First impression หรือความประทับใจแรกพบที่ดีต่อสินค้าหรือบริการแก่ลูกค้า สิ่งนี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่หลาย ๆ แบรนด์ชั้นนำทั่วโลกให้ความสำคัญ ซึ่งนอกเหนือจากความรู้สึกประทับใจแล้ว ยังทำให้แบรนด์นั้น ๆ ซื้อใจลูกค้าได้มากเกินกว่าครึ่ง แต่ในยุคปัจจุบันที่ลูกค้ามีความเป็น Loyalty ต่อแบรนด์น้อยลงเพราะผู้บริโภคเปรียบเทียบราคาได้ง่ายและสะดวกในการซื้อสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต ทำให้หลาย ๆ แบรนด์ชั้นนำต้องสร้างงานสถาปัตยกรรม เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคเดินเข้าร้านค้ามากยิ่งขึ้น
Façade
การออกแบบสถาปัตยกรรม นอกจากภายในที่ออกแบบให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้ดีแล้ว “Façade” หรือ “ฟาซาด” เมื่อแปลตามรากศัพท์ภาษาฝรั่งเศสหมายถึง โฉมหน้า พอนำมาใช้เป็นคำศัพท์งานสถาปัตยกรรม ก็ให้ความหมายที่กระชับคือ ด้านหน้าอาคารที่มองเห็นได้ชัดเจน ก็มีส่วนสร้างความประทับใจแรกพบระหว่างคนกับสถาปัตยกรรม และมีส่วนสะท้อนภาพลักษณ์ออกมาได้เช่นกัน ซึ่งสถาปัตยกรรมที่ตอบคำถามนี้ได้ดีประเภทหนึ่งคงจะเป็น “Flagship Store” หรือ ร้านค้าโดยเฉพาะสินค้าแบรนด์เนม ที่ส่วนใหญ่จะสร้างความพิเศษให้กับหน้าตา โดยออกแบบ Façade ที่เน้นการใช้วัสดุที่จะช่วยสะท้อนภาพลักษณ์ที่ดีของร้านออกไปสู่สายตาผู้คน ที่สร้างความพิเศษให้กับอาคารได้อย่างน่าสนใจ และนำเสนอเอกลักษณ์ของแบรนด์ผ่านการออกแบบ
Flagship Store เป็นร้านค้าที่เน้นสื่อสารและสร้างประสบการณ์ของแบรนด์กับลูกค้าว่า ที่นี่มีสินค้าครบทุกแบบ ทุกสี ทุกขนาด บริการทุกประเภท พนักงานก็ต้องคัดและฝึกกันเป็นพิเศษ ร้าน Flagship จึงเป็นเสมือนความหวังและตัววัดความสำเร็จของแบรนด์ ดังนั้นการเปิดร้าน Flagship แต่ละสาขาจะใช้เงินลงทุนสูงมาก เราจึงมักจะเห็นแบรนด์ไปเปิดร้าน Flagship กันในเมืองใหญ่เท่านั้น เพราะกำลังซื้อเยอะโอกาสการขายมีมากกว่า
Flagship Store ที่มีอยู่ในปัจจุบันก็มีความสวยงามและโดดเด่นไม่เหมือนกัน อยู่ที่แต่ละแบรนด์จะสื่อสารผ่านรูปลักษณ์อาคารนี้ออกมาอย่างไร อาจจะอิงประวัติศาสตร์แถวบริเวณที่ร้านค้าตั้งอยู่ หรือจะออกแบบให้ฉีกไปจากวัฒนธรรมรอบข้าง ก็ล้วนแล้วแต่สร้างสีสันและความพิเศษให้กับตัวอาคารได้อย่างน่าสนใจ และนำเสนอเอกลักษณ์ของแบรนด์ผ่านการออกแบบครับ
MIU MIU store in Aoyama, Japan
อาคาร 720 ตารางเมตร ของนักออกแบบชาวอิตาเลียน Miuccia Prada เป็นผู้มอบหมายให้ Herzog & de Meuron สถาปนิกชาวสวิสเป็นผู้ออกแบบอาคาร สถาปนิกกล่าวว่าคอนเซ็ปต์ที่วางไว้ จะเป็นงานสถาปัตยกรรมแบบผสมผสาน ที่มีความสูงและรูปร่างต่างกันกับตึกอื่น ๆ ในบริเวณนั้นโดยไม่ยึดติดกับประเพณี ประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น
ตัวอาคารมีโครงสร้างทึบแสงสองชั้น ประกอบด้วยซุ้มเหล็กยื่นห่างจากกระจกที่ด้านหน้าอาคารเพียงเล็กน้อย โดยส่วนที่ยื่นออกมานี้ทำหน้าที่เป็นกันสาดโลหะยักษ์ โดยด้านหลังเป็นผนังทองแดง ที่มีความแปลกตาและดูโดดเด่น เมื่อเข้ามาอยู่ในร้านตัวผนังทองแดงก็จะเป็น Background สี Rose Gold เพิ่มความทันสมัย เฟอร์นิเจอร์เลือกใช้เป็นสีเขียวอ่อนให้ความรู้สึกสนุกสนานเวลาเข้าไปเลือกเสื้อผ้าภายในร้าน การตกแต่งด้านในผู้ออกแบบตั้งใจให้รู้สึกเหมือนบ้านมากกว่าห้างสรรพสินค้าครับ
Louis Vuitton Island Maison, Singapore
เป็นร้านสาขาของ Louis Vuitton ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียเลยทีเดียว ด้านในตกแต่งแนวพิพิธภัณฑ์ผสมผสานไปกับร้านขายกระเป๋า สถาปัตยกรรมที่สวยงามราวแก้วคริสตัลแห่งนี้คือ Louis Vuitton Island Maison อีกหนึ่งสถานที่ ที่ตอกย้ำความเจริญในแบบของโลกแห่งอนาคตใน Marina Bay Sands ที่ได้รวบรวมคลังแฟชั่นของ Louis Vuitton เอาไว้อย่างครบครัน ภายใต้การออกแบบของสถาปนิกที่มีชื่อเสียงอย่าง Peter Marino โดยได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวความลึกลับอันแฝงความโรแมนติกของท้องทะเล และประสบการณ์ของนักสำรวจจากมหาสมุทรอันกว้างไกล ด้านในอาคารตกแต่งให้เหมือนห้องโดยสารของเรือ และใช้แผ่นผ้าใบสีขาวมาตกแต่งไว้บนเพดาน เพื่อลดความร้อนจากภายนอกอาคารเนื่องจากใช้เป็นกระจกโดยรอบ พื้นที่ขายสินค้าถูกออกแบบให้มีความอิสระ ไม่ถูกปิดกั้นด้วยผนังใด ๆ
ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือถ้าเข้าไป Louis Vuitton Island Maison ซึ่งเป็นทางอุโมงค์ที่จะได้ชมนิทรรศการที่บอกประวัติความเป็นมาของกระเป๋า Louis Vuitton เป็นการสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ที่ชื่นชอบแบรนด์นี้ได้มากทีเดียว
Crystal House CHANEL Flagship Store, Amsterdam, Netherlands