ลินดา ตั้งจิตธนกุล
 
interior design ออกแบบ ตกแต่งภายใน
 
Did you know ? De'cor Guide Market Guide
 
 
Brochure
 

     จาก issue ที่แล้ว Guide ของเราได้พาไปดู พระราชวังบางปะิอิน และ เยี่ยมชมศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ไปแล้วนะคะ issue นี้ ขอพาไปตื่นตากับความรุ่งเรืองแห่งมรดกทางวัฒนธรรมของอดีตราชธานี ที่ทางยูเนสโก(องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ) ได้ยกย่องไว้ เรามาตามดูความวิจิตร และบรรเจิดของราชธานีเก่ากันดีกว่านะคะ

เริ่มต้นกันที่วัดใหญ่ชัยมงคล เดิมเป็นวัดของพระสงฆ์ที่สืบมาจากสำนักของพระวันรัตน์มหาเถระในลังกา รู้จักกันในนาม “ วัดป่าแก้ว ” หรือ “ วัดเจ้าพระยาไทย ” หรือ “ วัดพระยาไทย ” จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2135 เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำศึกยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชแห่งพม่าที่ตำบลหนองสาหร่าย เมืองสุพรรณบุรี   พระองค์จึงให้สร้างมหาเจดีย์ “ ชัยมงคล ” ขึ้นที่วัดนี้เป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ นามว่า “ พระเจดีย์ชัยมงคล ” แต่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ พระเจดีย์ใหญ่ ” นานวันเข้าวัดนี้จึงเรียกชื่อเป็น “ วัดใหญ่ชัยมงคล ”

 

พระพุทธรูปโดยรอบระเบียงคต

พระนอน หรือพระไสยาสน์ วัดใหญ่ชัยมงคล

 

ด้านซ้ายมือเป็นวิหารพระนอนหรือพระไสยาสน์หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก พระเศียรทางทิศใต้ ถัดมาเป็นพระอุโบสถตั้งอยู่ทางด้านหน้าของพระมหาเจดีย์ เชื่อกันว่านี่คือพระอุโบสถที่เหล่าขุนนางและพระเฑียรราชาได้มาชุมนุมกันเสี่ยงเทียนเพื่อตัดสินใจว่า จะร่วมกันทำการยึดอำนาจจากองค์กษัตริย์ขุนววรวงศาและพระแม่เจ้าอยู่หัวศรีสุดาจันทร์ หรือไม่ ตามที่เราดูในหนังเรื่องพระศรีสุริโยทัยนั่นเอง

ออกจากวัดใหญ่ชัยมงคลให้เลี้ยวซ้ายตรงไปตามถนนประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะเห็นวัดพนัญเชิงอยู่ทางขวามือ วัดพนัญเชิงเป็นวัดที่มีมาก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง ตามพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งซึ่งครองเมืองอโยธยาเป็นผู้สร้างขึ้นตรงที่พระราชทานเพลิงศพพระนางสร้อยดอกหมาก และพระราชทานนามวัดว่า “ วัดพระเจ้าพระนางเชิง ”   หรือ "วัดพระนางเชิง"  

หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง

พระวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ตามพงศาวดารกล่าวว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 1867 ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา 26 ปี เดิมชื่อ “ พระพุทธเจ้าพนัญเชิง ” ( พระเจ้าพะแนงเชิง) แต่ในรัชกาลที่ 4 เมื่อมีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปองค์นี้ได้พระราชทานนามใหม่ว่า “ พระพุทธไตรรัตนนายก ” ( ชาวบ้านนิยมเรียกหลวงพ่อโต ชาวจีนนิยมเรียกว่า ซำปอกง ผู้คุ้มครองการเดินทางทางทะเล) เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะแบบอู่ทองปางมารวิชัยลงรักปิดทอง มีขนาดหน้าตักกว้าง 14 เมตร   สูง 19.13 เมตร   ฝีมือปั้นงดงามมาก เบื้องหน้ามีตาลปัตรหรือพัดยศ และพระอัครสาวกที่ทำด้วยปูนปั้นลงรักปิดทองประดิษฐานอยู่เบื้องซ้ายและขวา อาจนับได้ว่าเป็นพระพุทธรูปนั่งสมัยอยุธยาตอนต้นที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน เป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียง เข้าใจว่าเมื่อสร้างพระองค์ใหม่เสร็จแล้วจึงสร้างพระวิหารหลวงขึ้นคลุมอีกทีหนึ่ง ตามตำนานเล่าว่า เมื่อคราวพระนครศรีอยุธยาจะเสียกรุงแก่ข้าศึกนั้น พระพุทธรูปองค์นี้มีน้ำพระเนตรไหลออกมาทั้งสองข้าง   ส่วนในพระวิหาร เสาพระวิหารเขียนสีเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่งสีแดงที่หัวเสามีปูนปั้นเป็นบัวกลุ่มที่มีกลีบซ้อนกันหลายชั้น ผนังทั้งสี่ด้านเจาะเป็นซุ้มเล็กประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเล็กโดยรอบจำนวน 84,000 องค์เท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา ส่วนประตูทางเข้าด้านหน้าซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก เป็นบานประตูไม้แกะสลักลอยตัวเป็นลายก้านขดยกดอกนูนออกมา เป็นลักษณะของศิลปะอยุธยาที่งดงามมากแห่งหนึ่ง
   

พระอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธรูป 5 องค์ ศิลปะสุโขทัย วิหารเซียน อยู่ด้านหน้าของพระวิหารหลวงเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งแต่เดิมมีภาพจิตรกรรมเขียนไว้บนผนังทั้งสี่ด้าน แต่ถูกโบกปูนทับไปแล้วเมื่อคราวบูรณะปฏิสังขรณ์ ข้างในพระวิหารหลังนี้ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะแบบอยุธยา ศาลาการเปรียญ หลังเก่าย้ายจากริมแม่น้ำมาอยู่ด้านหลังของวัด เป็นศาลาทรงไทยสร้างด้วยไม้ หน้าบันประดับช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ บริเวณคอสอง(ขื่อ) ด้านในศาลามีภาพเขียนสีบนผ้าเป็นภาพพุทธประวัติอยู่โดยรอบ มีตัวอักษรเขียนไว้ว่าภาพเขียนสีนี้เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2472 ภายในศาลามีธรรมาสน์อยู่ 1 หลังสลักลวดลายสวยงามเป็นศิลปะแบบรัตนโกสินทร์

ภายในวัดพนัญเชิงยังจะพบอาคารเก๋งจีนขนาดเล็กที่ชาวบ้านเรียกว่า ศาลเจ้าแม่แม่สร้อยดอกหมาก ตามตำนานกล่าวกันว่า พระนางเป็นธิดาของพระเจ้ากรุงจีน ซึ่งพระราชทานให้แก่กษัตริย์ของอยุธยา คือ พระเจ้าสายน้ำผึ้ง ขบวนพยุหยาทตราอันใหญ่โตของพระนางเสด็จมาทางชลมารค แต่มิได้รับการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติจากพระเจ้าสายน้ำผึ้งในฐานะราชธิดาของจักรพรรดิจีน ทำให้พระนางน้อยพระทัยเลยกลั้นลมหายใจจนสิ้นพระชนม์ไป พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงพระราชทานเพลิงศพ แล้วตั้งศาลให้ ณ ที่ตรงนี้ ก่อสร้างเป็นตึกแบบจีนเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่สร้อยดอกหมากในเครื่องแต่งกายแบบจีน ชาวจีนเรียกว่า “ จูแซเนี๊ย ” เป็นที่เคารพนับถือของชาวจีนทั่วไป

ออกจากวัดพนัญเชิงวิ่งย้อนผ่านวัดใหญ่ เข้าตัวเกาะกรุงศรีอยุธยา เลียบแม่น้าไปยังอีกฟากของเกาะจะพบวัดไชยวัฒนาราม ในแง่ของประวัติศาสตร์ เป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งของอยุธยา แม้ว่าจะตั้งอยู่นอกเกาะกรุงศรีอยุธยา สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าปราสาททอง เป็นวัดหลวงที่ใช้บำเพ็ญพระราชกุศลของกษัตริย์สมัยอยุธยา และเคยถูกใช้เป็นค่ายตั้งรับพม่าในสงครามเสียกรุงครั้งที่ 2 อีกด้วย

 

วัดไชยวัฒนาราม

 

วัดไชยวัฒนาราม

 

วัดไชยวัฒนาราม

ในแง่ของสถาปัตยกรรม วัดไชวัฒนาราม ถูกสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเขมรเป็นการจำลองการวางผังงานสถาปัตยกรรมมาจากนครวัด ดังนั้นท่านใดอยากไปนครวัดแต่ไม่มีโอกาส ก็มาชมที่วัดไชยวัฒนารามไปพลางๆ แทนล่ะกัน

มีองค์พระปรางค์ประธานล้อมรอบด้วยพระปรางค์บริวาร 4 ทิศ แต่ละทิศเชื่อมด้วยระเบียงคดที่มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยเรียงรายจำนวนมาก decor guide นับให้แล้วนะคะมีทั้งหมด 120 องค์ด้วยกัน

จากแผนผังของวัดจะเห็นได้ว่าวันนี้วัดนี้มีผังรูปสี่เหลี่ยม เป็นอีกสิ่งที่น่าทึ่งของคนโบราณว่าทำได้ไงนี่

ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะและเปิดให้เข้าชม และยังคงมองเห็นเค้าแห่งความสวยงามยิ่งใหญ่ตระการตา ซึ่งผู้ไปเยือนไม่ควรพลาดชมอย่างยิ่ง   นอกจากนี้ทางด้านทิศตะวันออกหรือด้านหน้าของวัดติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่มีประชาชนมานั่งพักรับลมเย็นๆ เพื่อรอชมการส่องไฟชมพระปรางค์ในยามค่ำ

หมายเหตุ : ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.30- 21.00  น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน

 

สุดท้าย ขอพาคุณคุณกลับเข้าเกาะกรุงศรีอยุธยา เพื่อชมความงามของวัดพระศรีสรรเพชญ์ในยามค่ำคืนคุณจะพบว่าวัดพระศรีสรรเพชญ์สวยอีกแบบที่นักท่องเที่ยวอย่างเราๆ พลาดไม่ได้

วัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นวัดสำคัญที่สุดของราชสำนักอยุธยาที่สร้างอยู่ในพระราชวังหลวงเทียบได้กับวัดพระศรีรัตนศาสดารามแห่งกรุงเทพมหานครหรือวัดมหาธาตุแห่งกรุงสุโขทัย มีฐานะเป็นวัดส่วนพระองค์ของพระมาหากษํตริย์ ซึ่งอยู่ในเขตพระราชฐาน ใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญๆ อาทิ พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา(ปีละ 2 ครั้ง) รวมถึงใช้เป็นที่เก็บพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์อยุธยาเกือบทุกประองค์ จึงไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา

 

วัดพระศรีสรรเพชญ์

 

ต่อมาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระสถูปเจดีย์ใหญ่สององค์เมื่อ พ.ศ. 2035 องค์แรกทางทิศตะวันออกเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถพระราชบิดาและองค์ที่สองคือองค์กลางเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 พระบรมเชษฐา ต่อมาในปี พ.ศ. 2042 ทรงสร้างพระวิหารขนาดใหญ่และในปี พ.ศ. 2043 ทรงหล่อพระพุทธรูปยืนสูง 8 วา ( 16 เมตร) หุ้มด้วยทองคำหนัก 286 ชั่ง (ประมาณ 171 กิโลกรัม) ประดิษฐานไว้ในวิหาร พระนามว่า “ พระศรีสรรเพชญดาญาณ ” ซึ่งภายหลังเมื่อคราวเสียกรุง พ.ศ. 2310 พม่าได้เผาลอกทองคำไปหมด   ในสมัยรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญชิ้นส่วนชำรุดของพระประธานองค์นี้ลงมากรุงเทพฯและบรรจุชิ้นส่วนซึ่งบูรณะไม่ได้เหล่านั้นไว้ในเจดีย์องค์ใหญ่ที่สร้างขึ้นแล้วพระราชทานชื่อเจดีย์ว่า “ เจดีย์สรรเพชญดาญาณ ”

สำหรับเจดีย์องค์ที่สามถัดมาทางทิศตะวันตก สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4
( พระหน่อพุทธางกูร) พระราชโอรสได้โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เจดีย์สามองค์นี้เป็นเจดีย์แบบลังกา ระหว่างเจดีย์แต่ละองค์มีมณฑปก่อคั่นไว้ซึ่งคงจะมีการสร้างในราวรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง   และมีร่องรอยการบูรณะปฏิสังขรณ์หนึ่งครั้งในราวรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ   ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามได้มีการบูรณะเจดีย์แห่งนี้จนมีสภาพที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

 

เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00–18.30 น.

ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท

หมายเหตุ : ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.30-21.00 น.
จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน

จากที่เราตะลอนเที่ยวมา 2 issue เราต่างตื่นตาตื่นใจกับความงามวิจิตรและประวัติอันยาวนานของกรุงศรีอยุธยา จึงไม่แปลกใจเลยที่กรุงเศรีอยุธยามีคำขวัญว่า “ ราชธานีเก่า อู่ข้าวอู่น้ำ เลิศล้ำกานท์กวี คนดีศรีอยุธยา ” เป็นดังนั้นแล...

 

หมายเหตุ : ขอแนะนำให้ซื้อบัตรเข้าชมแบบรวม ชาวไทยท่านล่ะ 60 บาท ชาวต่างประเทศท่านละ 180 บาท โดยบัตรนี้สามารถเข้าชมวัดและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้   ภายในระยะเวลา 30 วัน อันได้แก่ วัดพระศรีสรรเพชญ์และพระราชวังหลวง   วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระราม วัดไชยวัฒนาราม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานศิลปากรที่ 3 โทร. 0 3524 2501, 0 3524 2448 

หรือ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โทร. 0 3524 2284, 0 3524 2286
 
 
 

หลังจากเราไปอยุทยากันมาเหนื่อยแล้วนะค่ะ ต่อไปนี้ก็ถึงคิว ร้านกาแฟน่ารัก ๆ ให้ท่านได้ผ่อนคลายในยามว่าง กันบ้างนะค่ะ

 

บ้านพระอาทิตย์ Coffee & More

เมื่อพูดถึงถนนพระอาทิตย์ ทุกคนจะรู้จักกันดีว่าเป็นเหมือนศูนย์รวมความอร่อยของอาหารนานาชนิดอีกย่านหนึ่ง ที่จะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่มาแสวงหารสชาติแปลกใหม่กันตั้งแต่ช่วงเวลากลางวันไปจรดค่ำคืนเลยทีเดียว นอกจากจะขึ้นชื่อเรื่องความอร่อยแล้วถนนสายนี้ยังขึ้นชื่อเรื่องการแต่งร้านแข่งกัน แต่ขึ้นกับสไตล์ใครสไตล์มันไม่ยอมน้อยหน้ากันเลยทีเดียว

วันนี้พาไปชิมกาแฟที่ร้านบ้านพระอาทิตย์ Coffee & More เป็นร้านกาแฟที่ตั้งอยู่ชั้นล่างส่วนหน้าของบ้านพระอาทิตย์ เรียกได้ว่าร้านนี้ตั้งอยู่ในหลืบก็ไม่เชิง เพราะต้องเข้าไปในรั้วของบ้านพระอาทิตย์ แถมยังต้องผ่านป้อมยามเข้าไป (เหมือนเข้าไปบุกรุกที่ส่วนตัวอย่างไรอย่างนั้น) แต่พอก้าวเข้าไปในร้านแล้วล่ะก็จะรู้สึกทันทีเลยว่า นี่แหละใช่เลย ร้านกาแฟในฝันทีเดียว

คุณแจ๊ค ผู้จัดการร้านบอกกับเราว่าเดิมทีต้องการให้ที่นี่เป็นคล้ายสโมสร คล้ายที่พบปะกันของพนักงาน(หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ) ดังนั้นเราจึงแต่งร้านให้รู้สึกคล้ายอยู่บ้านมากกว่าร้านอาหาร เพื่อเป็นที่ผ่อนคลายสบายๆ และเพื่อรับแขก เป็นตกแต่งภายในให้ได้บรรยากาศแบบผสมผสาน ด้วยการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้มีกลิ่นอายของตะวันออกเข้าไปผสม เช่นเก้าอี้พนักพิงหมอนขวานแบบไทยๆ หรือโคมไฟตั้งโต๊ะแบบญี่ปุ่น ส่วนชุดโซฟาคือสัญลักษณ์ของความเป็นตะวันตก

โดยมากลูกค้าจะเป็นพนักงานของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ลูกค้าประจำส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งก็จะเป็นนักเรียนนักศึกษา และชาวต่างชาติ บ้านพระอาทิตย์จึงเหมือนจุดนัดพบของผู้คนหลากหลายอาชีพ นั่งจิบกาแฟ ลิ้มรสเนื้อเค้กอร่อยๆ หรือนั่งรับประทานอาหารจานเดียวรอพบใครสักคนที่นัดไว้...

นอกจากจะมีกาแฟอร่อย สำหรับผู้ชื่นชอบกาแฟ แล้วยังมีน้ำผลไม้ ชา หรือจะเป็น สตอเบอรี่โยเกิร์ตไว้รับรองสำหรับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนบรรยากาศจากการดื่มกาแฟ


คุณแจ๊คยังแนะนำเค้กและขนมเด่นประจำร้านคือ

Cake Velvet : Velvet คือสีแดง เนื้อจะเป็นเค้กที่มีสีแดง หน้าเค้กเป็นคัสตาร์ดโรยด้วยถั่วแมกคาเดเมียเป็นแทนครีม เป็นเค้กประจำร้านที่ลูกค้าจะชอบมาก ทานได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไม่หวานมากเป็นเค้กคาสตาร์ด
   
Mandarin Cake หรือเค้กส้ม ข้างบนจะรสส้มมีรสเปรี้ยวแต่ไม่เปรี้ยวมาก ข้างล่างจะเป็นช็อคโกแลต รสชาติจะตัดกันระหว่างความขมกับความเปรี้ยว ได้ความอร่อยอีกแบบ
   
Apple camble ขนม low fat โดยครีมทำจาก นม low fat โรยด้วยน้ำตาลทรายแดง และหากใครไม่ชอบหวานสามารถตักส่วนที่เป็นน้ำตาลทรายแดงออกได้ ซึ่งตัวของ Apple Camble เองจะไม่หวานมากอยู่แล้ว เป็นขนมแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องควบคุมน้ำตาล หรือลดความอ้วน
   

หรือ อาหารจานเดียว จำพวก ข้าวผัดน้ำพริกกุ้งสด ข้าวผัดปลาสลิด ข้าวกระหรี่ไก่แห้ง ข้าวหมูอบ ข้าวไก่อบ เป็นต้น

บ้านพระอาทิตย์ Coffee & More

บ้านพระอาทิตย์ ถนนพระอาทิตย์ Tel. 0 2280 7878-9

วันอาทิตย์ – วัพฤหัสบดี เปิด 11.00 – 22.00 น .

วันศุกร์ – วันเสาร์ เปิด 11.00 – 24.00 น .

 

 
 
+++ สำหรับท่านผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม web site หากใครมีสถานที่เก๋ๆ ต้องการแนะนำหรือมีข่าวต้องการประชาสัมพันธ์ +++
+++เชิญส่งข่าวและรูปมาได้ที่ decorguide@bareo-isyss.com พวกเรารอคำแนะนำจากคุณอยู่ +++
Services
New Project
Back Issue

 

Home | About Bareo | News & Events | Art of Design | Decor Guide | The Gallery | Living Young | Talk to Editor | Links

บริษัท บาริโอ จำกัด
50 ซอยบรมราชชนนี 4 ถนนบรมราชชนนี เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700 Tel. 66 2881 8536-7 Fax. 66 2881 8538

house servic, decoration design home architect architecture interior design designer homeplan residential furniture family decorat building build planning cost news information structure arch drawing apartment idea bangkok develop foreman เฟอร์นิเจอร์ การซ่อมแซมบ้าน วัสดุแต่งบ้าน ห้องนอน ห้องรับแขก ห้องอาหาร ออกแบบ ตกแต่งภายใน ออกแบบตกแต่งภายใน เฟอร์นิเจอร์ บ้านสวย มัณฑนากร สถาปัตย์ ตกแต่ง บารีโอ บริการ ปรึกษา รับสั่งผลิตเฟอร์นิเจอร์ตามแบบ รับเหมาตกแต่ภายใน วรวุฒิ ธรรมกุลางกูร มยุรี ธรรมกุลางกูร