ท่ามกลางเหล่าคนหนุ่มสาวที่เปี่ยมไปด้วยพลังและความฝัน อาชีพดีไซน์เนอร์ ผู้ออกแบบและสร้างสรรค์สิ่งสวยงามต่าง ๆ ด้วยจินตนาการ กลายเป็นอีกหนึ่งในเส้นทางหนึ่งที่ใคร ๆ หลายคนใฝ่ฝันถึง แม้หนทางจะดูยากลำบากเพราะต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างหนักกว่าจะเชี่ยวชาญจนสามารถใช้เป็นอาชีพได้ นอกจากแรงกายแล้ว แรงใจและความรักในสิ่งที่ทำจึงเป็นเสมือนแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะพาไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย
“จ้อ ชัยทัต ตรงต่อศักดิ์” อินทีเรียดีไซน์หนุ่มในวัย 27 ปี, เจ้าของโรงเรียนสอนศิลปะ,
คนรุ่นใหม่อีกผู้หนึ่งที่กำลังไล่ตามฝันอย่างไร้ขีดจำกัด
ทำในสิ่งที่ชอบแล้วจะพบสิ่งที่ใช่
หลังจบมัธยมปลายจากโรงเรียนทวีธาภิเศก ชีวิตของจ้อเคว้งอยู่พักใหญ่เพราะสอบไม่ติดในมหาลัยที่ฝันไว้ แม้เขาจะให้โอกาสตัวเองอีกครั้งในปีต่อมาโดยการลองสอบใหม่ แต่ปรากฏว่าทุกอย่างกลับไม่เป็นไปตามที่หวัง ครั้งนี้จ้อจึงตัดสินใจเข้าเรียนมหาลัยเอกชน ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบตกแต่งภายในแทน
“จริง ๆ เราชอบวาดรูปอยู่แล้วตั้งแต่เด็ก ๆ ถึงตอนแรกจะไม่คิดที่จะเรียนสายนี้เพราะอยากเป็นวิศวะคอม เคยคิดอยู่ว่าจะไปเรียนอย่างอื่นเหมือนกัน แต่พอดีมีโอกาสได้ไปช่วยรุ่นพี่มหาวิทยาลัยศิลปากรทำงาน คนไหนอยากให้ทำอะไรเราก็ช่วยฟรี ๆ หาประสบการณ์เลอะ ๆ เทอะ ๆ การได้ลองทำอะไรแบบนี้ทำให้รู้สึกว่าชอบศิลปะมากขึ้น เพราะมีอะไรหลายอย่างที่เราทำได้ ตอนที่ตัดสินใจเลือกทางนี้เราเลยไม่ได้คิดอะไร แค่อยากวาดรูปเล่น”
เป็นเพราะจังหวะมันได้พอดี ?
“ใช่ มันมีคนพาไปลองอะไรหลาย ๆ อย่าง แล้วเราก็รู้สึกว่ามันใช่ มันเหมาะกับเราแล้ว น่าจะอยู่กับเราได้นาน ถึงตอนแรกตั้งใจว่าจะเรียนทัศนศิลป์ ไว้ผมยาวเซอร์ ๆ ทำงานอาร์ต ๆ เป็นศิลปินเหมือนที่เคยฝึกมา แต่พอคิดถึงชีวิตจริงก็ยังไม่รู้ว่าสายนั้นมันสามารถต่อยอดไปทางไหนได้บ้าง ก็เลยเลือกเข้าคณะสถาปัตยกรรม ออกแบบตกแต่งภายใน เพราะคิดว่าน่าจะทำเงินได้มากกว่า”
“พอเรียนไปเรื่อย ๆ ก็รู้สึกว่าชอบ ผลงานเราก็โอเค ทำได้ โชคดีที่ตอนติวเข้ามหาลัยได้ติวมาทั้งทางประยุกต์ศิลป์และออกแบบภายใน ถึงจะไม่เก่งสักอย่าง แต่พอถึงเวลาที่เลือก เราก็ต้องคิดถึงอนาคตแล้ว”
หนทางของดีไซน์เนอร์จบใหม่
ผลจากการมุ่งหน้าตามความตั้งใจอย่างเต็มที่ ส่งผลให้จ้อได้งานทำตั้งแต่เพิ่งเรียนจบ โดยการไปเป็นผู้ช่วยอาจารย์ในมหาวิทยาลัยออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้กับบริษัทเฟอร์นิเจอร์ยักษ์ใหญ่ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้กลับมาไม่ใช่เพียงเงินเดือนหรือประสบการณ์ แต่เป็นการที่จ้อได้ค้นพบตัวเองทีละน้อยว่างานดีไซน์ในแบบของเขานั้นเรียกร้องความเป็นอิสระ
“งานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ทำแล้วรู้สึกว่ามันมีข้อจำกัดมากเกินไป เหมือนเราไม่ค่อยได้ใช้จินตนาการในการทำวัตถุแค่ชิ้นเดียวซ้ำ ๆ อาจารย์เลยให้เราไปดูแลธุรกิจอีกอย่างหนึ่งของเขา คือการทำสนามฟุตบอล ตอนนั้นโลกเราเปลี่ยนไปเลย เราได้ลองทำหน้าที่แคชเชียร์ เป็นคนดูแลเครื่องเสียง เปิดเพลงในสนามฟุตบอล เก็บขวด แม้กระทั่งเป็นไลน์แมนยกธงข้างสนาม ว่าง ๆ ก็เตะบอล”
รู้สึกเสียดาย ในสิ่งที่เรียนมาบ้างหรือเปล่า ?
“ก็เริ่มนะ พอผ่านไปสักสองเดือนก็เริ่มรู้สึกว่า นี่เรากำลังทำอะไรอยู่ ? มันสนุกเกินไปจนไม่รู้ว่าจะไปต่อยังไง ก็เลยลาออกมาทำงานดีไซน์เนอร์ดีกว่า เราไปเป็นอินทีเรียดีไซน์เนอร์อยู่ที่หัวหิน ได้ออกแบบบ้านลูกค้า บ้านโครงการ โรงแรม รีสอร์ทเล็ก ๆ เขียนแบบนิด ๆ หน่อย ๆ ย้ายไปอยู่หัวหินเลย แต่ก็ได้ไม่ถึงปี ด้วยความที่เราอยู่คนเดียว ผ่านไปหนึ่งเดือนก็รู้สึกว่าเบื่ออีกแล้ว เพราะเราไม่มีปฏิสัมพันธ์กับใคร เลยตัดสินใจลาออกกลับมากรุงเทพฯ ดีกว่า”
เรื่องเงินไม่ใช่ปัจจัยหลัก ?
“ไม่เลย เราแฮปปี้กับทางไหนมากกว่าเราก็ไปตรงนั้น พอกลับมากรุงเทพฯ ก็ได้งานดีไซเนอร์เหมือนเดิม แต่งานหลากหลายกว่าเดิม มีทั้งออกแบบภายในคอนโด ออฟฟิศ โรงพยาบาล แต่เราเริ่มรู้แล้วว่าระบบออฟฟิศไม่เหมาะกับเรา เพราะเราชอบทำงานสลับกับการพัก ถ้าไม่ไหวเราก็หลับ พอมีประสบการณ์ มีโอกาสเข้ามา เลยคิดว่าออกมาทำฟรีแลนซ์ดีกว่า อยากจะไปลองทำอะไรด้วยตัวเองดู ความคิดว่าอยากจะเปิดโรงเรียนสอนศิลปะสำหรับเด็กก็เลยแว๊บเข้ามา”
ดีไซน์ความฝันให้แก่เด็ก ๆ
เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ จึงจำเป็นต้องแลกบางอย่างให้ได้มา เช่นเดียวกันกับจ้อและเพื่อนคือ คุณหยก แพรทิพย์ ที่เสี่ยงนำเงินเก็บมาลงทุนท่ามกลางความไม่แน่นอนว่า ความคิดที่จะเปิดโรงเรียนสอนศิลปะแห่งนี้จะกลายเป็นความจริงได้หรือไม่ แต่แม้ว่าจะลังเลขนาดไหน เมื่อเริ่มต้นนับหนึ่งแล้ว สิ่งที่ทำได้มีเพียงการนับถึงก้าวต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะสำเร็จ
จนตอนนี้โรงเรียน Luciano Creative Art School ของจ้อเปิดมาได้เกือบสองปี จากสองเดือนแรกที่มีเด็กมาเรียนเพียงสองคนก็กลายเป็นสามสิบ จากการบอกเล่าแบบปากต่อปากของเหล่าผู้ปกครอง “จุดขายของโรงเรียนคือ ให้เด็กทำเองในทุก ๆ อย่าง ไม่ใช่แค่ในเรื่องเรียน แต่เมื่อเข้ามาที่นี่แล้ว ต้องทำทุกอย่างเองทั้งหมดแม้กระทั่งเดินไปหยิบน้ำ” จ้อกล่าว “เราสอนทุกอย่างตั้งแต่พื้นฐาน ลากเส้น ไล่สี ลงสี และให้ทำไปพร้อมกัน ไกด์เขาก่อนว่าขั้นตอนนี้ต้องทำอะไรบ้าง พอเริ่มชำนาญก็ค่อยให้เด็กสอนเรากลับ”
เด็ก ๆ จะได้อะไรจากการเรียนศิลปะบ้าง ?
“ค่อนข้างชัดเจนนะว่าได้สมาธิ มีเด็กหลายคนที่สมาธินิ่งขึ้นมากจากการได้เรียนศิลปะ แล้วเราทำให้เขาชอบได้ พ่อแม่ก็คอนเฟิร์มว่าลูกเขาดีขึ้น เราก็สอนวิธีคิด เช่น งานที่ไม่มีแบบเด็กต้องคิดเอง อย่างให้โจทย์ไปว่า วาดรถในอนาคต เด็กจะเริ่มจากการเขียนเป็น Mind Map ก่อนว่า อยากให้รถเป็นอย่างไรบ้าง สมมุติว่าบินได้ จะบินอย่างไร บินเพื่ออะไร เด็กจะได้คิดต่อด้วยเหตุผลของตัวเองมากกว่าการวาดรูประบายสีธรรมดา เราไกด์ให้คิดในสิ่งที่ไม่จริง เด็กจะได้มีความสุขกับจินตนาการ เผื่อในอนาคตเด็กพวกนี้จะได้สร้างมันให้เป็นจริงได้
จะทำต่อไปได้นานแค่ไหน ?
“จนกว่าจะเจ๊ง (หัวเราะ) แต่ไม่เคยคิดถึงจุดนั้น ไม่เคยคิดว่ามันจะล้ม เรารู้สึกว่ามันต้องรอด ถ้าล้มก็จะไม่เลิกเพราะเริ่มมันแล้วยังไงก็ต้องทำต่อไปให้ได้ กว่าจะทำมาขนาดนี้ก็นาน จาก 1-30 ถึงจะยังรับงานฟรีแลนซ์อยู่ แต่ก็จะให้ความสำคัญกับทุกอย่างเท่า ๆ กันนะ เวลาไหนที่ต้องทำอะไรก็เป็นเวลาของมัน เด็กยังไม่มาเราก็ทำงานรอ”
ตั้งใจจะทำอะไรต่อในอนาคต ?
“เราอยากเปิดบริษัทของตัวเอง ไม่ต้องใหญ่มาก แต่มีเพื่อน ๆ สายเดียวกันมานั่งทำงานด้วยกัน เพราะคิดว่าการทำงานกับเพื่อนมันมีอิสระ ถ้าทุกคนรู้จักหน้าที่ แต่ตอนนี้ทุกอย่างมันเดินได้ด้วยเงิน เราอาจจะต้องรอหน่อยเท่านั้นเอง แล้วก็แบ่งเวลามาทำโรงเรียนด้วย ทำฟรีแลนซ์ด้วย เราว่าเราทำทุกอย่างได้”
อิสระกับงานดีไซน์
การไม่จำกัดขอบเขตความคิด เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราหลุดออกจากกรอบและมุมมองเดิม ๆ งานดีไซน์ของจ้อจึงไม่อ้างอิงกับสไตล์ใดสไตล์หนึ่งอย่างตายตัว “เรื่องสไตล์มันเป็นการไกด์ก็จริง แต่มันฉีกกรอบงานไม่ได้ เพราะว่ามันถูกคุมด้วยคำว่าสไตล์นี้ ๆ เราเลยพูดเสมอว่า ให้เอารูปมาดูแค่สองรูปก็พอว่าอยากได้แบบไหน ถูกใจทั้งเราและลูกค้า เราจะไม่พูดซี้ซั้วเรื่องเวลา ได้คือได้ ไม่ได้คือไม่ได้ ต้องรักษาคำพูด”
ประสบการณ์การเป็นดีไซน์เนอร์ได้สอนอะไรเราบ้าง ?
“งานดีไซน์ช่วยสอนเรื่องความเป็นระบบ ทำให้ระบบการใช้ชีวิต หรือระบบการคิดดีขึ้น คิดแบบมีแบบแผนมากขึ้น รู้จักแบ่งเวลา แบ่งการทำงานของตัวเองว่าควรทำอะไรก่อนหลัง”
แสดงว่าสามารถนำประโยชน์จากการเป็นดีไซน์เนอร์มาปรับใช้ในชีวิตจริงได้ ?
“ก็พอสมควรนะ เพราะรู้สึกว่า ถ้าเกิดไม่ได้ทำงานดีไซน์ ไม่มีระบบการคิดพวกนี้ เราก็คงเป็นเด็กที่ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อย ไม่มีความฝัน ไม่มีอะไร การทำงานดีไซน์ให้อะไรเราหลายอย่าง นอกจากนี้ก็เป็นเรื่องของโชคด้วย (หัวเราะ)”