Contact us / Join us
ออกแบบตกแต่งภายใน รับเหมาตกแต่งภายใน ตกแต่งภายใน ออกแบบภายใน Interior design Thailand |
www.bareo-isyss.com เป็น web magazine ที่ update รายเดือนเพื่อผู้อ่าน ทัศนะและความคิดเห็นใดๆ ของผู้ประพันธ์ หรือผู้สนับสนุน
|
การออกแบบและตกแต่งบ้านนอกเหนือจากความสวยงามแล้ว ยังต้องคำนึงถึงวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนเป็นปัจจัยหลัก ในปัจจุบันมีการปลูกบ้านสไตล์ต่างๆ ที่ได้นำเอาสไตล์การออกแบบและตกแต่งจากประเทศอื่น มาเป็นแบบอย่างใน การออกแบบเพิ่มขึ้นมากมาย ซึ่งเหมาะกับกลุ่มคนที่มีไลฟ์สไตล์ รักความสะดวกสบายมากขึ้น ขณะเดียวกันบ้านเรือนไทย หรือบ้านทรงไทยที่เราเรียกกันนั้น ก็ถือว่าเป็นเอกลักษณ์สำคัญของการบ่งบอกความเป็น “ไทย” เด็กๆ สมัยนี้ หลายคน แทบจะไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำ เพราะในปัจจุบันบ้านเรือนไทยนั้นหาเจอได้ยาก นอกจากแถวชนบทที่ยังคงอนุรักษ์ความเป็นไทย ไว้อยู่ เพื่อส่งเสริมให้เด็กไทยรู้จักเอกลักษณ์ความเป็นไทยมากยิ่งขึ้น ในวันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับบ้านเรือน ไทย เสน่ห์ของความเป็นไทย ที่ยังหลงเหลือไว้ให้ชื่นชมกัน และที่สำคัญเรือนไทยในแต่ละภาคนั้น ล้วนแตกต่างกันไปตามวิถีชีวิต ของทั้ง 4 ภาค เริ่มต้นกันที่เรือนไทยภาคกลาง
วิถีชีวิตของคนภาคกลาง
ชุมชนบ้านเรือนในแถบภาคกลาง เป็นสังคม เกษตรกรรม แถบพื้นที่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ซึ่งมีแม่น้ำสายหลักๆ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำลพบุรี แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำสายอื่นๆ อีกมากมาย ชาวบ้านในภาคกลางจึงผูกพัน และใช้ประโยชน์ต่าง ๆ จากแม่น้ำ เนื่องจากภาคกลางมีภูมิอากาศที่ร้อนอบอ้าวเกือบตลอดทั้งปี คนจึงนิยมปลูกบ้านริมน้ำ
|
เรือนไทยภาคกลาง
เรือนไทยภาคกลาง เป็นเรือนไทยประเภทที่นิยมที่สุดและพบเห็นได้บ่อยที่สุด (ตัวอย่างของเรือนไทยภาคกลาง เช่น พระตำหนักทับขวัญ ในพระราชวังสนามจันทร์ เป็นต้น) ตัวบ้านมีลักษณะสร้างขึ้นด้วยไม้ เป็นเรือนชั้นเดียวแบบเรียบง่าย และเป็นเรือนยกพื้น ใต้ถุนสูง (สูงจากพื้นดินเสมอศีรษะคนยืน) รูปทรงล้มสอบ หลังคาจะมีลักษณะเป็นทรงสูง ชายคายื่นยาว เพื่อให้ความ ร้อนจากหลังคาถ่ายเทความร้อนสู่ห้องได้ช้า และทำให้น้ำฝนไหลลงจากหลังคาได้รวดเร็ว ไม่มีน้ำขัง ทางด้านการออกแบบห้องนอนจะไม่สร้างห้องนอนหลายห้อง บริเวณชายคาบ้านจะมีลักษณะยื่นยาวออกไป เรียกว่า“ไขรา หรือ กันสาด” ช่วยป้องกันความร้อนและแสงแดดกล้า ขณะเดียวกันตัวฝาผนังของบ้านเป็นกรอบที่เรียกว่า “ฝาลูกฟัก” หรือเรียกว่า “ฝาปะกน” ก็สามารถยกถอดประกอบกันได้ ซึ่งว่าเป็นลักษณะเฉพาะของเรือนไทยของภาคกลาง เท่านั้น ในส่วนของระเบียง มักสร้างขนานไปตามความยาวของเรือน มีชานเรือนยาวต่อไปจนถึงตัวเรือนและห้องน้ำ บ้านเรือนไทยภาคกลางจะนิยมปลูกบ้านหันหน้า หรือหันด้านแคบของบ้านไปทางทิศตะวันออกหรือตามสภาพแวดล้อม ทิศทางลมและตามความเหมาะสม
ลักษณะของบ้านทรงไทยภาคกลาง
1.บ้านทรงไทยภาคกลางส่วนมากจะยกใต้ถุนสูงจากพื้นดินประมาณความสูงที่พ้นศีรษะ รวมทั้งระเบียงและชานบ้านก็ต้อง ยกพื้นสูงด้วย การยกใต้ถุนสูงจะมีระดับที่ลดหลั่นกัน โดยบริเวณพื้นระเบียงจะลดหลั่นจากพื้นห้องนอนประมาณ 40 ซม. พื้นชานบ้านลดหลั่นจากระเบียงอีกประมาณ 40 ซม. และปิดด้วยไม้ระแนงตีเว้นช่อง การลดระดับพื้นนั้นจะช่วย ให้ลมพัดผ่านจากใต้ถุนขึ้นมาข้างบนได้สะดวก สามารถมองลงมายังใต้ถุนชั้นล่างได้ และใช้ระดับลดหลั่นในช่วง 40 ซม. เป็นที่นั่งห้อยเท้า
2.หลังคาทรงจั่วสูง หลังคาของบ้านทรงไทยภาคกลางเป็นแบบทรงมนิลา ใช้ไม้ทำโครง และใช้จากแฝกหรือกระเบื้อง ดินเผา เป็นวัสดุมุงหลังคา ซึ่งได้ใช้วิธีการมุงตามระดับองศาที่สูงชันมาก เพื่อให้น้ำฝนไหลได้เร็วนอกจากนี้การทำหลังคา ทรงสูง ยังสามารถช่วยบรรเทาความร้อนที่จะถ่ายเทลงมายังส่วนล่าง ทำให้ภายในบ้านเย็นสบาย สำหรับบริเวณครัวโดย ทั่วไป ตรงส่วนของหน้าจั่วทั้ง 2 ด้าน ต้องทำช่องระบายอากาศโดยใช้ไม้ตีเว้นช่อง เพื่อถ่ายเทควันไฟออกจากห้องครัว ได้สะดวก และควรให้ชายคากันสาดยื่นออกจากตัวเรือนมากหน่อย เพื่อป้องกันแดดส่องและฝนสาด
3.ชานกว้าง โดยทั่วไปแล้วมีปริมาณถึงร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งหมด ถ้ารวมพื้นที่ของระเบียงเข้าไปด้วยจะมีปริมาณถึง ร้อยละ 60 พื้นที่นี้ถือว่าเป็นส่วนพักอาศัยภายนอก ส่วนที่พักอาศัยภายในสำหรับนอนหลับพักผ่อนนั้นจะมีฝากั้นเป็นห้อง มีเนื้อที่เพียงร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งหมด สาเหตุที่มีพื้นที่อยู่อาศัยภายนอกมาก เพราะสภาพภูมิอากาศที่ร้อนอบอ้าวใน เมืองไทย
|
ประเภทของเรือนไทยภาคกลาง
1.เรือนเดี่ยว ซึ่งเป็นเรือนสำหรับครอบครัวเดี่ยว สร้างขึ้นโดยมีประโยชน์ใช้สอยที่เพียงพอกับครอบครัวเล็ก ๆ อาจเป็นเรือนเครื่องผูก เรือนเครื่องสับ หรือผสมผสานกันก็เป็นได้แล้วแต่ฐานะ ประกอบด้วย เรือนนอน 1 หลัง เรือนครัว 1 หลัง ระเบียงยาว ตลอดเป็นตัวเชื่อมระหว่างห้องนอนกับชาน
2.เรือนหมู่ คือ เรือนหลายหลังซึ่งปลูกอยู่ในที่เดียวกัน สมัยก่อนลูกชายแต่งงานส่วนใหญ่จะไปอยู่บ้านผู้หญิง ส่วนลูกผู้หญิงจะนำเขย เข้าบ้าน จะอยู่เรือนหลังย่อมกว่า เรือนหลังเดิมเรียกว่า “หอกลาง” ส่วนเรือนนอกเรียกว่า “หอรี” เพราะปลูกไปตามยาว ถ้ามีเรือนปลูกอีกหลังหนึ่งเป็นด้านสกัดก็เรียกว่า “หอขวาง” อาจมี“หอนั่ง”ไว้สำหรับนั่งเล่น บางแห่งมี“หอนก” ไว้สำหรับ เลี้ยงนก
3.เรือนหมู่คหบดี เรือนหมู่คหบดีโบราณ เป็นเรือนสำหรับผู้ที่มีฐานะ ลักษณะการจัดเรือนหมู่คหบดีของโบราณเป็นเรือนขนาดใหญ่ มีเรือนคู่ และเรือนหลังเล็กหลังน้อยรวมเข้าด้วยกัน แต่ละหลังใช้ประโยชน์ต่างหน้าที่กันออกไป ประกอบด้วย เรือนนอน เรือนลูก เรือนขวาง เรือนครัว หอนก และชาน
4.เรือนแพ การสร้างบ้านบริเวณชายฝั่งต้องยกพื้นชั้นบนสูงมาก ไม่สะดวกในหน้าแล้งทำให้เกิดการสร้างเรือนในลักษณะ " เรือนแพ " ที่สามารถปรับระดับของตนเองขึ้นลงได้ตามระดับน้ำในแม่น้ำลำคลอง
สิ่งที่ควรทำและสิ่งที่ไม่ควรทำในการอกแบบและตกแต่งบ้านเรือนไทยภาคกลาง มีดังนี้
- บันไดห้ามใช้จำนวนขั้นคู่ (ต้องเป็นขั้นคี่ นับเฉพาะขั้น ไม่นับรวมพื้นหรือชานพัก) - บันไดไม่ลงไปทางทิศตะวันตก - ไม่หันหัวนอนไปทางทิศตะวันตก - ไม่ทำน้ำพุหรือน้ำตกไหลเขาตัวบ้าน - ไม่ทำทางเข้าลอดห้องน้ำหรือห้องส้วม - ไม่ทำอาคารรูปตัว “ที” มีปีกเท่ากันสองข้าง เรียกว่า “แร้งกระพือปีก”ถือว่าเป็นอัปมงคล - ไม่ทำเรือนทะลุหน้าตลอดหลัง ถือเป็น “เรือนอกแตก” อัปมงคล - ห้ามใช้ไม้ตะเคียนหือไม่มะค่าในการปลูกบ้าน - ห้ามใช้เสาตกมัน - ห้ามทำทางเข้าออกคู่ไว้ตอนมุมของพื้นดินที่ทางสามแพร่งหรือสี่แยก - ห้ามนำภาพยักษ์ไว้ในบ้าน - ห้ามนำหนังใหญ่หรือหนังตะลุงไว้ในบ้าน - ห้ามใช้ช่อฟ้า ใบระกา เครื่องวัด เครื่องหลวง หรือมีแต่เครื่องประดับในบ้าน - ห้ามปลูกเรือนคร่อมตอ - ห้ามปลูกศาลพระภูมิใต้เงาเรือน - ห้ามทำบันไดเวียนซ้ายขาขึ้น - ไม่ปลูกบ้านใต้ต้นไม้ใหญ่ - ห้ามใช้เสาไม่มีตาในระยะ “เป็ดไซ้ ไก่ตอก สลักรอด หมูสี” - ห้ามทำเตียงนอนขาสิงห์ หรือเครื่องใช้ขาสิงห์เด็ดขาด - ห้ามนำของวัดเข้าบ้านหรือนำมาเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน - ห้ามทำทางเข้าเวียนซ้ายของอาคาร - ไม่ทำภูเขาจำลองไว้ในบ้าน
|
ความเชื่อถือแต่โบราณของฤกษ์ยามและวิธีการก่อสร้างบ้านเรือนไทย
- ผู้ใดปลูกเรือนในเดือนอ้าย ย่อมจักได้เป็นเศรษฐี ทรัพย์สินเพิ่มพูนมี เพราะเดือนนี้อุดมผล - ผู้ใดปลูกเดือนยี่ ทรัพย์สินมีมามากผลเมื่อดิถีดูชอบกล ข้าศึกและแสนกลมามากล้นพ้นศัตรู - ผู้ใดปลูกเรือนในเดือนสาม ภัยติดตามงามน่าดูคนใจร้ายมันสู้ เมื่อถึงฤดูจักเกิดอันตราย - ผู้ใดปลูกเรือนในเดือนสี่ ลาภมากมายมีสุขสบายทุกโศกบรรเทาหาย ความสบายเพิ่มพูนมา - ผู้ใดปลูกเรือนในเดือนห้าทุกข์เท่าฟ้ามาถึงตนปลูกเดือนนี้ไม่มีผลทุกข์ล้นพ้นภึยมีมท - ผู้ใดปลูกเรือนในเดือนหก ท่านหยิบยกไว้เหลือหลาย ทรัพย์ศฤงคารบันดาลมามากมาย อยู่สุขสบายทรัพย์เนืองนอง - ผู้ใดปลูกเรือนในเดือนเจ็ดทรัพย์ระเห็ดสิ้นทั้งผอง ทรัพย์สินที่ตนครองอัคคีภัยผยองมาเผาพลาญ - ผู้ใดปลูกเรือนในเดือนแปด จะร้อนแผดระทมหาญ ทรัพย์สินและบริวารทรยศหมดไปเอง - ผู้ใดปลูกเรือนในเดือนเก้า ใจไม่เศร้าเกิดบรรเลง ยศศักดิ์เกิดขึ้นเอง ทั้งทรัพย์สินเพิ่มพูนมา - ผู้ใดปลูกเรือนในเดือนสิบ จักฉิบหายต้องขื่อคา โรคภัยร้ายก้าวหน้า อันตรายจะมาปะปน - ผู้ใดปลูกเรือนในเดือนสิบเอ็ดอันความเท็จจักมาสู่ตน ปลูกเดือนนี้ไม่มีผลต้องผจญกับทุกภัย - ผู้ใดปลูกเรือนในเดือนสิบสอง เงินและทองจักเหลือหลาย สรรพสัตว์แลวัวควาย บริเวณมากมายไหลเทมา
การสร้างบ้านเรือนไทยของภาคกลางนั้น เราได้เห็นอะไรหลายอย่างที่สื่ออกมาผ่านการออกแบบและตกแต่งบ้านเรือนไทย ของภาคกลาง ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในภาคกลาง รวมทั้งความเชื่อต่างๆ ที่กลายมาเป็นเอกลักษณ์ ที่โดดเด่นของภาคกลางโดยเฉพาะ เสน่ห์ของบ้านเรือนไทยยังไม่หมดแค่นี้นะคะ บ้านเรือนไทยของ 3 ภาคที่เหลือ ทั้ง ภาคเหนือ ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเป็นอย่างไร เดือนหน้าถึงคิวของเรือนไทยภาคเหนือ อย่าลืมติดตามกัน นะคะ Karuntee จะพาไปทำความรู้จักกับบ้านเรือนไทยให้มากขึ้นกว่าเดิม สำหรับวันนี้….สวัสดีค่ะ
|