ถ้าจะให้พูดถึงประเทศที่เป็นอันดับต้นๆ ในเรื่องเฟอร์นิเจอร์ ต้องยกให้ “อิตาลี” เป็นแม่แบบของหลายๆ ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์สไตล์คลาสสิคครองความเป็น “เบอร์หนึ่ง” มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
“อิตาลี” ถือเป็นต้นกำเนิดของการสร้างสรรค์งานต้นแบบเฟอร์นิเจอร์คลาสสิก และเป็นตลาดสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยภายในประเทศมีโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์กว่า 60,000 แห่ง ซึ่งโรงงานเกือบครึ่งหนึ่งมีอายุเกินกว่าศตวรรษ เปรียบเสมือนการชี้ให้เห็นว่า “อิตาลี” เป็นตัวจริงในวงการ “เฟอร์นิเจอร์” ที่คู่ค้าต่างอยากร่วมลงทุนด้วย
เฟอร์นิเจอร์สไตล์คลาสสิก ความงามข้ามการเวลา
ในอดีตนั้นเฟอร์นิเจอร์สไตล์คลาสสิก มักพบเห็นได้จากงานตกแต่งภายในบ้านของเหล่าผู้ดี มีฐานะที่อยู่ในชนชั้นสูง รวมไปถึงพระราชวัง เป็นต้น ต่อมาเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่านและมีการพัฒนาเฟอร์นิเจอร์สไตล์นี้จากรุ่นสู่รุ่น จนเกิดการแพร่ขยายโดยนำไปใช้ในการตกแต่งภายในบ้านพักอาศัยระดับสูงไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศแถบตะวันออกกลาง หรือประเทศในทวีปเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย รวมไปถึงประเทศอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ลาว และไทย
สำหรับงานเฟอร์นิเจอร์สไตล์คลาสสิก นอกจากจะต้องมีความปราณีตเป็นพิเศษแล้ว ช่างแกะสลักยังต้องใช้ความรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการสร้างสรรค์ผลงานเป็นสำคัญอีกด้วย โดยต้องคำนึงถึงสัดส่วนของเฟอร์นิเจอร์ให้เข้ากันกับสรีระของมนุษย์ ในขณะเดียวกันต้องมีความเข้าใจในการเลือกวัสดุที่จะนำมาผลิตด้วยเช่นกัน
จุดเด่นของงานแกะสลักของชาวอิตาลีนั้น ว่ากันว่า “ช่าง” ทุกคน ต่างให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทั้งยังเน้นให้ผลงานที่ออกมาดูมีมิติ ลวดลายคมชัด และมีรูปร่างเสมือนจริงมากที่สุด แม้แต่งานแกะสลักปลีกย่อย ก็ไม่เคยมองข้าม งานเฟอร์นิเจอร์คลาสสิกของชาวอิตาลีจึงทรงคุณค่ากว่าทั่วไป
งานปิดแผ่นทองคำเปลวหรือแผ่นเงิน อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของงานเฟอร์นิเจอร์คลาสสิกจากอิตาลี เพราะถือเป็นส่วนเติมเต็มที่ทำให้งานคลาสสิกมีความหรูหรามากขึ้น โดยลักษณะของงานจะเป็นการเลือกใช้แผ่นทองคำเปลว หรือแผ่นเงิน ซึ่งมีส่วนผสมของทองคำ หรือเงินแท้ มาปิดทับบนชิ้นงานไม้แทนการทาสี ทำให้งานเฟอร์นิเจอร์ดูทรงคุณค่า งดงามหรูหรา และราคาสูงกว่าเฟอร์นิเจอร์จากแหล่งอื่น ที่นิยมทาสีทองปิดผิวแทนการปิดแผ่นทองคำเปลว
นอกจากการแกะสลักและปิดทองคำเปลวแล้ว งานเฟอร์นิเจอร์คลาสสิกของอิตาลียังรวมไปถึงในส่วนของภาพวาดดอกไม้ หรือ ภาพลวดลายเส้น ที่ถูกบรรจงวาดลงบนเฟอร์นิเจอร์ รวมไปถึงอีกหนึ่งวิธีที่ใช้สร้างลวดลายประดับของช่างชาวอิตาลีนิยมกันก็คือ การใช้งานอินเลย์ไม้มาอัดปิดผิว (Press) ลงบนแผ่นไม้นั่นเอง
งานอินเลย์มีต้นกำเนิดมาจากช่างชาวอิตาลี จนพัฒนากลายเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน ซึ่งโรงงานส่วนใหญ่ที่ทำงานอินเลย์จะอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอิตาลี อย่างไรก็ตามในปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกได้นำเทคนิคไปผลิตอินเลย์เอง เช่น สเปน จีน อินโดนีเซีย รวมถึงไทยด้วยเช่นกัน
วิวัฒนาการของวงจรเฟอร์นิเจอร์ในอิตาลี
ลัทธิศิลปะสมัยใหม่ (Modernism) ทางด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ เริ่มต้นเข้าสู่ประเทศอิตาลีครั้งแรกปี 1926 มาพร้อมกับลัทธิศิลปะแบบเหตุผลนิยม (Rationalism) ซึ่งตรงกับยุคเรืองอำนาจของรัฐบาลมุสโสลินี (Mussolini) โดยทางรัฐบาลได้เปิดรับลัทธิศิลปะสมัยใหม่เข้ามาในประเทศ เพราะผลประโยชน์และความสอดคล้องในด้านกระบวนการอุตสาหกรรม แนวทางการดำเนินชีวิต รวมถึงการปฏิรูปทางด้านศีลธรรมของกลุ่มเหตุผลนิยม
ดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียงในยุคนี้ คือ กลุ่ม Gruppo7 ซึ่งมีอาชีพเป็นสถาปนิกทั้งหมด ประกอบด้วย Luigi Figini , Gino Pollini , Giuseppe Terragni เป็นต้น
ในยุคลัทธิศิลปะสมัยใหม่ถือเป็นช่วงที่กลุ่มเหตุผลนิยมและกลุ่มฟาสซิสต์มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน เห็นได้จาก Giuseppe Terragni หนึ่งในสมาชิก Gruppo7 รับออกแบบอาคารและเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดในเมืองโคโม กับผู้นำกลุ่มฟาสซิสต์ เมื่อปี 1934 โดยผลงานส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นงานสถาปัตยกรรมที่เรียกว่าแข็งทื่อ เช่นเดียวกันกับการออกแบบเครื่องเรือนเฟอร์นิเจอร์ที่ได้รับมาจากแนวความคิดเดียวกัน
ผลงานการออกแบบของ Giuseppe Terragni ในเมือง Como
ในเวลาต่อมา Terragni ได้นำท่อเหล็กกลวงมาสร้างสรรค์เป็นชุดโต๊ะและเก้าอี้ที่ Marcel Breuer สถาปนิกและนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ชาวฮังการี สั่งซื้อเป็นจำนวนมากเพื่อนำไปใช้ในงานของสถาบันศิลปะเบาเฮาส์ (Bauhaus) ประเทศเยอรมัน นับเป็นสถานที่ที่งานออกแบบเหล็กกลวงได้รับการต่อยอดและพัฒนามาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 1925 Breuer จึงเปรียบเหมือนผู้นำด้านการออกแบบท่อเหล็กกลวงเหล่าให้แพร่ทั่วยุโรป และนักออกแบบหลายคนอย่าง Le Corbusier และ Eileen Gray ชาวฝรั่งเศสได้นำมาปรับใช้ในงานออกแบบของพวกเขาด้วย
ปี 1930 แนวความคิดเรื่องการนำท่อเหล็กกลวงมาใช้ในงานออกแบบของอิตาลีเริ่มชัดเจนมากขึ้น ในช่วงเวลานั้นอิตาลีขาดแคลนวัตถุดิบไม้ พร้อมทั้งมาตรการอันแข็งกร้าวทางกฎหมายของรัฐบาลมุสโสลินี ทำให้อิตาลีตกอยู่ภายใต้บทบังคับกีดกันทางกฎหมาย ทั้งนี้การออกแบบเฟอร์นิเจอร์จากท่อเหล็กกลวงของ Terragni , Piero Bottoni และ Grabriele Mucchi ได้ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงยุครอยต่อสงคราม แม้ว่าจะไม่เป็นผลสำเร็จเท่าที่ควรในช่วงแรก เนื่องจากในช่วงนั้นการออกแบบเฟอร์นิเจอร์เน้นทางภาคอุตสาหกรรมและให้ความสำคัญกับปริมาณมากกว่า ในท้ายที่สุดกลุ่มเหตุผลนิยมก็เกิดการขัดแย้งกับกลุ่มฟาสซิสต์จนได้ เมื่อมุสโสลินีมีแนวความคิดโน้มไปสู่ความเป็นสากล โดยเริ่มหันมาให้การสนับสนุนศิลปะ สไตล์นีโอคลาสสิกของกลุ่มโนเวเซนโต (Novecento)
ผลงานของ Cassina
ยุคปี 1930 ถึง 1940 ถือเป็นช่วงกำเนิดผู้ผลิตและนักออกแบบของอิตาลีที่มีชื่อเสียงมากมาย แต่ด้วยผลงานที่ยังไม่โดดเด่นมากนัก จนกระทั่งเมื่อปี 1950 จึงเริ่มมีนักออกแบบที่มีชื่อเสียงมากขึ้น เช่น ผลงานของ Cassina และ Fontana Arte ซึ่งนับว่าเป็นใบเบิกทางของวงการเฟอร์นิเจอร์ในอิตาลี
เมื่อเข้าสู่ยุค 1960 ช่วง Mid-Century Modern สไตล์การออกแบบที่ซับซ้อนของชาวอิตาลีได้เริ่มแพร่หลายไปทั่วโลก โดยแนวคิด Bel Designo และ Linea Iiana เข้ามาบัญญัติรูปแบบความเป็นไปได้ในการนำไปใช้งาน แต่ต้องมีดีไซน์ที่สวยงามอย่างเช่นผลงานของ Gio Ponti และ Marco Zanuso
ผลงานของ Marco Zanuso
ต่อมาในปี 1965 ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันในวงการอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เมื่อสหภาพแรงงานได้เรียกร้องให้มีการปรับค่าจ้างและสภาพการค้าส่งออกเริ่มพบกับวิกฤต พร้อมกันกับกลุ่มดีไซเนอร์ที่มีแนวความคิดรสนิยมชื่นชอบความฟุ้งเฟ้อหรูหราได้ตั้งคำถามไปถึงแก่นแท้ของธุรกิจอุสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ นำพาไปสู่การปฏิรูปงานออกแบบของอิตาลี ทำให้เหล่าดีไซเนอร์เริ่มเปลี่ยนแนวทางการออกแบบและนิยมความอภิรมย์ในสิ่งสวยงาม และผลงานศิลปินแนวป็อปอเมริกัน ที่นำพลาสติกมาใช้เป็นวัตถุดิบใหม่ในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในอิตาลีมากขึ้น
สำหรับผู้ให้การสนับสนุน Anti-Design ที่ทรงอิทธิพล คือ Archizoom และ Superstudio กลุ่มสถาปนิกและกลุ่มดีไซเนอร์ที่ก่อตั้งในเมืองฟลอเรนซ์เมื่อปี 1966 โดยการสร้างกลุ่มเฉพาะ เพื่อใช้ชื่อตนเองในการประกาศความเป็นศัตรูกับอีกฝ่ายที่ชอบยึดติดและจำกัดกรอบการออกแบบเดิมๆ
ผลงานของ Joe Colombo
ส่วน Joe Colombo มีความมุ่งมันที่อยากให้งานออกแบบแสดงถึงเสรีภาพทางความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น โดยไม่ยึดติดกับแนวคิดใด งานออกแบบของเขามีรากฐานมาจากแนวทางการออกแบบที่เน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นสำคัญ ของพวกเรชั่น-นัลลิสต์ ที่สำคัญชิ้นงานเขาแสดงให้เห็นถึงความมีดีไซน์ที่แตกต่าง เป็นเชิงสัญลักษณ์ในการคัดค้านการยึดติดกับงานดีไซน์รูปแบบเก่าที่กักขังความคิดสร้างสรรค์ และ Anna Castelli Ferrieri และ Vico Magistretti ก็มีแนวคิดเอนเอียงตามแนวคิดของ Joe Colombo เช่นกัน ทำให้ในยุค 1960 จึงเกิดการใช้พลาสติกเป็นวัตถุดิบออกแบบเฟอร์นิเจอร์อย่างแพร่หลายมมากยิ่งขึ้น และเมื่อสิ้นสุดยุค 1960 ซึ่งเป็นช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจของอิตาลีใกล้จะล่มสลาย ความเป็นเอกภาพและความมั่นใจของวงการอุตสาหกรรม รวมถึงงานออกแบบส่วนใหญ่เริ่มสูญเสียความน่าอภิรมย์ในเชิงสร้างสรรค์ไป จากหลักการของ Bel Designo ซึ่งถูก Anti-Designo ท้าทายนั้น ก่อให้เกิดยุคแห่งความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นบนความสับสนวุ่นวาย พร้อมทั้งช่วยให้อิตาลียังรักษาสถานภาพในฐานะชนชาติยุโรปที่ให้ความสำคัญในแขนงงานออกแบบมากที่สุด
ผลงานของ Alessandro Mendini
ต่อมาในช่วงครึ่งหลังของยุค 1970 กระแสความนิยมในวงการออกแบบเฟอร์นิเจอร์อิตาลีเป็นผลงานของ Alessandro Mendini ที่มีแนวคิดแปลกแหวกแนว โดยแสดงออกมาในงานสไตล์โพสต์โมเดิร์นที่ว่า “ในอนาคตความเป็นโมเดิร์นนิสต์กำลังสู่ขาลง แล้วโลกเราก็จะเป็นอะไรที่กลวงโบ๋ ซึ่งมีแต่ดีไซเนอร์เท่านั้นที่จัดการทุกสิ่งทุกอย่างได้” แต่ผ่านมาไม่นานความคิดเขากลับถูกหักล้างและกลบด้วยแนวความคิดของกลุ่มเมมฟิสกลบ ซึ่งกระแสเฟอร์นิเจอร์สไตล์เมมฟิส(ใส่ลิ้งค์เรื่อง Memphis ไปด้วยค่ะ) ในช่วงตอนต้นยุค 1980 ต่างได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ถือเป็นสัญญาณของการสิ้นสุดของความต่อต้านทางแนวความคิดในวงการออกแบบเฟอร์นิเจอร์อิตาลีที่มีมาตั้งแต่ช่วงปลายยุค 1960
เฟอร์นิเจอร์สไตล์เมมฟิส (Memphis)
เมื่อเข้าสู่ยุค วงการออกแบบเฟอร์นิเจอร์อิตาลี เริ่มเปลี่ยนแปลงจากงานที่เน้นความสวยงาม ตื่นตาตื่นใจ เข้าสู่ยุคของความเป็นอาชีพ (Professionalism) บริษัทเฟอร์นิเจอร์ของประเทศอิตาลีจำนวนมาก ที่เปิดกิจการในช่วงยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงระหว่างยุค 1960 ถึง 1970 เช่น B&B Italia , Poltrona Frau และ Cassina ที่ในเวลานั้นกลายเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จทางการค้า แต่ไม่อยากข้องแวะเกี่ยวกับประเด็นความขัดแย้งทางแนวความคิดนัก จะเหลือแต่ผู้ผลิตไม่กี่องค์กรอย่าง Cappellini และ Edra ที่ยังคงสนับสนุนและผลิตเฟอร์นิเจอร์ในรูปลักษณ์แหวกแนวและสีสันฉูดฉาดอยู่
ผลงานของ Piero Lissoni
สำหรับดีไซเนอร์ที่ประสบความสำเร็จในยุค 1990 ได้แก่ Piero Lissoni และAntonio Citterio ลักษณะงานของทั้งคู่มีสไตล์ซับซ้อนที่ตั้งอยู่บนความแม่นยำ แต่กลับถูกถ่ายทอดออกมาในความเรียบง่ายแบบมินิมอลลิสต์
ผลงานของ Antonio Citterio
เฟอร์นิเจอร์อิตาลีถูกพัฒนามาเรื่อยๆ จนได้รับความนิยมไปทั่วโลกเลยค่ะ เพราะนอกจากความละเอียดของชิ้นงานแล้ว ดีไซน์ที่ถูกเปลี่ยนไปตามยุคสมัยก็สามารถสร้างความสวยงามให้กับบ้านในสไตล์ต่างๆ ได้อย่างกลมกลืน ถึงแม้บางชิ้นจะราคาสูงไปนิด (เสียงสูง**) แต่เชื่อว่าคุณภาพก็ระดับพรีเมี่ยม คุ้มค่าแก่การลงทุนแน่นอนค่ะ
ข้อมูลบางส่วนจาก
บริษัท ลีโอ แองเจลโล จำกัด
The Emperor House บ้านคู่บารมี…ของคุณ แฟนเพจ
รูปภาพจาก pinterest