Contact us / Join us
ออกแบบตกแต่งภายใน รับเหมาตกแต่งภายใน ตกแต่งภายใน ออกแบบภายใน Interior design Thailand |
www.bareo-isyss.com เป็น web magazine ที่ update รายเดือนเพื่อผู้อ่าน ทัศนะและความคิดเห็นใดๆ ของผู้ประพันธ์ หรือผู้สนับสนุน
|
. |
หนังสือเรื่อง หลังอาน ของคุณบินหลาสันกลาคีรี ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสองข้างทางที่เขาได้ขี่จักรยานผ่านไปมีความหนึ่ง บอกว่า “การถีบรถนับเป็นมหรสพอย่างหนึ่ง เรากับชาวบ้านผลัดกันเป็นทั้งผู้แสดงและผู้ชม เราแสดงโดยการถีบรถผ่าน เข้าไปในชีวิตเขา เขาก็แสดงโดยประทับความทรงจำไว้ในชีวิตของเรา” นี่กระมังที่ยังทำให้เสน่ห์ของจักรยานผ่านยุคผ่าน สมัย และยังคงมีผู้นิยมที่จะเสพความสุขจากมหรสพสองล้อนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
|
เวลากว่าครึ่งชั่วโมงที่อ่านทำความเข้าใจในกฎระเบียบในการเข้าเยี่ยมชมบ้านจักรยานที่ อ.ทวีไทย บริบูรณ์ ผู้เป็นเจ้าของบ้าน ติดประกาศเอาไว้ทั่วบริเวณรวมถึงแฟ้มประวัติความเป็นมาที่รวมเล่มเอาไว้ถึงสามเล่มจนแน่ใจว่าถ้าใครอยากจะรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับบ้านจักรยานไม่ว่าจะเป็นคำถามใดๆก็จะสามารถหาคำตอบเอาได้จากภายในเล่มนี้เองโดยที่ไม่ต้องพบปะพูดคุยกับ อ.ทวีไทยเลยหากแต่เชื่อแน่นอนว่ายิ่งถ้าได้อ่านสิ่งที่ อ.ทวีไทยได้เขียนบรรยายเกี่ยวกับการเที่ยวชมในบ้านจักรยานหลังนี้แล้วยิ่งต้องอยากพบ อ.ทวีไทยมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะนอกจากจักรยานโบราณที่เรียงรายอยู่รวมทั้งของโบราณเก่าแก่ที่ อ.ทวีไทยสะสมเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาตัวตนและมุมมองความคิดของ อ.ทวีไทยท่านนี้ก็น่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย
|
|
. |
“๑.บ้านจักรยานเปิดทุกวันหรือเปล่า วันไหนบ้าง / คำตอบ ทุกวัน...เพราะเป็นบ้าน” และ “...บางครั้งอาจจะไม่กล้าถาม เห็นทำอะไรๆ ยุ่งอยู่ ถามเถอะครับ อย่าเกรงใจเพราะ
นี่เป็นเพียงข้อความส่วนหนึ่งเท่านั้นในที่ อ.ทวีไทยเขียนเอาไว้ในแฟ้มยิ่งในยุคที่ผู้คนหันมาสนใจการขี่จักรยานกันมากยิ่งขึ้น จึงทำให้บ้านจักรยานแห่งนี้เปิดต้อนรับมิตรรักแฟนจักรยานมากหน้าหลายตา รวมทั้งสื่อโทรทัศน์วันละหลายช่อง ช่องละหลายครั้ง สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโซเชียล ที่ต่างหลั่งไหลเข้ามาเยี่ยมชมจักรยานของ อ.ทวีไทยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2540 จนในที่สุดก็เกิดเป็นความซ้ำกับชุดคำถามที่เหมือนๆกันที่ อ.ทวีไทย ต้องตอบแบบเดิมๆเรื่อยมา ด้วยความใจดีของ อ.ทวีไทยที่เปิดบ้านให้เข้าชมแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆจนทำให้หลายคนหลงลืมไปว่านี่คือบ้านส่วนตัวไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ที่จะเข้ามาเดินเล่นโดยลืมพกพาเอามารยาทหรือที่ อ.ทวีไทยกล่าวอยู่เสมอว่า สมบัติผู้ดีมาด้วยบ้างก็ทิ้งขยะหรือก้าวล่วงความเป็นส่วนตัวของ อ.ทวีไทยอย่างเกินงามจนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ อ.ทวีไทยได้ทำแฟ้มต่างๆและป้าย ประกาศที่อ่านแล้วก็ทำให้หวนกลับมาสำนึกในมารยาทที่ดีของผู้คนสมัยนี้จริงๆที่เป็นเส้นบางๆระหว่างคำว่า “ง่าย”กับ “มักง่าย” นั่นเอง ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมตัวทำการบ้านในการมาขอพบ อ.ทวีไทยกันเป็นอย่างดีเพื่อที่จะเคารพในเวลาและความกรุณาที่ อ.ทวีไทยมอบให้กับเราในครั้งนี้
|
. |
ภาพแรกของบ้านจักรยาน ถนนสวนผัก ซอย 6 เขตตลิ่งชัน คือบ้านที่ถูกปกคลุมไปด้วยต้นไม้และดอกไม้น้อยใหญ่ดูร่มรื่นและเย็นสบาย บรรยากาศที่เงียบสงบเรียบง่ายเข้ากันได้ดีกับของสะสมโบราณต่างๆ ที่วางเรียงรายอยู่อย่างละลานตาและบ่งบอกถึงผู้ที่เป็นเจ้าของว่าต้องเป็นยอดนักสะสมที่หาตัวจับได้ยาก หลังจากลงทะเบียนกรอกชื่อที่อยู่ก่อนเดินเข้าชมบ้าน จักรยานแล้ว ก็ราวกับว่าได้เข้าสู่อีกมิติหนึ่งของวันวานในความทรงจำ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของเครื่องใช้เมื่อ 20-80 ปีก่อน ของเล่นสังกะสีสมัยก่อน ขวด แก้ว ภาพเขียน โปสการ์ด นาฬิกาโบราณ แสตมป์ หนังสือพิมพ์เก่าๆ ป้ายโฆษณาเก่าเก็บและผลงานเครื่องปั้นดินเผาที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เนื่องจาก อ.ทวีไทย นอกจากจะเป็นที่รู้จักในแวดวงจักรยานแล้ว อาจารย์ยังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทไทยเทอราเซรามิคที่ผลิตเครื่องปั้นดินเผาจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศและรับราชการเป็น อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง เป็นศิลปินดีเด่น ปี พ.ศ.2542 ของสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร สาขางานช่างเครื่องปั้นดินเผาและเป็นช่างผู้ซ่อมแซมยักษ์วัดพระแก้ว 11 ตน ด้วยกระเบื้องประดับ ทั้งหมด รวมทั้งเป็นศิลปินผู้อยู่เบื้องหลังงานสถาปัตยกรรมที่สำคัญๆของประเทศไทยอีกด้วย
|
. |
ซึ่งของเก่าเหล่านี้ปัจจุบันหาดูยากเต็มที รวมทั้งจักรยานยนต์ รถยนต์ และจักรยานโบราณกว่าพันคันที่มีอายุระหว่าง 40-100 ปี (หรือตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 ขึ้นไป) ทั้งยี่ห้อยอดนิยมไม่ว่าจะเป็น ราเลห์ (RALEIGH) ฮัมเบอร์ (HUMBER) และ ฟิลิปส์ (PHILIPS) และอื่นๆอีกมากมาย ไม่เพียงเก็บสะสมจักรยานและอะไหล่จักรยานที่หายากแล้วเท่านั้น แต่ อ.ทวีไทย ยังได้สะสมองค์ความรู้จนถ่องแท้ในด้านจักรยานโบราณ (และอีกหลายๆ ด้านที่อาจารย์สนใจ) รวบรวมเป็นหนังสือจักรยานโบราณถึง 3 เล่มด้วยกันเพื่อให้คนรุ่นหลังและผู้ที่สนใจได้ศึกษาและได้เรียนรู้วิวัฒนาการของวงการ 2 ล้อไทย ตั้งแต่อดีตซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลประวัติความเป็นมาของจักรยานตั้งแต่เริ่มมีมาในประเทศไทย เมื่อถามถึงว่าทำไมจึงไม่ตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์หาทุนสนับสนุนจากราชการหรือมีคนมาช่วยดูแลเก็บค่าเข้าชม? อ.ทวีไทยได้ ให้ความเห็นว่ามันจะตกคำว่าคุณทำพิพิธภัณฑ์เป็นอาชีพ หรือมีอาชีพทำพิพิธภัณฑ์ เช่นคุณเป็นนายพรานโดยบังเอิญหรือคุณเป็นนักล่าโดยเล่นสนุกเพราะมีออเดอร์ ใช่ไหม? เพราะฉะนั้นคนทำพิพิธภัณฑ์ก็มีสองคำถามล่ะว่าเป็นอาชีพหรือ บังเอิญ ทำไมไม่ทำเป็นพิพิธภัณฑ์ล่ะ คำตอบผมย้อนกลับมาตรงๆ และจริงเลยว่าผมไม่ได้เกิดมาเพื่อทำพิพิธภัณฑ์เป็นอาชีพไม่ได้ทำอาชีพพิพิธภัณฑ์ ในส่วนของคำถามว่าถ้าคนเปลี่ยนมาเดินทางด้วยจักรยานกันเยอะขึ้นมีสิ่งอำนวยความ- สะดวกของผู้ขี่จักยานมากขึ้น โลกเราจะร้อนน้อยลงเนื่องจากมลภาวะไหม? อ.ทวีไทยตอบว่าการขี่จักรยานไม่ได้ช่วยลด โลกร้อนให้โลกได้ มันไม่ได้ลดอะไร เพราะตอนนี้มนุษย์มันร้อนตั้งแต่สารพันอย่าง เพราะตอนนี้ปัจจัย 4 ที่เป็นเรื่องสำคัญของมนุษย์ ตอนนี้มันเพิ่มมาเป็น 8 และ 9 ทั้งโทรศัพท์มือถือ แอร์ เรากำลังเป็นเหยื่อเขาโดยปกติสุข...ถ้าคุณบอกว่าให้ คนออกมาขี่จักรยานกันมากๆ หมายความว่ามากกว่าหนึ่งคันขี่ทุกคน หรือหนึ่งขี่ตั้งสามคัน ได้ไหม? มันไม่ได้อยู่แล้วเพียงแต่ต้องขี่บ่อยๆขี่เรื่อยๆความปลอดภัยของถนนก็เป็นเรื่องสำคัญ”
|
. |
หากเดินไปชมยังบริเวณด้านหลังจะเต็มไปด้วยจักรนยานโบราณและอะไหล่ต่างๆ แขวนเรียงรายอยู่มากมาย ซึ่งอาจารย์เองก็รับเปลี่ยนอะไหล่และซ่อมแซมด้วยสำหรับผู้ที่สนใจ หากแต่อาจจะมีราคาที่ค่อนข้างสูงเพราะส่วนใหญ่เป็นจักรยานโบราณที่นำเข้ามาจากต่างประเทศที่มีราคาค่อนข้างแพง สุดท้าย อ.ทวีไทยยังได้สนทนาเกี่ยวกับเรื่องราวในสังคมที่แฝง ปรัชญาและข้อคิดที่เป็นประโยชน์อื่นๆ ที่ทำให้เราได้เปิดโลกทัศน์ให้กว้างมากกว่าเดิม การสนทนากันในครั้งนี้คงไม่ใช่ คราวเคราะห์ของเราอย่างที่ อ.ทวีไทย ท่านกล่าวไว้ข้างต้น หากแต่เป็นเคราะห์ดีของพวกเราเสียมากกว่าที่ได้มารับฟังประสบการณ์ดีๆและความรู้ในครั้งนี้กับที่นี่ ที่บ้านจักรยาน
|
. |
บ้านจักรยานตั้งอยู่ที่ถนนสวนผัก ซอย 6
|