การเติบโตเป็นคนหรือผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์และมีคุณภาพล้วนแล้วแต่ต้องมีการปลุกฝังพื้นฐานที่ดี  ตลอดระยะเวลาอันยาวนานในหลวงได้ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิต ดังที่เคยได้เห็นจากแนวพระราชดำริเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ที่ได้พระราชทานผ่านพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสในโอกาสต่างๆ  บทความนี้จึงถือโอกาสที่จะรวบรวมนำแนวคิดของในหลวง มาเป็นหลักในการใช้ชีวิตในการเริ่มต้นปีใหม่  โดยบทความจะแบ่งพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสออกเป็น 5 หัวข้อหลัก ดังนี้ครับ

วัยเด็ก

คำสอนของพ่อ1

      ความเข้มแข็งในจิตใจนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องฝึกฝนแต่เด็กเพราะว่าต่อไป ถ้ามีชีวิตลำบาก ไปประสบอุปสรรคใดๆ ถ้าไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีความรู้ ไม่มีทางที่จะผ่านอุปสรรคนั้นได้ เพราะว่าถ้าไปเจออุปสรรคใดอะไร ก็ไม่มีอะไรที่จะมาช่วยเราได้ แต่ถ้ามีความรู้ มีอัธยาศัยที่ดี และมีความเข้มแข็งในกาย ในใจ ก็สามารถที่จะผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆนั้นได้ ความเข้มแข็งในใจนั้น หมายความว่า ไม่ท้อถอย และไม่เกิดอารมณ์มาทำให้โกรธ อารมณ์นั้นคือ ความโกรธ ความฉุนเฉียว ความน้อยใจ ทั้งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้คิดไม่ออก

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะครูและนักเรียนโรงเรียนราชวินิต
วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๑๘

 

      ความรู้ประโยชน์แท้จริงของสิ่งทั้งหลายเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องปลูกฝังให้หยั่งลึกในตัวเด็ก เด็กจักได้เติบโตเป็นคนฉลาดเที่ยงตรง และสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ที่พึงประสงค์ให้แก่ตนแก่ส่วนรวมได้แน่นอนมีประสิทธิภาพ

พระบรมราโชวาท
พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือวัยเด็ก ปี ๒๕๓๒

 

      เด็กเป็นอันมากมีความรักความดีแต่กำเนิด จะเรียนจะเล่นจะทำสิ่งใด ก็มุ่งมั่นทำให้ดีเด่น ไม่มีปัญหาอุปสรรคหรือความลำบากยากแค้นใดๆ จะกีดดั้นไว้ได้.  เด็กเหล่านี้ ผู้ใหญ่ควรสนใจและแผ่เมตตาเกื้อกูลประคับประคองให้ได้มีโอกาสพัฒนาไปในทางที่ถูกที่ดี ทั้งด้านการศึกษาและจิตใจ เขาจักได้เจริญเติบโตเป็นคนดีพร้อม และเป็นตัวอย่างแก่เยาวชนทั่วไป

พระบรมราโชวาท
พระราชทานลงพิมพ์ในหนังสือ “วัยเด็ก” ประจำปี ๒๕๓๓

 

 

นักเรียนและเยาวชน

dad2

Cr: oldwebsite.ohm.go.th

      เด็กๆนอกจากจะต้องเรียนความรู้แล้วยังต้องหัดทำการงานและทำความดีด้วย เพราะทำงานจะช่วยให้มีความสามารถ มีความขยันอดทนพึ่งตนเองได้ และการทำดีนั้นจะช่วยให้มีความสุขความเจริญทั้งป้องกันตนไว้ไม่ให้ตกต่ำ

พระบรมราโชวาท
พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือวัยเด็ก ปี ๒๕๓๐

 

      เด็กๆ ทำอะไรต้องหัดให้รู้ตัว การรู้ตัวอยู่เสมอจะทำให้เป็นคนมีระเบียบ และคนที่มีระเบียบดีแล้ว จะสามารถเล่าเรียนและทำการงานต่างได้โดยถูกต้องรวดเร็ว จะเป็นคนที่จะสร้างความสำเร็จและความเจริญให้แก่ตนเองแก่ส่วนรวมในอนาคตได้อย่างแน่นอน

พระบรมราโชวาท
พระราชทานลงพิมพ์ในหนังสือวัยเด็ก ปี ๒๕๒๑

 

      “…นักเรียนที่ยังก่อเรื่องวิวาท จนเกิดความเสียหายแก่ตน แก่โรงเรียน ขอให้สำนึกว่าการกระทำเช่นนั้น อาจกลายเป็นการทำลายอนาคตของตนไปได้อย่างคิดไม่ถึง ฉะนั้น ขอให้พยายามฝึกฝนอบรมตนเองให้มีค่า เป็นคนเต็มคน ให้เป็นคนดีมีประโยชน์ให้ จงได้…”

พระราชดำรัส
ในพิธีเปิดงานกรีฑา ศิลปหัตถกรรมนักเรียน ประจำปี ๒๕๑๒ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ
วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๑๒

 

      “…เยาวชนทั้งหลายที่อยู่ในวัยเรียน ย่อมมีความมุ่งมั่นที่จะ ศึกษาวิชาการต่างๆ ให้ได้มากๆเพื่อนำไปใช้ทำ ประโยชน์สร้างสมความสุขความเจริญ ให้แก่ตัวเองตลอดจนส่วนรวม แต่การใช้วิชาความรู้นั้นจำเป็น จะต้องใช้อย่างถูกต้องด้วยคุณธรรมและความสามารถ ที่เหมาะจึงจะได้ผลเต็มเปี่ยม…”

พระบรมราโชวาท
ในพิธีปฏิญาณตนและสวนสนาม เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ณ สนามศุภชลาศัย
วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๒๒

 

 

นักศึกษา

คำสอนของพ่อ3

      ขอสรุปหน้าที่ของผู้ที่เป็นนิสิตนักศึกษาว่า การเป็นนักศึกษาไม่ใช่อาชีพเป็นเวลาที่จะฝึกทางวิชาการและทางจิตใจ เพื่อที่จะมีพลังแข็งแรงที่จะรับใช้ชาติ เป็นพลเมืองที่ดี แล้วก็เป็นความหวัง และก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดว่า เมื่อได้ฝึกในทางจิตใจเป็นคนเข็มแข็งซื่อตรงและเป็นคนที่มีความปรารถนาที่จะสร้างสรรค์แล้ว จะต้องรักษาอุดมคตินี้หรือพลังนี้ หรือปณิธาณนี้ไว้ตลอดชีวิต

พระบรมราโชวาท
เนื่องในโอกาสเสด็จ ทรงดนตรีเป็นการส่วนพระองค์ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
วันที่ ๒๐กันยายน ๒๕๑๔

 

      ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดที่เป็นอยู่แก่เราในวันนี้ ย่อมมีต้นเรื่องมาก่อน เช่นที่ท่านมีความรู้มีปริญญาอยู่ขณะนี้ ก็เป็นเพราะได้ลงทุนลงแรงเล่าเรียนมา ต้นเรื่องนั้นคือเหตุ สิ่งที่ได้รับคือผล และผลที่ท่านมีความรู้อยู่ขณะนี้ จะเป็นเหตุให้เกิดผลอย่างอื่นต่อไปอีก คือทำให้สามารถใช้ความรู้ที่มีอยู่ทำการงานที่ต้องการได้ แล้วการทำงานของท่านก็จะเป็นเหตุให้เกิดผลอื่น ๆ เนื่องกันไปอีกไม่หยุดยั้ง ดังนั้นที่พูดกันว่าให้พิจารณาเหตุผลให้ดีนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือให้พิจารณาการกระทำ หรือกรรมของตนให้ดีนั่นเอง คนเราโดยมากมักนึกว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร เราทราบไม่ได้ แต่ที่จริง เราย่อมจะทราบได้บ้างเหมือนกัน เพราะอนาคตก็คือผลของการกระทำในปัจจุบัน ถ้าปัจจุบันทำดี อนาคตก็ไม่ควรจะตกต่ำ ฉะนั้น เมื่อกระทำการใด ๆ ควรจะได้นึกว่าการนั้นจะมีผลสืบไปในอนาคต จักได้มีสติ กระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความรู้ตัวและระมัดระวัง ทั้งควรจะสำนึกตระหนักด้วยว่า การพิจารณาการกระทำของตนเองในปัจจุบันนั้น นับว่าสำคัญที่สุด จะต้องคิดพิจารณาให้รอบคอบและถ่องแท้ทุกครั้งไป มิฉะนั้น ผลที่เกิดขึ้นอาจทำให้ต้องผิดหวังอย่างมากที่สุดก็เป็นได้

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๑๙

 

      ความรู้สึกระลึกได้ว่าอะไรเป็นอะไร หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “สติ” นั้น เป็นสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่จะทำให้บุคคลหยุดคิดพิจารณาก่อนที่จะทำ จะพูด และแม้แต่จะคิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าสิ่งนั้นดีหรือชั่ว มีคุณมีประโยชน์หรือเสียหาย ควรกระทำหรือควรงดเว้นอย่างไร เมื่อยั้งคิดได้ ก็จะช่วยให้พิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างอย่างละเอียดประณีต และสามารถกลั่นกรองเอาสิ่งที่ไม่เป็นสาระไม่เป็นประโยชน์ออกได้หมด คงเหลือแต่เนื้อแท้ที่ถูกต้องและเป็นธรรม ซึ่งเป็นของควรคิดควรพูดควรทำแท้ๆ

พระบรมราโชวาท
พระราชทานแก่สามัคคีสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์เพื่อเชิญไปอ่านในการประชุมสามัญประจำปี
ระหว่างวันที่ ๑๖-๒๐ กรกฎาคม ๒๕๒๐

การทำงาน

คำสอนของพ่อ4

      การทำงานยากลำยากกว่าการเรียน การเรียนนั้นเรียนตามหลักสูตร หรือเรียนวิชาต่างๆ ตามที่ทางมหาวิทยาลัยจัดลำดับให้แต่การทำงานไม่มีหลักสูตรวางไว้ จำจะจ้องใช้ความริเริ่มและความคิดพิจารณาด้วยตนเอง ในอันที่จะทำสิ่งใด อย่างไรเมื่อใด หากไม่รู้จักพิจารณาให้ถูกช่อง ถูกโอกาส ถึงมีวิชาอยู่ ก็ไม่เป็นผลแก่งานและแก่ตัวนัก

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกร
วันที่ ๓ กันยายน ๒๕๑๒

 

      ในการปฏิบัติงานนั้น ย่อมมีปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อปัญหาเกิดขึ้นต้องแก้ไข อย่าทิ้งไว้พอกพูนลุกลามแก้ยาก ขอให้ทุกคนระลึกว่าปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ได้ ถ้าแก้คนเดียวไม่ได้ก็ช่วยกันคิดช่วยกันแก้หลายๆ คนหลายๆทาง ด้วยความร่วมมือปรองดองกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นจักได้ไม่กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางและบั่นทอนทำลายความเจริญและความสำเร็จของการงาน

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๑๓ กรกฎาคม ๒๕๓๓

 

      ต่างคนต่างมีหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำเฉพาะหน้าที่นั้น เพราะว่าถ้าคนใดทำหน้าที่เฉพาะของตัวโดยไม่มองไม่แลคนอื่น งานก็ดำเนินไปไม่ได้ เพราะเหตุว่างานทุกงานจะต้องพาดพิงกันจะต้องเกี่ยวโยงกัน ฉะนั้นแต่ละคนจะต้องมีความรู้ถึงงานของผู้อื่นแล้วช่วยกันทำ

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่ คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนพรรษา
๔ ธันวาคม ๒๕๓๓

หน้าที่และความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง

528447_442245679189762_1071570713_n

      คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ หมายความว่าต่อไป และเดี๋ยวนี้ เมื่อรับสิ่งของได้มาก ก็จะต้องพยายามให้ ในการให้นั้น ให้ได้โดยพยายามที่จะสร้างความสามัคคีในหมู่คณะและในชาติ ทำให้หมู่คณะและชาติประชาชนทั้งหลายมีความไว้ใจซึ่งกันและกันได้ ช่วยที่ไหนได้ก็ช่วย ด้วยจิตใจที่เผื่อแผ่โดยแท้

พระบรมราโชวาท
พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น
วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๒๑

      ความสามัคคีปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กับความรักใคร่เผื่อแผ่ช่วยเหลือกันฉันญาติพี่น้อง  สองประการนี้ คือคุณลักษณะสำคัญของไทย ที่ช่วยให้ชาติบ้านเมืองอยู่รอดเป็นอิสระ และเจริญมั่นคง มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย
เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ ๒๕๓๒

 

      การที่ในประเทศใดมีประชาชนทั้งหมดอยู่ร่วมกัน โดยสันติ ก็เป็นสิ่งที่ปรารถนาของทุกคน ไม่มีใครอยากให้มีความวุ่นวายในหมู่คณะในประเทศชาติ เพราะว่าถ้ามีความวุ่นวายนั้นเป็นความทุกข์  ทุกคนต้องการความสุขหากความสุขนั้นก็จะมาจากความปรองดอง และความที่ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปโดยยุติธรรม

พระราชดำรัส
ในโอกาสที่รองประธานศาลฎีกานำผู้พิพากษาประจำกระทรวงเข้าเฝ้าฯ
๒๑ ธันวาคม ๒๕๓๗ 

 

      คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ ณ ศาลาดุสิดาลัย
๔ ธันวาคม ๒๕๔๑

 

      คุณธรรม ข้อหนึ่งที่ยังมีอยู่อย่างบริบูรณ์ในจิตใจของคนไทยก็คือ การให้ การให้นี้ไม่ว่าจะให้สิ่งใด แก่ผู้ใดโดยสถานใดก็ตาม เป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างยิ่ง เพราะเป็นเครื่องประสานไมตรีอย่างสำคัญระหว่างบุคคลกับบุคคลและให้สังคมมี ความมั่นคงเป็นปึกแผ่นด้วยสามัคคีธรรม

พระราชดำรัส
เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่
๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๕

 

      พระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสในโอกาสต่างๆที่ได้นำมารวบรวมในบทความ เหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่ดี เป็นพรอันประเสริฐ ที่เราสามารถนำมายึดเหนี่ยวในการดำรงชีวิตได้ในทุกๆโอกาสสืบต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะให้เพื่อนๆชาวบาริโอทุกคนได้อ่านและนำไปใช้ให้เกิดเป็นมงคลแก่ชีวิตในโอกาสขึ้นปีใหม่ ปี ๒๕๖๐  นี้อีกด้วยครับ

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

หนังสือ คำพ่อสอน : ประมวลพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน/ มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยและมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์.

 facebook.com/thailandimage