ท่ามกลางความวุ่นวายของเมืองใหญ่ และป่าคอนกรีต " พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด" แอบซ่อนตัวเงียบๆ อยู่ใจของกลางเมืองแต่ยังไว้ด้วยบรรยากาศและกลิ่นอายแห่งอดีต ความสงบ ความร่มรื่น วันนี้ decor guide จึงพาคุณมาสัมผัสกับอีกบรรยากาศ
เพื่อให้การเดินทางครั้งนี้สะดวกสบายและรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นการสนองนโยบายประหยัดน้ำมันของรัฐบาล เราเลือกใช้บริการของ " รถไฟฟ้า บีทีเอส" ไปลงยังสถานีพญาไท จากนั้นใช้ทางออกสู่ถนนศรีอยุธยา และเดินตรงไปตามถนนศรีอยุธยามุ่งไปยังถนนราชปรารถ จะพบกับรั้วไม้สูงสีโอ๊คดำยาวนั่นแหละคือที่ตั้งของ "พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด" หรือที่เรียกกันติดปากว่า วังสวนผักกาด
เดิมแถวนี้เป็นแปลงปลูกผักกาดของคนจีน เสด็จท่านและพระชายา(เสด็จในกรมฯ พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 5 และ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร) ได้ซื้อที่ที่นี่ จึงเป็นที่มาของชื่อ วังสวนผักกาด เสียงเจื้อยแจ้วของประชาสัมพันธ์พิพิธภัณฑ์เล่าถึงความเป็นมาของชื่อวัง
ในอดีตวังสวนผักกาด เคยเป็นที่พำนักของ พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิจ และ พระชายา ม.ร.ว.พันทิพย์ บริพัตร หรือ " คุณท่าน" ซึ่งพระองค์เจ้าจุมภฏนี้เป็นพระราชนัดดาใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี อัครราชเทวี ได้ย้ายเข้ามาพักอาศัยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านได้ให้ถอดเรือนไทยที่ได้รับมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษมีอายุกว่า 100 ปี ปัจจุบันคือเรื่องไทยหลังที่ 1 4 มาประกอบใหม่ที่นี่ ต่อมาคุณท่านเปิดโอกาสให้คนอื่นเข้าเยี่ยมชมบ้านของท่านได้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นบ้านแห่งแรกที่เปิดให้คนภายนอกเข้าชมบ้านขณะที่เจ้าของบ้านยังใช้เป็นที่พักอาศัยอยู่ โดยคุณท่านเชื่อว่าโบราณวัตถุที่ท่านสะสมไม่ได้เป็นแค่ทรัพย์สินของท่านแต่ท่านถือว่าโบราณวัตถุเหล่านี้เป็นมรดกตกทอดของมนุษยชาติ ท่านจึงไม่ควรเก็บไว้ชมเพียงผู้เดียว และเปิดโอกาสให้คนอื่นสามารถเข้ามาชมโบราณวัตถุในบ้านของตนได้ด้วย
ณ วันนี้วังสวนผักกาดยังคงมีรูปแบบการจัดแสดงและตกแต่งเหมือนบ้านมากกว่ารูปแบบของพิพิธภัณฑ์ ในพื้นที่ 6 ไร่ของวังสวนผักกาด ประกอบด้วยเรือนไทยโบราณ 8 หลัง 1 หอเขียน และอีก 1 อาคาร
เมื่อเดินเข้ามาจะพบอาคารที่มีชื่อว่า " ศิลปาคารจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์" ชั้นล่างของอาคาร เป็นทั้งประชาสัมพันธ์ ส่วนสำนักงาน และห้องประชุม บริเวณชั้น ๒ และชั้น ๓ จัดแสดงเป็น พิพิธภัณฑ์บ้านเชียง ประกอบไปด้วยประวัติความเป็นมาและวัตถุโบราณสมัยบ้านเชียง เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม และโบราณคดีในยุคอารยธรรมบ้านเชียง โบราณวัตถุที่นำมาจัดแสดง มีอายุประมาณ ๔ , ๐๐๐ ปี ได้แก่ ภาชนะดินเผา ลายเขียนสี ลายงู ภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ ขวานสำริด ใบหอกสำริด ห่วงคอสำริด กำไลหิน ลูกปัดแก้ว
ทางเดินของอาคาร ศิลปาคารจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ เป็นเส้นทางนำเราย้อนไปสู่อดีต ออกจากอาคารจะพบกับ เรือพระที่นั่งเก้ากึ่งพยาม ตั้งต้อนรับแขกผู้มาเยือนให้แวะเข้าไปชมใกล้ๆ เรือพระที่นั่งเก้ากึ่งพยามเป็นเรือพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ทูลกระหม่อมบริพัตรฯ พระบิดาของเสด็จในกรมฯ(ท่านผู้เป็นเจ้าของวังแห่งนี้) เพื่อใช้เป็นขบวนเรือตามเสด็จประพาสต้น ตัวเรือทำด้วยไม้ตะเคียนทอง ส่วนเก๋งเรือและหลังคาเป็นไม้สักทอง
และเมื่อหันหน้าออกมาก็ตะลึงด้วยความงามของ หอเขียน เดิมเรือนหลังนี้ อยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สันนิษฐานว่า เป็นตำหนักของเจ้านาย สร้างขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ซึ่ง เดิมมีอยู่ด้วยกัน ๒ หลัง คือ หอไตร เป็นห้องมีระเบียงรอบ และหอเขียน เป็นศาลาไม้มีฝา ๓ ด้าน ภาพแกะสลักชั้นนอกชำรุดลบเลือนไป เนื่องจากถูกแดด ลม และฝนมาเป็นเวลานาน ส่วนชั้นในยังคงดีอยู่ ลวดลาย และช่องหน้าต่าง เป็นศิลปะจากยุโรป ภาพลายรดน้ำส่วนบน เป็นเรื่องพุทธประวัติ และส่วนล่าง เป็นเรื่องรามเกียรติ์ที่บันทึกไว้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทุกฝามีภาพลายรดน้ำประกอบเต็มทุกฝา แต่เนื่องจากทรุดโทรมลงมาก ไม่มีคนดูแล พระองค์ท่านจึงทำผาติกรรม ไถ่ถอนย้าย
มาไว้ที่วังสวนผักกาด
การปลูกสร้างหอเขียนใหม่ขึ้นที่วังสวนผักกาด เสด็จในกรมฯ และ "คุณท่าน" ปรารถนาที่จะปลูกตามแบบเดิมประจวบกับเวลานั้น การซ่อมภาพเขียนยังมิได้แล้วเสร็จหมดทุกแผ่น และจะต้องปลูกสร้างให้เสร็จทัน งานฉลองอายุครบ ๕๐ ปีของ "คุณท่าน" จึงได้ทำการปลูกโดย กะขนาดความกว้างยาวของฝาไม้เป็นเกณฑ์ ให้ได้รูปเป็นหอแบบเดิมภาพเหล่านั้น จึงมิได้เรียงลำดับตามเรื่องพุทธประวัติ
อย่างไรก็ดี การที่ภาพต่างๆ อยู่สลับกันนี้ก็มิได้ทำให้ความสำคัญ และความสวยงามของภาพต้องลดน้อยลงไปเลย หอเขียนนี้จึงถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นเอกของพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาดและเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติที่ยังคงหลงเหลือให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป
นอกจากหอเขียนแล้ว ในหมู่เรือนไทยโบราณ 8 หลังในวังสวนผักกาดต่างก็มีการจัดแสดงที่แตกต่างกันออกไป เรือนไทยโบราณ 8 หลัง เราสามารถเดินชมในส่วนชั้นล่างของทุกเรือนก่อนที่จะขึ้นชั้น 2 ของหลังที่ 1 จากนั้นจะมีทางเชื่อมสามารถเดินชมได้ครบทุกหลังโดยไม่ต้องขึ้นลงหลายรอบ
ในหมู่เรือนไทยโบราณอื่นๆในวังสวนผักกาดต่างก็มีการจัดแสดงที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งฉันรู้สึกประทับใจในเรือนไทยหลังที่ 1 เป็นพิเศษ เพราะชั้นล่างของเรือนหลังที่ 1 นั้นจัดแสดงเป็น " พิพิธภัณฑ์ดนตรี ทูลกระหม่อมบริพัตฯ" ที่ภายในมีการจัดแสดงเครื่องดนตรีไทยในทูลกระหม่อมบริพัตฯ ซึ่งพระองค์ได้รับการยกย่องให้เป็น " พระบิดาแห่งเพลงไทยสากล" โดยเครื่องดนตรีที่จัดแสดงอยู่ภายในห้องล้วนมีประวัติและความสำคัญที่น่าสนใจ ได้แก่ กลองโบราณขนาดใหญ่ ระนาด ฆ้อง และซอสามสาย ชั้นบนประกอบไปด้วยโบราณวัตถุในยุคสมัยต่างๆ ของไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่พระพุทธรูป เทวรูปพระอุมา และเทวรูปพระอรรธนารีศวร ซึ่งเป็นประติมากรรมที่หายากและคงซึ่งความงดงามทางศิลปะยิ่งนัก
เรือนหลังที่สองส่วนใหญ่เก็บเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของ เสด็จในกรมฯ และ "คุณท่าน" ด้านนอก จัดแสดงสัปคับ ตู้พระไตรปิฎก ลายรดน้ำสมัยอยุธยา บนฝาผนังติดตาลปัตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับราชสกุลบริพัตร งาช้างแกะสลักลายไทย พานประดับมุก ตะลุ่มประดับมุก ตลับงาช้าง ในส่วนชั้นบน และแสดงหินแร่ต่างในส่วนของชั้นล่าง
ส่วนเรือนไทยหลังอื่นๆก็มีการจัดแสดงที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นแสดงเครื่องถ้วย เบญจรงค์ ในเรือนหลังที่ 3 ห้องอาหาร japanese style ที่ใช้รับรองแขกบ้านแขกเมืองในส่วนชั้นบนของเรือนที่ 4 พิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุในเรือนหลังที่ 5 พิพิธภัณฑ์โขนในเรือนไทยหลังที่ 6 หรือเครื่องชามสังคโลกในเรือนไทยหลังที่ 7 และ พิพิธภัณฑ์เครื่องแก้วลายทอง และเครื่องแก้วคริสตัล เครื่องเงิน และเครื่องลายครามในเรือนหลังที่ 8
สำหรับฉันแล้ววังสวนผักกาดเป็นมากกว่ามุมสงบของกรุงเทพฯ แต่เป็นที่ที่อบอวลไปด้วยบรรยากาศแห่งความงามเมื่อครั้งอดีต เป็นที่ที่บอกเล่าเรื่องราว ความเป็นมา ความเป็นไป ความรุ่งเรืองในอดีต ให้คนรุ่นเราได้เรียนรู้ในวันนี้และในวันข้างหน้าคนรุ่นต่อไปก็จะได้เรียนรู้เช่นกัน ...
ติดต่อสอบถามและเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ได้ที่ 352-354 วังสวนผักกาด ถนนศรีอยุธยา เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 เปิดทำการทุกวัน ยกเว้น วันที่ 8 มีนาคม และ 5 ธันวาคม ของทุกปี ราคาค่าเข้าชม คนไทย 50 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2246-1775-6 ต่อ 229, 0-2245-4934 หรือที่ www.suanpakkad.com |