ให้ความสำคัญกับความสะอาดอย่างยิ่ง แม้ในท่ามกลางความผุกร่อน สรรพสิ่งต่างๆ ที่รายรอบอาจไม่สมบูรณ์แบบ แต่ วะบิ สะบิ เน้นการดูแลพื้นที่อาศัยให้สะอาดด้วย อุปมาเหมือนการชะล้างมลทินในจิตให้สะอาด แม้แต่ในกระท่อมชาอันเรียบง่ายและเก่าคร่ำของริคิวนั้น ความสะอาด ปราศจากฝุ่นผงนับเป็นหนึ่งในสิ่งที่ริคิวให้ความสำคัญ เรื่องความสะอาด ปราศจากฝุ่นนี้ ปรากฏอยู่ในบันทึกคำสอนของริคิวว่าด้วยเรื่องวะบิ ซึ่งศิษย์ของท่านเป็นผู้บันทึกไว้
www.italianbark.com Axel Vervoordt
101 Copenhagen
สุดท้าย อย่าลืมว่าสุนทรียภาพแห่งวะบิ สะบิ นั้นเน้นความเรียบง่าย ความเป็นธรรมชาติของวัสดุต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต้องมีรูปทรงสมบูรณ์แบบ และเฟอร์นิเจอร์ที่นำมาใช้กับการตกแต่งแนวนี้ อาจเน้นที่วัสดุจากธรรมชาติ อาทิ ไม้ ดิน ผ้าทอ ผ้าฝ้าย แม้แต่ภาชนะที่ใช้ เน้นวัสดุที่ทำจากธรรมชาติเป็นหลัก อาทิ ไม้หรือหิน เครื่องปั้นดินเผา เซรามิกที่มีรูปทรงเฉพาะตัว สะท้อนรูปลักษณ์ของความเรียบง่าย ไม่ยึดติดในรูปแบบความงามตามขนบทั่วไป
หากเข้าใจถึงแก่นของวะบิ สะบิแล้ว หวังว่าคุณผู้อ่านจะสนุกกับการลองนำไปปรับใช้กับการออกแบบตกแต่งในสไตล์ของคุณเองนะคะ ลองหยิบจับนำเครื่องเรือนเครื่องใช้เก่าๆ มาจัดวางตามแนวทางที่ว่ามา ก็ช่วยสร้างบรรยากาศดีๆ ให้พื้นที่ในบ้านได้โดยไม่ต้องซื้อใหม่ให้สิ้นเปลืองด้วยค่ะ
*หมายเหตุ
(ระคุ โชจิโร่ ผู้วางรากฐานสำคัญให้แก่ถ้วยชาตระกูลระคุที่ได้รับการยอมรับว่าสะท้อนถึงความงามอันเป็นแก่นแท้ คือความงามที่เรียบง่าย เป็นชาวเกาหลีที่อพยพมาตั้งรกรากยังญี่ปุ่น เป็นทายาทรุ่นที่ 2 แห่งตระกูล Raku ตระกูลที่สืบทอดการปั้นถ้วยชาจากรุ่นสู่รุ่น ถ้วยชาของตระกูลระคุเป็นภาชนะดินเผาที่ขึ้นรูปด้วยมือ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ เมื่อเคลือบด้วยสารเหล็กจะได้ถ้วยชาที่มีผิวสีดำ เรียกว่า โอกุโระ หากเคลือบด้วยน้ำยาเคลือบขาวจะได้ถ้วยชาผิวออกสีสนิมหรือสีออกแดง ถ้วยชาที่ริคิวให้โชจิโร่ปั้นขึ้นในพิธีดื่มชากับฮิเดโยชิ เป็นถ้วยสีดำในแบบโอกุโระ
โชจิโร่เสียชีวิตในปี ค.ศ.1589 แต่ถ้วยที่เขาปั้นขึ้นด้วยแนวคิด”วะบิ” ของ เซน โนะ ริคิว เปรียบเสมือนต้นแบบที่ส่งต่อเอกลักษณ์ทางจิตวิญญาณมายังถ้วยระคุทุกรุ่น ตราบกระทั่งปัจจุบัน แม้จะมีเทคนิคการเผา การเคลือบและสีสัน ใหม่ๆ ถูกนำมาใช้ แต่แก่นแท้ของความงามอันเรียบง่ายยังคงดำรงอยู่อย่างเด่นชัด )
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.tofugu.com/japan/wabi-sabi/
หิมะ พระจันทร์ ดอกไม้ สวนญี่ปุ่น :
ชัยยศ อิษฐ์วรพันธุ์ สำนักพิมพ์สารคดีภาพ
ประวัติศาสตร์ศิลปะญี่ปุ่น
: มาลินี คัมภีรญาณนนท์ คณะโบราณคดี
มหาวิทยาลัยศิลปากร
Wabi-Sabi Welcome : Julie Pointer Adams
www.italianbark.com
https://www.decor8blog.com/blog/2018/2/19/wabi-style-style-in-10-steps
https://www.yatzer.com/wabi-sabi-apartment-sergey-makhno
www.raku-yaki.or.jp
The art of wabi-sabi
https://www.ilariafatone.com