Contact us / Join us
ออกแบบตกแต่งภายใน รับเหมาตกแต่งภายใน ตกแต่งภายใน ออกแบบภายใน Interior design Thailand |
www.bareo-isyss.com เป็น web magazine ที่ update รายเดือนเพื่อผู้อ่าน ทัศนะและความคิดเห็นใดๆ ของผู้ประพันธ์ หรือผู้สนับสนุน
|
คนไทยกับการเก็บนั้น อยู่คู่กันมานานแสนนาน จนแทบจะกลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติอย่างหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากการที่มีถ้อยคำเกี่ยวกับการเก็บไว้อย่างมากมาย เช่น “เก็บเล็กผสมน้อย” ซึ่งหมายถึงการค่อยๆสะสมทีละเล็กทีละน้อย หรือ “เก็บหอมรอบริบ” ซึ่งก็หมายถึงการสะสมเงินทอง ตลอดจน “มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท” นี่ก็หมายความถึงการเก็บอีกเช่นเดียวกัน
บ่อยครั้งทีเดียวที่บ้านที่คุณอุตสาห์ลงทุนตกแต่งไปมากมายหลายล้าน ต้องเปลี่ยนสภาพจากวิมานในฝันเป็นโกดังเก็บของ ที่รกหูรกตา และที่สำคัญคือรกใจรกสมอง ถึงขนาดบางท่านต้องมีอาการทำงานทำการไม่ได้ เพราะมันหงุดหงิดไปหมด ไหนจะเรื่องที่ทำงานที่แสนจะวุ่นวาย พอกลับถึงบ้านยังต้องเห็นภาพวิมานที่กลายสภาพยิ่งคิดก็ยิ่งช้ำใจ ไปเลยทีเดียว โดยส่วนใหญ่แล้ว ปัญหาของบ้านรกนี้มักจะเกิดจากสาเหตุหลักๆ 3 ประการ ดังนี้
1. การซื้อของเข้าบ้านมากเกินไป
อันนี้เป็นสาเหตุประการแรกของปัญหาบ้านรก ซึ่งมีที่มาจากการโฆษณาแบบบ้าเลือดในปัจจุบันที่ “ยิ่งช็อปยิ่งคุ้ม” หรือ “ยิ่งซื้อยิ่งรวย” ที่มายั่วกิเลสตามรายการโทรทัศน์ต่างๆ จนบางครั้งเราอาจจะเผลอใจไปซื้อของที่เราเองก็ไม่ได้ต้องการใช้จริงๆ แต่พอรู้สึกตัวจะทิ้งก็ไม่ได้เสียแล้ว เพราะซื้อมาแพง ทำให้เราๆท่านๆ โดยเฉพาะท่านที่มีเงินทองล้นเหลือ ต้องมีของประเภท “ขยะราคาแพง” ไว้คอยทิ่มตาเราตามมุมห้องต่างๆในบ้านอยู่เสมอ
2. การสะสมโดยไม่ทิ้งเป็นเวลานาน
เป็นสาเหตุประการที่สอง อย่างที่เรียนให้ทราบแล้วในตอนต้น ที่ว่าคนไทยเราถูกสั่งสอน มาให้รู้จักประหยัดและอดออม จนทำให้การทิ้งข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เป็นเรื่องฟุ่มเฟือย ซึ่งอย่าว่าแต่คิดจะทิ้งเลยคิดจะขายก็ยังเสียดาย ไม่เหมือนกับฝรั่ง ที่เวลาบ้านรกหรือบ้านเต็ม ก็จะเปิด Garage Sale เอาของที่ไม่คิดว่าจะใช้แล้วมาเลหลัง ขายกันถูกๆ ที่โรงรถหน้าบ้านนั่นแหละ เพียงเท่านี้ ของต่างๆ ที่รกหูรกตาก็จะหายไป เหลือพื้นที่หรือที่เก็บของไว้ให้ เจ้าของบ้านออกไปซื้อของมาเตรียมเลหลังรอบใหม่ในอีกสองสามปีข้างหน้า
3. ที่เก็บของน้อยเกินไป
อันนี้เป็นสาเหตุใหญ่ประการที่สาม ซึ่งในอดีตก็ไม่ค่อยสำคัญนัก แต่ในปัจจุบันกลายเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งที่มาก็เป็นเพราะ Trend ของการตกแต่งภายในแบบ Minimalism ที่นิยมความเรียบง่าย และสะอาดตา ทำให้ Designer บ้านเราในปัจจุบัน มักจะเข้าใจผิดนึกว่าออกแบบบ้านเป็นโชว์รูม เลยไม่ได้เผื่อตู้หรือชั้นสำหรับเก็บของไว้ จนต้องเดือดร้อน เจ้าของบ้านที่ต้องไปสร้างห้องเก็บของเอาใหม่แยกต่างหาก เวลาจะใช้ก็วุ่นวาย หาของก็ยากลำบาก บางครั้งของก็หายหาไม่เจอ ซึ่งผมอยากจะบอกว่าเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะงานออกแบบไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหนก็ตาม จะมี Concept หลักที่ต้องตอบสนองต่อการใช้งานของมนุษย์เสมอ เพียงแต่ใครจะมีวิธีคิดที่ฉลาด หรือแยบยลกว่าในการสร้างความประทับใจในความงามที่ผสานไปด้วยประโยชน์ใช้สอยได้มากกว่ากันเท่านั้นการออกแบบ โดยคิดแต่เพียงในด้านความสวยงามอย่างเดียว ถือเป็น การกระทำของ Designer ที่ไร้จรรยาบรรณและมักง่าย ตลอดจนเป็นการเอาเปรียบเจ้าของ บ้าน ที่กว่าจะรู้ถึงปัญหานี้ ก็ภายหลังจากที่ได้ใช้งานไปแล้วเท่านั้น และด้วยสาเหตุในข้อนี้เอง ที่ทำให้ผมตัดสินใจเขียน บทความเกี่ยวกับ “ศาสตร์ว่าด้วยการเก็บ” นี้ขึ้นมา โดยหวังว่าจากนี้ไปงานออกแบบในบ้านเราจะสามารถยกระดับในการ ตอบสนองต่อการใช้สอยได้ดีมากยิ่งขึ้น มีความสวยงาม และความชาญฉลาด ในการออกแบบเพื่อตอบโจทย์ของเจ้าของ บ้านได้ตรงและถูกต้องมากขึ้น
มาถึงตอนนี้เราคงจะทราบถึงสาเหตุของปัญหา “บ้านรก” กันแล้วนะครับ โดยบทความที่ผมเขียนขึ้นนี้จะเน้นในเรื่องของการแก้ไขสาเหตุในข้อที่ 3 ที่เป็นผลมาจากการออกแบบ โดยทิ้งสาเหตุใหญ่ในสองข้อแรกให้กับท่านเจ้าของบ้านช่วยพิจารณาและแก้ไขด้วยตนเองครับ
สำหรับบทความนี้ ผมตั้งใจที่จะแบ่งออกเป็น 3 ตอน โดยตอนแรกนี้จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับหลักพื้นฐานของงานออกแบบและ รูปแบบของที่เก็บของแบบต่างๆ ส่วนในตอนที่สองจะเกี่ยวข้องกับเทคนิคและรูปแบบของการเก็บของในห้องต่างๆ ภายในบ้านและในตอนสุดท้าย จะเป็นเรื่องที่ว่าด้วยการจัดวางและการบริหารของที่จะจัดเก็บ
|
รู้จักกับของที่ต้องจัดเก็บ
ก่อนที่เราจะไปถึงพื้นฐานของงานออกแบบที่เก็บของชนิดต่างๆผมอยากจะขอให้ท่านมารู้จักกับของที่ต้องจัดเก็บกันเสียก่อน ของเหล่านี้ บางท่านอาจจะบอกว่าท่านรู้จักของๆ ท่านดีอยู่แล้ว ไม่ต้องมาแนะนำให้รู้จักกันให้เสียเวลาอีกก็ได้
1. ของที่ต้องเก็บเพื่อโชว์ (Show Items)
ของเหล่านี้ มักจะเป็นของที่ท่านถูกใจและซื้อมาเพื่อสะสม หรือซื้อมาเพื่อแสดงให้แขกได้ชื่นชม รวมไปถึง “ความทรงจำ” ของท่าน ที่อาจจะมาในรูปของภาพถ่าย ภาพเขียน หรือเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวท่านและครอบครัว หรืออาจจะเป็นหนังสือประเภทต่างๆ ซึ่งโดยมากของเหล่านี้ เราจะจัดเก็บใน “ตู้โชว์” หรือชั้นที่วางในห้องรับแขกหรือห้องนั่งเล่นเป็นหลักและเราจะให้อยู่ในกลุ่ม “เก็บเพื่อโชว์” ครับ
2. ของที่เก็บเพื่อใช้งาน (Daily-use Items)
ของเหล่านี้ จะถูกเก็บไว้ในที่ๆ มิดชิดกว่าของแบบแรก เพราะมักจะเป็นของใช้ประจำวันเสียเป็นส่วนใหญ่ จำพวกเสื้อผ้า เครื่องใช้จิปาถะ ตลอดจนแผ่น CD, DVD จำนวนมากมาย เป็นต้น โดยของเหล่านี้ จะเป็นของที่เรามักจะไม่โชว์ให้ใครเห็น (ไม่ว่าจะเพื่อความเป็นส่วนตัว เช่นเสื้อผ้า หรือเพื่อไม่ให้รกหูรกตา เช่น CD) โดยอาจจะเก็บไว้ค่อนข้างมิดชิด แต่ก็จำเป็น ต้องเข้าถึงได้ง่าย (Easy-to-Access) เพราะต้องใช้งานเป็นประจำทุกวัน โดยของเหล่านี้ มักจะมี “ตู้” ชนิดต่างๆ ทำหน้าที่ ในการเก็บครับ
3. ของที่เก็บสำรองไว้ใช้งาน (Live Stock)
หมายถึงของที่เราจัดเก็บเพื่อสำรองไว้ใช้งานโดยมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เช่น ผ้าขนหนูสำรองที่ใช้เปลี่ยนทุก 3 วัน ผ้าปูเตียงสำรองที่เปลี่ยนทุกสัปดาห์ ชุดจานชามที่เปลี่ยนใช้ทุกเทศกาล หรือแม้กระทั่งกระดาษชำระที่นำมาทดแทนเมื่อม้วนเก่าหมดไป เป็นต้น โดยสิ่งของเหล่านี้ จำเป็นต้องเก็บไว้ค่อนข้างมิดชิด (เพราะมักจะรก) แต่ก็จะต้องเข้าถึงได้ง่าย เช่นเดียวกัน (แม้ว่าจะไม่ง่ายเท่ากับของประเภทที่ 2) เราจึงมักจะมีเก็บของเหล่านี้ไว้ในห้องเก็บของ หรืออาจจะเก็บในตู้ ขนาดใหญ่ในห้องครัวก็ได้
|
4. ของที่เก็บสะสมไว้เผื่ออนาคต (Dead Stock)
ประเภทของที่เก็บของ
เอาล่ะครับ หากทุกท่านอ่านมาถึงตรงนี้ คงพอจะรู้จักแล้วว่าสิ่งของต่างๆ ที่เราซื้อมานั้น มักจะสามารถจัดให้อยู่ใน ประเภทใดประเภทหนึ่งเสมอ และเมื่อเรารู้จักแยกประเภทของสิ่งของภายในบ้านของเราแล้ว เราก็จะสามารถเลือกใช้ “อาวุธ” เพื่อจัดการกับสิ่งของที่เป็นต้นตอของปัญหา “บ้านรก” ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วล่ะครับ สำหรับบ้านพักอาศัย ผมอยากจะขอแยกประเภทของที่เก็บของออกเป็น 3 ประเภทตามลักษณะทางกายภาพ ดังนี้นะครับ
1. ตู้แบบลอยตัว (Movable Furniture หรือ Loose Furniture)
ตู้แบบนี้จะมีขนาดเล็ก และสามารถเคลื่อนย้ายได้ เหมาะสำหรับเก็บของกระจุกกระจิกที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก ที่สามารถเรียกใช้ได้ในทันที โดยมากเรามักจะวางตู้ลอยตัวเหล่านี้ไว้ตามห้องต่างๆ เพื่อเก็บของเฉพาะในห้องนั้นๆ ตัวอย่างของตู้เหล่านี้ ได้แก่ ตู้ข้างเตียงที่มีลิ้นชัก (Night Table) ตู้ลิ้นชักในห้องรับแขก (Chest of Drawers) หรือแม้กระทั่งตู้ข้างโต๊ะทำงาน เป็นต้น ตู้ประเภทนี้มักจะมีรูปแบบที่สวยงามและสร้างอารมณ์ให้กับงานตกแต่งได้เป็นอย่างดี
2. ตู้แบบติดตั้งกับที่ (Built-in Furniture)
ตู้ชนิดที่สองนี้ จะเป็นตู้ที่มีหน้าที่เก็บของโดยเฉพาะ จะแข็งแรง ทนทาน เก็บของได้มากและมีประสิทธิภาพสูงมักจะออก แบบให้สูงเต็มผนังเพื่อให้ใช้งานได้อย่างเต็มที่ และแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นที่จะสะสมบนหลังตู้ ในงานออกแบบยุคแรกๆ มักจะ มีบานตู้ปิดทึบคล้ายผนัง แต่ในปัจจุบัน งานออกแบบตู้ประเภทนี้ได้พัฒนาไปมาก จนกลายเป็นตู้ที่ใช้วางของโชว์ และมักจะเป็นตัวกำหนด Style หรือ Theme ของบ้านอีกด้วย
|
3. ห้องเก็บของ (Storage)
เป็นห้องที่มักจะถูกลืม และยิ่งในปัจจุบัน ที่ราคาค่าที่ดินหรือห้องพักใจกลางเมืองที่มีราคาสูงขึ้นมาก ห้องเก็บของก็อาจจะถูกกลืนหายไปได้ง่ายๆ ทั้งๆที่เป็นห้องที่มีประโยชน์ที่สุดห้องหนึ่งของบ้าน แต่สำหรับบ้านที่พอมีบริเวณ ผมอยากจะแนะนำให้กำหนดพื้นที่ห้องเก็บของไว้อย่างน้อย 2 ห้อง โดยห้องแรกมีพื้นที่ประมาณ 5-10 ตารางเมตรสำหรับเก็บของ สำรองไว้ใช้ในบ้าน และห้องที่ 2 ที่อาจจะมีขนาดเล็กหน่อย สักประมาณ 2-4 ตารางเมตร ไว้เก็บของที่ไว้เผื่อในกรณีซ่อมแซมบ้านหรือของใช้ที่นานๆ จะใช้สักครั้ง
|
ในที่สุด ผมก็ได้แนะนำท่านให้ได้รู้จักกับปัญหา “บ้านรก” และสาเหตุของปัญหา ตลอดจนแยกประเภทของ สิ่งของต่างๆ ในบ้าน รวมถึงประเภทของที่เก็บของที่แอบแฝงอยู่ในบ้านของท่าน เป็นที่เรียบร้อยแล้วนะครับ สำหรับเดือนนี้ผมขอตัวก่อนครับ สวัสดีครับ
|