บทสรุปของ Frank Lloyd Wright สถาปนิกผู้เป็นอมตะ (ตอนจบ)

            นับตั้งแต่ปี 1915 Frank Lloyd Wright มีจินตนาการและความมุ่งมั่นในการออกแบบระบบการก่อสร้างแบบใหม่ๆ ที่แตกต่างออกไปจากแนวทางปฎิบัติเดิม “American Read-Cut System” คือโครงการใหญ่ในช่วงนั้น

            Wright ต้องการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากในการก่อสร้างหน้า Site งาน เขาจึงมีแนวคิดที่จะออกแบบระบบที่สามารถก่อสร้างทุกสิ่งทุกอย่างให้เสร็จเท่าที่จะทำได้ที่โรงงาน หลังจากนั้นจึงนำไปประกอบเป็นรูปร่างหน้า Site งาน ซึ่งอาจเหลือเพียงงานสีและงานไม้นิดหน่อยเท่านั้น ระบบแบบใหม่นี้จะช่วยให้การก่อสร้างเป็นไปตามกำหนดเวลา และที่สำคัญจะช่วยลดค่าจ้างแรงงานที่มีฝีมือทางเชิงช่างด้วย

            Wright ถึงกับลงทุนเปิดโรงงานในเมือง Milwaukee เพื่อสานฝันของเขาให้เป็นจริง แต่ความคิดและจินตนาการของเขาอาจก้าวหน้าเกินไปสำหรับคนในยุคนั้น ระบบที่ได้พยายามคิดค้นขึ้นจึงหยุดชะงักและไม่มีใครสานต่อ

            บ้านแบบ Block House ที่ Biography นำเสนอก่อนหน้านี้ ถือเป็นหนึ่งในความพยายามของ Wright ที่จะสานฝันระบบการก่อสร้างแบบใหม่ที่เขาได้ริเริ่มเอาไว้ แต่ในท้ายที่สุด Block House ก็เป็นเพียงแค่ Prototype ของ Wright เท่านั้น

 

 
 
 
 

ระบบ “Usonian Automatic”

            ในต้นปี 1950 Wright ยังไม่หยุดความพยายามในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เขาเริ่มสนทนาถึงระบบการก่อสร้างที่เรียกว่า “Usonian Automatic” ในหมู่สถาปนิกด้วยกัน มุ่งมั่นที่จะสร้างบ้านสวย ราคาไม่แพง แต่มีดีไซน์และฟังก์ชั่นการใช้งานครบถ้วน เหมาะสำหรับกลุ่มชนชั้นกลาง

            ระบบ Usonian Automatic เป็นระบบก่อสร้างสำเร็จรูป ทั้งง่ายและรวดเร็ว อีกทั้งเจ้าของบ้านยังสามารถเข้ามามีส่วนในทุกขั้นตอนตั้งแต่การออกแบบจนถึงการก่อสร้าง วัสดุหลักที่ใช้ก่อสร้างคือ “คอนกรีตบล็อก”

            ถึงแม้ Wright จะประสบกับความยากลำบากในการก่อสร้างบ้านแบบ Block House ในระยะแรกๆ แต่คอนกรีตบล็อกก็ก่อให้เกิดมิติใหม่ในงานสถาปัตยกรรมช่วงนั้นเลยทีเดียว

 

 

 
 
 

            Block House ของ Frank Lloyd Wright ก่อให้เกิดจังหวะ ความสวยงาม ความมีเสน่ห์ เสมือนบทกวีที่เขาได้ใช้ความตั้งใจเรียบเรียง แต่งแต้มและรังสรรค์ขึ้น ด้วยความเรียบง่ายและเป็นธรรมชาติอย่างที่สุด

บ้านของ Gerald Tonkens และ Toufic Kalil

            บ้าน Block House ในระบบ Usonian Automatic ที่เด่นชัดคือ บ้านของ Gerald Tonkens และ Toufic Kalil ซึ่ง Wright ออกแบบตัวบ้านและใช้คอนกรีตบล็อกที่มีลวดลายคล้ายระแนงไม้เป็นวัสดุหลักเหมือนกัน ต่างกันเพียงฟังก์ชั่นภายในนิดหน่อยเท่านั้น โดย Wright ได้อธิบายให้ Tonkens และ Kalil เข้าใจถึงระบบการก่อสร้างแบบใหม่ของเขา และย้ำว่า ระบบ Usonian Automatic คือ “ความเหมือนในความแตกต่าง”

            บ้านของ Tonkens และ Kalil ใช้แปลนบ้านที่มักพบในงานออกแบบของ Wright คือ พื้นที่ห้องรับแขกกว้างขวาง ติดกับห้องอาหาร ห้องครัว หรือห้องทำงาน รวมทั้งมีห้องนอนยาวตลอดด้านหนึ่ง ติดกับพื้นที่อเนกประสงค์ และทางออกสู่ลานจอดรถ

            บ้านของ Tonkens มีพื้นที่ในส่วนห้องรับแขกยกสูงขึ้น 10 ฟุต ประตูไม้ Mahogany สีเข้มแบบฝรั่งเศส เปิดเผยลวดลายธรรมชาติที่มีรอยด่างเปื้อน นำไปสู่โถงทางเดินหลัก บล็อกลวดลายระแนงไม้ก่อให้เกิดความสว่างแตกต่างกัน ตอนกลางวันแสงสาดส่องเข้ามาภายในตามรอยกรุของบล็อกคล้ายลวดลายระแนงไม้ ในขณะที่ตอนกลางคืนแสงโคมไฟจากภายในส่องลอดออกไป เมื่อมองดูจากภายนอกสวยงามแปลกตาราวคริสตัลเจียระไน

            บ้านของ Kalil ใน New Hampshire ต่างกับบ้านของ Tonkens ตรงที่ Wright แทนที่ประตูไม้ Mahogany ด้วยผนังคอนกรีตบล็อก และเพิ่มหน้าต่างให้แสงสว่างส่องลอดเข้ามาภายในตัวบ้านได้มากขึ้น

 

 
 
 


Gerald Tonkens House


Toufic Kalil House

 
 
 

 

บทสรุปของ Frank Lloyd Wright

            Biography ขอคัดลอกบางส่วนจากหนังสือของ Wright ที่ชื่อ The Natural House ตีพิมพ์ในปี 1954 เขาได้อธิบายระบบ Usonian Automatic ประกอบภาพถ่ายบ้านของ Benjamin Adelmen ในเมือง Phoenix รัฐ Arizona ที่พึ่งสร้างเสร็จสมบูรณ์โดยสรุปเอาไว้ ซึ่งสามารถอธิบายความเป็นตัวตน ความคิด และจินตนาการของ Wright ให้เห็นได้อย่างชัดเจน

            “เรามักมีคำถามกันอยู่เสมอว่า ทำอย่างไรครอบครัวใหม่ที่มีงบประมาณจำกัดจำเขี่ย ถึงจะสามารถสร้างบ้านในฝันของตนเองได้สักหลังหนึ่ง บ้านที่มีดีไซน์สวยงามและมีฟังก์ชั่นการใช้งานครบถ้วนตามความต้องการพื้นฐานของงานสถาปัตยกรรม"

 

 
 
 
 

            “ระบบ Usonian Automatic ที่ใช้คอนกรีตบล็อกเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง จะช่วยให้เรามีอิสระมากขึ้นในการสร้างสรรค์ผลงานสถาปัตยกรรม เป็นระบบสำเร็จรูปที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่หนักหนาในการสร้างบ้านลงได้ ที่สำคัญคือลดค่าแรงช่างที่มีฝีมือลงได้ด้วย ระบบนี้ถือเป็นระบบที่มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงไม่สิ้นสุด ทั้งรูปร่าง แบบแผน และประโยชน์ใช้สอย โดยไม่จำกัดขนาดและพื้นที่”

            “เราสามารถสร้างทุกอย่างเอาไว้ล่วงหน้าที่โรงงาน รวมทั้งเดินระบบต่างๆ เช่น ระบบประปา ระบบทำความร้อน และระบบไฟฟ้า ทำให้เหมือนเป็นแพกเกจสำเร็จรูป ง่ายและสะดวกในการติดตั้งทุกพื้นที่”

 

 
 
 
 

 

            “คอนกรีตบล็อกเป็นวัสดุที่สำคัญในระบบนี้ เราสามารถออกแบบบล็อกให้มีขนาดและลวดลายตามความต้องการได้ กรุเป็นลวดลายหรือกรุด้วยกระจกสี คอนกรีตบล็อกสามารถใช้เป็นเครื่องประดับ

ในตัวบ้านได้เลย ด้านเรียบเหมาะสำหรับงานตกแต่งภายใน ส่วนด้านที่มีลวดลายใช้เป็นงานตกแต่งภายนอก นอกจากนี้เมื่อก่อผนังคอนกรีตบล็อกเป็น 2 ชั้นแล้ว อากาศที่ถูกกักอยู่ภายในระหว่างบล็อกจะช่วยให้ผนังบ้านมีความเย็นในช่วงกลางวัน และอบอุ่นในช่วงกลางคืน”

            “ระบบนี้คือ ความหมายของคำว่าอิสระ ก่อกำเนิดงานสถาปัตยกรรมที่แท้จริง ที่ทั้งพลังงานความคิดผนวกเข้ากับหลักการทางสถาปัตยกรรมเป็นหนึ่งเดียว”

 
 
 
 

 

            “ความเหมือนในความแตกต่างของระบบ ไม่ได้แสดงถึงความเสื่อมถอยทางความคิด แต่กลับแสดงออกถึงจินตนาการที่ไม่มีขอบเขตจำกัด มีความยืดหยุ่น ความหลายหลายและการปรับใช้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด”

            และนั่นคือบทสรุปของ Frank Lloyd Wright ผู้ซึ่งสามารถเรียกขานได้ว่า เขาคือสถาปนิกอย่างแท้จริง เขาได้ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจต่องานสถาปัตยกรรมที่เขารัก พยายามสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งใหม่ๆ โดยไม่หวั่นกลัวต่อคำครหานินทา ไม่ใช่เพื่อชื่อเสียงของตัวเอง แต่เป็นเพื่อชุมชนและสังคมที่เขาอยู่และตาย นี่เองทำให้ผลงานสถาปัตยกรรมของ Wright ไม่เคยห่างหายไปจากความทรงจำของอนุชนคนรุ่นหลัง ถึงแม้ว่าเขาจะฝากผลงานเอาไว้เกือบ 100 ปีล่วงมาแล้วก็ตาม

 

 
 
 
 
  บทความอื่นๆ ในหมวด
Bareo-isyss : interior design

ปูมชีวิต Frank Lloyd Wright สถาปนิกชื่อก้องโลก

Bareo-isyss : interior design 'Organic Architecture' แบบ Frank Lloyd Wright
Bareo-isyss : interior design บ้านคอนกรีตบล็อกสไตล์ frank Lloyd Wright
Bareo-isyss : interior design ' คอนกรีตบล็อก ' สู่บ้านพักอาศัยในเชิงอุตสาหกรรม
Bareo-isyss : interior design บทสรุปของ Frank Lloyd Wright สถาปนิกผู้เป็นอมตะ (ตอนจบ) New
 

 

 
 

 

 

 
 
Home | About Bareo | News & Events | Art of Design | Decor Guide | The Gallery | Living Young | Talk to Editor | Links
 
บริษัท บาริโอ จำกัด
50 ซอยบรมราชชนนี 4 ถนนบรมราชชนนี เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700 Tel. 66 2881 8536-7 Fax. 66 2881 8538