ท่ามกลางสังคมเมืองที่วุ่นวาย เทคโนโลยีที่เชื่อมต่อกันทั่วทุกมุมโลก และวิถีการใช้ชีวิตที่เร่งรีบในทุกขณะเวลา ส่งผลกระทบต่างๆ หลากหลายด้านด้วยกัน ข้อดีของมันก็คือ ทำให้โลกก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วและไร้ขีดจำกัด ซึ่งอาจต้องแลกมากับความวุ่นวาย ความเหน็ดเหนื่อยที่ต้องต่อสู้และแข่งขันกัน เพื่อพัฒนาชีวิตของตนเองให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งๆ ที่ปัจจุบันโลกกำลังก้าวไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังมีบางส่วนที่เห็นว่า “การเดินช้าๆ ก็สามารถไปถึงจุดหมายได้เช่นกัน” ดังเช่น เมืองคะเกะกะวะ จังหวัดซิซุโอะกะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้ชีวิตเรียบง่าย มากกว่าการเติบโตไวแต่ต้องเบียดเบียนสิ่งอื่น จนรัฐบาลได้ประกาศให้เป็นเมือง slow life city นั่นเองค่ะ
Cr. localmilkblog
โดยความหมายของ Slow Life หากแยกจากตัวอักษร แสดงถึงการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี ประกอบด้วย
-
S – Sustainable : การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนด้วยการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
-
L – Local : ปรับวิถีการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม เช่น ทำอาหารจากวัตุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น ซื้อสินค้าจากเกษตรกรหรือร้านค้าในท้องถิ่น
-
O – Organic : ตั้งอยู่ในพื้นฐาน พอใจในสิ่งไม่ปรุงแต่ง ใช้สินค้าที่ไม่พึ่งสารเคมี เช่น ผักออร์แกนิค หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากธรรมชาติ
-
W – Wholesome : สุขทั้งกายและใจ โดยยึดหลัก 4 อ. คือ อารมณดี อาหารปลอดสารพิษ ออกกำลังกาย และสูดอากาศที่บริสุทธิ์
-
L – Learning : เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ เริ่มจากการเข้าร่วมกิจกรรมที่ตนเองสนใจ รวมไปถึงกิจกรรมที่ยังไม่เคยทดลองทำ
-
I – Inspiring : ตั้งเป้าและมีแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต จะช่วยทำให้คุณมีความหวังและมีความสุขในการใช้ชีวิตมากขึ้น
-
F – Fun : มองโลกในแง่ดี ใช้ชีวิตให้สนุกสนาน ไม่คิดมาก และทำปัจจุบันให้ดีที่สุด
-
E – Experience : รู้จักฝึกฝนและพัฒนาทักษะที่ถนัดให้เชี่ยวชาญ ตามคำพูดที่ว่า “ทำในสิ่งที่ชอบ มักทำได้ดี” เช่น ร้อง เต้น เล่นดนตรี เป็นต้น
ซึ่งเมืองคะเกะกะวะ จังหวัดซิซุโอะกะ ก็ได้หลักการของการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายหรือ Slow Life มาใช้เป็นหลัก โดยมีบัญญัติ ทั้งหมด 8 ประการด้วยกัน ดังนี้…
1. Slow Pace
Cr. Hideakihamada, kenjiokabe
เปลี่ยนการใช้วิถีชีวิตให้ดำเนินช้าลง แต่เป็นไปอย่างมั่นคง โดยได้รณรงค์ให้ประชาชนเดินแทนการใช้ยานพาหนะต่างๆ ซึ่งนอกจากจะทำให้สุขภาพร่างกายดีขึ้นแล้ว ยังช่วยลดมลภาวะที่เกิดจากควันหรือน้ำมันแล้ว ยังช่วยลดอุบัติเหตุจากการจราจรได้อีกด้วย
จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันอัตราการเดินไปทำงานของชาวญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สังเกตง่ายๆ เลยสำหรับคนที่เคยไปญี่ปุ่นมาแล้ว ปริมาณรถบนท้องถนนน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับประชากรที่อาศัยอยู่ ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นเองก็สนับสนุนนโยบายการเดินอย่างเต็มที่ โดยเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2017 ที่ผ่านมา หน่วยงานด้านการกีฬาของญี่ปุ่นได้ประกาศเกี่ยวกับนโยบายของ FUN+WALK PROJECT ส่งเสริมและสนับสนุนให้เดินทางไปทำงานด้วยการเดิน โดยให้คนในประเทศหันมาใส่รองเท้าผ้าใบเวลาเดินทางไปทำงาน เพื่อการส่งเสริมให้ประชากรมีสุขภาพที่ดีขึ้นนั่นเองค่ะ ถึงแม้นโยบายนี้จะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพราะแม้จะสะดวกสบายแต่ก็ต้องมองไปถึงภาพลักษณ์และความสุภาพเรียบร้อยเมื่อต้องออกไปพบลูกค้าด้วยเช่นกัน อย่างไรก็แล้วแต่นโยบายนี้ก็ถือเป็นแนวคิดที่ดีไม่น้อยเลยใช่ไหมคะ??
2. Slow Wear
Cr. Localmilkblog, i.pinimg
การรณรงค์ให้ประชาชนสวมใส่ผ้าพื้นเมืองที่ทำจากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น ซึ่งนอกจากจะมีความเป็นเอกลักษณ์และช่วยอนุรักษ์วัฒนธรรมของชุมชนไว้แล้ว ยังช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่าย และเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนอีกด้วย
ถ้าพูดถึงญี่ปุ่นเรามักจะนึกถึงชุดกิโมโนหรือยูกาตะใช่ไหมคะ ซึ่งไอเทมเหล่านี้กลายเป็นสินค้าราคาแพงไปแล้ว ทำให้คนญี่ปุ่นนำมาใส่เฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญๆ เท่านั้น แต่นอกเหนือจากนี้ที่ญี่ปุ่นยังมีชุดพื้นเมืองหลากหลายแบบ ที่เกิดจากงานหัตถกรรมของคนในชุมชน ซึ่งก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่นหรือภูมิภาค เฉกเช่นเดียวกับเมืองไทยเรานั่นแหละค่ะ
ตัวอย่างของชุดพื้นเมืองญี่ปุ่นมีดังต่อไปนี้..
-
เสื้อแฮปปี้ ลักษณะเป็นเสื้อชิ้นนอกสีดำ สำหรับคนงานซึ่งแต่ละท้องถิ่นจะไม่เหมือนกัน
-
เสื้อฮาโอริ เป็นเสื้อชิ้นนอกสีดำ แต่จะมีลวดลายเป็นสีขาว หรือเครื่องหมาย นามสกุล ด้วย
-
เสื้อฮะกามา เป็นเสื้อที่มีรูปร่างคล้ายกางเกงขากว้าง สำหรับใส่ในงานพิธีต่างๆ
-
ยูกาตะ (Yukata) เป็นกิโมโนชนิดหนึ่งทำจากผ้าฝ้าย ใส่ได้ทั้งชายและหญิง สีไม่สด เป็นชุดที่ใส่อยู่กับบ้านหลังจากอาบน้ำเสร็จแล้ว ต่อมาได้มีการนำชุดยูกาตะมาใส่ในงานประเพณี และเทศกาลในฤดูร้อน ทำให้มีลวดลายสีสันขึ้น
-
โกโซเดะ (Kosode) เป็นชุดกิโมโนของผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว ดีไซน์แขนยาว และ “ฟูริโวเดะ” เป็นกิโมโนสำหรับหญิงที่ยังไม่แต่งงานจะมีลักษณะแขนยาวและกว้างเป็นพิเศษ