นอกจากความสวยงามน่าชมแล้ว กลิ่นหอมหวานเฉพาะตัวยังเป็นเสน่ห์ที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของดอกไม้ที่ใคร ๆ ก็ต่างถูกใจ กลิ่นเหล่านี้ได้มาจากการสังเคราะห์โมเลกุลและสารของพืชให้กลายเป็นน้ำมันหอมระเหย (Essential Oil หรือ Volatile Oil) โดยจะอยู่ตรงต่อมเล็ก ๆ บริเวณเกสรเพศผู้ เกสรเพศเมีย ฐานรองดอกไม้ และกลีบดอก ซึ่งในดอกไม้แต่ละชนิดก็จะมีปริมาณของน้ำมันหอมระเหยไม่เท่ากัน ทำให้ดอกไม้มีกลิ่นที่ต่างกันนั่นเอง จากนั้นเราจึงสกัดน้ำมันหอมระเหยจากดอกไม้มาทำเป็นน้ำหอมและสารที่ให้ความหอมต่าง ๆ ที่นอกจากจะให้ความผ่อนคลายหอมสดชื่นแล้ว น้ำมันหอมระเหยจากพืชบางชนิดยังช่วยในการบรรเทาความเครียดและลดอาการเจ็บป่วยได้อีกด้วย
การรักษาร่างกายด้วยน้ำมันหอมระเหยทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำมันมานวดตามบริเวณที่ปวด การผสมน้ำอาบหรือสูดดม ซึ่งจะมีวิธีการใช้ง่าย ๆ ที่แตกต่างกันดังนี้ค่ะ
-
สูดดม การหยดน้ำมันหอมระเหยลงบนผ้าเช็ดหน้าหรือหยดผสมน้ำแล้ววางบนภาชนะอุ่น ๆ เช่น เตาอโรม่า หรือตะเกียงอโรม่า จะช่วยให้กลิ่นหอมกระจายตัวได้ดี เพราะเมื่อถูกความร้อนต่อมน้ำมันจะยิ่งระเหยทำให้กลิ่นมีความรุนแรงมากขึ้น แต่น้ำจะช่วยเจือจางให้ไม่ฉุนมากจนเกินไป ยกเว้นผู้เป็นโรคหอบหืดที่ต้องระวังและไม่ควรสูดดม
-
อาบ เราสามารถหยดน้ำมันหอมระเหยลงในอ่างน้ำอุ่น แล้วนอนแช่สูดหายใจประมาณสิบห้านาที จะช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น
-
แช่มือหรือเท้า ใช้หยดน้ำมันหอมระเหยหยดลงในอ่างใบเล็กใส่น้ำอุ่น ๆ แล้วนำมาแช่มือหรือเท้าประมาณสิบถึงสิบห้านาที จากนั้นใช้ผ้าขนหนูแห้งห่อมือหรือเท้าไว้อีกสิบห้านาที นอกจากจะหอมสดชื่นแล้วยังคลายความปวดเมื่อยได้
-
ใช้นวด บริเวณต้นคอหรือไหล่ โดยผสมน้ำมันหอมระเหยกับกับน้ำมันนวดจากพืชต่าง ๆ อย่างน้ำมันมะพร้าว น้ำมันโจโจบาหรือน้ำมันมะกอกเข้าด้วยกัน แล้วนวดหนัก ๆ เป็นวงประมาณสามนาที หากนวดบริเวณที่เท้าและขา ให้นวดจากล่างขึ้นมาหาเข่าจะช่วยทำให้เลือดไหลเวียน