สิ่งก่อสร้างที่ได้รับการออกแบบตกแต่งภายในให้สะดุดตาและอารมณ์
ความรู้สึกดีๆหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นโครงการบ้านโนเบิล พาร์ค บ้านภัสสร บ้านพฤกษา
สำนักงานบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กิมเอ็ง ฯลฯ
ทั้งหมดล้วนเป็นผลงานการออกแบบของบริษัท บาริโอ จำกัด

15 ปีกับงานออกแบบตกแต่งภายในอย่างมืออาชีพ
และเน้นการออกแบบให้แตกต่างอย่างมีเอกลักษณ์
ภายใต้การควบคุมดูแลของ วรวุฒิ ธรรมกุลางกูร
สมาชิกบัตรอเมริกัน เอ็กซ์เพรสตั้งแต่ค.ศ.1994
ผู้ซึ่งวางแผนชีวิตทุกย่างก้าว ใส่ใจทุกรายละเอียด
อุดมไปด้วยความอบอุ่นในการดำรงชีวิต
คุณสมบัติทั้งหมดนี้เขาได้ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานที่สามารถสัมผัสได้ด้วยความรู้สึก

 

กว่าความมั่นคงจะเดินเข้ามาในชีวิตอย่างที่เห็น ชีวิตของเขามีเรื่องราวมากมาย
นับตั้งแต่ในวัยเด็กที่ต้องพบกับความล้มละลายในธุรกิจของครอบครัว

“ผมเป็นลูกคนที่สอง จากพี่น้องทั้งหมดสี่คน ที่บ้านผมเป็นครอบครัวคนชั้นกลาง ทำธุรกิจเกี่ยวกับจิวเวลรี
ในวัยเด็กก็เรียนที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล แรกๆก็ไม่ค่อยมีอะไรน่าตื่นเต้น แต่ก็มีช่วงหนึ่งที่บ้านผมเกิดล้มละลาย
เพราะว่าคุณพ่อไปทำเรื่องค้ำประกันเอาไว้ ซึ่งจริงๆแล้วทั้งคุณพ่อกับคุณแม่ก็ไม่เคยทำให้เรารู้สึกเสียใจเลย”

“ขณะที่บ้านเกิดปัญหา เป็นช่วงที่ผมเรียนอยู่ชั้นม .2 พ่อกับแม่ไม่เคยให้ลูกๆต้องลำบาก ท่านยังคงให้คนขับรถไปรับ – ส่งที่โรงเรียนทุกวัน ช่วงนั้นท่านก็มีปัญหากันนะ มีอยู่คืนหนึ่งที่ผมตื่นขึ้นมาเห็นท่านทะเลาะกันด้วยเสียงที่เบามากๆ ทำให้ผมรู้สึกว่าท่านรักลูกมาก แทบจะไม่รู้เลยว่าพ่อกับแม่กำลังมีปัญหาหนัก”

 

เรียนรู้เพื่อค้นพบ

“ตอนม .5 ผมเริ่มทำแบบส่งประกวด และได้รับรางวัล ในงาน บางกอก เจมส์ แอนด์ จิวเวลรีในปีพ.ศ.2528 ซึ่งจริงๆผมไม่ชอบงานจิวเวลรีเลย เพราะรู้สึกว่าเป็นงานที่ไม่มีฟังก์ชัน และเป็นของฟุ่มเฟือย
ความจริงผมอยากออกแบบรถยนต์ แต่ว่าก็เป็นงานที่ไม่เหมาะกับการทำงานในเมืองไทย ผมเลยหันมาชอบงานออกแบบตกแต่งภายใน”

“ตอนที่ผมเลือกเอ็นทรานซ์เข้าคณะสถาปัตย์นั้น ผมก็ไม่ได้มีคอนเซ็ปต์เป็นของตัวเองหรอก
ผมจำได้ว่าวันที่กรอกใบสมัคร ผมยังไม่รู้เลยว่าผมจะเลือกเรียนคณะอะไรดี ความจริงผมอยากเรียนบริหารธุรกิจ และจะต้องเลือกมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย ปรากฏคุณแม่ลั่นวาจามาว่า ถึงผมจะเอ็นทรานซ์ติด แม่ก็ไม่ให้ไปเรียน
ผมเลยหันไปถามพี่ชายซึ่งตอนนั้นเขาเอ็นทรานซ์พร้อมผม เพราะอายุไล่เลี่ยกันเลยเรียนด้วยกันมาตลอด ซึ่งพี่ผมเลือกคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ ผมเลยเลือกตามเขา ก็ปรากฏว่าเอ็นทรานซ์ติดทั้งคู่”

 

วางแผนขั้นต้น

“ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยใหม่ๆ
ผมตั้งใจไว้แล้วว่าผมจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง
ตอนปีแรกผมบอกเพื่อนว่าผมเข้ามาเรียนเล่นๆ
ปีหน้าผมจะเอ็นทรานซ์ใหม่เข้าคณะบัญชีฯ จุฬาฯ
เพื่อนผมบอกว่าผมน่ะคิดผิด
เพราะว่าคะแนนที่ผมสอบเข้ามาได้นั้นเป็นอันดับหนึ่งของ รุ่น และยังบอกผมว่าถ้าสอบเข้ามาแล้วไม่ตั้งใจเรียน
จะสอบเข้ามาทำไม การทำแบบนี้มันเปลืองที่เรียน
เปลืองงบประมาณคนอื่นเขา ทำให้ผมได้คิดที่จะเรียนต่อ ซึ่งเพื่อนคนที่ผมพูดถึงนี้คือ จักราวุธ แสวงผล
ที่ตอนนี้เป็นนักแต่งเพลงของแกรมมี่ไปแล้ว ( หัวเราะ )”

“ความจริงผมอยากเปิดบริษัทของตัวเองตั้งแต่ตอนเรียนจบแต่ว่าคุณพ่อไม่ยอมให้ผมไปหาประสบการณ์จากการทำ
งานกับคนอื่นเสียก่อน ท่านคงเห็นว่าผมเป็นคนใจร้อน”

 

สู่การทำงานอย่างเป็นระบบ

“ผมเลยไปทำงานที่ P49 and Associates Co.,Ltd.
ในตำแหน่งอินทีเรียร์ ดีไซเนอร์ ผมทำอยู่ที่นั่นสามเดือน
จากนั้นย้ายไปที่บริษัท A.E.C.M. Co.,Ltd. ( ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น Interpac Co.,Ltd.) ทำงานอีกหกเดือนก็ออกมาเปิดบริษัทของตัวเองตอนอายุ 23 ปี ก็มีคนถามนะครับว่าทำไม !”

“ตอนนั้นผมอยากทำงานหาเงินเอง
สิ่งนี้เกิดจากการเรียนคณะสถาปัตย์ฯ นี่แหละ
เพราะการเรียนคณะนี้มีค่าอุปกรณ์การเรียนมาก
ถ้าเราอยากได้กระดาษดีๆมาเขียนแบบ เราก็ต้องมีเงิน ซึ่งเงินที่ว่าก็ได้มาจากการทำงานระหว่างเรียน แต่ส่วนใหญ่พอทำงานหาเงินมาได้ก็ใช้หมด และผมมาคิดว่าถ้าผมเปิดบริษัทตอนอายุ 23-24 ปี ทำงานไปสัก 3-4 ปี ผมจะมีอายุประมาณ 27-28 ปี ช่วงนั้นถ้าเราเปิดบริษัทแล้ว … ล้มเหลว ผมยังสามารถออกมาเป็นลูกจ้างคนอื่นเพื่อหาประสบการณ์
ได้ ดีกว่าการที่ผมคิดจะไปเปิดบริษัทตอนอายุ 30 ปี ถ้าบริษัทล้มขึ้นมาล่ะ ตอนนั้นผมต้องมีครอบครัว มีลูกแล้วใครล่ะจะมาดูแลครอบครัวผม”

“ผมมีความคิดอย่างนี้มาตั้งแต่เด็กแล้ว ชอบวางแผนชีวิตเป็นสเต็ป
เชื่อไหมว่าผมคุยเรื่องแบบนี้กับเพื่อนตั้งแต่ม .2 ว่าถ้าอายุ
30 เราทำอะไร อายุ 40 เราต้องมีอะไร ควรจะมีเงินเท่าไหร่
เรื่องการวางแผนนี่ผมก็ไม่รู้ว่าได้มาจากไหน
แต่ถ้าเรื่องคาแร็กเตอร์ส่วนตัวของผม ผมว่าผมได้มาจาก
แม่นะ”

 

บนเส้นทาง Bareo & isyss

“ชื่อ Bareo ได้มาโดยบังเอิญมากกว่าครับ เป็นชื่อบริษัทที่ตั้งขึ้นตอนผมอายุ 23 ปี
ช่วงนั้นผมคิดว่าชื่อบริษัทไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด แต่เรื่องสำคัญคือผมจะหาลูกค้ายังไง ลูกค้าจะเป็นใคร
ตอนที่ตั้งบริษัทใหม่ๆ ก็มีหุ้นส่วนคือพี่ชายของผม เพื่อนของผมสองคน และ คุณมยุรี ภรรยาของผม
ชื่อนี้ได้มาจากการเปิดหนังสือเล่มหนึ่ง และผมไปสะดุดชื่อ Bareo ซึ่งเป็นชื่อเมืองเล็กๆในอินโดนีเซีย ผมว่าชื่อนี้น่ารักดี มีสามพยางค์ จำง่ายดีด้วย จากนั้นเราก็เริ่มการทำงานรับเหมาและสตูดิโอออกแบบ”

“เรื่องงานรับเหมาสำหรับเมืองไทยนี่ บอกได้เลยว่าการทิ้งงาน การลดสเป็กงาน ถือเป็นเรื่องปกติมาก พอถึงเวลาจริงๆ ลูกค้าก็อยากให้เราดูแลงานให้เขาตั้งแต่ต้นจนจบ ผมก็ต้องไปไฟท์ให้ลูกค้า
สุดท้ายไปๆมาๆเราก็ต้องเข้าไปรับผิดชอบแทนผู้รับเหมาด้วย เพราะว่าเมื่อเราออกแบบไป
ลูกค้าก็คาดหวังว่างานที่ออกมาจะต้องดี กลายเป็นว่าเราต้องมารับหน้าแทนทั้งหมด พอเจอปัญหาแบบนี้บ่อยๆ ผมก็เลยเปิดบริษัทรับเหมาเองในชื่อ Maestro ปรากฏว่าล้มเหลว ! เละเลย ! หนึ่ง เพราะเราควบคุมงานไม่อยู่ การทำงานรับเหมาไม่ใช่เรื่องง่าย เราอย่าคิดว่างานนี้เป็นงานนั่งโต๊ะสั่งงาน จริงๆมันไม่ใช่ …”

“งานรับเหมาจะต้องเป็นคนที่ถึงลูกถึงคนพอสมควร เราต้องเข้าไปรู้และเข้าใจคนให้ได้ความต้องการของคนที่มาทำงาน เขาไม่ได้จบปริญญาตรี ดังนั้นเราต้องเข้าใจเขาให้ได้ จากนั้นผมก็เว้นไปเกือบปี แล้วค่อยกลับมาเปิด Maestro อีกครั้ง ตอนนี้เรามีการวางแผนงานอย่างดี ควบคุมทุกอย่าง และก็เป็นบริษัทที่ซัพพอร์ต Bareo ได้อย่างดี จนมาถึงปัจจุบันนี้เราก็ยังทำงานได้ดี”

“ช่วงที่เศรษฐกิจตกในปีพ.ศ. 2540 ปรากฏว่าบริษัทของเรากำลังขึ้น ช่วงนั้นบริษัทเราได้งานจากทางบริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า ซึ่งปัจจุบันก็คือกิมเอ็ง ตอนนั้นเขาเพิ่งมาเปิดที่เมืองไทยและเราก็มีโอกาสได้ไปทำงานตกแต่งที่สำนักงานใหญ่ให้ เรามีโอกาสได้ทำทั้งหมด 10 สาขา มีสาขาหาดใหญ่ที่ผมภูมิใจมาก คือตอนนั้นทางเขาไป เช่า ที่และมีเวลาเพียง 27 วันเท่านั้นที่ต้องทำงานให้เสร็จ เพราะช่วงนั้นถือว่างานหลักทรัพย์เฟื่องฟูจริงๆ”

“ผมเล็งเห็นว่าการทำงานตกแต่งนั้นเราต้องวิ่งหาลูกค้าใหม่ตลอด พูดตามตรงคือเหมือนกับสิงโตที่ต้องออกล่าเหยื่อตลอดเวลา แล้วถ้าวันใดที่เราเป็นเสือแก่ล่ะ เราจะทำยังไง !
ซึ่งลักษณะงานแบบนี้ผมไม่ชอบ ก็เลยมานั่งโฟกัสกันว่าเราน่าจะหากลุ่มที่เป็นคอมเมอร์เชียลหรือลูกค้าโครงการบ้านจะดีกว่าไหม ผมอยากหางานที่เป็นตลาดจริงๆ แทนที่จะเป็นลูกค้าเฉพาะ เราต้องสร้างเป็นแบรนด์ และผมก็เริ่มลงโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์”

“ผมว่าชื่อ Bareo เนี่ยเป็นชื่อที่ผมไม่ได้ต้องการให้อยู่ยาวเลยนะ เลยคิดตั้งขึ้นมาอีกชื่อคือ isyss เป็นชื่อของตัวอักษรง่ายๆ ตามหลักสมัยใหม่ และต้องมีตัวอักษรไม่เกินสามตัว เอาตัวอักษรมาเรียงกันจนได้ชื่อ isyss ขึ้นมา ตอนแรกว่าจะเปลี่ยนแบรนด์เลย แต่ก็มาคิดว่าการจะเปลี่ยนชื่อทันทีมันไม่ใช่เรื่องง่าย ผมตั้งใจว่าต่อไปจะใช้ชื่อ isyss แต่จะต้องค่อยเป็นค่อยไป”

“มีคนถามผมว่างานออกแบบตกแต่งภายในจำเป็นต้องมีแบรนด์ด้วยหรือ …
ผมอยากให้คนเข้ามาเพราะมีความเชื่อถือในแบรนด์นี้ ไม่ใช่เพราะการมีคอนเน็กชันจากตัวผม มันน่าจะมีความน่าเชื่อถือเพราะเป็น Bareo ที่ได้มาจากงานที่มีคุณภาพ คือถ้าผมไม่อยู่ บริษัทก็ยังอยู่ได้ ผมพยายามเน้นเรื่องการตลาดมากขึ้น อย่างระบบ I-Concept ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ของเรา คือเราไม่ต้องการให้ลูกค้าเกิดปัญหาบานปลายในการบริหารงบประมาณ และเป็นการให้ลูกค้าได้รับทราบทุกขั้นตอนของการทำงานด้วย”

 

หนัง เพลง ศิลปะ

เสพเพื่องานและการผ่อนคลาย
“งานที่ออกมาผมได้แรงบันดาลใจจากการชมภาพยนตร์ งานศิลปะ และฟังเพลง
แต่ก็มีการดูหนังสือเกี่ยวกับด้านออกแบบบ้าง
เพื่อดูเทรนด์การออกแบบที่กำลังจะมา
ผมเป็นคนวางคอนเซ็ปต์หลักมากกว่า
ผมอยากให้ดีไซเนอร์ได้ทำงานในส่วนของเขามากกว่า
ผมก็แค่ดูภาพรวมและกิมมิกที่เราควรจะใส่เข้าไปในงาน”

“ผมว่าการดูภาพยนตร์เป็นการเปิดหูเปิดตาให้กับเรา
และให้อะไรๆเราเยอะเลย ส่วนตัวผมชอบดูหนังแนวโรแมนติก และแนวแฟมิลี คอมเมอดีก็มีบ้าง ถ้าหนังยิงกันนี่ไม่ค่อยชอบ
ส่วนเพลงก็ฟังแนว Vocal Jazz ผมว่าเสียงของนักร้องแต่ละคนที่ร้องนี่ไม่เหมือนกันเลย ต่อให้ร้องเพลงๆเดียวกัน ก็ไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนงานที่ใช้เครื่องดนตรี ผมว่า Vocal Jazz มันเห็นคาแร็กเตอร์ของคนร้องที่ชัดเจน”

“อย่างเรื่องการถ่ายภาพนี่ ช่วงเรียนหนังสือก็เรียนแค่สนุกๆ แต่พอมาทำงานผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้หรอกที่เราจะเอาดีทั้งเรื่องงานและการถ่ายภาพ เลยตัดสินใจว่าพออายุสัก 40 ปี ผมจะเรียนถ่ายภาพ ผมตั้งใจว่าภายใน 20 ปี งานการของผมก็คงสำเร็จลุล่วงแล้ว”

“บังเอิญว่าเมื่อปีที่แล้ว เพื่อนสนิทของผมคนหนึ่งมาชวนไปเรียนถ่ายภาพ ผมว่ามันเป็นเรื่องตลกมากเลยที่เพื่อนมาชวนผม เพราะเขาเป็นคนที่ไม่มีวี่แววว่าจะถ่ายภาพเลยนะ จำได้ว่าตอนเขารับปริญญา ผมยังเป็นคนถ่ายรูปให้ จากความตั้งใจจะเรียนถ่ายภาพตอนอายุ 40 ก็เลยได้ไปเรียนเร็วขึ้น พอไปเรียนแล้วก็ได้ตระเวนถ่ายภาพตามที่ต่างๆเยอะมาก”

“ผมชอบถ่ายภาพพอร์เทรต ตอนเรียนแรกๆยังไม่รู้หรอกว่าตัวเองชอบถ่ายอะไร ก็เลยถ่ายรูปลูกมากเป็นพิเศษ ช่วงหลังผมเริ่มชอบงานแลนด์สเคป ในตอนแรกไม่คิดว่าตัวเองจะชอบถ่ายภาพวิว ไม่รู้จะถ่ายทำไม ผมว่ามันไม่มีอะไร แต่พอตัวเองค่อยๆดู ค่อยๆเห็นภาพ ผมว่าการถ่ายภาพแบบนี้ต้องใช้สมาธิ ต้องใช้ความอดทนมากๆ และเป็นงานละเอียดมากๆ ถ้าเป็นคนไม่เนี้ยบจะไม่มีโอกาสได้ภาพที่ต้องการเลย”

“จากการถ่ายภาพเพื่อความสนุก ก็มีโอกาสได้ไปเข้าเว็บไซต์ของสมาคมถ่ายภาพในพระบรมราชูปถัมภ์ ผมก็เห็นว่าเขาถ่ายภาพกันสวยดี ผมเลยอยากส่งภาพเข้าไปโพสต์กับทางสมาคมฯ บ้าง ก็มีผลตอบรับค่อนข้างดี ผมว่าการถ่ายภาพเนี่ย ถ้าเราถ่ายเก็บไว้ดูเองมันไม่มีประโยชน์ เพราะเราก็จะรู้สึกว่าเราถ่ายภาพดี แต่ถ้าเราได้ให้คนอื่นดูบ้าง ให้คนอื่นได้วิจารณ์บ้าง เราจะได้เทสต์ตัวเองด้วย”

“หัวข้อแรกๆผมยังไม่ได้ส่ง เพราะคิดไม่ออกว่าจะถ่ายอะไร พอมาหัวข้อหลังๆ ผมก็ส่งงานหัวข้อ ” จุดตัด 9 ช่อง ” เป็นครั้งแรก ส่วนงานที่ได้รับโหวตเป็นอันดับหนึ่ง คือ หัวข้อ ” สีตัดกัน ” และ “Street Life” ผมสะสมคะแนนไปเรื่อยๆ
จนได้คะแนนสูงสุด ความจริงรางวัลไม่มีอะไรมาก เป็นการประกวดกันสนุกๆ มากกว่า แต่ว่าตอนงานแสดงภาพที่หอศิลป์เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมรู้สึกอยากแสดงภาพมากๆ เลยส่งภาพเข้าร่วมประกวด ปรากฏว่างานของผมได้รับคัดเลือกสี่ภาพ จากทั้งหมดห้าภาพ เป็นภาพแลนด์สเคปที่เมืองจีนทั้งหมด ซึ่งงานสไตล์นี้เป็นงานที่คนอื่นเขาไม่ส่งกัน ( หัวเราะ )”

 

ครอบครัวคือที่สุดในชีวิต

“ผมมีลูกสองคน คนโตเป็นลูกสาวชื่อ แบมแบม ส่วนคนที่สองชื่อ บิ๊งบิ๊ง เขาน่ารักมากๆ ผมชอบถ่ายรูปลูกๆ เขาโพสต์ท่าให้ผมถ่ายกันจนช่วงหลังพอผมยกกล้องขึ้นทีไร เขาต้องวิ่งหนีกันทุกที คงเบื่อเป็นนายแบบนางแบบกันแล้ว
ผมว่าผมโชคsดีเรื่องครอบครัวนะ”

“ปีนี้เราตั้งใจว่าจะไปทัสคานีในอิตาลี ซึ่งผมก็เกริ่นๆกับทางแผนกบริการสมาชิกบัตรแพลทินัมไว้แล้วว่าเราจะไปเที่ยวกัน คาดว่าเขาคงจะจัดการให้เราเรียบร้อยเหมือนที่ผ่านมา ผมตั้งใจจะไปถ่ายภาพแลนด์สเคปที่นั่น เพราะมีความเรียบง่าย
เป็นอิฐ เป็นหิน มีบ้านโบราณที่สวยมาก ส่วนอีกทริปหนึ่งตั้งใจไปราวเดือนตุลาคม คงไปอินเดียหรือเนปาล อย่างน้อยต้องมีการเดินทางไปยุโรปและแถบเอเชียอย่างละหนึ่งครั้ง ผมตั้งใจจะไปถ่ายภาพยอดเขา ที่ แชงกรีล่าอีกครั้ง ” ประทับใจทุกครั้งที่ใช้บัตรอเมริกัน เอ็กซ์เพรส”

“ที่ผ่านมาผมและครอบครัวมีโอกาสได้ไปแม่ฮ่องสอน และบังเอิญไปเข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งซึ่งผมไม่ประทับใจในบริการของเขาเลย ค่ำวันนั้นผมตัดสินใจโทรศัพท์ไปที่แผนกบริการสมาชิกบัตรแพลทินัม
แล้วบอกให้เขาช่วยจองห้องสวีทของโรงแรมอิมพีเรียล ธาราที่ผมเคยพักให้ด้วย เพียงแค่ 15 นาที แผนกบริการสมาชิกบัตรแพลทินัมก็จัดการให้ผมเสร็จสรรพ”

“และในวันฉลองครบรอบแต่งงาน 11 ปี เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา ผมยุ่งมาก …
จนไม่มีเวลาจองร้านอาหารที่ผมตั้งใจจะพาภรรยาไปดินเนอร์ พอนึกขึ้นได้ผมก็โทรไปที่แผนกบริการสมาชิกบัตรแพลทินัม และบอกเขาว่าผมอยากได้ช่อดอกไม้ 1 ช่อ เป็นทิวลิป 11 ดอก ซึ่งมันกะทันหันมากเลยนะ”

“ผมบอกแค่ว่าผมต้องการให้จองร้านสเต็กเล็กๆตรงท่าพระ จันทร์ เป็นร้านที่มีบรรยากาศดีมาก ซึ่งชื่อร้านผมก็จำไม่ได้ และที่สำคัญ ผมเองก็ไม่ทราบว่าร้านนั้นเขาไม่รับบัตรอเมริกัน เอ็กซ์เพรส ปรากฏว่าวันนั้นอเมริกัน เอ็กซ์เพรสจัดการให้ผมทันเวลาทุกอย่าง ทั้งดอกทิวลิป 11 ดอก และสเต็กร้านโปรด”