เวลาดูละครแนวพีเรียด เคยสังเกตไหมคะว่านอกจากบ้านไม้ เรือนไทยแล้ว อะไรที่เราพบเจอบ่อยๆ จนเรียกได้ว่าถ้าขาดสิ่งนี้ไป ละครก็ไม่ครบองค์ประกอบโดยสมบูรณ์แบบ สิ่งนั้นก็คือ สะพานท่าน้ำนั่นเอง ยกตัวอย่างหนังพันล้านอย่างพี่มากพระโขนง กับประโยคเด็ดที่ชาวโซเซียลนำมาพูดกันบ่อยๆ ที่ว่า “พี่รู้ไหมฉันออกมารอพี่ที่ท่าน้ำทุกวันเลยนะ” รวมไปถึงละครฟอร์มยักษ์จากวิกน้อยสี “ลูกทาส” ที่ฉากท่าน้ำกับพระจันทร์ตอนค่ำคืน ดูสวยงามตระการตากลายเป็นสถานที่หลักของเรื่อง
การเดินทางสัญจรทางน้ำถือเป็นวิถีชีวิตที่พบเห็นโดยทั่วไปมาตั้งแต่ยุคสมัยสุโขทัย อยุธยา เป็นต้น เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักอาศัยและปลูกบ้านเรือนอยู่ตามริมน้ำ ซึ่งสะดวกสบายในการสัญจรไปมา การคมนาคมและค้าขายก็คล่องตัว
จะเห็นได้ว่ากิจกรรมที่พบเห็นได้บ่อยๆ ในยุคนั้น มักมีความสอดคล้องกับ “น้ำ” และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ “ท่าน้ำ” ชาวบ้านแทบทุกหลังที่อาศัยอยู่ริมน้ำจึงสร้าง “ท่าน้ำ” ไว้ หน้าบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกและสำหรับใช้ประโยชน์ใช้สอยอีกมากมายค่ะ
ตั้งแต่ตะวันโผล่พ้นขอบฟ้า ชาวบ้านจะลุกขึ้นมาหุงหาอาหาร เตรียมกับข้าว กับปลา สำหรับใส่บาตรพระ ที่โดยสารมาทางเรือเป็นประจำแทบทุกวัน ซึ่งคล้ายๆ กับพระที่เดินบิณฑบาตในหมู่บ้านทั่วไป แต่ในปัจจุบันวิถีชีวิตแบบนี้ ก็ยังสามารถพบเห็นได้ตามหมู่บ้านริมน้ำบ้าง แม้จะไม่บ่อยดั่งเช่นยุคก่อนๆ ก็ตามค่ะ
ตกสายมาบางครั้ง “ท่าน้ำ” ก็กลายเป็น “สภากาแฟ” หรือ “ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือชั่วคราว” บ้าง จากบรรดาพ่อค้าแม่ค้า พายเรือเร่ค้าขายทำมาหากินเลี้ยงชีพ บ้านไหนสนใจสินค้าก็กวักมือเรียกใช้บริการ โดยให้เรือจอดชิดท่าน้ำ เพื่อทำการเจรจาต่อรองหรือสั่งสินค้ากัน ทั้งยังถือโอกาสนี้ถามสารทุกข์สุขดิบกันไปพราง พูดคุยรื่องราวสัพเพเหระกับคนเคยเห็นหน้าค่าตากันทั่วไป ถือเป็นอีกหนึ่งวิถีชีวิตง่ายๆ แต่สร้างรอยยิ้มและความสัมพันธ์ที่ดีของคนที่ใช้ชีวิตริมน้ำเหมือนกัน
บางวันมีแขกหรือญาติพี่น้องล่องเรือมาจากแดนไกลเพื่อมาเยี่ยมเยือน หลังจากขึ้นเรือมายังท่าน้ำ เจ้าบ้านที่ดีก็เตรียมน้ำท่ามาให้ดื่ม พร้อมชวนให้นั่งพักที่ท่าน้ำให้หายเหนื่อยก่อนเข้าไปในบ้าน เพราะ “ท่าน้ำ” ถือเป็นส่วนแรกของบ้าน ที่ใช้สำหรับรองรับแขกได้เช่นกัน ฉะนั้นหลายๆ คน จึงค่อนข้างให้ความสนใจในการสร้างท่าน้ำเป็นพิเศษ สำหรับบ้านคนชั้นสูงก็มักจะสร้างเป็น “ท่าน้ำ” คล้ายกับบ้านหลังเล็ก (นำมาย่อส่วนนั่นเองค่ะ) ที่เน้นความสวยงามและพื้นที่สำหรับการรับรองแขกได้หลายคน ส่วนคนที่มีฐานะปานกลาง “ท่าน้ำ” ก็จะมีพื้นที่กว้างขวางพอสมควร เน้นความคงทนและเรียบง่ายบ้างก็มีศาลา บ้างก็ไม่มี เป็นต้น สำหรับคนจนหรือบ้านทั่วไป แค่นำไม้หรือไม้ไผ่มาสร้างเป็น “ท่าน้ำ” หน้าบ้านให้สามารถใช้ประโยชน์ได้เท่านั้นก็พอ เพราะสมัยก่อนใช้การสัญจรทางน้ำเป็นทางสายหลัก หน้าบ้านก็คือท่าน้ำ เรือนท่าน้ำจึงมีความสำคัญซึ่งสามารถบ่งบอกฐานะความเป็นอยู่ของเจ้าของบ้านได้เป็นอย่างดี หากเทียบกับปัจจุบันก็เหมือนกับบ้านที่ชอบสร้างกำแพงบ้านหรูๆ นั่นเอง
ตกเย็นใช้ “ท่าน้ำ” เป็นสถานที่ตกปลาได้ ทิ้งเบ็ดไว้ แล้วพรุ่งนี้ค่อยกลับมาดู ชื่นใจวิถีชีวิตคนริมน้ำ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ให้บริโภคตลอด
ข้ามไปที่วันเพ็ญ เดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง อ่า…แน่นอนอยู่แล้วค่ะ มันคือวันลอยกระทงนั่นเอง กระทงก็ต้องลอยในน้ำใช่ไหมคะ และถ้าไม่มี “ท่าน้ำ” คุณอาจจะลื่นล้ม กระทงพังจนอดลอยเลยก็ได้ (อันนี้คนเขียนเป็นบ่อยค่ะ ฮ่า ฮ่า) จะจัดสังสรรค์รวมญาติมาลอยกระทงที่ท่าน้ำหน้าบ้านก็อบอุ่น สนุกสนานไปอีกแบบ หรืออยากพบป่ะคนมากมาย “ท่าน้ำหน้าวัด” ก็เป็นตัวเลือกที่ดีของวัยรุ่นสมัยก่อน เพราะมีกิจกรรมมากมายให้เข้าร่วมทั้งปาเป้า ชิงช้าสวรรค์ และรำวง มีความสุขและเฮฮากันไป
กลับมาที่ปัจจุบัน บ้านที่มีพื้นที่ติดริมน้ำ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ ลำคลอง หรือเจ้าพระยา ก็ยังนิยมสร้าง “ท่าน้ำ” และ “ศาลาท่าน้ำ” ไว้ในบ้านเช่นกัน แต่ประโยชน์การใช้งานอาจจะเปลี่ยนแปลงและแตกต่างไปบ้างเล็กน้อย เพราะแต่ก่อนส่วนใหญ่บ้านไหนที่มีท่าน้ำ ตรงนั้นคือหน้าบ้าน แต่ในปัจจุบันไม่เสมอไปที่บ้านที่ทีท่าน้ำจะเป็นส่วนของหน้าบ้าน เนืองจากการสัญจรหลัก คือ ทางบก ไม่ใช่ทางเรืออีกต่อไป
“ท่าน้ำ” และ “ศาลาท่าน้ำ” ในทุกวันนี้จึงกลายมาเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ มุมนั่งเล่นและอ่านหนังสือมากกว่า (อย่างที่บอกว่าทุกกวันนี้การสัญจรหลักไม่ใช่ทางน้ำแล้ว ทำให้มีความสงบมากขึ้น) เพราะบรรยากาศดีๆ ลมพัดเอื่อยๆ จะช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย จิตใจสงบและมีสมาธิมากขึ้น หรือเป็นมุมโปรดของครอบครัว ที่ได้รวมตัวกัน กินข้าว พบปะพูกคุยกันตามประสา มีปาร์ตี้วันเกิดเล็กๆ ริมน้ำ สร้างความสำราญให้สมาชิกในบ้านได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ
จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไม “ท่าน้ำ” จึงมีความสำคัญ เรียกได้ว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเลยค่ะ เพราะทุกวันนี้เรายังสามารถพบท่าน้ำได้ตามบ้านที่ติดริมน้ำกันบ่อยๆ แค่เห็นก็รู้สึกนึกย้อนไปถึงอดีตที่ “ท่าน้ำ” เล็กๆ แต่ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้วิถีชีวิตของคนดำเนินมาจนถึงปัจจุบันได้ ใครที่บ้านติดริมน้ำก็อย่าลืมสร้าง “ท่าน้ำ” ไว้ด้วยนะคะ เพิ่มมุมโปรดให้ครอบครัวคุณได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ
ขอบคุณภาพประกอบจาก