สวนสันติชัยปราการ กับ ต้นลำพู ต้นสุดท้าย
ถ้านึกถึงสวนสาธารณะ สวนสาธารณะที่นึกถึงเป็นแห่งแรกคงหนีไม่พ้น สวนสันติชัยปราการ สวนสาธารณะ ด้วยเหตุที่ไม่ไกลจากบ้าน ที่ทำงาน อยู่ในบริเวณที่คุ้นเคย หลายคนคงนึกสงสัยว่า สวนสันติฯ นี้มันดีกว่าที่อื่นอย่างไง...
สำหรับผู้ที่สัญจรไปมาบนถนนพระอาทิตย์ ก็อาจจะผ่านสวนแห่งนี้ไปได้โดยไม่ทันสังเกตก็มี เพราะมัวแต่มองบริเวณรอบข้างที่มีทั้ง ป้อมพระสุเมรุ บ้านเจ้าพระยา บ้านพระอาทิตย์ และชุมชนเก่าแก่บนถนนพระอาทิตย์ที่ร่วมกันอนุรักษ์บ้านเรือนให้เป็นแบบเดิม รวมถึงสวนสันติเป็นสวนขนาดเล็ก แบบเล็กจริงๆ คือประมาณ 8 ไร่กว่าๆ เท่านั้น
สวนสันติชัยปราการ เป็นชื่อพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งได้มีการจัดทำโครงการบูรณะป้อมพระสุเมรุและปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์โดยรอบเป็นสวนสาธารณะ ได้มีการจัดสร้างพระที่นั่งเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานนามให้พระที่นั่งและสวนสาธารณะแห่งนี้ไว้ว่า สวนสันติชัยปราการ แปลว่า มีปราการที่เป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะของสันติภาพ
ด้านหนึ่งของสวนสันติฯเปิดโล่งยาวขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถมองเห็นวิวสะพานพระราม 8 ได้อย่างชัดเจน ส่วนอีกด้านหนึ่งอยู่ติดกับถนนพระอาทิตย์ ถนนสายเล็กๆ แต่สวยงามด้วยร้านรวงน่ารักน่านั่งมากมาย และเป็นชุมชนที่มีความโดดเด่นในเรื่องของศิลปวัฒนธรรมอีกด้วย ทางขวามือของสวนสันติเป็นป้อมปราการที่มีชื่อเรียกว่า ป้อมพระสุเมรุ ป้อมแห่งนี้คือ 1 ในสองป้อมปราการที่ยังเหลืออยู่ในกรุงเทพ
ป้อมพระสุเมรุ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จนมาเสร็จสิ้นลงในสมัยรัชกาลที่ 3 และเป็น 1 ใน 14 ป้อมที่สร้างขึ้นป้องกันข้าศึกตามกำแพงพระนครชั้นนอก ซึ่งได้แก่ ป้อมจักรเพชร ป้อมผีเสื้อ ป้อมพระจันทร์ ป้อมพระอาทิตย์ ป้อมพระสุเมรุ ป้อมมหากาฬ ป้อมมหาชัย ป้อมมหาปราบ ป้อมมหายักษ์ ป้อมมหาฤกษ์ ป้อมยุคนธร ป้อมวิสันธร ป้อมเสือทะยาน และสุดท้ายคือ ป้อมหมูทะลวง ปัจจุบันนี้ 12 ป้อมได้ทรุดโทรมไปมาก รวมทั้งหมดความจำเป็นที่จะต้องมีป้อมปราการแล้ว จึงได้มีการรื้อถอนลง เหลือเพียงป้อมมหากาฬ ใกล้สะพานผ่านฟ้า และป้อมพระสุเมรุ มุมถนนพระอาทิตย์ต่อกับถนนพระสุเมรุเท่านั้นที่ยังคงเหลืออยู่
ป้อมพระสุเมรุมีลักษณะเป็นทรงแปดเหลี่ยม มีฐาน 3 ชั้น ฐานชั้นแรกมีบันไดทางขึ้นได้สองทางและมีทางเดินโดยรอบฐานชั้นนี้ กำแพงของฐานชั้นที่ 2 ทำเป็นรูปใบเสมา ประตูหน้าต่างเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยม และเจาะช่องลมรูปวงโค้งแหลม บริเวณผนังมีการเจาะช่องปืนโดยรอบ หลังคาเป็นโครงไม้ฉาบปูน ภายในมีเชิงเทิน ช่องยิงปืน ห้องเก็บกระสุนดินดำ และอาวุธต่างๆ เมื่อป้อมพระสุเมรุชำรุดทรุดโทรมลงมาก กรมศิลปากรจึงได้เข้ามาซ่อมแซมให้ดูสง่างาม โดยดูแบบจากรูปถ่ายในสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันป้อมพระสุเมรุให้ชมได้เฉพาะด้านนอก ไม่อนุญาตให้ขึ้นไปข้างบน
บริเวณสวนสันติฯ แห่งนี้ แต่ก่อนเคยเป็นที่ที่มีต้นไม้พื้นเมืองอย่าง ต้นไทร และ ต้นลำพู ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้บริเวณนี้ยามค่ำคืนจึงเต็มไปด้วยแสงกระวิบกระวับของหิ่งห้อย แต่ทุกวันนี้เหลือเพียงต้นลำพูไว้ให้ระลึกถึงบรรยากาศเก่า ๆ ของย่านบางลำพูเพียงต้นเดียว อยู่บริเวณใกล้กับพระที่นั่งสันติชัยปราการริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ต้นลำพู ที่เคยมีอยู่อย่างหนาแน่นจนชาวบ้านเรียกขานกันว่า บางลำพู ปัจจุบัน ต้นลำพู ต้นสุดท้ายที่ยังหลงเหลืออยู่ มีการสร้างแนวไม้ไว้กันคลื่นลูกโตๆ จะมากระทบต้นลำพูต้นสุดท้ายนี้ไว้ เพื่อจะให้ต้นลำพูต้นสุดท้ายอยู่ให้นานที่สุดให้ลูกหลานได้เห็นเห็น
ต้นลำพู
แดดร่มลมตก สวนสันติฯ กลายมาเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์และทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่จะจูงลูกจูงหลานมานั่งเล่นรับลมแม่น้ำเย็นๆ คู่รักจะจูงมือกันมานั่งชมพระอาทิตย์ตกน้ำเจ้าพระยา มาเดินเล่นออกกำลังกาย บางครั้งยังมีคนกลุ่มหนึ่งทั้งคนไทยและต่างประเทศกำลังทำกิจกรรมแปลกๆ เช่น จั๊กกลิ้ง( Juggling) เป็นการโยนวัตถุต่างๆ ขึ้นไปแล้วใช้มือรับคราวละ 2-3 ชิ้น โดยไม่ตกพื้นหรือหมุนเชือกที่ติดหัวยางไปรอบตัวไปจนกระทั่งถึงควงกระบองด้วยลีลาพิสดารยากต่อการเลียนแบบ ราวกับตัวตลกที่เห็นตามคณะละครสัตว์หรือนักมายากล คลอไปกับเสียงกลองแอฟริกาให้จังหวะกระแทกกระทั้นในการเล่น ช่างน่าตื่นตาตื่นใจยิ่งนัก กีฬาแบบนี้นิยมกันมากในทางแถบยุโรปและอังกฤษ ถูกนำเข้ามาพร้อมๆ นักท่องเที่ยวที่มาพักตาม guest house บริเวณถนนข้าวสารและถนนพระอาทิตย์
นอกจากนี้แล้ว ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ประมาณ 5 โมงเย็น จะได้ฟังดนตรีไทยที่เล่นกันแบบสดๆ เคล้าไปกับลมเย็นๆ ดนตรีไทยวงนี้ไม่ได้เล่นแต่ทำนองเท่านั้น แต่ยังมีการร้องเพลงไทยเดิมให้ฟังกันอีกต่างหาก และที่เด็ดกว่านั้น!! เขามีโปรโมชั่นพิเศษสำหรับฝรั่งที่มานั่งฟังอยู่ ด้วยการแปลเนื้อเพลงภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษเป็นทั้งการเอาใจผู้ฟัง และยังเป็นการแบ่งปันวัฒนธรรมไทยสู่ต่างชาติอีกด้วย
แค่คำบรรยายอาจยังไม่ชัดเท่าบรรยากาศจริง เสน่ห์ของสวนแห่งนี้มีมากมายเกินกว่าจะบรรยายออกมาได้หมด ต้องลองมาสัมผัสเองแล้วคุณจะรู้ว่า อืม...เหนือคำบรรยายจริงๆ |