บนโลกกลมๆ ใบนี้ แสงคือสิ่งจำเป็นอีกอย่างหนึ่งในการดำรงชีวิต ดังนั้นช่วงที่แสงสว่างจากธรรมชาติได้จางไปในเวลามืด มนุษย์จึงพยามสร้างแสงประดิษฐ์ขึ้นเพื่อทดแทน

      ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่19 ที่เหล่านักวิทยาศาสตร์และชายที่ชื่อโทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison)ได้ประดิษฐ์หลอดไฟซึ่งถูกพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นลำดับตามวิวัฒนาการของเทคโนโลยี จวบจนในศตวรรษที่21 หลอดไฟได้ถูกพัฒนาและผลิตออกมานับร้อยแบบแสงสว่างไม่ได้ใช้เพียงในการดำรงชีพอีกต่อไป แต่ถูกนำมาใช้เพื่อความปลอดภัย ความสวยงาม ตลอดจนนำมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะ

 

(credit : http://www.itsnicethat.com)

 

      ในส่วนของการออกแบบตกแต่งภายใน นอกจากวัสดุต่างๆแล้ว แสงถือเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างบรรยากาศให้พื้นที่การใช้งานนั้นๆสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น Lighting Design นั้นกลมกลืนอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของเราแบบที่เราเองก็แทบจะไม่รู้ตัว เช่น การจัดแสงในร้านค้าเพื่อขับให้สินค้าดูโดดเด่น การจัดแสงของร้านอาหาร การจัดแสงเพื่อสร้างบรรยากาศผ่อนคลายในรีสอร์ตเพื่อดึงดูดให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการซ้ำและการจัดไฟตามป้ายโฆษณาต่างๆ เรียกได้ว่าในทุกๆ ที่นั้นมี Lighting Design เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยทั้งสิ้น

      ในบทความนี้เราจะกล่าวถึงอุณหภูมิสีของแสง (Color Temperature) ที่มีส่วนในการกระตุ้นพฤติกรรมของคนคิดว่าหลายๆคนคงจะเคยเดินผ่านร้านอาหารที่นำตัวอย่างอาหารมาจัดวางไว้หน้าร้าน แล้วเกิดความรู้สึกอยากอาหารจนเผลอเดินเข้าร้านทั้งๆ ที่ยังไม่หิว

      นั่นเป็นผลพวงมาจากการจัดแสงไฟที่เน้น Texture และสีสันของสิ่งของต่างๆ เช่น เลือกใช้แสงสีส้มเพื่อขับความน่ารับประทานของอาหารนั่นเองค่ะ

 

ความแตกต่างของบรรยากาศอาคารในแสงธรรมชาติและแสงประดิษฐ์

(credit : http://www.architectureartdesigns.com)

 

      สีของแสงที่ใช้สร้างบรรยากาศนั้น มีศัพท์ทางเทคนิคเรียกว่า “อุณหภูมิสีของแสง” มีหน่วยเป็นเคลวิน(K)โดยที่ยิ่งค่าเคลวินต่ำลงเท่าไหร่ แสงไฟก็จะยิ่งออกโทนร้อน แดง เหลืองและเมื่ออุณภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ แสงจะออกไปในโทนขาวจนถึงฟ้า โดยหลอดไฟที่วางจำหน่ายทั่วไปในปัจจุบันได้แบ่งค่าสีออกเป็นสามช่วงใหญ่ๆ คือ

 

(credit : http://thinkofliving.com)

 

      1. 3000K Warmwhtie(แสงวอร์มไวท์)จะมีค่า K ระหว่าง 2700K ถึง 3000K ค่อนข้างเป็นที่นิยมมากเพราะแสงจะออกไปทางสีส้มที่ให้ความรู้สึกนุ่มนวล ผ่อนคลาย ช่วยให้บรรยากาศภายในห้องดูสงบ มักใช้ในห้องนอน ห้องนั่งเล่นหรือร้านอาหารเพราะว่าแสงสีส้มจะทำอาหารดูน่าทานขึ้น

      2. 4000K Coolwhtie(แสงคูลไวท์)จะมีค่า K ระหว่าง 4000K ถึง 4200Kเป็นโทนสีที่อยู่กึ่งกลางระหว่างแสงวอร์มไลท์กับแสงเดย์ไลท์ ให้แสงที่ดูเย็นสบายตา สว่าง มีชีวิตชีวา สีของวัตถุที่ถูกส่องจะเพี้ยนบ้างเล็กน้อย จึงไม่ควรใช้ในบริเวณพื้นที่แต่งหน้า แต่งตัวเพราะเมื่ออยู่กลางแสงธรรมชาติจะกลายเป็นว่าแต่งหน้าจัดไปแบบไม่รู้ตัว

      3. 6500K Daylight (แสงเดย์ไลท์)จะมีค่า K ระหว่าง 6000K ถึง 6500K ให้แสงที่ดูขาว คล้ายแสงธรรมชาติในตอนกลางวัน เห็นสีของสิ่งต่างๆ ได้อย่างชัดเจนไม่ผิดเพี้ยน ส่วนใหญ่จะใช้กับพื้นที่ต้องการการมองเห็นที่ชัดเจนหรือพื้นที่ที่ต้องการความคล่องแคล่วเช่น ไฟสำหรับโต๊ะแต่งหน้า ไฟสำนักงาน ห้องสมุด และโรงพยาบาล เป็นต้น

 

(credit : https://www.simplelighting.co.uk)

 

       ส่วนลักษณะการใช้แสงไฟในที่อยู่อาศัยนั้นมีหลักอยู่สองประการ คือลักษณะของคุณภาพและลักษณะของการกระจายแสง โดยทั่วไปลักษณะการกระจายของแสงจะมีสามรูปแบบ คือ ส่องออกมาอย่างสม่ำเสมอในทุกทิศ ฟุ้งกระจายออกมาจากด้านใดด้านหนึ่ง และสองออกมาเป็นลำแสง ซึ่งค่าของสีนั้นจะเขียนกำกับไว้ที่หลอดไฟชนิดต่างๆ

      ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องเลือกลักษณะของการส่องสว่างให้เหมาะกับการใช้งานในแต่ละส่วนของตัวบ้าน โดยอาจแบ่งลักษณะของการใช้แสงไฟในบ้านได้เป็นสามประเภทคือ

      1. แสงไฟที่ใช้ทั่วไป (Ambient Light)

      โคมไฟที่นิยมใช้ในปัจจุบันนั้น ได้แก่ โคมดาวน์ไลท์ โคมซาลาเปา และฟลูออเรสเซนซ์ โคมไฟเหล่านี้ใช้กับการให้แสงสว่างโดยทั่วๆ ไปภายในบ้านและอาคาร โดยหลอดแต่ละประเภทนั้นมีความแตกต่างกันเล็กน้อย

 

 

      – โคมดาวน์ไลท์จะบังคับแสงไม่ให้กระจายออกข้าง แต่จะส่องลงมาที่พื้น ทำให้พื้นทางเดินสว่าง ดังนั้นบนเพดานจะมองไม่เห็นแสงจากดวงโคมมากนัก

      – โคมซาลาเปาจะให้แสงสีขาวกระจายรอบตัว เหมาะกับห้องที่ต้องการแสงสว่างสีขาวๆ เช่น ห้องอาบน้ำ ห้องทำงาน แต่ไม่เหมาะที่จะติดที่ห้องรับแขก เนื่องจากแสงไฟที่ห้องรับแขก ควรจะออกโทนนุ่มสบายตาแบบโคมดาวน์ไลท์

      – โคมฟลูออเรสเซนซ์เหมาะกับห้องที่ต้องการใช้แสงสว่างมากๆ เพราะหลอดไฟแบบนี้มีลักษณะกลมยาว จึงให้แสงสว่างไปทั่วห้อง เช่น ห้องครัว ห้องเก็บของ หรือในส่วนที่ค่อนข้างมืดและต้องการแสงเพื่อความปลอดภัย

 

      2. แสงไฟเพื่อการใช้งาน (Task Light)

      แสงไฟพวกนี้ใช้ในบางจุดที่จำเป็นต้องมีแสงสว่างเพียงพอแก่การใช้งาน เช่น การอ่านหนังสือ เราจึงไม่ควรเลือกแสงสีขาวหรือสีเหลืองจนเกินไปเพราะจะทำให้แยงตา

 

 

      – ไฟตั้งโต๊ะและไฟตั้งพื้น ใช้สำหรับทำงานหรือเป็นไฟส่องสว่างทั่วไป และเป็นของแต่งบ้านได้ สามารถเลือกให้เหมาะกับการตกแต่งได้ทุกแบบ

      – โคมไฟตั้งโต๊ะ (Table Lamps)การวางโคมไฟตั้งโต๊ะไว้หลายๆ อันรอบห้องจะให้แสงรวมกันเป็นการให้แสง เงา เฉพาะจุด เป็นการเลือกที่จะเน้นจุดเด่นในบางที่ที่ให้ผลในการสร้างบรรยากาศอย่างมาก

      – โคมไฟโต๊ะทำงาน (Desk Lamps) ให้แสงสว่างตรงไปยังบริเวณที่ต้องการโดยเฉพาะ รูปแบบที่หมาะที่สุดสำหรับไฟที่โต๊ะทำงานคือไฟที่ปรับขาตั้งได้ ทำให้ได้ทิศทางของแสงตามที่ต้องการ

 

      3. แสงไฟเฉพาะ (Decorative Light)

      แสงไฟแบบนี้ใช้เพื่อการตกแต่งบ้าน โดยเฉพาะเน้นเพื่อสร้างมิติของแสงเงาให้เกิดขึ้นในจุดต่างๆ ที่ต้องการ เช่น ไฟส่องภาพหรืองานศิลปะ แสงที่เกิดจากหลอดไฟเหล่านี้มีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้บ้านมีชีวิติชีวา ทำให้เพิ่มน้ำหนักของสีสันภายในบ้านอย่างเป็นธรรมชาติ

 

 

      จากที่กล่าวมาเราจะเห็นได้ว่าอุณภูมิของแสงที่เปลี่ยนไปส่งผลโดยรวมกับบรรยากาศของสถานที่นั้นๆเป็นอย่างมาก การจัดวางตำแหน่งและความส่องสว่างที่เพียงพอต่อการใช้งานในแต่ละพื้นที่เองก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการตกแต่งให้ตรงกับฟังก์ชั่นของห้องนั้นๆ ควรเลือกให้ถูกหลักและถูกวัตถุประสงค์ เราจึงลองยกตัวอย่างการเลือกประเภทของแสงไฟง่ายๆ ในบ้าน ตามจุดที่ต้องใช้ไฟบ่อยๆ มาให้อ่านกันค่ะ

 

1. แสงไฟสำหรับห้องน้ำ

 

 

      ในห้องน้ำการให้แสงสว่างบริเวณหน้ากระจกส่องหน้าควรมีแสงสว่างที่มากพอไฟที่ใช้มีสองแบบคือไฟจากโคมฟลูออเรสเซนต์และคอมแพคท์วอร์มไวท์การแต่งหน้าเพื่อออกจากบ้านเวลากลางวันควรใช้ไฟฟลูออเรสเซนต์แบบคลูไวท์หรือเดย์ไลท์ถ้าต้องการแต่งหน้าเพื่อไปออกงานกลางคืนควรใช้ไฟอินแคนเดสเซนต์หรือคอมแพคท์วอร์มไวท์เพราะงานที่ไปส่วนใหญ่อย่างงานเลี้ยงในโรงแรมมักจะใช้หลอดไฟอินแคนเดสเซนต์

 

2.แสงไฟสำหรับห้องครัว

 

 

      การให้แสงสว่างในห้องครัวควรให้แสงสว่างมากพอในการปรุงอาหารและหาของที่อยู่ภายในตู้ต่างๆได้ต้องมีความส่องสว่างมากพอบริเวณล้างจานและควรแยกส่วนกันอย่างชัดเจนเพื่อการประหยัดพลังงานโดยใช้โคมฟลูออเรสเซนต์หรือคอมแพคท์ฟลูออเรสเซนต์กับห้องครัวและส่วนประกอบอาหารใช้หลอดวอร์มไวท์บริเวณห้องอุ่นอาหารและส่วนตู้กับข้าวเพราะมีพื้นที่ติดต่อกับส่วนรับประทานอาหารเพื่อเพิ่มความสวยงามและทำให้อาหารดูน่ารับประทาน

 

3. แสงไฟสำหรับห้องนอน

 

(credit : http://www.home-designing.com)

 

      ในห้องนอนควรใช้แสงสว่างเท่าที่จำเป็นเท่านั้นโดยใช้เป็นจุดๆไปตามวัตถุประสงค์ของกิจกรรมนั้นๆเช่นตู้เก็บเสื้อผ้าควรมีแสงส่องเข้าไปโดยอาจติดไฟข้างในตู้หรือติดตั้งไฟฝังด้านนอกให้ส่องไปปยังตู้เพื่อเก็บของและค้นหาของอย่างสะดวกนอกจากนั้นอาจติดตั้งไฟส่องบริเวณหน้าประตูหรือตามทางเดินเพื่อให้เดินได้สะดวกส่วนการอ่านหนังสือในห้องนอนหรือทำกิจกรรมอย่างอื่นที่ใช้สายตานั้นควรเลือกใช้โคมไฟหัวเตียงหรือแสงจากไฟตั้งโต๊ะแทน

      สังเกตสีของหลอดไฟที่เราใช้อยู่ในบ้านแล้วลองปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานที่กันดูนะคะ รับรองว่าการตกแต่งภายในบ้านด้วยการเลือกแสงไฟและหลอดไฟอย่างเหมาะสม จะช่วยทำให้บ้านของคุณดูแปลกตาและสวยงามขึ้นกว่าเดิมแน่นอนค่ะ

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

thinkofliving.com

mratchakitcha.soc.go.th

saradd.com

color-meanings.com

techhive.com