ตั้งแต่ในอดีต ‘สายน้ำ’ มีประโยชน์กับมนุษย์เราในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะกิน ดื่มหรือใช้ และนอกจากนี้ในอดีตนั้น ‘แม่น้ำ’ ยังมีไว้เพื่อป้องกันบ้านเมืองจากศัตรูรอบข้างในยุคสมัยสงคราม เพื่อไม่ให้บุกเข้ามาถึงตัวเราได้ง่ายๆ อีกด้วย
แต่ในยุคสมัยถัดมาที่โลกพัฒนามาจนถึงยุคที่แทบจะไม่มีสงครามแบบในปัจจุบันแล้ว นอกจากสายน้ำจะมีเพื่อการใช้ประโยชน์และสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตประจำวันของเราๆ แล้ว มันยังถูกใช้เพื่อ ‘ความสวยงาม’ อีกด้วย
แล้วเจ้า ‘ความสวยงาม’ เนี่ย หมายความว่ายังไงน่ะหรือ?
แทนที่จะอธิบายเป็นตัวอักษรเรียงความยาวๆ เราไปดูตัวอย่างให้เข้าใจง่ายขึ้นกันเลยดีกว่าค่ะ
Falling Water House โดย แฟรงก์ ลอยด์ ไรต์
(Photo Credit : http://glkcreative.com/blog/2009/11/photographing-fallingwater/)
บ้านที่ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติแห่งนี้ตั้งอยู่ในรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการเอา ‘บ้าน’ ไปตั้งอยู่บน ‘น้ำตก’ โดยแฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ผู้ออกแบบบ้านหลังนี้ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบบ้านมาจากการที่เขาต้องการจะสร้างให้เกิดความกลมกลืนกันระหว่าง ‘งานสถาปัตยกรรม’ ‘คน’ และ ‘ธรรมชาติ’ ซึ่งมันก็ออกมาสำเร็จด้วยดี ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศดีๆ ที่เดินออกมาก็ได้สัมผัสกับธรรมชาติ ป่าไม้และน้ำตก หรือแม้แต่การออกแบบเพื่อดึงน้ำเข้าไปใช้ในส่วนของห้องนั่งเล่นของตัวบ้านก็ทำให้ทั้งคน ธรรมชาติและงานสถาปัตยกรรมกลายเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างสมบูรณ์
แฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ เป็นสถาปนิกคนแรกที่ดีไซน์บ้านที่สัมผัสใกล้ชิดกับธรรมชาติแบบนี้ ดังนั้นมันย่อมมีปัญหาที่เขาไม่คาดคิดว่าจะเกิดตามมา เช่น น้ำตกที่ดังกระทบตัวบ้านตลอดเวลาจนทำให้บ้านไม่สงบ ปัญหาน้ำกัดเซาะโครงสร้างและภายหลังที่มีปัญหาเรื่องความชื้นจากน้ำที่รั่วซึมเข้าไปตามรอยต่อของโครงสร้างซึ่งสึกหรอไปตามอายุขัยของบ้านที่นับได้ราวๆ 80 ปีแล้ว
Water/Glass โดย เคนโกะ คุมะ
(Photo Credit : https://www.pinterest.com/lauradivenere/japan/?lp=true)
Water/Glass เป็น Private Guest House ที่ตั้งอยู่ในเมืองอาตามิ ประเทศญี่ปุ่น ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก ดังนั้นเคนโกะ คุมะ ภายใต้แนวคิดที่ว่า ‘งานสถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่ช่วยเชื่อมต่อให้ ‘คน’ ได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น จึงดีไซน์ห้องรับประทานอาหารทรงวงรีที่ยื่นออกไปอยู่ท่ามกลางสระน้ำภายในอาคารให้คล้ายเป็นเกาะลอยน้ำเล็กๆ ทั้งเพื่อความเป็นส่วนตัวระหว่างดื่มด่ำกับการทานอาหารและเพื่อที่จะสามารถมองเห็นวิวสวยๆ รอบด้านได้เต็มที่ผ่านกระจกใสที่ล้อมอยู่รอบๆ ‘น้ำ’ ที่อยู่ระหว่างห้องรับประทานอาหารและผนังกระจกของอาคารยังเป็นตัวแทนของมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของความรู้สึกระหว่างห้องรับประทานอาหารนี้กับวิวภายนอกอีกด้วย
“The Oval” at Benesse Art Site Naoshima โดย ทาดาโอะ อันโดะ
(Photo Credit : http://www.admagazine.ru/arch/53711_arkhitektura-na-vode.php#artheader)
เกาะนาโอชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นเกาะที่อุดมไปด้วยธรรมชาติและงานศิลปะ และ The Oval ที่ตั้งอยู่บนเกาะนั้นก็มีความพิเศษกว่าอาคารอื่นๆ เพราะนอกจากจะเป็นสถานที่จัดงานศิลปะแล้ว ที่นี่ยังเป็น ‘ที่พัก’ สำหรับแขกที่มาท่องเที่ยวและต้องการจะเพลิดเพลินไปกับงานศิลปะยามค่ำคืน
ห้องพักจำนวนหกห้องถูกออกแบบล้อมรอบสระน้ำทรงวงรีดังที่เห็นในภาพ เมื่อมองออกไปข้างนอกแล้วก็จะเห็นวิวธรรมชาติและมหาสมุทรและมองเข้ามาข้างในก็จะได้ความรู้สึกที่คล้ายกันเมื่อเห็นน้ำและท้องฟ้าที่นิ่งสงบ ส่วน The Oval ตรงกลางนี้นอกจากจะใช้เพื่อต่อเนื่องความรู้สึกของข้างนอกกับข้างในของอาคารแล้ว ยังเป็นงานศิลปะยักษ์ใหญ่อีกชิ้นหนึ่งที่ ทาดาโอะ อันโดะ ตั้งใจให้มันสะท้อนธรรมชาติทั้งต้นไม้และท้องฟ้ามาอยู่บนผืนน้ำราวกับเป็นภาพวาดที่มีชีวิต โดยทุกวันภาพที่สะท้อนก็จะเปลี่ยนไม่ซ้ำกัน เรียกได้ว่าเป็นงานศิลปะที่มองกี่ครั้งก็ไม่มีวันเบื่อเลยจริงๆ ค่ะ
Beijing’s National Center for Performing Art โดย พอล อังเดรย์
(Photo Credit : https://www.flickr.com/photos/coolbiere/33645320544/)
Beijing’s National Center for Performing Art เลือกที่จะใช้การสะท้อนอาคารเป็นส่วนหนึ่งของงานดีไซน์ โดยสถาปนิกเลือกที่จะตั้ง ‘โดมครึ่งวงรี’ บนผืนน้ำเพื่อสะท้อนอาคารนี้ลงมาอีกครึ่งหนึ่งทำให้เกิดเป็นเป็นภาพของอาคารทรงไข่ หรือที่เรียกกันว่า The Giant Egg ซึ่งได้กลายมาเป็นอาคารสัญลักษณ์อีกแห่งหนึ่งที่ผู้ที่ไปเยือนปักกิ่งควรไปเยี่ยมชม
หากบอกว่า The Oval เป็นงานศิลปะที่มีชีวิตแล้ว Beijing’s National Center for Performing Art เองก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน เพียงแต่ศิลปะภาพนี้จะมีโรงละครแห่งชาติปักกิ่งนี้เป็นองค์ประกอบหลักแล้วเปลี่ยนฉากหลังท้องฟ้าไปตลอดเวลาแทน
Yeosu Water Pavilion, South Korea โดย แดเนียล วาลล์
(http://www.designboom.com/architecture/daniel-valle-architects-water-pavilion-expo-2012-yeosu-south-korea-03-18-2016/)